ภาษาภูไท รวมคำศัพท์น่ารู้ พร้อมคำแปล

ภาษาภูไท ภาษาถิ่นภาคอีสาน

ภาษาภูไท เป็นภาษาพูดของชาวภูไท (บางครั้งเรียกกว่า ผู้ไท) เป็นภาษาในภาษากลุ่มตระกูลไต-กะได (Tai–Kadai) ไม่มีอักษรของตนเอง การเขียนตัวอักษรชาวภูไทจึงมีการประยุกต์วิธีการเขียนของชาวลาว

ภาษาภูไท เป็นภาษาในตระกูลภาษาไท ผู้พูดภาษาภูไทในประเทศไทยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบริเวณจังหวัดภาคตะวันออก หรือภาคอีสานตอนบน ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ นครพนม มุกดาหาร และสกลนคร นอกจากนี้ยังมีอีกเล็กน้อยอาศัยบริเวณจังหวัดร้อยเอ็ด อุดรธานี อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ โดยภาษาภูไทในแต่ละท้องถิ่นต่างมีสำเนียงและคำศัพท์ที่ใช้แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ยังมีคำยืมจากภาษาถิ่นอีสาน ชาวภูไทส่วนใหญ่สามารถพูดภาษาถิ่นอีสานได้ แต่คนอีสานไม่สามารถพูดหรือฟังภาษาภูไทได้ หรืออาจจะพูดหรือฟังได้บ้างแต่ไม่ทั้งหมด ภาษาภูไทมีชื่อเรียกอื่น คือ ภาษาผู้ไท

ประวัติความเป็นมาของคนภูไท

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า ชาวภูไทดั้งเดิมเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบสิบสองจุไท ทั้งบริเวณตอนเหนือของลาวและเวียดนาม และทางตอนใต้ของจีน มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองไลและเมืองแถง (เดิมชื่อ เมืองแถน คำว่า แถน แปลว่า ฟ้า) เมืองแถน คือ เมืองที่เจ้าฟ้าพระมหากษัตริย์ผู้เป็นใหญ่สร้างขึ้นหรืออยู่อาศัย ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ภูไทมีการสักการะกราบไหว้บรรพบุรุษ มาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน เช่น ประเพณีจุดบั้งไฟบูชาพระยาแถน เพื่อขอน้ำจากฟ้าหรือขอน้ำฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ให้ลูกหลานได้ทำนาเลี้ยงชีพและเลี้ยงลูกหลานต่อไป หรือประเพณีผีฟ้า หรือหมอเหยา เพื่อเชิญผีแถน มาช่วยดูแสรักษาปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายโรคภัยไข้เจ็บ ให้ลูกหลานหายเจ็บไข้ เป็นต้น

กลุ่มชาติพันธุ์ภูไท ที่อาศัยอยู่ที่เมืองแถง เรียกว่า กลุ่มภูไทดำและที่อาศัยอยู่ที่เมืองไลและเมืองอื่นๆ เรียกว่า กลุ่มภูไทขาว ประกอบด้วย 4 อาณาเขต คือ เมืองไล เมืองเจียน เมืองมุน เมืองบาง มีเมืองไลเป็นเมืองใหญ่ปกครอง ส่วนกลุ่มภูไทดำ ประกอบด้วย 8 อาณาเขต คือ เมืองแถง เมืองควาย เมืองตุง เมืองม่วย เมืองลา เมืองโมะ เมืองหวัด เมืองชาง มีเมืองแถงเป็นเมืองใหญ่ปกครอง ส่งผลทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ภูไทนี้ มีเมืองอยู่ในการปกครองตนเอง รวม 32 อาณาเขต จึงเรียกดินแดนแห่งนี้รวมกันว่า “สิบสองเมืองภูไท” หรือ “สิบสองจุไทย” หรือ “สิบสองปู่ไทย” หรือ “สิบสองเจ้าไทย”

คนภูไทย้ายเข้ามาอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง

ต่อมากลุ่มภูไทเมืองวังเกิดเหตุวุ่นวาย ทำให้ลูกหลานส่วนหนึ่งต้องอพยพข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งบ้านเรือนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย บริเวณมืองเรณูนคร จังหวัดนตรพนม และเมืองพรรณนานิคมจังหวัดสกลนคร ต่อมา พระเจ้ากรุงธนบุรีหรือ “พระเจ้าตากสินมหาราช” ได้ทำสงครามขยายอาณาเขตได้อพยพชาวเมืองภูใทให้ย้ายมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี และสระแก้ว จนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กลุ่มชาติพันธุ์ภูไทได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสานมากขึ้น อาทิ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร และมาอยู่รวมกับกลุ่มชนชาติพันธุ์ภูไทที่อพยพเข้ามาก่อนหน้านี้ในเขตจังหวัดต่างๆ คือ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ หนองคาย ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี เป็นต้น ต่อมาเรียกกลุ่มภูไทที่อาศัยอยู่ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือในจังหวัดเหล่านี้ว่า กลุ่มชาติพันธุ์ภูไท ส่วนคนชาติพันธุ์ภูไทที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยบริเวณจังหวัดต่างๆ มีชื่อเรียก แตกต่าง
กันไป เช่น ภูไท ไทยโซ่ง ไททรงดำ ไทพวน ไทดำ ไทขาว ไทแดง

วัฒธนธรรมอันโดดเด่นของชาวภูไท

ชาวภูไทมีวัฒนธรรมอันโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เป็นของตนเอง มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย รักสงบ และรักอิสระ ผู้ชายมีความเข้มแข็งกล้าหาญอดทน นิยมเดินทางไกลเพื่อค้าขาย ผู้หญิงภูไทมีรูปร่างผิวพรรณสวยงาม มีฝีมือในการทอผ้าและการเย็บปักถักร้อย ตลอดจนมีพรสวรรค์ในศิลปะด้านดนตรีและการฟ้อนรำ

ภาษาภูไทอยู่ในตระกูลไท-กระได

ในด้านภาษา เนื่องจากภาษาภูไทนั้นเป็นภาษาถิ่นในภาษาตระกูลไท จึงมีลักษณะเด่นบางประการร่วมกับภาษาไทยถิ่นอื่น กล่าวคือ เป็นภาษาคำโดดและเป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์ คมักเป็นคำพยางค์เดียว โครงสร้างประโยคพื้นฐาน ได้แก่ “ประธาน กริยา กรรม” มีลักษณะนามเช่นเดียวกับภาษาตระกูลไทยถิ่นอื่น ๆ

ภาษาภูไทมีลักษณะบางประการที่ถือว่าเป็นลักษณะเด่นอื่น ๆ อาทิ ด้านคำศัพท์ มีคำศัพท์ที่แตกต่างออกไปจากภาษาถิ่นอีสานหรือภาษาไทยกลาง เช่น

  • หา แปลว่า ขา
  • เฮ้า แปลว่า เข้า
  • เห็ม แปลว่า เข็ม
  • เหือก แปลว่า เหงือก
  • เต้อ แปลว่า ใต้
  • เนอ แปลว่า เหนือ
  • เผอ แปลว่า ใคร
  • เท่าเลอ แปลว่า เท่าไร
  • ท่อเลอ แปลว่า เท่าไร
  • ซีเลอ แปลว่า ที่ไหน
  • มิ แปลว่า ไม่

ภูไท หรือ ผู้ไท

ชาวภูไทจะเรียกแทนตัวเองว่า ภูไท หรือ ผู้ไท และก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่ามีที่มาที่ไปหรือมีความหมายว่าอะไร จึงมีผู้พยายามวิเคราะห์จากข้อมูลหลายชุด

ภูไท หมายถึง คนเผ่าไทที่อาศัยอยู่บนภูหรือภูเขาหรือที่สูง ตามตำนานเล่าว่าคนภูไทมีถิ่นกำเนิดจากเมืองแถงหรือเมืองแถน ซึ่งก็คือเมืองเดียนเบียนฟูในประเทศเวียดนามปัจจุบัน ลักษณะภูมิประเทศของเมืองแถนเป็นพื้นที่หุบเขาสูง ดังนั้น เกรียงไกร หัวบุญศาล. (ม.ป.ป.) จึงเสนอว่าการเรียก ภูไท น่าจะมีความหมายที่ตรงกับลักษณะภูไทเป็นอย่างยิ่ง เพราะอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นภูเขา คนภูไทเรียกภูเขาว่า ภู การที่เรียกว่า ภูไท จึงน่าจะหมายถึงคนเผ่าไทที่ชอบอาศัยอยู่บนภูหรือบริเวณภูเขาตามลักษณะภูมิประเทศแบบเดิมที่จากมา รวมถึงเมื่อพิจารณาจากอาชีพที่คนภูไทนิยมทำสืบทอดกันมาคือ การทำนา ทำไร่และทำสวน เมื่ออพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย คนภูไทมักเลือกอาศัยอยู่บริเวณที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก เมื่อเสร็จฤดูทำนาก็จะนิยมทำสวนทำไร่ การเรียกว่า ภูไท น่าจะถูกกว่า ผู้ไท รวมถึงคนภูไทจะเรียกตนเองว่า ภูไท ไม่เรียก ผู้ไท

สาเหตุที่คนนอกชุมชนเรียกคนภูไทว่า ผู้ไท น่าหมายถึง คนไท หรือ คนผู้เป็นคนไท เมื่อเทียบความหมายตามหลักภาษาไทยพบว่า คำว่า ผู้ หมายถึง คน ดังนั้น การถูกเรียกว่า ผู้ไท จึงหมายถึง คนไท อย่างไรก็ตาม ถวิล เกสรราช (2512 อ้างถึงใน เกรียงไกร หัวบุญศาล (ม.ป.ป.) ได้แสดงทัศนะว่าเราควรเรียกชนกลุ่มนี้ว่า ผู้ไท เพราะตามประวัตินั้นคนผู้ไทไม่ได้อาศัยอยู่ตามป่าเขาแต่อย่างใด มีแต่ ข่า แจะ แม้ว เย้า เท่านั้นที่มีถิ่นฐานและทำมาหากินอยู่ตามภูเขา ถึงแม้ว่าพงศาวดารเมืองแถงจะชี้ว่าสิบสองจุไทมีภูเขาอยู่หลายลูก แต่ผู้ไทยก็ไม่ได้อาศัยอยู่บนภูเขา พวกเขาอาศัยเลี้ยงชีพอยู่พื้นราบ ดังนั้นการเรียกชื่อและการเขียนจึงควรเป็น ผู้ไท ไม่ใช่ ภูไท

ภาษาภูไท พบในจังหวัดอะไรบ้าง ?

คนที่ใช้ภาษาภูไทส่วนใหญ่อาศัยในพื้นที่ภาคอีสานเหนือ สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อำนาจเจริญ และยโสธร

แผนที่ภาษาภูไทในประเทศไทย
แผนที่ภาษาภูไทในประเทศไทย

ภาษาภูไท และประโยคตัวอย่าง

ลองมาดูคำศัพท์และประโยคในภาษาภูไทพร้อมคำแปลและตัวอย่างการใช้งานกัน

  • อิเบะ [อิ-เบ๊ะ] แปลว่า คุณแม่ ย่าหรือยาย ในบางคนก็เรียกเเม่ว่าเบ๊ะ (Gran Mother or Mother)
    ตัวอย่างเช่น : อิเบะเจ้าสิไปสิเหล่อ แปลว่า แม่จะไปไหน
  • โซ้คัก [โซ้-คัก] เป็นคำด่าคำหนึ่งในภาษาภูไท แปลว่า โง่มาก โง่จนไม่รู้จะเอาคำไหนมาเปรียบเทียบเปรียบเปรย คำนี้แปลได้หลายความหมายขึ้นอยู่กับบริบทของประโยค แต่ส่วนใหญ่จะสื่อไปในทางลบ
    ตัวอย่างเช่น : มึงคือโซ๊คักแท้น้อ….เอ็ดผะเหลอกะมิกุ้มปากผู้เจ้า แปลว่า เอ็งนี่โง่มากจริง ๆ ทำมาหากินอะไรก็ไม่ได้เรื่อง
  • อิโพะ [อิ-โพะ] / อิเพ๊าะ แปลว่า คุณพ่อ ปู่ หรือตา ในบางครั้งบางครอบครัวก็ใช้เรียกพ่อว่าเพ๊าะ (Father or Grandfather)
    ตัวอย่างเช่น : อิโพะ สิไปผิเหล่อ แปลว่า พ่อจะไปไหน
  • อีโมะ [อี-โมะ] แปลว่า จุดซ่อนเร้น จุด ๆ นั้นของผู้หญิง (อันนั้นแหละ)
  • อีเพ๊าะเฒ่า / อีเพ๊าะโซ๊น แปลว่า ปู่ทวด หรือ ตาทวด
  • อีเบ๊ะเฒ่า / อีเบ๊ะโซ๊น แปลว่า ย่าทวด หรือ ยายทวด
  • หลุ้ แปลว่า ลูก
  • หลุ้สาว แปลว่า ลูกสาว
  • หลุ้เขย / ลุเขย แปลว่า ลูกเขย
  • หลุ้เพ้อ / ลุเพ้อ แปลว่า ลูกสะใภ้
  • หล่านเขย แปลว่า หลานเขย
  • หล่านเพ้อ แปลว่า หลานสะใภ้
  • เอ้ย แปล่ว พี่สาว
  • ผิเขย / ผิเข่ย แปลว่า พี่เขย
  • ละเบ๋อ [ละ-เบ๋อ] เป็นคำสร้อย ต่อท้ายประโยคบอกเล่า ย้ำคำพูดนั้นให้หนักแน่นยิ่งขึ้น (สกลนคร)
    ตัวอย่างเช่น : นั่นละเบ๋อ แปลว่า นั่นนะสิ
    ไปละเบ๋อหนิ แปลว่า กำลังจะไปนะ
    สาวสกลมีแต่ผู้งาม ๆ ละเบ๋อ แปลว่า สาวสกลมีแต่คนหน้าหน้าดี
  • ม๊ะโม้ง แปลว่า มะม่วง
  • ม๊ะซี้ด๋า แปลว่า ฝรั่ง
  • ม๊ะหามแป๋ แปลว่า มะขามเทศ
  • ม๊ะเก๊ง แปลว่า ส้มโอ
  • ม๊ะนัด แปลว่า สัปปะรด
  • ม๊ะมี้ แปลว่า ขนุน
  • ม๊ะทัน แปลว่า พุทรา
  • ผะเหล๋อ แปลว่า อะไร
  • เอ็ดเผ่ออยู๋ แปลว่า ทำอะไรอยู่
  • ขี้โต๊ะ แปลว่า โกหก
  • ญามาญะนำ แปลว่า อย่ามายุ่ง
  • ซ้บกะด้อ แปลว่า สวยจริง ๆ
  • ไปเผอมา แปลว่า ไปไหนมา
  • เม้ยถ้าแล้ว แปลว่า รอนานแล้ว เหนื่อยที่จะรอแล้ว
  • กินข้าวแล้วเบาะ แปลว่า กินข้าวหรือยัง
  • เม้ยอยู่เบาะ แปลว่า เหนื่อยไหม
  • เสเจ๋อหลาย แปลว่า เสียใจมาก
  • ปะไปเท๋ว แปลว่า ไปเที่ยวกัน
  • กินข้าวกับผะเหล๋อ แปลว่า กินข้าวกับอะไร
  • ม้วนอยู่เบาะ แปลว่า สนุกไหม
  • ข้อยมักเจ้าเด้อ แปลว่า ฉันรักคุณนะ
  • หมู่เจ้า แปลว่า พวกเธอ
  • ญาคึดหลาย แปลว่า อย่าคิดมาก
  • เป๋นเผอหลายอยู่เบาะ แปลว่า เป็นอะไรมากไหม
  • มิสำบ๋ายโตน้อยนึง แปลว่า ไม่สบายตัวนิดหน่อย
  • เห้อยืมเงินแน แปลว่า ยืมเงินหน่อย
  • กันกะอึดคือเด๋ว แปลว่า ฉันก็จนไม่มีตังค์เหมือนกัน
  • เอ็ดงานเผออยู่ แปลว่า ทำงานอะไรอยู่
  • มิเป็นเผอเด๊าะ แปลว่า ไม่เป็นอะไรหรอก
  • เหิงแตะ แปลว่า นานจัง
  • ไดเด๊าะ แปลว่า ว่างเปล่า
  • เห็อเอ็ดแนวเลอ แปลว่า จะให้ทำแบบไหน
  • เซ่อเจ๋อข้อยแน้ แปลว่า ใส่ใจเราบ้าง
  • ญาเบาะเจ๋อเด้อ แปลว่า ห้ามนอกใจ
  • คึดฮอดเจ๋อละฮาด แปลว่า คิดถึงมาก ๆ
  • พอฮาวนี้ แปลว่า พอเท่านี้
  • พอซำนี้ แปลว่า พอแค่นี้ ได้แค่นี้
  • กะญาเด๊าะ แปลว่า ไม่เป็นไร ก็ช่างเถอะ
  • เบาะแล้วมิจือ แปลว่า บอกแล้วไม่จำ
  • หมานอยู่เบาะ แปลว่า โชคดีไหม , โชคเข้าข้างไหม
  • ตัดเจ๋อ แปลว่า ตัดใจ
  • เยอะฮ้ายเด้ แปลว่า โมโห
  • มักเด๋วเจ๋อเด๋ว แปลว่า รักเดียวใจเดียว
  • ปะเมอเฮือน แปลว่า กลับบ้านกันเถอะ
  • ทักมากะดี๋เจ๋อละ แปลว่า ทักมาก็ดีใจแล้ว
  • คืนตาผู้ลังคน แปลว่า ไม่ชอบใครบางคน , เหม็นขี้หน้าใครบางคน
  • ซอมเบิ่งอยู่เด้อ แปลว่า แอบมองอยู่นะ
  • เว้าเผอเด๋ว แปลว่า พูดอะไรกัน
  • ได้เพอแน แปลว่า มีใครบ้าง
  • ไป๋ทางเลอ แปลว่า ไปทางไหน
  • จั๋กไป๋เผอ แปลว่า ไม่รู้ไปไหน
  • กับไฟ แปลว่า ไม้ขีด
  • คันยู , จ้อง แปลว่า ร่ม
  • คุ แปลว่า ถังตักน้ำ
  • ขันมะ แปลว่า ขันหมาก
  • คึด แปลว่า คิด
  • ไฮ่ แปลว่า ร้องไห้
  • เว้า แปลว่า พูด
  • เอ็ดเวะ แปลว่า ทำงาน
  • ญ่าง แปลว่า เดิน
  • แล่น แปลว่า วิ่ง
  • ลิ่น , ดิ้น แปลว่า เล่น
  • ปิด , อัด , กึ่ด แปลว่า ปิด
  • เจ้ามาต๋าซีเลอ แปลว่า คุณมาจากไหน
  • เจ้าคือซับแท้ แปลว่า คุณสวยมาก
  • เอ๋ามาพี้ แปลว่า เอามานี่
  • เจ้าคือเว้าโม้นแถ่ะ แปลว่า คุณพูดเพราะมาก

ภาษาภูไทเป็นภาษาที่มีผู้ใช้เป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันกลับถูกกระแสโลกาภิวัตน์ทำลายลักษณะสำคัญทางภาษาไป การรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเหล่านี้ไม่ให้สูญหายและอยู่รอดอย่างยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งที่ชุมชนซึ่งเกี่ยวข้องต้องมีจิตสำนึกเข้ามามีส่วนร่วมในการปกป้องคุ้มครอง และดำเนินการโดยชุมชนเพื่อชุมชนเอง ทั้งนี้เพื่อให้ภาษาและวัฒนธรรมของคนกลุ่มชาติพันธุ์ภูไทคงอยู่สืบไป

รายการคำศัพท์ที่นำมาเสนอในวันนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทีมงานแอดมินได้คัดเลือกมาให้เพื่อน ๆ ได้สนุกกัน หากต้องการดูคำศัพท์ทั้งหมด เพื่อน ๆ สามารถค้นหาคำศัพท์ภาษาภูไทได้ในพจนานุกรมภาษาอีสานของเราได้เลย

อ้างอิง

  • สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
  • อัมพร นันนวล. (2552). ประเพณีกินดองของชาวภูไท อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (ไทยศึกษา). มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี.
  • ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*