วัดถ้ำผาแด่น “หินเทพ” แห่งแดนอีสาน

สกลนคร วัดถ้ำผาแด่น

วัดถ้ำผาแด่น เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพานในเขตจังหวัดสกลนคร มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน เป็นสถานที่ที่เกจิอาจารย์ชื่อดังทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบันใช้เป็นที่ปฏิบัติกรรมฐาน เคยเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก มีจุดชมวิวธรรมชาติที่น่าสนใจหลายจุดและมีสถานที่ที่มนุษย์สร้างขึ้นภายหลังอีกหลายแห่ง ทำให้ผู้คนที่มีจิตศรัทธาและนักท่องเที่ยวที่ได้ทราบข้อมูลเกิดความสนใจ เดินทางมาสักการะและท่องเที่ยวที่วัดถ้ำผาแด่นเป็นจำนวนมาก ทำให้ตัวเองมีธุระระหว่างการเข้าพักที่โรงแรมหลังจากท่องเที่ยวมาทั้งวันเพื่อทราบข้อมูลเพิ่มเติม

“อีสาน” เป็นดินแดนแห่งอารยธรรม วันนี้ทีมงานอีสานร้อยแปดขอพาเพื่อนๆไปรู้จักสถานที่ท่องเที่ยวและเป็นสถานที่ที่เหมาะกับการไปทำบุญพักผ่อนจิตใจ เรียกได้ว่าเที่ยวไปอิ่มบุญไปและตื่นตาตื่นใจกับประติมากรรมฝีมือมนุษย์ที่แกะสลักภูเขาทั้งลูกเปลี่ยนจากหินภูเขาธรรมดา กลายเป็นของมีคุณค่าทางจิตใจไม่สามารถเปรียบเป็นมูลค่าได้

  1. วัดเก่าแก่อายุนับร้อยปี
  2. พบบันทึกมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2484
  3. มีคณะพระธุงดงค์มาปักกลด
  4. ชาวบ้านออกมาต้อนรับคณะพระธุดงค์
  5. ญาติโยมนิมนต์คณะพระอาจารย์ปักกลด
  6. คณะพระอาจารย์ออกเดินทางไปถ้ำผาแด่น
  7. ย้ายหอฉันที่ตั้งอยู่บนถ้ำผาแด่นมาที่ดานกกแต้
  8. ปรากฏการณ์น่าอัศจรรย์ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6
  9. เสือโคร่งแห่งภูผาแด่น
  10. พระอาจารย์ที่ธุดงมาที่วัดถ้ำผาแด่น
  11. ภูผาแด่น
  12. สถานที่ตั้งของวัดถ้ำผาแด่น
  13. ลักษณะที่ตั้งของภูผาแด่น
  14. เส้นทางขึ้นวัดถ้ำผาแด่น
  15. หน้าผาแด่น
  16. ถ้ำผาแด่น
  17. สะพานเชื่อมฟ้า
  18. พระเจดีย์หินเก่า
  19. บ่อน้ำทิพย์สุญญตา
  20. งานประติมากรรมแกะสลักหินทรายขนาดใหญ่
  21. อัพเดทข้อมูลวัดถ้ำผาแด่น 2562 (2019)

วัดเก่าแก่อายุนับร้อยปี

วัดถ้ำผาแด่น อยู่บนเทือกเขาภูพาน บ้านดงน้อย ตำบลดงมะไฟ เป็นวัดเก่าแก่มีความเป็นมานับร้อยปี ภายในบริเวณวัดร่มรื่นไปด้วยต้นไม้และโขดหินขนาดใหญ่เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนา ในอดีตมีพระเกจิอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐานหลายองค์มาจำพรรษาและปฏิบัติธรรมที่วัดนี้ เช่น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ต่อมาปี พ.ศ. 2550 เจ้าอาวาสวัด คือ พระอาจารย์ปกรณ์ กนฺตวีโร ได้พัฒนาวัดให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมะเพื่อชักจูงประชาชนและกลุ่มวัยรุ่นให้เข้าวัดมากขึ้น

พบบันทึกมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2484

วัดถ้ำผาแด่น เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งในจังหวัดสกลนคร ซึ่งมีอายุและความเป็นมานับร้อยปี วัดถ้ำผาแด่นได้จดทะเบียนขึ้นเป็นวัดถูกต้อง ตามที่ปรากฏในทะเบียนวัด มีชื่อในทะเบียนสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2483 โดยมีเจ้าคุณสรญาณ รองเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร สังกัดมหานิกาย ได้ไปจดทะเบียนเป็นวัดเอาไว้ โดยมีรายละเอียดดังนี้ “วัดถ้ำผาแด่น ตั้งอยู่ที่บ้านดงน้อย หมู่ที่ 9 ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 3,000 ไร่ อาณาเขตทิศเหนือจดเขตภูเขา ทิศใต้จดเขตภูเขา ทิศตะวันออกจดภูเขา ทิศตะวันตกจดเขตภูเขา อาคารเสนาสนะประกอบด้วย ศาลาการเปรียญกว้าง 15 เมตร ยาว 15 เมตร สร้างพ.ศ. 2532 กุฏิสงฆ์เป็นอาคารไม้ 5 หลัง อาคารมุงจาก 10 หลัง ศาลาบำเพ็ญกุศลสร้างด้วยไม้ 2 ปูชนียวัตถุมีพระพุทธรูปพระประธาน 4 องค์ หน้าตักกว้าง 50 นิ้ว สร้างพ.ศ. 2484 โดยพระสี และชาวบ้าน”

วัดถ้ำผาแด่นตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2483 โดยมีพระมหาเส็งนำชาวบ้านสร้างวัดขึ้น การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม ดังนี้

  1. พระมหาเส็ง
  2. พระกอง
  3. พระสี
  4. พระมหาทองสุก
  5. พระผาย
  6. พระอุดม
  7. พระนำชัย มนฺตคุตฺโต พ.ศ.2532 – 2533
  8. พระวิเศษ เตชธโร ตั้งแต่ พ.ศ.2533 เป็นต้นมา

มีคณะพระธุงดงค์มาปักกลด

นอกจากหลักฐานในทะเบียนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ก็ยังได้รับการยืนยันจากคณะโยมพ่อทองใบ อ่อนจงไกร และคุณโยมแสง อ่อนจงไกร (ลูกของพ่อทองใบ) ซึ่งได้เล่าว่า เมื่อครั้งอดีต ในช่วงวันหนึ่งของเดือน 6ปีมะโรง พ.ศ.2483 ได้มีคณะพระอาจารย์สายปฏิบัติกัมมัฏฐานคณะหนึ่ง ได้เดินจาริกธุดงค์มาจากอาวาสวัดป่าสุทธาวาส บ้านดงบาก ในเมืองสกลนคร จำนวน 5 รูป และโยมพ่อขาวอีก 2 คน โดยทราบชื่อดังนี้
รูปที่ 1 หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระผู้เป็นผู้นำคณะ
รูปที่ 2 พระอาจารย์ หลวงพ่อมหาทองสุก สุจิตฺโต
รูปที่ 3 พระอาจารย์ หลวงพ่อพรหม จิรปุณฺโณ
รูปที่ 4 พระอาจารย์ หลวงพ่อวัน อุตฺตโม
รูปที่ 5 พระอาจารย์หลวงพ่อเส็ง ปุสฺโส

โดยพระอาจารย์ทั้ง 5 ได้จาริกธุดงค์มาปักกลดวิเวกเพื่อบำเพ็ญสมณะธรรมและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ณ สถานที่บ้านดงน้อยบริเวณทางขึ้นเขาภูผาแด่น ในช่วงเวลา 5 โมงเย็นของวันหนึ่ง ซึ่งเป็นเวลาที่ชาวบ้านกลับจากหาของป่าตามปกติ ชาวบ้านดงน้อยจึงได้มาพบเห็นพระอาจารย์ทั้ง 5 รูป โดยเหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้พบเห็นบ่อยนักที่จะได้พบพระธุดงค์ ดังนั้นชาวบ้านจึงได้นำเรื่องดังกล่าวไปบอกผู้นำหมู่บ้านให้ได้ทราบความเป็นมาที่ได้พบเห็น ซึ่งผู้นำในหมู่บ้านขณะนั้นคือ คุณโยมพ่อทองใบ อ่อนจงไกร ฝ่ายคุณพ่อทองใบ อ่อนจงไกร เมื่อได้รับแจ้งเรื่องดังกล่าวจากลูกบ้าน จึงได้ประกาศเชิญชวนลูกบ้าน ลูกหลานให้ได้รับทราบโดยทั่วกัน และได้พาคณะลูกบ้านเดินทางไปกราบไหว้ พร้อมทั้งเรียนถามถึงความประสงค์และความจำเป็นของพระอาจารย์ทั้ง 5 รูป ว่า “มีความประสงค์สิ่งใดที่จะให้พวกข้าน้อยทราบด้วย และมีสิ่งประการใดในที่จะให้พวกข้าน้อยช่วยได้บ้าง ขอให้บอกให้ทราบด้วย” พระอาจารย์ทั้ง 5 รูปจึงได้เทศนาโปรดญาติโยม

ชาวบ้านออกมาต้อนรับคณะพระธุดงค์

เมื่อคณะพระอาจารย์ทั้ง 5 ได้เห็นชาวบ้านดงน้อย ออกมาต้อนรับและสอบถามถึงความประสงค์ พร้อมทั้งแจ้งว่ามีความยินดีจะช่วยเหลือ พระอาจารย์ มหาทองสุก สุจิตฺโต ได้ไปตอบว่า “คณะพระอาจารย์ทั้ง 5 รูปที่ได้จาริกธุดงค์มาที่นี่ มีความประสงค์ก็เพื่อที่จะถือธุดงค์ นั่งสมาธิ วิปัสสนากัมมัฏฐาน วิเวก บำเพ็ญสมณะธรรมที่บนถ้ำผาแด่นแห่งนี้ หากมีความเหมาะสม สับปายะดี อาจจะมาอยู่จำพรรษาภาวนาธรรมที่ถ้ำผาแด่นแห่งนี้สักหนึ่งถึงสองพรรษา จึงจะลงไปจากถ้ำผาแด่นนี้ ขอแต่คณะญาติโยมจะมีความเห็นเป็นอย่างไร เพียงแต่ว่าคณะพระอาจารย์ที่มาในวันนี้ ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ถ้ำผาแด่นแห่งนี้ ว่าเป็นมาอย่างไรยังไม่ทราบ จึงอยากจะขอความช่วยเหลือจากคุณโยมทั้งหลาย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ถ้ำผาแด่นแห่งนี้ พอเป็นแนวทางได้บ้างในบางสิ่งบางอย่าง พอที่จะเป็นแนวทางบางกรณีได้บ้าง อาตมาคิดว่าจะเดินทางไปให้ถึงวันนี้ พอที่จะมีเวลาพอไหมก่อนมืด หรือคุณโยมทั้งหลายมีความคิดเห็นเป็นประการใด ขอให้เล่าสู่ฟังบ้าง”

ญาติโยมนิมนต์คณะพระอาจารย์ปักกลด

เมื่อคุณพ่อทองใบ พร้อมญาติโยมชาวบ้านดงน้อยได้รับฟังพระอาจารย์หลวงพ่อ มหาทองสุกเทศนา ทางญาติโยมจึงได้แจ้งความเห็นไปว่า “หากคณะพระอาจารย์จะเดินทางไปถ้ำผาแด่น โดยไปให้ถึงในวันนี้ พวกข้าน้อยกลัวจะมีปัญหาหลายประการ คือ ระยะทางจากนี้ไปถึงถ้ำผาแด่น ระยะทางไกลมากถึง 7-8 กิโลเมตร ประการที่สองระยะทางที่จะเดินไปนั้น กลัวจะเกิดอันตรายด้วยสัตว์ป่ามีพิษและสัตว์ร้ายที่ออกหากินช่วงพบค่ำพอดี และประการสุดท้าย เมื่อเดินทางไปถึงแล้วจะเป็นเวลาที่ค่ำมืด อาจจะมีปัญหาเรื่องที่พักและที่หลับนอน พวกข้าน้อยอยากจะขอนิมนต์คณะพระอาจารย์ได้ปักกลด จำวัด อยู่ข้างล่างนี้สักคืน พอตื่นรุ่งขึ้น ฉันจังหันเสร็จแล้วแล้วค่อยเดินทางขึ้นถ้ำผาแด่นต่อไปคงจะดีกว่า” เมื่อพระอาจารย์ได้ฟังดังที่คุณพ่อทองใบและคณะญาติโยมให้ความเห็นก็ตอบตกลงเดินทางขึ้นถ้ำผาแด่นในวันรุ่งขึ้น

คณะพระอาจารย์ออกเดินทางไปถ้ำผาแด่น

พอรุ่งเช้าของวันใหม่ เมื่อคณะพระอาจารย์ได้ฉันจังหันเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คณะญาติโยมชาวบ้านดงน้อย จึงได้นำทางคณะพระอาจารย์ออกเดินทางสู่ถ้ำผาแด่น ชาวบ้านเดินทางด้วยความสดชื่น ตื่นเต้นและระทึกใจ จากการที่เห็นความสมบูรณ์ของป่า มีฝูงสัตว์น้อยใหญ่วิ่งไปมา ออกมาต้อนรับพระผู้ทรงศีลอย่างที่ไม่เคยเห็นไม่เคยปรากฏมาก่อน นับได้ว่าบนผืนป่าแห่งนี้ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก เมื่อคณะพระอาจารย์และชาวบ้านดงน้อยได้เดินทางมาถึงถ้ำผาแด่นแล้ว ก็ช่วยกันจัดแจงจัดหาสิ่งที่จำเป็นสำหรับพระอาจารย์อย่างขมักขะเม้น ทั้งยังต่างพากันตื่นเต้นเป็นอย่างมาก ในไม่ช้าก็สมควรแก่เวลาใกล้พบค่ำ คณะชาวบ้านจึงได้กราบลาพระอาจารย์เพื่อเดินทางกลับสู่หมู่บ้านดงน้อย สำหรับผู้ไม่มีภารกิจอะไรก็อยู่จำศีลภาวนารับใช้คณะพระอาจารย์ จัดหาสิ่งของเครื่องใช้ที่ยังขาด และอยู่กับพระอาจารย์จนถึงค่ำวันใหม่ต่อไป เพราะนับเป็นโอกาสอันดีที่หาได้อยากมาก ที่จะได้สร้างบารมีกับพระธุดงค์ ที่น่าเคารพศรัทธาบิณฑปาติกัง ธุดงควัตร

ย้ายหอฉันที่ตั้งอยู่บนถ้ำผาแด่นมาที่ดานกกแต้

เมื่อพระอาจารย์ทั้ง 5 ซึ่งท่านเป็นพระสายพระป่าถือภิกขาจารวัตรออกบิณฑบาตอยู่เป็นประจำ พระอาจารย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งท่านมีอายุสังขารมากถึง 70 ปีแล้ว แต่ก็มีความเพียรในทุกกรณี ในทุกที่ที่ได้จาริกภิกขาจารวัตร ออกเที่ยวรับบิณฑบาตเป็นประจำ ซึ่งเป็นระยะทางที่ไกล ต้องอกเดินทางวันละหลายกิโลเมตร และต้องขึ้นลงจากภูเขาที่สูงชันอยู่ทุกเช้าเป็นประจำ อยู่มาวันหนึ่งคณะลูกศิษย์ที่ติดตามหลวงปู่มั่น ฯ ได้ปรึกษาหาแนวทางแก้ไขในเรื่องดังกล่าว จึงได้มีข้อตกลงว่า ให้ย้ายหอฉันที่ตั้งอยู่บนถ้ำผาแด่น ซึ่งลำบากในการขึ้นลง ลงไปที่บริเวณดานกกแต้ น่าจะเป็นทางออกที่จะแก้ไขได้บ้าง และเป็นการสะดวกในการเดินจงกลม นั่งสมาธิ วิปัสสนากัมมัฏฐาน สำหรับหลวงปู่มั่น ได้เป็นอย่างดีตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

ปรากฏการณ์น่าอัศจรรย์ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6

หลังจากที่คณะลูกศิษย์ได้พากันทยอยกลับสู่ที่พักของแต่ละรูป หลังจากได้มาอุปถากปรนนิบัติครูบาอาจารย์และได้รับฟังเทศน์ฟังธรรมคำสอนหลวงปู่มั่น ตามที่เคยปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะวันพระขึ้น 15 ค่ำ เกิดเหตุไม่ได้คาดคิด มีเสือโคร่งลายพาดกลอนตัวหนึ่งปรากฏตัว นอนหมอบอยู่ข้างหน้าห่างออกไปประมาณ 7 วา โดยที่เขาไม่มีกิริยาอาการใด ๆ ซึ่งขณะนั้นเอง หลวงปู่มั่นกำลังนั่งสมาธิภาวนาอยู่เป็นเวลาเที่ยงคืนเศษ หลวงปู่มั่นได้แผ่เมตตาส่งกระแสจิตเทศนาสั่งสอนเสือตัวนั้นว่า “ที่เจ้าเข้ามากราบเรา เจ้าคงมีความทุกข์ใช่ไหม เราเป็นสัตว์โลกด้วยกัน ต่างก็มุ่งทำความดี ไม่มีจิตเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เจ้าจงไปตามทางของเจ้าเถิด หากเจ้าเกิดชาติหน้าหรือชาติไหน ขอเจ้าจงเกิดในหมู่ของเทวดา อย่าได้มาเป็นสัตว์เดรัจฉานเลย” เมื่อหลวงปู่มั่นลืมตาจากการแผ่เมตตาให้เสือโคร่งแล้ว เสือโคร่งตัวนั้นก็เดินจากหลวงปู่มั่นไปโดยไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ

พอรุ่งเช้าในช่วงที่อยู่หอฉัน หลังจากฉันภัตตาหารเสร็จ หลวงปู่มั่นจึงได้ปรารภกล่าวถึงเรื่องราวที่ได้เกิดขึ้นเมื่อคืนที่ผ่านมาให้คณะได้ฟัง โดยมีตอนหนึ่งหลวงปู่เล่าต่อว่า “เมื่อคืนนี้ได้มีเสือโคร่งมาเยี่ยมเรา และนอนเฝ้าเป็นเพื่อนเรา แต่เขาก็ไม่ได้แสดงกิริยาใด ๆ สักพักก็เดินจากไป คิดว่าเสือตัวนั้นคงจะมาบอกอะไร หรือมาลาเราสักอย่าง”

เสือโคร่งแห่งภูผาแด่น

เมื่อก่อนนั้น เสือตัวนี้เป็นเสือที่ดุร้ายมาก เคยกัดกินวัวของชาวบ้านมาหลายตัวแล้ว โดยเฉพาะที่ภูทับควายบ้านหนองไผ่ และภูทับควายบ้านนากับแก้ โดยไม่เลือกแม้กระทั้งหมาชาวบ้านยังถูกเสือกัดกิน แต่ความจริงก็คือความจริง เมื่อบาปมีจริง กรรมได้สนองกรรม ในเวลาต่อมาไม่กี่วัน เสือโคร่งตัวนี้ก็ถูกนายพรานบ้านนากับแก้ คือ นายพรานเขียน นายพรานจารใด นายพรานเพียร ได้ขึ้นห้างดักยิงที่ภูคำบง ยิงตายและได้นำไปขายในตลาดราคาตัวละ 300 บาท (เงิน 300 ถือว่ามีค่ามากในสมัยนั้น)

จากนั้นก็ไม่มีเสือมากินวัวชาวบ้านอีกเลย แสดงว่าเสือตัวนั้นรู้ว่าตัวเองจะต้องตาย จึงมากราบขอพรและฟังเทศน์จากหลวงปู่มั่นก่อนตัวเองจะตาย และเรื่องที่ยิงเสือตายไม่ใช่เรื่องนิยาย เป็นเรื่องจริงที่สามารถตรวจสอบจากชาวบ้านได้

พระอาจารย์ที่ธุดงมาที่วัดถ้ำผาแด่น

รายนามคณะพระอาจารย์ที่ถือธุดงควัตร วิปัสสนากัมมัฏฐาน และบำเพ็ญสมณะอยู่ปฏิบัติธรรมอยู่ ณ วัดถ้ำผาแด่น บ้านดงน้อย ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 – ถึงปัจจุบัน

ลำดับที่ ชื่อ / นามสกุล(ฉายา) ครองสมณะ
1. พระอาจารย์ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ปี พ.ศ.2483 – 2483 เป็นพระผู้นำคณะ
2.พระอาจารย์ หลวงพ่อ มหาทองสุก สุจิตฺโต ปี พ.ศ.2483 – 2483 เป็นพระลูกศิษย์
3.พระอาจารย์ หลวงพ่อ พรหม จิรปุณฺโญ ปี พ.ศ.2483 – 2483 เป็นพระลูกศิษย์
4.พระอาจารย์ หลวงพ่อ วัน อุตฺตโม ปี พ.ศ.2483 – 2483 เป็นพระลูกศิษย์
5.พระอาจารย์ หลวงพ่อ เส็ง ปุสฺโส ปี พ.ศ.2483 – 2483 เป็นพระลูกศิษย์
6.พระอาจารย์ หลวงปู่ ฝั้น อาจาโร ปี พ.ศ. 2488-2489 อยู่ปฏิบัติธรรม
7.พระอาจารย์ หลวงปู่ หล้า เขมปตฺโต ปี พ.ศ. 2489-2489 อยู่ปฏิบัติธรรม
8.พระอาจารย์ หลวงพ่อ สี พรหมโครต ปี พ.ศ.2490 – 2492 อยู่ปฏิบัติธรรม
9.พระอาจารย์ หลวงพ่อ ผาย ปี พ.ศ.2493 – 2498 อยู่ปฏิบัติธรรม
10.พระอาจารย์ หลวงพ่อ สิงห์ ปี พ.ศ.2493 – 2498 อยู่ปฏิบัติธรรม
11.พระอาจารย์ หลวงพ่อ มหาสังกรณ์ คนฺธสีโล ปี พ.ศ.2498 – 2500 อยู่ปฏิบัติธรรม
12.พระอาจารย์ หลวงพ่อ ครุฑ ปญฺญามโน ปี พ.ศ.2498 – 2500 อยู่ปฏิบัติธรรม
13.พระอาจารย์ หลวงพ่อ มหาเส็ง –
14.พระอาจารย์ หลวงพ่อ อุดม –
15.พระอาจารย์ หลวงพ่อ นำชัย มนฺตคุตฺโต ปี พ.ศ.2532 – 2533 อยู่ปฏิบัติธรรม
16.พระอาจารย์ หลวงพ่อ วิเศษ เชธโร ปี พ.ศ.2533 –2534 อยู่ปฏิบัติธรรม
17.พระอาจารย์ หลวงพ่อ แล ปี พ.ศ.2535 –2542 อยู่ปฏิบัติธรรม
18.พระอาจารย์ หลวงพ่อสมควร จกฺธมฺโม ปี พ.ศ. 2547 – 2548 อยู่ปฏิบัติธรรม
19. พระอาจารย์ หลวงพ่อ สมบัติ ปี พ.ศ.2548 –2550 อยู่ปฏิบัติธรรม
20.พระอาจารย์ หลวงพ่อ ปกรณ์ กนฺตวีโร ปี พ.ศ.2551 – ปัจจุบัน เป็นเจ้าอาวาส

ภูผาแด่น

ภูผาแด่น เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน เป็นเทือกเขาแห่งประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นมายาวนานของเมืองสกลนคร ยังเป็นที่ตั้งของสามสถาบันหลักของประเทศไทย สถาบันชาติ ซึ่งเป็นที่ตั้งและถิ่นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนหลายกลุ่ม หลายเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ที่รักความสงบ เรียบง่าย ที่ยังคงวัฒนธรรมเก่า ๆ ให้เห็น สถาบันศาสนา ซึ่งเป็นที่ตั้งลัทธิ (ความเชื่อ อันมีคำสอน) หรือเป็นที่ก่อเกิด ถือกำเนิดถิ่นพุทธธรรมที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย เช่น หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ผู้นำกองทัพธรรม หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หรืออีกหลาย ๆ รูป ในเมืองสกลนคร และยังเป็นถิ่นอุบัติขึ้นของลัทธิ ศาสนาอื่น ๆ เช่น ลัทธิคอมนิวนิตส์ ศาสนาคริส อื่น ๆ สถาบันพระมหากษัตริย์ เมืองสกลนครเป็นที่ตั้งของพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ได้เสด็จประทับเป็นประจำทุกปี ฉะนั้นจึงถือได้ว่าเมืองสกลนครนั้น เป็นเมืองที่ไม่ธรรมดา ที่เป็นที่ตั้งของสามสถาบันหลักของประเทศไทย

ลักษณะที่ตั้งของภูผาแด่น

ภูผาแด่นมีลักษณะเป็นป่าดงดิบ และมีความอุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของประเทศไทย เมื่อในอดีตที่ผ่านมาอุดมสมบูรณ์ไปด้วยฝูงสัตว์ป่า และพันธุ์ไม้นานาพันธุ์หลายชนิด เช่น ฝูงเสือ โขลงช้าง ลิง ค่าง บ่าง ชะนี อีเก้ง กวาง งูจงอาง งูเห่า วัวป่า ละมั่ง หมีควาย หมาป่า เลียงผา ไก่ป่า นกยูง กระแต กระกรอก กบ เขียดค้างคาว ฯลฯ ตลอดจนเต็มไปด้วยป่าสมุนไพรนานาชนิด ดอกไม้นานาพันธุ์

นอกจากนั้นเทือกเขาภูพานแห่งนี้ยังเป็นแหล่งต้นกำเนิดแหล่งน้ำ แม่น้ำ ลำธาร ห้วยน้ำที่สำคัญ ๆ หลายที่เช่น ห้วยปุ ห้วยเรือ เป็นแหล่งกำเนิดลำน้ำพุง ลำน้ำอูน ห้วยเดียก และแหล่งน้ำอื่น ๆ ซึ่งเป็นต้นน้ำที่ใช้ประกอบการเกษตรของชาวสกลนครและนครพนม เป็นต้น โดยเฉพาะที่ภูผาแด่นบนยอดเขา ยังเป็นแหล่งน้ำแร่ที่ใสสะอาดที่ผุดขึ้นมาจากยอดเขาในป่าดงดิบ เป็นน้ำแร่ธรรมชาติไหลตลอดปี หล่อเลี้ยงในวัดถ้ำผาแด่นไม่เคยหยุดไหล ตลอดจนให้ความอุดมสมบูรณ์กับธรรมชาติ เช่น วัดถ้ำผาแด่น สัตว์ป่า ต้นไม้นานาพันธุ์ ได้พึ่งพาอาศัย จากต้นน้ำ

ภูผาแด่นอยู่ในเขตพื้นที่ปกครองบ้านดงน้อย ต.ดงมะไฟ อ.เมือง จ.สกลนคร ตั้งอยู่ในบริเวณเทือกเขาภูพานตอนกลาง มีลักษณะเป็นเขาสูงเป็นสันยาวไปตามเทือกเขา มองไปเห็นพื้นที่รอบ ๆ หลายกิโลเมตร สามารถมองเห็นตัวเมืองสกลนคร หนองหาร และพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ตลอดจนความสวยงามของทิวทัศน์โดยรอบ ๆ และยังเป็นทิวเขาที่เป็นทิวเขาทอดมาจากจังหวัดอีสานเหนือจนสุดเขตจังหวัดอีสานใต้

สถานที่ตั้งของวัดถ้ำผาแด่น

วัดถ้ำผาแด่น ตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาภูพาน และภูผายล ใกล้หมู่บ้านดงน้อย ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร หากจะเดินทางมาที่นี่ ผมขอเริ่มจากตัวเมืองสกลนคร ใช้เส้นทางสกลนคร – กาฬสินธุ์ หมายเลข 233 ผ่านสี่แยกบายพาส ถึงไทวัสดุ ให้ชะลอรถ จะมี 3 แยกที่บ้านศรีวิชา ถนนหมายเลข 2339 มีป้ายบอกทางเล็กๆว่าไปวัดถ้ำผาแด่น และ ไปอำเภอเต่างอย เลี้ยวซ้ายตรงไปอีก 10 กม.ถึงบ้านดงน้อย มีป้ายบอกว่า ไปถ้ำผาแด่น เลี้ยวขวาเข้าไปตามทางเข้าหมู่บ้านไปอีก 3 กม . เป็นขึ้นภูเขา ถนนสะดวกสบาย เป็นถนนคอนกรีตจนถึงวัด

เส้นทางขึ้นวัดถ้ำผาแด่น

แผนที่ วัดถ้ำผาแด่น

แผนที่ วัดถ้ำผาแด่น

ระหว่างที่เราขับรถเดินทางขึ้นไป เพื่อนๆจะได้เห็นวิวสวยๆของวัดที่ตั้งสง่ามองเห็นแต่ไกลแบ่งเป็นหน้าผาหลายชั้น น่าอัศจรรย์ใจว่าสามารถขึ้นไปสร้างได้อย่างไร เพราะลำพังทางขึ้นนี่ก็ชันมากๆ บางช่วงจะมีเจ้าหน้าที่ตั้งจุดบริการนักท่องเที่ยว เผื่อรถเสีย หรือมีเหตุฉุกเฉินก็ไม่ต้องกังวลใจ

ภาพถ่าย วัดถ้ำผาแด่น

ภาพถ่าย วัดถ้ำผาแด่น

ขับขึ้นตามทางมาเรื่อยๆ ถึงแม้บางจุดจะชันและคดเคี้ยว แต่ก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ทุกท่านกำลังคิด ไม่นานเราก็เข้าสู่บริเวณวัด สังเกตุจากมีซุ้มประตู้วัด ที่รอต้อนรับเราอยู่ จุดเด่นที่ผมสังเกตุเห็นตั้งแต่ซุ้มประตูเลยคือ เสาประตูที่ใช้ต้นไม้ใหญ่

ประตูทางเข้า วัดถ้ำผาแด่น

ประตูทางเข้า วัดถ้ำผาแด่น

ประตูซุ้มทางเข้านี้แอดมินเองได้เดินทางไปและถ่ายภาพมาตั้งแต่ปี  2015 ภาพอาจจะเก่าไปหน่อยทำให้เราได้เห็นบรรยากาศเมื่อครั้งที่วัดเริ่มก่อสร้างแรก สังเกตดูว่ายังมีนั่งร้านไม้ค้ำเสาประตูทางเข้าที่ทำด้วยต้นไม้ใหญ่และยังไม่เสร็จดี

หลังจากเข้าไปในบริเวณวัดจะมีลานจอดรถที่สร้างไว้เตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวไว้อย่างกว้างขวาง เพียงพอมีที่จอดหายห่วงแน่นอน และจุดต่อมาที่เราต้องแวะสักการะพระพุทธรูปแกะสลักหินภูเขา นั่นก็คือ “ศาลายาใจคนบุญ”

ศาลายาใจคนบุญ วัดถ้ำผาแด่น

ศาลายาใจคนบุญ วัดถ้ำผาแด่น

และก็มาถึงจุดที่บอกว่าสวยอีกจุดนึงเลยและต้องบอกว่าตรงนี้แหละที่ได้คำขาลว่า “หินเทพ” เพราะเป็นลานหินแกะสลักเป็นรูปต่างๆ ทั้งครุฑเวสสุวรรณ พระพุทธเจ้าปางต่างๆ ไปชมความสวยงานของประติมากรรมชั้นเลิศนี้กันเลยครับ

รูปก่อนสร้างศาลา วัดถ้ำผาแด่น

รูปก่อนสร้างศาลา วัดถ้ำผาแด่น

หน้าผาแด่น

หน้าผาแด่น มีลักษณะเป็นผาหิน สูงชัน เป็นสีขาว- คราม แลดูมีความสวยงามมีเสน่ห์สามารถมองเห็นไปได้ไกลหลายกิโลเมตร บริเวณรอบ ๆ ตีนผามีหญ้าและต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นอยู่รอบเรียงราย และยังมีผาน้ำหยด (น้ำตก) ไหลลงมาจากหน้าผาตลอดทั้งปี

เมื่อก่อนนี้ยังมีรังผึ้งหลวง มาทำรังอยู่ตามหน้าผาอยู่ทั้งปี ซึ่งในปีหนึ่งผึ้งหลวงจะทำรังมากถึงปีละ 200-300 รัง โดยขนาดของรังผึ้งมีขนาดใหญ่ 2-3 เมตรเกาะอยู่ตามหน้าผา ดูแล้วสวยงามน่าอัศจรรย์ ในความงามของธรรมชาติสร้างสรรค์ แต่เดียวนี้ถูกชาวบ้านตีเอารังผึ้งไปหมด ทำให้ปริมาณของรังผึ้งที่เคยมาอยู่อาศัยตามหน้าผาหมดไปแทบไม่มีให้เห็น และยังมีฝูงค้างคาวบินโฉบกินแมลงอยู่ทั้งคืน นับเป็นความงามของธรรมชาติที่พึ่งพาอาศัยกันอย่างลงตัว

และยังมีหน้าผาช่องแคบ เป็นหินที่แยกออกจากกันสวยงามเหมือนมีใครมาตกแต่ง โดยหินได้แยกออกจากกันเป็นช่องพอสำหรับคนเดินไปตรงกลางช่องหิน ด้านบนเป็นลานหินกว้างตามสันเขาที่เคยถูกตัดต้นไม้จนโล่งเตียนเป็นลานหญ้าคา ขณะนี้พระภิกษุได้นำพันธุ์ไม้นานาพันธุ์มาปลูกใหม่จนเต็มไปด้วยต้นไม้กำลังขึ้นแทนที่ป่าไม้ที่เคยถูกตัดทำลาย

หน้าผาภูผาแด่น มีลักษณะทอดยาวเป็นแนวตามสันเขาภูพาน ทางด้านทิศตะวันออกทอดมาจากถ้ำบิ้ง (ถ้ำค้างคาว) ซึ่งเป็นลานหินที่กว้างใหญ่และสวยงาม ซี่งลานหินนี้เคยมีประวัติความเป็นมาว่าเมื่ออดีต เป็นที่ปักกลด ธุดงค์ วิเวก บำเพ็ญธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ทางด้านทิศตะวันตกของถ้ำผาแด่น ทอดยาวไปจดกับภูกะต่อย ซึ่งถ้ำแห่งนี้เคยมีประวัติความเป็นมาว่า เป็นที่ปักกลด ธุดงค์ วิเวก บำเพ็ญธรรม ของ พระอาจารย์ วัน อุตฺตโม

ถ้าพิจารณาให้ดีโดยธรรมชาติที่สวยงามแล้ว วัดถ้ำผาแด่นมีความสวยงามเหมือนวัดเขาสุกิม ของพระอาจารย์ หลวงปู่ สมชาย ที่ยังคงความสวยงามเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นทิวทัศน์ ทัศนีย์ภาพของธรรมชาติ ได้อย่างลงตัว

ถ้ำผาแด่น

ถ้ำผาแด่น เป็นส่วนหนึ่งของหน้าผาแด่น มีลักษณะเป็นโพรงลึกเข้าไป เป็นโพรงหินลึก ส่วนที่เป็นถ้ำบางถ้ำ เช่น ถ้ำที่อยู่หน้าผาแด่น มีความลึกไม่มาก ประมาณ 5-10 เมตร แต่จะยาวไปตลอดหน้าผาแด่น ถ้ำหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่เคยอยู่ปฏิบัติธรรม มีความลึกจากด้านนอกจากปากถ้ำลึกถึงข้างใน ประมาณ 22 เมตร มีความกว้างประมาณ 10 เมตร ถ้ำหลวงปู่ฝั้นจะมีน้ำไหลตลอดทั้งปี โดยน้ำจะหายไปในถ้ำแล้วไปไหลออกที่ห้วยปุ ทำให้ห้วยปุมีน้ำไหลทั้งปี ถ้ำหลวงปู่ วัน อุตตโม ที่เคยอยู่ปฏิบัติธรรม มีความลึกประมาณ 10 เมตร ยาวประมาณ 30 เมตร และจะมีน้ำไหลมาจากบ่อน้ำทิพย์ ตกลงมาหน้าถ้ำตลอดทั้งปีเหมือนกัน ถ้ำพวงเป็นที่หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต เคยปฏิบัติธรรม เป็นโพรงลึกเข้าไปในโพรงหิน เพราะเมื่อสมัยก่อนเรียกถ้ำที่เป็นโพรงลึกเข้าไปว่า “พวง” แต่ทุกวันนี้เรียกถ้ำพวงว่า “ถ้ำตะวันแดง”

สะพานเชื่อมฟ้า

บริเวณถ้ำพวงมีสิ่งพิเศษเกิดขึ้นโดยธรรมชาติอย่างน่าอัศจรรย์คือ “สะพานเชื่อมฟ้า” เป็นหินที่ถูกธรรมชาติกัดกร่อน จนเป็นสะพานเดินข้ามไปสู่ภูเขาหินอีกลูกได้อย่างพอดี เหมือนสะพานหินที่มีใครไปสร้างเอาไว้ให้เชื่อมต่อกับท้องฟ้าอย่างสวยงาม สามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบ ๆ มองเห็นหนองหารและเมืองสกลนครได้ทั้งจังหวัด

พระเจดีย์หินเก่า

ในพื้นที่ใกล้เคียงกับสะพานเชื่อมฟ้ามีพระเจดีย์หินเก่า ดยมีหินเรียงกันเป็นชั้น ๆ เหมือนเจดีย์หินโบราณ คล้ายกับว่ามีคนนำเอาหินมาตั้ง สูงขึ้นให้เป็นเจดีย์เอาไว้ โดยเรียงจากก้อนใหญ่ไปหาก้อนเล็ก และตั้งอยู่บนลานหินกว้างบนหน้าผาแด่น มองแล้วก็จะเห็นเป็นพระเจดีย์หินตั้งสง่าอยู่บนหน้าผาแด่นสวยงาม กลมกลืนกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว

บ่อน้ำทิพย์สุญญตา

และบนเทือกเขาภูผาแด่นมีสิ่งอัศจรรย์อีกสิ่งหนึ่ง คือ บ่อน้ำทิพย์สุญญตา ถือได้ว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญในการนำมาใช้อุปโภค บริโภค ในวัดถ้ำผาแด่น และบ่อน้ำแหล่งนี้จะใส่สะอาดบริสุทธิ์ ผุดขึ้นมาจากกลางป่าดงดิบ รกชัฏ ของภูผาแด่น โดยน้ำไหลออกบ่อตลอดทั้งปีไม่เคยขาด แต่บางครั้งเมื่อมีปัญหา มีใครไปทำอะไรไม่ดี หรือไม่เคารพต่อบ่อน้ำก็จะหยุดไหลเอาดื้อ ๆ จนต้องหาดอกไม้ธูปเทียนไปขอขมาจึงไหลออกมาเหมือนเดิม

งานประติมากรรมแกะสลักหินทรายขนาดใหญ่

ภายในวัดเต็มไปด้วยงานประติมากรรมแกะสลักหินทรายขนาดใหญ่ แกะสลักเป็นเรื่องราวต่าง ๆ เช่น ภาพแกะสลักพระพุทธสีหไสยาสน์ ภาพแกะสลักพุทธประวัติ ตั้งแต่ประสูตb ตรัสรู้ และปรินิพพาน รอยพระพุทธบาทสี่รอยจำลอง ภาพแกะสลักหินทรายหลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ ซึ่งแกะจากหินขนาดใหญ่ทั้งก้อน มีช้างหมอบด้านข้างและมีงูใหญ่คอยปกป้อง เป็นองค์ประธานให้ประชาชนได้กราบไหว้ ภาพพระอริยสงฆ์รูปต่าง ๆ ของไทย พญาครุฑเวสสุวรรณ และด้านบนของหินทรายแกะสลักก้อนหนึ่งมีเจดีย์ขนาดเล็กตั้งอยู่บนก้อนหินสีทองโดดเด่น เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุตามคติในศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา คือ ภูเขาที่เป็นหลักของโลก ตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล นอกจากนี้ยังมี ศาลายาใจคนบุญ ที่นำต้นไม้ขนาดใหญ่หายากอายุหลายร้อยปีมาทำเป็นเสาศาลาเป็นการอนุรักษ์ให้อนุชนรุ่นหลังได้ดู และยังมีลานชมทิวทัศน์ที่มองเห็นตัวเมืองสกลนครและทะเลสาบหนองหารได้แบบ 180 องศา

อัพเดทข้อมูลวัดถ้ำผาแด่น 2562 (2019)

ข้อมูลรีวิววัดถ้ำผาแด่นข้างต้น ทีมงานอีสานร้อยแปดของเราได้นำเสนอไปเมื่อหลายปีก่อน ถือว่าได้เห็นภาพบรรยากาศเก่าๆ ได้ความรู้สึกไปอีกแบบหนึ่ง เวลาผ่านไปหลายปี จนถึงปีนี้ พ.ศ. 2562 มีหลายๆอย่างถูกสร้างขึ้นมาใหม่ มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เรามาดูข้อมูลและภาพบรรยากาศกันว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

Logo วัดถ้ำผาแด่น

Logo วัดถ้ำผาแด่น

ข้อมูลเพิ่มเติมวัดถ้ำผาแด่น

  • ที่ตั้งวัดถ้ำผาแด่น : วัดถ้ำผาแด่น บ้านดงน้อย ต.ดงมะไฟ อ.เมือง สกลนคร 47000
  • GPS : 17.0308975, 104.07322399999998
  • เบอร์โทรศัพท์ : 083-626-3475
  • Facebook : https://www.facebook.com/วัดถ้ำผาแด่น-สกลนคร-308055869326350
    (วันที่อัพเดทข้อมูล 2019-07-21 มีผู้ติดตามแฟนเพจวัดถ้ำผาแดน 75,196 คน และกดถูกใจเพจกว่า 61,887)
  • โดเมน : wadthumphadan.com (จากการตรวจสอบพบว่าโดเมนหมดอายุไปแล้ว)

ถาม-ตอบ เกี่ยวกับวัดถ้ำผาแด่น

ทีมงานอีสานร้อยแปดดอทคอมเราได้รวบรวมคำถามและคำตอบ ที่มีผู้คนค้นหาและสอบถามเข้ามา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับท่านที่กำลังค้นหาข้อมูล

  • รถบัสสามารถขึ้นไปบนวัดถ้ำผาแด่นได้ไหมครับ
    – จอดด้านล่างครับ มีรถสองแถวของทางวัดรับส่งครับ

    – มีรถประจำทางขึ้นไปคับ ค่าบริการ 20 บาทต่อท่าน
    – มีรถสองแถวของทางวัดพาขึ้น-ลง บนเขาบริเวณวัดไม่มีที่จอดรถครับ

  • วัดถ้ำผาแด่นมีเวลาปิดเปิดของวัดหรือวันหยุดของรถมั้ยคะ
    – 6.00-18.00 น. ประมาณนี้ครับ
  • มีรถสองแถวมารับตลอดเลยหรอคะหรือเปนช่วงเวลา
    – ค่ารถบริการคนละ 20 บ.ไป-กลับ มีรถหมุนเวียนส่งตลอดเวลา นั่งได้คันละ 12-13 คน/เที่ยว
  • มีสถานที่ให้ฝึกสมาธิไหมครับ
    – ในวัดมีสถานที่ ให้เรานั่งสมาธิและสบงเย็นพอที่จะทำจิตจากนั่งฝึกสมาธิปัญญากรรมฐานสีฉันชอบนั่งสมาธิและปฏิบัติธรรมเป็นประจำการนั่งสมาธิไม่จำเป็นว่าจะไปมองหาที่เรียน พิเศษมันขึ้นอยู่ที่จิตใจของเราเองค่ะ ใต้ต้นไม้ก็นั่งได้ใน ศาลา ใหญ่ ก็นั่งได้
    – สถานที่ฝึกสมาธิที่จัดให้ถ้าโดยรวมแล้วยังไม่มีนะคับหากต้องการปลีกวิเวกเพื่อให้เกิดสมาธิชั้นบนสุดจุดนมัสการรอยพระพุทธบาท ก็มีมุมให้นั่งสมาธิได้คับ บริเวณรอบวัดข้างล่างผู้คนมาแสวงบุญค่อนข้างเยอะถึงเยอะมากไม่เหมาะต่อการนั่งสมาธิ
    – ตอนผมไปไม่มีสถานที่ ที่จัดสำหรับนั่งสมาธิโดยเฉพาะนะครับ คือคุณต้องเดินหาเอาเอง แต่ผมว่าโดยรวมไม่เหมาะนั่งสมาธิ เพราะคนมากกลายเป็นวัดเปิดผู้คนเดินกันเต็มไปหมด ถ้าชอบนั่งสมาธิแนะนำไปวัดภูริทัตตถิราราม วัดหลวงตามหาบัวเงียบสงบมากๆ
  • ถ้าผู้ชายใส่กางเกงขาสั้นแล้วผู้หญิงใส่ขาสั้นเข้าได้ไหมคับ
    – ไม่ได้ค่ะ ทางวัดมีผ้าถุงให้ใส่เปลี่ยนค่ะ
    – ถ้าผู้หญิง​ใส่ขา​สั้น​ไปทางวัดจะให้ใส่ผ้าถุงครับ​ หน้าทางเข้าวัด เขาจะมีผ้าถุง​เตรียม​ไว้​ให้​แล้ว​ครับ​
  • จาก. อ.เชียงยืน. จ.มหาสารคามไปถนนเส้นไหนครับ
    – พี่วิ่งสาย 214 ผ่านยางตลาด กาฬสินธุ์บายพาส ต่อด้วย 12 ผ่าน อ.สมเด็จ เต่างอยแล้วไปวัดถ้ำผาแด่นเลยค่ะ ถ้าวิ่งบนเขาภูพานทางคดโค้งใช้เวลานานบนเขารถเยอะสวนทางลำบากด้วย
    – ใช้ทางหลวงหมายเลข12ผ่านภูพานคง หรือจะไปทาง2116ก็ได้ครับ

บทความวัดถ้ำผาแด่น สกลนคร จากเพจ

คัดลอกบทความแนะนำวัดถ้ำผาแด่น จากแฟนเพจเฟซบุ๊ก เขียนโดยเพจวัดถ้ำผาแด่น [วันเสาร์ที่ 6 มกราคม 2018]

วัดถ้ำผาแด่น ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน บ้านดงน้อย ตำบลดงมะไฟ อ.เมือง จ.สกลนคร อยู่ห่างจากตัวจังหวัด 17 กม. เป็นอีกหนึ่งใน สถานที่ที่ห้ามพลาดของสกลนคร ที่งดงามด้วยงานแกะสลักบนหน้าผาหินที่มีเอกลักษณ์วิจิตรศิลป์ สวยสดงดงามถ่ายทอดเรื่องราว พุทธประวัติ เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งในจังหวัดสกลนคร มีความเป็นมานับร้อยปี โดยมีชื่อตามทะเบียนสำนักพระพุทธศาสนา แห่งชาติ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2483 สภาพธรรมชาติร่มรื่นมีต้นไม้ และโขดหินขนาดใหญ่ เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนา ซึ่งในอดีตได้มี พระเกจิอาจารย์ สายวิปัสสนาหลายองค์มาจำพรรษาปฏิบัติธรรม อาทิ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต มาจำพรรษาด้วย และเมื่อช่วงปี 2550 พระอาจารย์ปกรณ์ กนฺตวีโร เจ้าอาวาสคนปัจจุบัน ได้เข้ามาพัฒนาวัดให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และพัฒนาเป็น สถานที่ท่องเที่ยว เชิงธรรมะ เพื่อดึงประชาชน และกลุ่มวัยรุ่นให้เข้าวัดมากขึ้น วัดตั้งอยู่บนภูเขาสูง ท่ามกลางธรรมชาติที่ร่มรื่น โดยมีการจัดพื้นที่ ให้สามารถชมทิวทัศน์และถ่ายรูป บริเวณศาลาผาแดงมองเห็นตัวเมืองสกลนครและทะเลสาบหนองหารได้แบบ 180 องศา
ภายในวัดเต็มไปด้วยงานประติมากรรมแกะสลักหินทรายประติมากรรมหินทรายขนาดใหญ่ถูกแกะสลักเป็นเรื่องราวต่างๆ เช่น ภาพแกะสลักหินทรายพระพุทธสีหไสยาสน์ ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 19 เมตร เป็นที่กราบไหว้สักการะบูชาของผู้มาเยือน ประดิษฐาน ท่ามกลางธรรมชาติที่ร่มรื่น เป็นจุดเด่น ของวัดถ้ำผาแด่น

23 ความเห็นที่มีต่อวัดถ้ำผาแด่น “หินเทพ” แห่งแดนอีสาน

มี 4 บทความลิงก์มาที่วัดถ้ำผาแด่น “หินเทพ” แห่งแดนอีสาน

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*