อัดหน่อไม้ไว้กินนาน “หน่อไม้อัด”
วันนี้เราจะพามาทำหน่อไม้อัดถุงที่สามารถเก็บไว้รับประทานเองหรือขายในยามขาดแคลนเก็บได้นานเป็นปีเลยนะจะบอกให้ และมีเคล็ดลับดี ๆ มาบอกด้วยจ้า
รูปแบบการทำหน่อไม้อัด พัฒนาไปจากการทำหน่อไม้อัดปี๊บนั่นแหละจ้า จะมีส่วนแตกต่างกันบ้างไม่มาก เช่น ไม่ใช้ปี๊บ ไม่ใส่น้ำในบรรจุภัณฑ์ถังปี๊บ จึงทำให้คุณภาพของหน่อไม้อัดปลอดภัยจากสารอันตรายมากกว่า และที่สำคัญสามารถเก็บไว้ได้นานเป็นปี
วัสดุอุปกรณ์
ได้แก่ หน่อไม้สด จำพวกหน่อไม้เลี้ยงทั้งหลาย เพราะขนาดของหน่อไม้ไม่โตนัก หรือพวกที่แตกหน่อขึ้นมาใหม่ หากเป็นพวกไผ่ตง ไผ่กิมซุ่ง หรือประเภทคล้ายกัน อาจต้องผ่าเป็นซีกก่อนบรรจุ
บรรจุหน่อไม้
ถุงพลาสติกทนร้อน ขนาดพอดีความต้องการของเราเลยค่ะ ยางรัด หรือใช้เชือกฟาง
อุปกรณ์การต้ม เช่น ถังปิ๊บ หรือหม้อนึ่ง หวดนึ่งข่าว แล้วแต่จะสะดวกนะคะ
ขั้นตอนการทำ นำหน่อไม้สดที่มีความยาวพอเหมาะ คือ ประมาณศอก มาปอกเปลือกออกจนหมด จะเลือกบางที่จะเผาหน่อไม้ก่อน แต่เราปอกเปลือกเลยนะคะสะดวกและเร็วกว่า นำหน่อไม้ที่ปอกเปลือกแล้วนำมาลงล้างน้ำ ตัดแต่งส่วนที่แข็งๆ ออก ล้างน้ำอีกครั้งจนสะอาดแล้วบรรจุลงในถุงพลาสติกที่เตรียมไว้ บรรจุถุงละประมาณ 1 กิโลกรัม รวบปากถุงรัดยางวงไว้ไม่ให้แน่นนัก
หากรัดปากถุงแน่น เวลานำไปนึ่งอากาศจะออกไม่ได้ ถุงจะโป่งพอง และอาจจะทำให้ถุงแตกในขณะที่นึ่งได้ หากไม่แตกจะมีอากาศอยู่ในถุง อาจเป็นที่มาของเชื้อรา ทำให้หน่อไม้เน่าเสียเก็บได้ไม่นาน การนึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเมื่อเปิดฝาหม้อนึ่งควรรีบรัดปากถุงให้แน่นขณะที่กำลังร้อนๆ ป้องกันอากาศภายนอกเข้าไปในถุง รัดยางเสร็จ นำถุงหน่อไม้บรรจุลงในถุงพลาสติกอีกครั้ง คือ ซ้อนถุงนั่นเอง รัดยางที่ถุงซ้อนให้แน่นเช่นเดียวกันกับถุงแรก
หน่อไม้
ข้อสังเกตว่าหน่อไม้อัดที่นึ่งจนสุกแล้วเก็บไว้ได้นานหรือไม่ ให้ดูภายในถุง จะเห็นน้ำสีเหลืองใสอยู่ที่ก้นถุง น้ำที่ว่านี้เป็นน้ำจากหน่อไม้นั่นเอง ซึ่งก็ไม่มากมายนัก เมื่อถุงเย็นดีแล้วให้ใช้เชือกฟางมัดปากถุง มัดถุงเดียวหรือด้านละถุงตามแต่จะต้องการ หากมัดข้างละถุงจะสะดวกต่อการนำไปเก็บรักษา
หน่อไม้อัดนึ่ง
เคล็ดลับการเก็บรักษา
ควรแขวนไว้ในที่ร่มอากาศถ่ายเทสะดวก เก็บไว้รับประทานเองหรือขายในยามขาดแคลนได้นานเป็นปี ลองทำกันดูนะคะ วิถีชีวิต วิถีชาวบ้าน ก็แบบนี้แหละจ้า