ฟ้อนหมากกั๊บแก้บ-ลำเพลิน
หมากกั๊บแก้บ(กรับ) เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะของภาคอีสาน มีด้วยกัน 2 ประเภท คือ
1. กั๊บแก้บไม้สั้น เป็นไม้ผิวเรียบยาวประมาณ 4-6 นิ้ว
2. กั๊บแก้บไม้ยาว เป็นไม้ผิวเรียบมีการหยักร่องฟันปลา เพื่อขูดกันให้เกิดเสียง
การเล่นหมากกั๊บแก้บนั้น สามารถเล่นได้ทุกโอกาสที่มีการบรรเลงดนตรีพื้นบ้าน และผู้เล่นส่วนใหญ่มักจะแต่งกายเหมือนชาวอีสานโบราณ คือนุ่งผ้าเตี่ยวมีการสักลวดลายบนร่างกาย ปัจจุบันไม่นิยมการสัก จึงมักจะใช้สีเขียนลวดลายขึ้นแทน เช่นลายเสือผงาด ลายหนุมานถวายแหวน ลายนกอินทรี ลายมอม ลายสิงห์ เป็นต้น
การเล่นหมากกั๊บแก้บ
เป็นการเล่นที่ไม่มีรูปแบบตายตัว สุดแท้แต่ใครมีความสามารถในการแสดงออกถึงลีลาท่าทางที่โลดโผนให้เป็นที่ประทับใจของหญิงสาวได้มากน้อยเพียงใด หากเล่นกันเป็นคู่มีฝ่ายรุกฝ่ายรับ แล้วเปลี่ยนลีลาสลับกันก็ขึ้นอยู่กับโอกาสและปฏิภาณของผู้เล่น
ลำเพลิน เป็นการขับลำอีกประเภทหนึ่งของชาวอีสาน สันนิษฐานว่าการขับลำเพลินมาจากการลำทำนองตีกลองน้ำเพราะจังหวะลีลาท่วงทำนองคล้ายคลึงกันมาก
หมอลำเพลิน
ถือกำเนิดขึ้นมาในสมัยใดไม่สามารถระบุหลักฐานได้แน่ชัด แต่ก็เป็นทำนองกลอนลำที่นิยมกันอย่างกว้างขวางทั้งในภาคอีสานและประเทศลาว ตั้งแต่ พ.ศ.2505 จนถึงปัจจุบัน บางคนก็เรียกทำนองหมอลำชนิดนี้ว่าหมอลำแก้วหน้าม้า อันเนื่องมาจาก แต่เริ่มเดิมทีนั้นหมอลำเพลินนิยมเล่นเรื่อง “แก้วหน้าม้า” เพียงอย่างเดียว ในสมัยต่อมาก็มีการเล่นเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ซึ่งชาวอีสานจะนิยมเรียกว่า “ขุนแผน-ลาวทอง” เพราะนิยมเล่นตอนนางลาวทองเขียนสาสน์ ปัจจุบัน ลำเพลินพัฒนาตนเองไปอย่างรวดเร็ว จึงนิยมนำเอาวรรณกรรมและนิทานพื้นบ้านมาใช้เล่นกันอย่างกว้างขวาง
ความไม่พิถีพิถัน ของคณะหมอลำและผู้จัดการวงหมอลำในปัจจุบัน ทำให้ภาพลักษณ์ของหมอลำเพลิน เกือบจะสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นอีสาน เพราะในขณะนี้หมอลำเพลินแทบทุกคณะ นิยมนำเอาเครื่องดนตรีสากลมาใช้ในการบรรเลงเพลงประกอบการแสดง แทบจะไม่เหลือความเป็นขนบดั้งเดิมของหมอลำ กลอนลำที่ใช้ก็ไม่ถูกต้องตรงกับเนื้อเรื่อง มักจะลำไปเรื่อยๆตามคำกลอนของผู้เขียนเพลงจะคิดได้
นายชุมเดช เดชภิมล อาจารย์2 แห่งวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด (**ปัจจุบัน อยู่ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) ได้ผนวกการเล่นหมากกั๊บแก้บเข้ากับการเล่นลำเพลินของชาวอีสาน โดยยังคงลีลาการเล่นหมากกั๊บแก้บและการฟ้อนลำเพลินไว้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งมีผู้แสดงร่วมทั้งชายและหญิง
จุดเด่นของการฟ้อนหมากกั๊บแก้บ-ลำเพลิน อยู่ที่จังหวะลีลาท่วงทำนองดนตรี ประกอบกับท่าฟ้อนของชาวอีสาน เช่น ท่าถวยแถน ท่าหมาเยี่ยว ท่าลอยปลากระเดิด ท่าเสือตะครุบ ท่าดาวน้อย ท่าลำเพลินท่าบัวหุบ-บัวบาน ท่าส่าย ท่าเนิ้ง ฯลฯ ดนตรีบรรเลงลายแมงตับเต่า และทำนองหมอลำอัศจรรย์ลายลำเพลิน
การแต่งกาย
– ชาย สวมเสื้อยันต์แขนกุดสีขาวขอบชายเสื้อสีแดง นุ่งผ้าลายโสร่ง เป็นโจงกระเบนรั้งสูงถึงต้นขา ม้วนปลายผ้าสอดไปด้านหลัง (เรียกลักษณะการนุ่งผ้าเช่นนี้ว่า การนุ่งแบบเสือลากหาง) มัดศีรษะด้วยผ้าขาวม้า และมัดเอวด้วยผ้าขิด
– หญิง สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มทับด้วยสไบขิด นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ยาวคลุมเข่า ผมเกล้ามวยประดับมวยผมด้วยดอกไม้ และสวมเครื่องประดับเงิน