แมงม้า

ชื่อสามัญ    Mantis
Order       ORTHOPTERA
Family      Mantidae
ชื่อพื้นบ้าน     แมงม้า   , แมงนบ  , แมงอีหมม่อม ,ตั๊กแตนโย่งโย่ (นักชกสีเขียว)

เป็นแมลงขนาดใหญ่ ที่กินแมลงชนิดอื่น หรือศัตรูพืชเป็นอาหาร
ขาหน้ามีขนาดใหญ่ใช้ในการจับเหยื่อ ขณะทำการจับเหยื่อทำท่ายกขาหน้าและโยกไปมา
โดยจะมองว่า  คล้ายจะต่อยมวย หรือ คล้าย ม้าย่อง กำลังยกขาหน้า จึงได้ชื่อว่า” แมงม้า”
อนึ่ง ชาวอีสานบางพื้นที่ มองว่ามันกำลังยกมือสวดมนต์ภาวนาจึงเรียกมันว่า “แมงนบ” (พนมมือ)
ส่วนทางพื้นที่ จังหวัดขอนแก่น จนถึงจังหวัดหนองบัวลำภู เรียกแมลงชนิดนี่ว่า”แมงอีหม่อม”
แมลงชนิดนี้พบกระจายทั่วโลกในเขตร้อน  และเขตอบอุ่นมีประมาณ  1800   สายพันธุ์

แมงม้า

แมงม้า

ลักษณะโดยทั่วไป

เป็นสัตว์ที่มีขาคู่หน้า ที่แข็งแรง และยัง มีขอบหยักคล้ายซี่เลื่อยแหลมคมงอกขึ้นมาตาม ท้องขา
ท่อนปลายสุด และ ท่อนกลาง ไว้ช่วยตะปบเหยื่อ ไม่ให้หลุดก่อนที่จะกินโดยเฉพาะ ท่อนขาช่วงกลาง
โตผิดปกติ   โค้งงอคล้ายใบมีด   และมีตาทั้งคู่โปนเด่นสามารถที่จะกรอกตาได้รอบๆ เพื่อจ้อง จับเหยื่อ
ตามปกติถ้าไม่ตื่นกลัวง่าย ๆ  มักจะคลานไต่ไปตามต้นไม้เพื่อหากินอิสระ

หัวสามารถหมุนได้อิสระเกือบรอบ จัดว่าเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่สามารถมองผ่านไหล่ของตัวเอง
ไปทางด้านหลังได้เช่นเดียวกับแมลงปอซึ่งมีส่วนหัวหมุนได้เกือบรอบเช่นเดียวกัน
“แมงม้า “ยังมีตาเดี่ยวอีกสามตาอยู่ตรงกลางหน้าผากระหว่างตารวมทั้งสองข้าง
ตาเดี่ยวทำหน้าที่รับแสงมากกว่าการรับภาพเหมือนตารวม

จะไม่บินรวมกันเป็นฝูง. สามารถเปลี่ยนสีพรางตัวให้เข้ากับสถาพแวดล้อมที่อยู่ได้
เช่นพันธุ์   Hyminopus cornatus  หรือ พันธุ์ Tarachodes  การพรางตัว   ทำให้มันดำรงชีวิตอยู่ได้
ในประเทศไทยมีการสำรวจพบ “แมงม้า”  ประมาณ 180 ชนิด

วงจรชีวิต(spacer)

ตามปกติ “แมงม้า” จะเจริญเติบโตแบบเป็นขั้นตอนที่ไม่สมบูรณ์ กล่าวคือไม่มีระยะดักแด้
“แมงม้า” วงจรชีวิตเริ่มจาก ฟักตัวออกจากไข่เป็นตัว มีขนาดเล็กมาก รูปร่างคล้ายมด
แต่ละครั้งที่มีการลอกคราบขนาดจะและรูปร่างก็จะเปลี่ยนแปลงไปโดยปีกจะยาวขึ้น
หลังการลอกคราบครั้งสุดท้าย 2-3 ครั้ง จึงจะเป็นตัวเต็มวัย
ตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย  เริ่มจับคู่ผสมพันธุ์ ช่วงเดือน พฤษภาคม
ระหว่างผสมพันธุ์ อาจจะใช้เวลานานเป็นวัน หรือแล้วแต่ความพอใจของตัวเมีย
เมื่อผสมพันธุ์เสร็จ ตัวเมียอาจสังหารตัวผู้เป็นอาหารว่าง ( โหดแถะหวา)
หลังจากการผสมพันธุ์ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ตัวเมียจะเริ่มวางไข่เป็นกลุ่มอัดเรียงกันแน่นเป็นฝัก
ซึ่งจะวางได้ติดต่อกันไปได้ 3-6 ฝัก ไข่ฟักเป็นตัวอ่อนภายใน 5-6 สัปดาห์
สังเกตได้ว่า “แมงม้า” ไม่เป็นดักแด้ หรือใช้เวลาในการฝักตัวในคราบดักแด้ ดังแมลงชนิดอื่น
เกิดมาเป็นตัว ออกหากิน และ ลอกคราบเพื่อเจริญเติบโตเลย

ความเกี่ยวเนื่องกับวิถีอีสาน

เมื่อฤดูกาลปักดำข้าวกล้าในนา หรือ ปลูกพืชไร่ ถั่ว อ้อย ข้าวโพดมาถึง  ตามสุมทุมพุ่มไม้ หรือตาม
ต้นข้าวโพด กล้าต้นอ้อย มักจะพบ “แมงม้า” โยกเยก โยงโย่ ตามใบไม้ไม้กิ่งไม้
เวลาเจอหน้ามัน เด็กน้อยแสนซน มักจะเอาปลายไม้ไปเขี่ย ทำให้ มันยกตัวขึ้นสู้ ตั้งท่าเหมือนจะชก
เป็นที่สนุกสนาน   อีกอย่างหนึ่ง ฝักไข่ของแมงม้า สามารถนำมา “จี่กิน” เป็นอาหารได้
รสชาติแซบ เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่พบได้ตาม หัวไร่ปลายนา  พวกเด็กน้อยผู้หญิงไม่กล้ายุ่ง เพราะรูปร่าง
อันน่าหวาดหวั่น  แมงไม้ชนิดนี้ เป็นแมงไม้ที่ไม่ค่อยตื่นกลัว  ตั้งท่าสู้เสมอ
แม้ผู้รุกรานจะมีขนาดใหญ่เพียงใด “นั่นแสดงถึงความห้าวหาญ” ของการเป็นนักสู้
ดังเช่นชีวิตลูกอีสาน สู้ชะตาฝ่าฝันชะตาโดยไม่ย่นย้อ  ปกติแล้วมักจะไม่นิยม จับมาเป็นอาหาร
นอกจาก เอามา” ไต่ฮาวฮั้วเล่น”  เอาไม้แหย่ดาก ให้มันฉุนเฉียว แล้วก็ปล่อยไป    


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*