ฟ้อนแม่บทอีสาน

ฟ้อนแม่บทอีสาน

ความเป็นมา

ในปี พ.ศ.2522 วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด ได้จัดตั้งขึ้นเป็นวิทยาลัยนาฏศิลป์แห่งแรกในภาคอีสาน เปิดทำการเรียนการสอนด้านวิชาสามัญ และดนตรีนาฏศิลป์ทั้งที่เป็นของราชสำนักและพื้นบ้านอีสาน โดยเฉพาะศิลปะพื้นบ้านอีสานได้เชิญหมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน มาสอนหมอลำ อาจารย์ทองคำไทยกล้า สอนเป่าแคน อาจารย์ทรงศักดิ์  ประทุมศิลป์ สอนโปงลาง โหวดและพิณ และอาจารย์ทองจันทร์ สังฆะมณี เป็นผู้สอนการฟ้อนรำ ในปีพ.ศ. 2523 นายชวลิต มณีรัตน์ ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด มีความเห็นว่า ท่าฟ้อนของคนอีสานนั้น ล้วนมีที่มาจากสิ่งต่างๆเช่น
1. มาจากการเคลื่อนไหวอิริยาบถของสัตว์ เช่น ท่าเสือออกเหล่า ท่าเต่าลงหนอง ท่ายูงรำแพน เป็นต้น
2. มาจากธรรมชาติ เช่น ท่าลมพัดพร้าว
3. มาจากวรรณกรรมท้องถิ่น เรื่องพระลัก-พระราม  เช่น ท่าทศกัณฐ์โลมนาง ท่าหนุมานถวายแหวน

จึงควรนำท่าฟ้อนเหล่านนี้มาผนวกเข้าด้วยกัน แล้วจัดทำเป็นท่าแม่บทแบบมาตรฐานของอีสาน เพื่อใช้การเรียนการสอนด้านนาฏศิลป์พื้นเมือง และจะได้นำออกแสดงงานเผาเทียนเล่นไฟที่จังหวัดสุโขทัย ประมาณปี พ.ศ.2525จึงได้มอบหมายให้อาจารย์ฉวีวรรณ ดำเนิน(พันธุ) นายจีรพล เพชรสม ผู้ช่วยผู้อำนวยการและคณะครูศิลปะพื้นเมืองไปดำเนินการศึกษาค้นคว้าและเก็บข้อมูลท่าฟ้อนอีสาน จากหมอลำที่มีชื่อเสียงหลายๆท่าน เช่น หมอลำเคน ดาหลา หมอลำเปลี่ยน วิมลสุข หมอลำจันทร์เพ็ญ นิตะอินทร์ หมอลำสุบรรณ พะละสูรย์ และหมอลำชาลี ดำเนิน ผู้เป็นบิดาของอาจารย์ฉวีวรรณ ดำเนิน นอกจากนั้นยังได้ศึกษาท่าฟ้อนผีฟ้าอีกด้วย แล้วได้นำมารวบรวมเรียบเรียงท่าฟ้อนแล้วแต่งกลอนลำให้เสร็จสมบูรณ์ในเดือนเมษายน พ.ศ.2525แล้วได้นำออกแสดงงานเผาเทียนเล่นไฟที่จังหวัดสุโขทัย ประมาณปี พ.ศ.2525

ฟ้อนแม่บทอีสาน

ฟ้อนแม่บทอีสาน

วาดฟ้อนประกอบกลอนลำแม่บทอีสาน

อาจารย์ฉวีวรรณ ดำเนิน(พันธุ) ได้กล่าวถึงที่มาของท่าฟ้อนแม่บทอีสานว่า ได้รับการถ่ายทอดมาจาก หมอลำชาลี ดำเนิน ผู้เป็นบิดา นอกจากนั้น ก็ได้มาจากหมอลำอาวุโสที่มีชื่อเสียงซึ่งมีท่าฟ้อนสวยงามแปลกตา จึงได้มารวมกับท่าฟ้อนของตนที่มีอยู่แล้ว เขียนลำดับกลอนลำแม่บทอีสานขึ้นมา เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน และการแสดงซึ่งในแต่ละท่าที่ได้รวบรวมมานั้น ก็ได้มาจากหมอลำที่มีชื่อเสียง ดังนี้

1.ได้มาจากหมอลำชาลี ดำเนิน ผู้เป็นบิดา ถ่ายทอดให้ทั้งหมด 19 ท่า ได้แก่
–  ท่าหยิกไหล่ลายมวย
–  ท่าลำเพลิน
–  ท่าตีกลองกินเหล้า
–  ท่าหงส์บินเวิ่น
–  ท่าตาขำตีงัว
–  ท่าคนเมาเหล้า
–  ท่าอีแหลวบินเซิ่นเอาไก่น้อย
–  ท่าอีเกียจับไม้
–  ท่าสาวน้อยประแป้ง
–  ท่าตำข้าว
– ท่าเต่าลงหนอง
–  ท่ากาเต้นก้อน
–  ท่าเสือออกเหล่า
–  ท่าฟ้อนอุ่นมโนราห์
–  ท่าตุ่นเข้าฮู
–  ท่าช้างชูงวง
–  ท่าเกี่ยวข้าวในนา
–  ท่าช้างเทียมแม่
–  ท่าฟ้อนเกี้ยวซู้

2. ได้จากหมอลำเปลี่ยน วิมลสุข ประมาณ 10 ท่าได้แก่
–  ท่าพรหมสี่หน้า
–  ท่าผู้เฒ่านั่งฟังธรรม
–  ท่าทศกัณฐ์โลมนาง
–  ท่าความเถิกใหญ่แล่นเข้าชนกัน
–  ท่านกเจ่าบินวน
–  ท่าสักสุ่ม
–  ท่านับเงินตรา
–  ท่าไถนา
–  ท่ากวยจับอู่
–  ท่าหนุมานถวายแหวน

3. ได้จากหมอลำเคน ดาหลา  8 ท่า ได้แก่
–  ท่าแฮ้งหย่อนขา
–  ท่ากาตากปีก
–  ท่าหลีกแม่เมีย
–  ท่าปู่สิงหลาน
–  ท่าลิงหลอกเจ้า
–  ท่าลายมวย
–   ท่าผู้เฒ่านั่งผิงไฟ
–  ท่าแข้แก่งหาง

4.ได้จากหมอลำจันทร์เพ็ญ นิตะอินทร์  4 ท่า ได้แก่
– ท่าพายเฮือส่วง
– ท่าคนเข็นฝ้าย
– ท่ายูงรำแพน
– ท่างมปลาในน้ำ

5.ได้จากหมอลำสุบรรณ พะละสูรย์  6 ท่า ได้แก่
– ท่าลมพัดพร้าว
– ท่าสาวลงท่ง
– ท่าสาวแม่ฮ้างลงท่งถือหวิง
– ท่าคนขาแหย่ง
– ท่ากินรีชมดอก
– ท่าพิเภกถวยครู

6 . ได้จากหมอลำผีฟ้าในพิธีกรรม 1 ท่า คือ
– ท่าเลี้ยงผีไท้

กลอนลำแม่บทอีสาน

โดย หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน

“แม่นว่านอนาย จั่งว่าฟังเด้อท่านทุกท่านที่รอฟัง บางทีกลอนบ่จังสิออกเป็นลอยฟ้อน
ทั้งโยะย่อนตามกลอนแอ่นฟัง เสียงแคนจ้าวๆยอขึ้นยกมือ
ท่าหนึ่งนั้น ชื่อพระนารายณ์ ยกแขนสีกายๆออกพรหมสี่หน้า 
ท่านี้เผิ่นเอิ้นว่าทศกัณฐ์โลมนาง น้องมณโฑเอวบางลูบหลังลูบไหล่
มีท่าใหม่หย่างไปหย่างมาฮอดบ่หนีไกลตาเอิ้นช้างเทียมแม่
ยกมือขึ้นแก่แด่ท่าช้างชูงวง คือจั่งเอามือควงข้างพุ้นข้างพี่
ทำทรงนี้เอียงกานโยะย่อนเอิ้นว่า กาเต้นก้อน เทิงย้อนบ่เซา
เข้าท่านี้หยิกไหล่ลายมวย มีเทิงนวยเทิงแข็งคู่กันไปพร้อม  ไผก็ยอมจั่งว่านอเฮาแล้ว มวยไทย ออกท่าขนมต้มผู้ให้ลายตั้งท่ามวย กวยขาซ้ายปัดป่ายขาหลัง บ่มีกลัวเกรงหยังท่ารำแนวนี้
ฟังทางพี้ยังมีท่าใหม่ ท่ามวยไทยกะแล้วยัง แฮ้งหย่อนขา 
ท่าต่อมาเอิ้นว่า กาตาปีก
ฟ้อนจั่งซี้ฟ้อนหลีกแม่เมียให้ลูกเขยไปแหน่เอาไม้แหย่ไปนำ ข่อยสิไปฟังลำขอทางไปแหน่
คอยท่าฟังเด้อแม่ ลมพัดตีนภู เสียงมันดังวูๆ เอิ้น ลมพัดพร้าว
หนาวๆเนื้อคือ เสือออกเหล่า 
ฟ้อนจั่งซี้ท่า เต่าลงหนอง 
ฟ้อนจั่งซี้ ตีกลองกินเหล้า เทิงเมาเทิงฟ้อนนำกันเดินม่วน
ดังห่วนๆแห่บุญบั้งไฟ ฟ้อนกะฟ้อนบ่ไกลเขาเอิ้น คนขาแหย่ง
ยกมือขึ้นแป่งแซ่ง ตาขำตีงัว เอิ้นเป็นตาอยากหัวตาขำออกท่า
ฟังสิว่าท่าใหม่ยังมี จักสิดีบ่ดียังมีท่าใหม่ ท่านี่ ควายเถิกใหญ่แล่นเข้าชนกัน เทิงคึกเทิงดันหลังขดหลังโก่ง
ท่านี้ สาวลงท่ง แก่งแขนนวยนาย ล่ะเทิงเอียงเทิงอายผู้สาวลงท่ง
ท่าเฮ็ดหลังโก่งๆ เกี่ยวข้าว ในนา คือกับคนงมปลาหลังขดหลังโก่ง
ลำกลอนฟ้อนยังมีอีกต่อ คอยถ่าฟังเด้อพ่อ ท่า ตุ่นเข้าฮู 
ท่าต่อมาเอิ้นพิเพกถวยครู เฮ็ดมือแนวนี้
มีลายฟ้อนหลายอันฟ้อนคู่เอิ้นว่าฟ้อน เกี้ยวซู้ วนอ้อมใส่กัน
ท่าฟ้อนนั้นออกท่าวางแขนเอิ้นว่า ยูงรำแพน แอ่นแขนเลยฟ้อน
เทิงโยะย่อนคือแหลวบินเวิ่น เขาเอิ้นว่า แหลวเซิ่นเอาไก่น้อย สอยได้เวิ่นหนี
ฟ้อนจั่งซี้ทำท่าสวยๆ ทำทรงสีนวยๆ เอิ้นสาวประแป้ง
เถิงยามแล้งเขาว่า ลำเลี้ยงข่วง คือจั่งคนป่วงบ้าเดินหน้าอย่างไว ลำเลี้ยงไท้ลงข่วงเป็นฝูง เกินสนุกหนอลุงท่ารำแนวนี้
มีเสียงพร้อมคือ พายเฮือส่วง ยามน้ำล่วงเดือนสิบสอง ฟังเสียงฉาบเสียงกลองดังมาแปดแป่ง
ฟังสิแบ่งท่าฟ้อนออกไป เฮ็ดมือสีไวๆท่า กวยจับอู่
ฟ้อนจั่งซี้เอิ้นปู่สิงหลาน เป็นน่าสงสารเทิงฮิกเทิงฮ่อน
ฟังเบิ่งก่อนท่าผู้เฒ่านั่งฟังธรรม ปากะจ่มไปนำมุมมู้มุมมับ เบิ่งเพิ่นนับ  ผิดแต่หลับตา
ท่าต่อมาฟ้อนหมอลำหมู่
ไปฮอดลำหมู่เอิ้นว่าลำเพลินนุ่งกระโปรงเขินๆเทิงลำเทิงเต้น เห็นไหมท่าลำเพลินออกท่ายกขาขึ้นท่านี้กระดกซ้ายและขวา
มือไขว่คว้า ยกอยู่เทิงบน เขาเอิ้นหงส์บินวน เซิ่นบนเทิงฟ้า
หลับตาฟ้อนเดินสามถอยสี่ คันแม่นฟ้อนท่านี้ เมาเหล้าบ่ส่วงเซา
ท่านี้เจ้า ผู้เฒ่านั่งผิงไฟ ฮอดบ่หนีไปไกลยกมือขึ้นผ่าง
ยกมือขึ้นแล้วกะหย่างถอยไปถอยมา เทิงเล่นหูเล่นตาเอิ้น ลิงหลอกเจ้า
ฟังฉันเว้า เขาว่ารำลักสุ่มฮอดบ่มือจุ่มสักสุ่มหาปลา
ท่าต่อมาเอิ้น เกียจับไม้ใต้พุ่มหมากเล็บแมว
เทิงขาเทิงแอวสักกะรันตำข้าว ยามตอนเช้าสักกะรันเหยียบย่ำ
ท่าเฮ็ดหัวต่ำๆก้นขึ้นสูงๆ ท่านี้เด้อคุณลุง งมปลาในน้ำ
ยามงมได้หักคอเอามายัดใส่ข้องอยู่หนองน้ำท่งนา
รำท่านี้นกกระเจ่าบินวน ตามันเหลียวหาปลาทุ่งนาหนองม่อง
ท่านี้นวลนางน้อง กินรีชมดอก ออกมาชมเที่ยวเล่นดอกไม้กลิ่นหอม
พร้อมว่าแล้วยังมีท่าใหม่ยังมี นี่คนเข็นไหมแกว่งไวทางนี้หรือเข็นฝ้ายเดือนหงายลงข่วง พวกผู้สาวซ่ำน้อยคอยถ่าผู้บ่าวมา
ท่านี้สาวแม่ฮ้างลงท่งถือหวิง ไปเก็บหอยเก็บปูฮ้องหาเอากุ้ง จับหวิงได้เอาลงไปแกว่ง ตักข้างขวาข้างซ้ายหากุ้งอยู่หนอง
ท่านี้เด้อพี่น้องคือฮ้อง ไถนานี่คือลุงทิดสาไถนาหนองม่อง เทิงฮือเทิงฮ้องเชือกก็ฟาดไปนำ ปากกะจ่มพึมพำลุงสาลาวเหนื่อย
ฟ้อนบ่เมื่อยนี่คือจ้ำลายมวย ยกมือขึ้นถวยเวทีสี่ข้าง
ท่าเฮ็ดมือห่างๆนี่คือ นับเงินตรา ผู้นั่นบาทหนึ่ง ผู้ฟังบาทหนึ่ง ให้หมอแคนบาทหนึ่ง
ท่ากู้จู้กึ่งจึ่งนี่คือหนุมาน ทั้งหมอบเทิงคลานยอแหวนถวยไท้ เห็นหรือไม่หนุมานถวายแหวน ลำฟ้อนแบบใหม่
ได้เรียงไล่ท่าฟ้อนคือ แข้แก่งหาง ฮอดบ่ได้หยับหย่างไปไส แก่งหางไปหางมาท่ารำแนวนี้
มีลายฟ้อนมโนราห์ฟ้อนหมู่ แต่นางอยู่บ่ได้บินเจ้ยเวิ่นหนี ฟ้อนจั่งนี่ ท่าอุ่นมโนราห์ พรรณนาเป็นตอนบ่อนพอฟังได้ จำเอาไว้ รำมีหลายท่า ความเป็นมาจั่งซี้จำไว้อย่าหลง อย่าหลง เอ้ย จำไว้อย่าหลง”
………………………..

จากกลอนลำแม่บทอีสานจะเห็นได้วามีชื่อเรียกท่ากำกับทั้ง 48 ท่า ดังนี้
1. ท่าพรหมสี่หน้า
2. ท่าทศกัณฐ์โลมนาง
3. ท่าช้างเทียมแม่
4. ท่าช้างชูงวง
5. ท่ากาเต้นก้อน
6. ท่าหยิกไหล่ลายมวย
7. ท่าแฮ้งหย่อนขา
8. ท่ากาตากปีก
9. ท่าหลีกแม่เมีย
10. ท่าลมพัดพร้าว
11. ท่าเสือออกเหล่า
12. ท่าเต่าลงหนอง
13. ท่าตีกลองกินเหล้า
14. ท่าคนขาแหย่ง
15. ท่าตาขำตีงัว
16. ท่าความเถิกใหญ่แล่นเข้าชนกัน
17. ท่าสาวลงท่ง
18. ท่าเกี่ยวข้าวในนา
19. ท่าตุ่นเข้าฮู
20. ท่าพิเภกถวยครู
21. ท่าฟ้อนเกี้ยวซู้
22. ท่ายูงรำแพน
23. ท่าอีแหลวบินเซิ่นเอาไก่น้อย
24. ท่าสาวน้อยประแป้ง
25. ท่าเลี้ยงผีไท้
26. ท่าพายเฮือส่วง
27. ท่ากวยจับอู่
28. ท่าปู่สิงหลาน
29. ท่าผู้เฒ่าฟังธรรม
30. ท่าลำเพลิน
31. ท่าหงส์บินเวิ่น
32. ท่าคนเมาเหล้า
33. ท่าผู้เฒ่านั่งผิงไฟ
34. ท่าลิงหลอกเจ้า
35. ท่าสักสุ่ม
36. ท่าอีเกียจับไม้
37. ท่าตำข้าว
38. ท่างมปลาในน้ำ
39. ท่านกเจ่าบินวน
40. ท่ากินรีชมดอก
41. ท่าคนเข็นฝ้าย
42. ท่าแม่ฮ้างลงท่งถือหวิง
43. ท่าไถนา
44. ท่าลายมวย
45. ท่านับเงินตรา
46. ท่าหนุมานถวายแหวน
47. ท่าแข้แก่งหาง
48. ท่าอุ่นมโนราห์

การแต่งกาย

การฟ้อนแม่บทอีสานนั้นจะใช้ฟ้อนเดี่ยวหรือฟ้อนคู่ชายหญิงก็ได้
ชาย สวมเสื้อย้อมครามแขนสั้น นุ่งโสร่งไหม ใช้ผ้าขิดสีแดงมัดเอว
หญิง แต่งกายคล้ายหมอลำเรื่อง คือ ผมเกล้ามวยสูงทัดดอกไม้ สวมมงกุฎเพชร  ห่มสไบแพรวาสีเหลืองเฉียงไหล่ ไม่สวมเสื้อ  นุ่งผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ต่อตีนจก เครื่องประดับเช่น สร้อย ต่างหู เข็มขัด กำไล


1 ความเห็นที่มีต่อฟ้อนแม่บทอีสาน

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*