เซิ้งโปง

เซิ้งโปง

โปง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กระปุง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ตี เป็นอาณัติสัญญาณบอกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวัดแทนการตีระฆัง หรือฆ้องและกลอง ถ้าโปงขนาดใหญ่มากเสียงก็จะทุ้มหรือต่ำตามขนาดของโปง ถ้าโปงมีขนาดเล็ก เสียงก็จะเล็กตามด้วย

เวลาที่กระทุ้งโปง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การ “ถั่งโปง”
1. กระทุ้งเวลาเช้า ก่อนบิณฑบาต เพื่อให้ญาติโยมเตรียมตัวตักบาตร
2. กระทุ้งเวลาเย็น เพื่อประโยชน์ให้คนที่หลงป่ากลับเข้ามาถูกทิศ
3. กระทุ้งเวลาย่ำค่ำ ในช่วงเข้าพรรษา เพื่อให้พระลงทำวัตรเย็น
4. กระทุ้งเวลาวิกาล แสดงว่า เกิดเหตุร้ายขึ้นในวัดและแจ้งข่าวสารให้ชาวบ้านได้ทราบว่าทางวัดขอความช่วยเหลือ

นายเปลื้อง ฉายรัศมี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน กองศิลปศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ ได้นำท่าทางที่ประมวลจากกริยาและขั้นตอนต่าง ๆ ของการทำโปงมาประยุกต์ให้เข้ากับลักษณะพื้นฐาน และแนวความคิด ด้านการแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านภาคอีสาน กลายเป็นการแสดงชุดใหม่ และเรียกชื่อการแสดงชุดใหม่ ตามลักษณะของอุปกรณ์ที่ประกอบการแสดงว่า “เซิ้งโปง”

เซิ้งโปง

เซิ้งโปง

 

รูปแบบการแสดง

แบ่งการแสดงออกเป็น 2 ตอน และใช้ผู้แสดง 2 กลุ่ม
ตอนที่ 1
ใช้ผู้แสดง 8 คน ชาย 5 หญิง 3 คน แสดงให้เห็นขั้นตอนของการทำโปง โดยเริ่มตั้งแต่การออกไปหาไม้ไผ่, การผึ่งไม้ให้แห้งบากทำรูแพ, ติดขาโปง, เจาะรูร้อยเชือก แคนเป่า เกริ่นแคนประกอบการดำเนินเรื่อง และวงดนตรีโปงลางบรรเลงประกอบท่าทาง

ตอนที่ 2
ใช้ผู้แสดง 12 คน เป็นหญิงล้วน แสดงให้เห็นถึงลักษณะของโปงที่ประดิษฐ์เรียบร้อย แล้วนำมาสั่นเป็นลายพื้นบ้านอีสานคือ ลายโปงลางและช่วงสุดท้ายเป็นการนำโปงมาเคาะเป็นจังหวะ ประกอบกับท่าเซิ้งเหมือนการขยับกรับ นายเปลื้อง ฉายรัศมี ได้จัดลำดับที่มีอยู่แล้วให้เหมาะกับท่าเซิ้งโปง ดังนี้ ลายน้ำท่วมทุ่ง ลายโปงลาง ลายสาวชมหาด และลายเป่าใบไม้

การแต่งกาย

ตอนที่ 1 ชาย สวมเสื้อหม้อฮ่อม นุ่งกางเกงขาก๊วย ใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว โพกศีรษะและสะพายย่าม
หญิง สวมเสื้อคอกลมแขนกระบอก ห่มสไบ นุ่งผ้าถุงมัดหมี่ใช้ผ้าแพรฟอยมัดมวยผม

ตอนที่ 2 ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน ห่มผ้าสไบแดงเหน็บชายด้านซ้าย นุ่งผ้าซิ่นพื้นบ้านภาคอีสาน พาดผ้าแพรวาสีขาวที่ไหล่ขวา สวมเครื่องประดับที่ทำด้วยเงินเกล้าผมมวย ประดับดอกไม้รังไหม


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*