แมงสะดิ้ง

ชื่อพื้นบ้าน   แมงสะดิ้ง
ชื่อภาษาไทย  จิ้งหรีดทองแดงลาย  จิ้งหรีดขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์  Acheta domesticus
Class   :  Insecta
Order   :  Orthoptera
Family :   Gryllidae
Species:  Acheta
Sub  Species  :   A. demestica

มีหลายท่านเข้าใจผิด คิดว่าแมงสะดิ้ง คือ แมงจินาย ( จิ๊ดนาย)   ความจริงแล้ว แมงสะดิ้ง( อีสาน)
เป็นคนละอย่างคนละสายพันพันธุ์กับ แมงจิดนาย ขอรับกะผม  บางท่านหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต
อาจได้ข้อมูลที่ผิด ๆไป  เพราะความไม่รู้ “สัมพันธภาพวิถี” ทำให้การถ่ายทอดความรู้ โค้งงอ
เดิมที ชาวอีสานเรียกมันมาตั้งแต่โบราณว่า” จิดลออี๊ด..!  ” เพิ่งมาเปลี่ยนชื่อเป็น “สะดิ้ง ! ”
เมื่อ 40 ปี มานี้  ในที่สุดลูกหลานอีสานก็ลืมชื่อนั้น เรียกแมงสะดิ้ง มาจนถึงปัจจุบัน
“สะดิ้ง” เป็น ภาษาภาคกลาง  แปลว่า ดัดจริตเกินงาม  ระเริงเกินวัย  ไม่ใช่ภาษาอีสาน

คำว่า “สะดิ้ง” เริ่มมีมาใช้ ในอีสาน เมื่อมีการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน
จัดตั้งโรงเรียน เริ่มมีการเรียนภาษาไทย ภาษาราชการ หรือโรงเรียนวัดในสมัยก่อน ( เรียนกันตามวัด )
ชาวอีสานจึงเข้าใจในบริบทคำว่าสะดิ้ง และดัดแปลงมันมาเปรียบเคียงกิริยา
จนตั้งชื่อให้แมลงชนิดนี้ เป็น “แมงสะดิ้ง”  ในที่สุด เพราะตัวเล็ก ๆ ก็อุ้มท้องป่อง มีไข่มีลูกเสียแล้ว

จากคำว่า “สะดิ้ง” ที่มีพูดกันจนเป็น แฟชั่น  จากนั้นก็กำเนิดคำว่า “ซิ่ง” ขึ้นมาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว
แผลงมาจากคำว่า “Sing ” ในภาษาอังกฤษ  รู้จักกันในนาม ยี่ห้อเครื่องสำอาง ทาหน้า
ยี่ห้อ  Sing Sing ทาแล้วจะผุดผ่องยองใย ประดุจสาวแรกแย้ม  จึงเกิดคำว่า โสด ซิง ซิง ขึ้นมา

“ซิ่ง ในความหมายที่พูด เปรียบกิริยาที่ออกแนวกวนๆ ไม่เหมือนใคร  จึงกำเนิดเป็น “หมอลำซิ่ง”
ที่มีลีลาการ ร้องรำไม่เหมือนหมอลำตาม ครรลองอดีต ซึ่งสมัยนั้นถือว่าแปลก
เพราะฉะนั้น คำว่า ซิ่ง ของคนสมัยนั้นคือ แปลก กวนๆ ไม่เหมือนใคร นั่นเอง
มาในยุคปัจจุบัน คำว่า “ซิ่ง” ความเข้าใจในบริบทของคน คือ “เหยียบไม่ยั้ง  บิดจนสุด เร็วทะลุนรก
นั่นคือบริบทของสังคม ที่มีผลต่อภาษาและวิถีชีวิต ( สมัยก่อนไม่มีรถ เดี๋ยวนี้มีรถ )

แมงสะดิ้ง ก็เช่นกัน เมื่อใช้เรียก”  จิดลออี๊ด ” จนติดปากเป็น”แฟชั่น จึงกลายเป็น แมงสะดิ้ง
มาจวบทุกวันนี้ แล

แมงสะดิ้ง คือแมลงในวงศ์เดียวกับจิ้งหรีด  แต่เป็นสายพันธุ์หนึ่ง ที่มีขนาดเล็ก
ถิ่นกำเนิด คือแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ได้กระจายพันธุ์เข้าสู่ยุโรป เมื่อประมาณ ศตวรรษที่ 18  ทางเรือสำเภาค้าขาย
โดยติดไปกับกระถางต้นไม้ ที่ชาวเรือนำไปด้วย มันแพร่พันธุ์เข้าสู่อเมริกา
และขยายพันธุ์เข้าสู่ประเทศ แคนาดา  พะนะ

แมงสะดิ้ง

แมงสะดิ้ง

ลักษณะทั่วไป

มีขนาดลำตัวกว้าง 0.4 ซม.  ยาว 2 ซม.  สีน้ำตาลอ่อน ปีกนอกมีลายเหลืองอ่อนเป็นทางยาว
ขนานไปกับลำตัว ปีกไม่ค่อยยาว เคลื่อนไหวไม่รวดเร็วเหมือนจิ้งหรีดชนิดอื่น
มีอัตราการขายพันธุ์ที่สูง อัตราการเลี้ยงรอดก็สูงกว่าแมลงชนิดเดียวกัน

การเจริญเติบโต มี 3 ระยะ ดังนี้
1. ระยะไข่
มีสีขาวครีม วางไข่ในดินร่วน มีลักษณะ เรียวคล้ายเม็ดข้าวสาร ยาว 1.5 มม.
ตัวเมียตัวหนึ่ง วางไข่คราละประมาณ  500 ฟอง  มันจะวางไข่ 4 รุ่น ห่างกัน
คราวละ 10 – 15 วัน  ใช้เวลาฟัก 11 วัน เพื่อเป็นตัวอ่อน

2. ระยะตัวอ่อน
ลักษณะคล้ายมด ตัวขาวๆใสๆ  ไม่มีปีก  เมื่อฟักเป็นตัว มันจะพยามไปหาพื้นที่เบียกชื้น
เพื่อดื่มน้ำ และจะไม่กินอย่างอื่นไปอีก  2- 3 วัน จากนั้นค่อยหากินใบพืชใบหญ้าต่างๆ
เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ  มันต้องลอกคราบ ถึง 8 ครั้ง ถึงจะเป็นตัวเต็มวัย  ระยะนี้ มีอายุ 35- 40 วัน

3. ระยะเต็มวัย
จะมีอวัยวะครบเหมือนดั่งพ่อแม่  เพศผู้จะมีปีกคู่หน้าย่น (หลังไม่เรียบ ) ส่วนตัวเมีย
จะมีปีกเรียบ มีอวัยวะยาวๆ ต่อท่อออกมาจากก้นเพื่อวางไข่ในดินได้ ตัวผู้มีส่วนของ
อวัยวะสั่นให้เกิดเสียง เพื่อสื่อสารหาคู่ ช่วงนี้ของชีวิตมีอายุ 60 วัน

การดำรงชีวิต

อาหารของมันคือ ใบไม้ใบหญ้า มันกินอาหารได้ลายหลาก  นับตั้งแต่ มอส ตระใคร่น้ำ
ไปจนถึงพืชใบกว้าง และต้นหญ้า  ไม่ชอบแดดร้อน มักจะหลบตามพุ่มไม้ ร่มไม้ พื้นดินตื้นๆ
ตามขอนไม้ผุ ใต้ซอกหิน ซอกดิน เพื่อหลบร้อน ในขณะที่ ตะวันบ่ายคล้อย และช่วงเช้าๆ
มันถึงจะออกมาในที่โล่งบ้าง  ส่วนใหญ่หากินในตอนกลางคืน

อาหารสุดโปรดคือ หญ้าตำแยแมว หรือหญ้าให้แมว(อีสาน)  และหญ้าแห้วหมู เป็นต้น
เมื่อถึงวัยสืบพันธุ์ ตัวผู้จะหาทำเลเหมาะ ๆ ร้องเพลง อี๊ด ๆ ( บางคนฟังเป็น กรี๊ก ) ยาวๆ
เรียกสาวๆ มาใกล้เพื่อขยายพงศ์วงศ์วาน

บทบาทและความสำคัญในธรรมชาติ

แมงสะดิ้ง ตามธรรมชาติแล้ว เป็นอาหารของ กบ เขียด ปู ปลา สัตว์เลื้อยคลาน เช่น
ขี้กะปอม ขี้โกะ  เป็นอาหารของสัตว์ปีก นกกินแมลง และ เป็นอาหารของไก่บ้าน ไก่ป่า
รวมทั้งมนุษย์เราด้วย นับว่าเกิดมาเพื่อปรุงแต่งโลก เลี้ยงโลกให้วิวัฒนาการหลากหลาย
โลกนั้นขาดมนุษย์ ก็ไม่เดือดร้อน  แต่หากขาดแมลงแล้วหละก็  เป็นอันวินาศทันที

ความเกี่ยวพันกับวิถีชาวอีสาน

แมงสะดิ้ง พบได้ตาม คันแทนา ริมห้วยหนอง ในป่า หรือตามเดิ่นดอนทั่วไป
ชาวอีสานจึงนำมาเป็นอาหารรสแซบอีกเมนูหนึ่ง  แหล่งโปรตีนที่หาได้แทบทุกฤดู
บางครั้งก็นำเอาแมงสะดิ้งเป็นเหยื่อในการ ตกปลา เช่น ปลาค่อ ปลาโด ปลาค้าว
ชาวอีสาน มีรสนิยมในการกินแมลง แซงหน้าของคนในภูมิภาคนี้ โดดเด่น
นั่นคือการเล็งเห็น คุณค่าของสิ่งเล็ก ๆ น้อย  ไม่ทอดทิ้งเปล่าประโยชน์

ปัจจุบัน แมงสะดิ้งกลายเป็นแมลงเศรษฐกิจ สามารถนำมาเพาะเลี้ยงขายเป็นอาชีพได้
ต้องยกย่อง นักวิชาการเกษตร และเกษตรกรผู้หัวหลักแหลม  ของไทยแลนด์แสตนอัพ
นั่นคือแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน นำธรรมชาติมาประยุกต์ เพื่อสร้างมูลค่า

อย่างไรก็ตาม แมงสะดิ้งตามธรรมชาติบ้านเรา ลดจำนวนลงมาก เพราะมัน
เปราะบางต่อสารเคมีต่างๆ ที่เราใช้ถ่ายเทลงสู่ระบบนิเวศน์  ส่งผลต่อทุกชีวิตเป็นลูกโซ่
แมงสะดิ้งลดลง ปลาก็ลดลง กบเขียดอึ่งอ่างคางลาย “กะปอม” ก็ลดลง
คนก็เป็นสุขน้อยลง นั่นคือสายสัมพันธ์ที่เรามักจะมองข้าม จนภัยมาถึงตัว
จึงโอดครวญประท้วงคิดแตกแยก สาเหตุเล็ก ๆ เพราะแมงสะดิ้งสูญหาย ก็เป็นได้


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*