พระธาตุนาดูน พุทธมนฑลแห่งอีสาน

วันนี้อีสานร้อยแปดพาไปเข้าวัดทำบุญ ที่จังหวัดมหาสารคาม ไปชมดินแดนประวัติศาสตร์เก่าแก่และจนได้ชื่อว่าพุทธมณฑลแห่งอีสาน นั่นคือ พระธาตุนาดูน

พระธาตุนาดูนป็นโบราณสถานที่มีอายุมากว่า 1,300 ปี ขุดพบเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2522 บนที่นาของนายทองดี ปะวะภูตา ราษฏรบ้านนาดูน ต.นาดูน อ.นาดูน จังหวัดมหาสารคาม การค้นขุดค้นพบตอนแรก ขุดได้โดยคนหลายกลุ่มคน

พระธาตุนาดูน (7)

ข่าวการขุดค้นพบพระพิมพ์ดินเผาได้แพร่ กระจายออกไป ทำให้ประชาชนที่ทราบข่าวเดินทางมา ขุดค้นอย่างมากมาย

เมื่อเจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น ได้ติดตามวัตถุที่ขุดพบแล้วนำมารวมกัน ปรากฏว่าต่อเข้ากันได้รูปทรง มีการพิสูจน์และพบว่าสถูปนี้ใช้สำหรับบรรจุพระสารีริกธาตุ

พระธาตุนาดูน (4)

ลักษณะสถูปที่ขุดพบทำด้วยทองสำริด มีส่วนประกอบ 2 ส่วนคือ
1.ส่วนยอด มีลักษณะ เป็นปล้องไฉน จำนวน 2 ปล้อง ส่วนบนสุดเป็นปลียอดกลม
2. ตัวสถูปทำด้วยทองสำริด มีลักษณะคล้ายระฆัง หรือโอคว่ำ ส่วนยอดของตัวสถูป จะรับเข้ากับส่วนล่างสุดของส่วนยอดพอดี

ในการขุดครั้งนั้น ชาวบ้าน รวมทั้งผู้คนทั่วสารทิศ ขุดได้พระพิมพ์ต่าง ๆ ได้หลายสิบกระสอบ และในปัจจุบันวัตถุเหล่านั้น บูชากันราคาระดับต้น ๆ ของเมืองไทย

พระธาตุนาดูน (8)

ชาวจังหวัดมหาสารคามเห็นว่าการขุดพบพระบรมสารีริกธาตุครั้งนี้นับเป็นนิมิตหมายอันดี สมควรสร้างพระสถูปเจดีย์ประดิษฐานไว้ให้ถาวรมั่นคง

เพื่อสิริมงคลแก่จังหวัดมหาสารคามและภูมิภาคนี้ และเพื่อสืบทอดพระบวรศาสนาตามแนวทางแห่งบรรพชน จึงจัดสร้างโครงการพุทธมณฑลอีสานขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ พุทธศักราช 2525-2529

พระธาตุนาดูน (6)

พุทธมณฑลอีสาน ประกอบด้วยสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์พระธาตุนาดูนที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และศูนย์พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมจำปาศรี

เป็นที่เก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับ อานาจักร จัมปาศรี นครโบราณของบริเวณนี้ ซึ่งอยู่ในสมัยทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-16

พื้นที่โดยรอบบริเวณในพุทธมณฑลอีสาน ประกอบไปด้วย วัด ส่วนรุกขชาติ สวนสมุนไพร ศาลาพัก แหล่งน้ำ และถนน

พุทธมณฑลอีสาน ได้ก่อสร้าง ณ โคกดงเค็ง มีพื้นที่ 902 ไร่เศษ มีเจดีย์พระธาตุนาดูน เป็นลักษณะประยุกต์จากสถูปจำลองที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ กับลักษณะศิลปะแบบทวารวดี

ออกแบบและดำเนินการสร้างโดยกรมศิลปากรสูง 50.50 เมตร ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 35.70 เมตร

พระธาตุนาดูน (4)

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้ประกอบ พิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2528 ก่อสร้างสำเร็จบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2529 สิ้นค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 7,580,000 บาท (เจ็ดล้านห้าแสนแปดหมื่นบาทถ้วน)

และวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 พระบาทสมด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมงกุฏราชกุมารเสด็จพรัราชดำเนินแทนพระองค์มาทรงประกอบพิธีอันเชิญพระบรมสารีริกธาตุเข้าบรรจุ ในองค์ เจดีย์พระธาตุนาดูนนี้

พระธาตุนาดูน (10)

รูปลักษณะพระธาตุนาดูน จำลองแบบจากสถูปสำริดที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ฐานกว้าง 35.70 * 35.70 เมตร มีความสูงจากฐานถึงยอด 50.50 เมตร ฐานรากและโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด
ผนังภายนอกพระธาตุส่วนใหญ่ทำด้วยหินล้าง บางแห่งฉาบปูนเรียบสีขาว มีลวดลายลวดบัว เสาบัวต่าง ๆ จำลองแบบ พระเครื่องพิมพ์ต่าง ๆ ที่ขุดพบมาประดิษฐานพระธาตุจำนวน 32 รูป
และมีมารแบก ปั้นเป็นแบบนูนสูงประดับที่ฐาน จำนวน 40 ตัว
ตัวองค์พระธาตุจะแบ่งออกเป็น 16 ชั้น ภายในโปร่ง

พระธาตุนาดูน (8)

ชั้นที่ 1 คือ ส่วนฐานที่เป็นองค์พระธาตุมีลักษณะกลม มีพื้นทางเดินโดยรอบ และมีซุ้มประตูลายปูนปั้น 4 ประตูประจำทิศ ผนังประดับด้วยกระเบื้องด่านเกวียนศิลปะของ ภาคอีสาน พื้นปูด้วยกระเบื้องเซรามิก 6 เหลี่ยม ผนังทั่วไปทำด้วยหินล้าง

ชั้นที่ 2 สูงจากชั้นที่หนึ่ง 5 เมตร มีเจดีย์องค์เล็กประจำทิศเหนือทั้ง 4 และพระพุทธรูปประจำซุ้ม 4 องค์ ผนังประกอบด้วยปูนปั้นเป็นรูปเสามีบัวเหนือเสา พื้นปูด้วยกระเบื้องเซรามิก 6 เหลี่ยม ผนังทั่วไปทำด้วยหินล้างและประดับกระเบื้องด่านเกวียน

ชั้นที่ 3 สูงจากชั้นที่สอง 4.80 เมตร มีเจดีย์องค์เล็กประจำทิศเฉียง 4 องค์ เช่นเดียวกับชั้นที่ 2 พื้นปูด้วยกระเบื้อง เซรามิก 6 เหลี่ยม

ชั้นที่ 4 สูงจากชั้นที่สาม 1.60 เมตร ประกอบด้วยฐาน 8 เหลี่ยม เป็นชั้นเริ่มต้นของ ตัวองค์พระธาตุ โครงสร้างประกอบ

ชั้นที่ 5 สูงจากชั้นที่สาม 1 เมตร ประกอบด้วยฐานบัวกลม ชั้นที่ 5 ถึงชั้นที่ 10มีความสูง 11 เมตรเป็นตัวองค์ระฆังของพระธาตุ โดยเฉพาะชั้นที่ 8 จะเป็นชั้นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ชั้นที่ 10 มีลักษณะองค์ระฆัง เป็นชั้นบัลลังก์

ชั้นที่ 11 ถึงชั้นที่ 14 มีความสูง 4.60 เมตร เป็นชั้นบัลลังก์ประกอบด้วยลักษณะทรงกลมมีลายปูนปั้นเป็นกลีบบัว

ชั้นที่14 ถึงชั้นที่ 16 มีความสูง 6.80 เมตร เป็นชั้นปล้องไฉน มีทั้งหมด 6 ปล้อง ในส่วนชั้นที่ 16 ถึงยอดคือปลียอด มีชั้นปลี ชั้นลูกแก้ว และะชั้นฉัตรยอด ส่วนฉัตรยอดบุด้วยโมเสกแก้วสีทอง

การเดินทางจากตัวเมืองมหาสารคาม โดยมาตามถนนหมายเลข 2040 ผ่านอำเภอแกดำ อำเภอวาปีปทุม แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2045 ถึงอำเภอนาดูน  ห่างจากตัวเมืองมหาสารคามประมาณ 65 กิโลเมตร

 แผนที่ เส้นทางไปยังพระธาตุนาดูน (พุทธมณฑลอีสาน)

ขอบคุณภาพจาก

http://pantip.com/topic/31129495
http://pantip.com/topic/30855715


1 ความเห็นที่มีต่อพระธาตุนาดูน พุทธมนฑลแห่งอีสาน

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*