การปลูกข้าวโพดฝักสด
การปลูกข้าวโพดฝักสด นิยมปลูกกันมากในประเทศไทย เพราะถือเป็นพืชเศรษฐกิจทั้งของเมืองไทยและของโลก และการปลูกข้าวโพดก็มีขั้นตอนที่ง่าย สำหรับข้าวโพดฝักสดในประเทศไทย ได้แก่ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเหนียว ข้าวโพดฝักอ่อน และข้าวโพดเทียน แต่ที่สำคัญคือ ช้าวโพดหวานและข้าวโพดฝักอ่อน ส่วนที่เหลือจะนิยมบริโภคในท้องถิ่นมากกว่า แต่ในอนาคตมีแนวโน้มว่าตลาดจะขยายตัวมากขึ้น
สภาพพื้นที่
ข้าวโพกฝักสดสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในเขคพื้นที่ชลประทาน
ลักษณะดิน
ควรเป็นดินที่มีอุดมสมบูรณ์สูง ระบายน้ำได้ดี มีค่าความเป็นกรด – ด่าง ประมาณ 5.5 – 6.8 สามารถปลูกได้ตั้งแต่พื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงความสูง 2 – 3 พันเมตร
สภาพภูมิอากาศ
ควรอยู่ในอุณหภูมิประมาณ 20 – 30 องศาเซลเซียล
พันธุ์ข้าวโพดฝักสด
- พันธุ์ผสมเปิด เป็นพันธุ์ที่มีลักษณะทางการเกษตรไม่สม่ำเสมอ โดยทั่วไปให้ผลผลิตต่ำกว่าพันธุ์ลูกผสม แต่เมล็ดพันธุ์ราคาถูกกว่าและเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ต่อได้ 2-3 รุ่น โดยจะปลูกห่างจากพันธุ์อื่นไม่น้อยกว่า 200 เมตร หรือทิ้งช่วงการปลูกจากพันธุ์อื่นไม่น้อยกว่า 21 วัน แล้วคัดเลือกฝักที่มีลักษณะตรงตามพันธุ์อย่างน้อย 200 ต้น/ไร่
- พันธุ์ลูกผสม นิยมปลูกมากกว่าพันธุ์ผสมเปิด ให้ผลผลิตและคุณภาพสูงกว่า แถมยังที่ต้องการของตลาดและโรงงานอุตสาหกรรมการแปรรูป ทำให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนได้มีการพัฒนาพันธุ์ลูกผสมขึ้นมากมาย จนถึงปัจจุบัน พันธุ์ที่เกษตรกรใช้เพื่อผลิตข้าวโพดส่งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป เป็นพันธุ์ลูกผสมแทบทั้งสิ้น
การเตรียมดิน
ไถดะ 1 ครั้ง แล้วตากดินไว้ 7 – 15 วัน หว่านปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินประมาณ 1 – 2 ตันต่อไร่ และไถแปร 1 – 2 ครั้ง เพื่อย่อยดินให้เหมาะสมต่อการยกแปลงปลูก
ฤดูที่เหมาะกับการปลูก
สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปีในพื้นที่ที่น้ำเพียงพอ
วิธีการปลูก
เมื่อเตรียมดินเสร็จเรียบร้อย ให้กะระยะปลูก โดยมี 2 แบบคือ ระยะระหว่างแถว 75 เซนติเมตร ระหว่างต้น 30 เซนติเมตร แบบแถวคู่ (แบบแปลงผัก) ชักร่องกว้าง 120 เซนติเมตร ปลูกข้างสันร่อง 2 ด้าน ระยะระหว่างต้น 30 เซนติเมตร
การพรวนดิน
ในดินเหนียวควรเพิ่มแกลบและปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเพิ่มเป็น 2 – 4 ตันต่อไร่ พรวนให้เข้ากัน เพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น
การกำจัดวัชพืช
- ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากวัชพืช ในปัจจุบันเมล็ดพันธุ์พืชที่ปลูกโดยทั่วไป มักมีเมล็ดวัชพืชปลอมปนอยู่ อาจเป็นเพราะผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ขาดความระมัดระวัง ทำให้เกษตรกรต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเพื่อกำจัดวัชพืชเพิ่มขึ้น
- ดินที่ใช้ปลูก ควรปราศจากเมล็ดหรือส่วนที่ขยายพันธุ์ของวัชพืช โดยเฉพาะพวกเหง้า หัว ไหล ต้องเก็บออกให้หมด อาจใช้วิธีอบหรือรมด้วยเมทธิลโบรไมด์เสียก่อน วิธการดังกล่าว นอกจากช่วยป้องกันวัชพืชแล้ว ยังสามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคแก่พืชได้อีกทางหนึ่ง
- ระมัดระวังการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด โดยเฉพาะมูลของสัตว์เคี้ยวเอื้อง
- ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการเกษตร หลังจากทำงานเสร็จทุกครั้งวิธีการนี้นอกจากจะช่วยบำรุงรักษาเครื่องมือและอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการป้องกันวัชพืชที่อาจติดมากับเครื่องมือ
- การให้น้ำชลประทาน ในการให้น้ำชลประทานแก่ข้าวโพดฝักสดทุกครั้ง เมล็ดวัชพืชจะติดมา เกษตรกรต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ซึ่งน้ำชลประทานจัดเป็นพาหะที่สำคัญของการแพร่กระจายวัชพืช
การให้ปุ๋ย
มี 2 ระยะคือ รองพื้นด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ตามความเหมาะสม และใส่ปุ๋ยแต่งหน้า 2 ครั้ง เมื่อข้าวโพดมีอายุประมาณ 25 – 30 วัน
การให้น้ำ
- ควรให้น้ำทันทีหลังปลูก และหลังการใส่ปุ๋ยทุกครั้ง หลังจากนั้นใหน้ำทุก 7-12 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ซึ่งวิธีการให้น้ำมี 2 แบบ คือ ให้น้ำตามร่องคูและให้น้ำแบบพ่นฝอย (sprinkler) ถ้าการให้น้ำแบบ sprinkler ควรให้น้ำแต่ละครั้งประมาณ 35-40 มิลลิเมตร ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและชนิดของดิน เช่น ถ้าดินที่ปลูกข้าวโพดเป็นดินทรายหรือดินร่วนทราย ควรให้น้ำถี่กว่าดินเหนียว หรือดินร่วนเหนียว นอกจากนี้ ถ้าในช่วงการเจริญเติบโตสภาพอากาศมีอุณหภูมิสูง หรือลมแรง ควรมีการให้น้ำถี่ขึ้น เพราะในสภาพดังกล่าวข้าวโพดมีความต้องการใช้น้ำมาก
- ถ้าใบข้าวโพดหวานเหี่ยวหรือม้วนในช่วงเช้าหรือเย็น แสดงว่าขาดน้ำต้องรีบให้น้ำทันที
- หลังการให้น้ำ ต้องระวังไม่ให้น้ำท่วมขังในแปลงนานเกิน 24 ชั่วโมง เพราะข้าวโพดฝักสดชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง หรืออาจตายได้
- อย่าให้ข้าวโพดขาดน้ำในช่วงผสมเกสรและติดเมล็ด เพราะจะทำให้ผลผลิตและคุณภาพผลผลิตลดลงอย่างมาก
- หยุดให้น้ำก่อนเก็บเกี่ยวข้าวโพดฝักสดประมาณ 2-3 วัน
เทคนิคการปลูก
เรื่องการให้น้ำสำคัญมาก ดังนั้น ควรดูแลเรื่องน้ำให้เพียงพอต่อการปลูก โดยเฉพาะในระยะกำลังเจริญเติบโต
การเก็บเกี่ยว
เมื่อโตพอที่จะเก็บเกี่ยวได้ ควรหยุดให้น้ำประมาณ 2 – 3 วัน แล้วค่อยเก็บเกี่ยว
ตลาด
ข้าวโพดฝักสด แม้จะมีพื้นที่ปลูกไม่มากเหมือนข้าวโพดไร่ แต่ก็เป็นที่ยอมรับของประชาชนและปลูกกันอย่างแพร่หลาย เพราะข้าวโพดฝักสดเป็นพืชที่ปลูกง่าย ใช้ระยะเวลาการผลิตสั้น (ประมาณ 65-75 วัน สำหรับข้าวโพดหวาน และ 45-50 วัน สำหรับข้าวโพดฝักอ่อน) มีความเสี่ยงต่ำ และในขั้นตอนการผลิตยังใช้สารเคมีน้อย
นอกจากนั้นยังเป็นพืชที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะการนำไปทำเป็นข้าวโพดคั่วที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งตามซุปเปอร์มาร์เก็ต และตลาดท้องถิ่น
ผลตอบแทน
ข้าวโพดฝักสดจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยนประมาณ 1,800 กิโลกรัมต่อไร่
ข้อมูลและภาพประกอบ
- หนังสือ 123 อาชีพทางเลือก
- arda.or.th/kasetinfo/north/plant/vcorn.html