แมงเลี้ยงน้อง

ชื่อพื้นบ้าน   แมงเลี้ยงน้อง (กวีขี้อาย)
ชื่อสามัญ              ด้วงดินขอบทองแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์     Mouhotia batesi Lewis
วงศ์ Carabidae

ลักษณะทางกายภาพ

เป็นด้วงดินที่มีขนาดใหญ่สีดำ ลำตัวยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร
ส่วนหัวมีลักษณะแบน ใต้เขี้ยวมีขนสีน้ำตาล
หรือดำบริเวณขอบของส่วนอกและขอบปีกมีสีทองแดง
มีกระดองที่สวยงาม ไม่มีปีก มีแต่กระดอง
พื้นลายกระดอง เป็นร่องเล็ก ๆ ถี่ๆ
ส่วนใหญ่ มีสีที่ขอบกระดอง และ ขอบคอ เป็นสีทองแดง หรือ สีเหลี่ยมๆ
บ้างก็มี สี สิ่วๆ ( เขียวอมม่วง) ที่สวยงามที่สุด คือมีขอบสีเหลืองทองคำ

แมงเลี้ยงน้อง หรือ ด้วงดินขอบทองแดง
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ที่ได้ประกาศอยู่ในบัญชีท้ายกฎกระทรวง
ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2537) ออกตามความ
ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
และประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับกฤษฎีกาเล่ม 111
ตอนที่ 31ก ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2537

แมงเลี้ยงน้อง

แมงเลี้ยงน้อง

การดำรงชีวิต

ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นดิน ตามป่าโคก ที่มีเศษซากพืชทับถม
และมีความชื้นค่อนข้างมาก กินกิ้งกือและตะขาบเป็นอาหาร
จึงจัดว่าเป็นตัวห้ำ(predator) อีกชนิดหนึ่งในระบบนิเวศ ฯ
สำหรับในประเทศไทยนั้นมีรายงาน
ว่าพบที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีสานบ้านเฮา

ความเกี่ยวพันกับ วิถีชาวอีสาน

เมื่อถึงฤดูลงนา หรือ ฤดูทำนา ชาวนาอีสานส่วนมาก
มักจะขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้ลงไป ” นอนนา”
พ่อและแม่มักจะมีงานยุ่ง จนไม่มีเวลาดูแลลูกน้อย เพราะฉะนั้น หน้าที่ในการ
ดูแลน้องๆ จึงตกเป็นของ ผู้เกิดก่อน หรือ พี่ผู้โตกว่า ดูแลป้อนข้าวป้อนน้ำ
เอาลงนอนอู่ แกว่งไกวสายเปล “ทั้งอุ้มทั้งพาย”

แมงเลี้ยงน้อง เป็นแมลงที่มี กระดองแข็งสวยงาม
เมื่อมันตายลง จะทิ่งกระดองแข็งพร้อมสีสรร ไว้ยลโลก
ตามความเชื่อของคนอีสานแล้ว หากนำกระดองของแมลงชนิดนี้ มาร้อยเชือก
แล้วทำเป็นสายสร้อย คล้องคอ” น้องเล็ก ”  จะทำให้ เลี้ยงง่าย ไม่โยเย
ไม่ค่อยเจ็บไข้ได้ป่วย

ผู้เป็นพี่ ( เอื้อย , อ้าย ) มักจะอุ้มกระเตงน้อง ( เจ๊ะ )
เดินดุ่มๆ เลี้ยงวัวควาย ตามหัวไร่ปลายนา ต่างสอดส่ายสายตาตาม พุ่มไม้
เนินทรายหัวดอน มองหา ” แมงเลี้ยงน้อง” ,มองหากระดองฮ้าง
ถ้าพบตัวเป็น จะไม่ฆ่า เพื่อเอากระดอง เพราะถือว่า จะลดทอนอายุน้อง
จะมองหาเฉพาะซาก หรือ ตัวแมงที่ตายแล้ว ทิ้งเพียงกระดองสีสวยไว้ข้างพุ่มไม้
ยิ่งถ้าพบ กระดองเหลืองทองคำแล้ว ถือว่าเป็นโชค รีบนำมาล้างน้ำแล้วร้อยเชือก
คล้องคอรับขวัญน้อง ให้ ” อยู่ดีมีแฮง”

ของขวัญล้ำค่า หาใช่ เพชรนิลจินดา แต่เป็นเพียงเปลือกของแมลงตัวจ้อย
ผู้คลานคลำ ตามป่านาดอน ซุกซ่อนตามขี้ขอนดอก แต่เป็นความผูกพัน และห่วงใย
ของสถาบันครอบครัว “คือสายสร้อยแมงเลี้ยงน้อง”

แมลงชนิดนี้นับวันจะสูญหาย เนื่องจากป่าไม้ ส่วนใหญ่ถูกทำลาย
และผืนดินขาดความสมดุลย์ชีวภาพ หลงเหลือเพียงให้เห็นตาม
วนอุทยาน หรือ อุทยานแห่งชาติบางแห่งเท่านั้น   จึงไม่แปลกที่ ลูกหลานชาวอีสาน
ไม่รู้จักแมลงชนิดนี้  เมื่อ 20 ปีก่อน พบได้ตาม ป่าหัวดอน หัวนา ทั่วไป
เพราะดินดี มีความหลากหลายทางชีวภาพ
ปัจจุบันประกาศให้เป็น สัตว์สงวนแล้วครับ


2 ความเห็นที่มีต่อแมงเลี้ยงน้อง

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*