แมงบ้งหาน

ชื่อพื้นบ้าน แมงบ้งหาน
ชื่อสามัญ   Nettle Caterpillar
ชื่อวิทยาศาสตร์  Parasa lepida
Order: Lepidoptera
Family: Limacodidae
Genus: Parasa
Species: P. lepida

แมงบ้งหาน เป็นหนอนตัวอ่อนของผีเสื้อกลางคืน ในตระกูล Limacodidae ซึ่งอยู่ในระยะ Larva
หรือ ระยะการเป็นตัวบุ้ง  ก่อนจะกลายเป็นดักแด้ และลอกคราบกลายเป็นผีเสื้อกลางคืน

เพราะฉะนั้นตัวเต็มวัยซึ่งเป็นแมลงผีเสื้อกลางคืน เฮาส่วนมากจะไม่ค่อยพบเห็นเท่าไหร่
แต่ส่วนใหญ่พี่น้องชาวอีสาน จะพบเจอ ” แมงบ้งหาน” ตามที่ กระผมนำเสนอนี้เป็นส่วนมาก

ลักษณะทั่วไป

บ้งหาน (อีสาน) บุ้งร่าน (กลาง)  เป็นตัวหนอนสีเขียวแพรวพราว มีขนาดตั้งแต่  2 ซม. – 5 ซม.
มีขนแข็งสีเขียวสด มีจุดม่วงแดง หรือน้ำเงินสลับอยู่บนตัว  มีลายสีขาวหม่นพาดยาว
พบได้ทั่วไปในประเทศไทย และเขตอบอุ่น
ขนของมันมีพิษร้าย โดนทิ่มเข้า เป็นต้องปวดแสบร้อน กล้ามเนื้อเกร็ง เป็นผื่นแดง น้ำตาเล็ด วิ่งพล่าน
บางรายมีอาการแพ้พิษของ แมงบ้งหาน จนกล้ามเนื้อเป็นอัมพาตไปชั่วขณะ
ในบรรดาแมงบ้ง หรือตัวบุ้ง ชนิดนี้หละครับ โหดสุด โดนเข้าหละก็  “บัดกับหม่อง” แน่นอน

แมงบ้งหาน

แมงบ้งหาน

ที่อยู่อาศัยในธรรมชาติ

ตอนโตเต็มวัย มันเป็นแมลงที่ปราศจากพิษภัยใด ๆ  รักสงบ และหากินน้ำหวานจากดอกไม้
ในเวลากลางคืน แต่ตอนเป็นตัวหนอนนี่ร้ายกาจ มักหลบตามใบไม้ พุ่มไม้ อาศัยกินใบไม้
ตามป่าเป็นอาหาร ที่อยู่ทั่วไปคือ ป่าโปร่ง ป่าแดง ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ

วงจรชีวิต

ผสมพันธุ์กันในช่วง เดือน พ.ค. – มิ.ย. ในช่วงที่เป็น “แมงกะเบี้ย” (ผีเสื้อ) และจะวางไข่ใต้ใบไม้
หรือตามเปลือกไม้ ลักษณะเป็นกระเปราะกลม ๆ ขนาด 5 – 10  มม.

ระยะไข่ 3-5 วัน จะฟักตัวเป็นหนอน ออกมาในวันแรก ๆ จะอยู่กันเป็นกลุ่มๆ
หลังจาก  1 อาทิตย์ พอมีขนปกป้องตัวแล้ว มันจะแยกกันอยู่ตามใบไม้ เพื่อหากิน
ระยะหนอนมี 7 วัย เพศเมียมักมี 8 วัย ระยะอยู่ในสภาพตัวหนอน  ราว 35-42 วัน
จากนั้นจะเข้าสู่ระยะดักแด้  สายพันธุ์ที่พบบ่อย ช่วงนี้จะมีขนยาวปกคลุม ยึดเกาะกับใบไม้
มักจะยึดอยู่ตามใต้ใบไม้ หลบอยู่นิ่งๆ เพื่อรอลอกคราบ เป็นผีเสื้อ

อีกสายพันธุ์หนึ่งที่ตัวเล็กกว่า ดักแด้มีปลอกดักแด้คล้ายฝาชีครึ่งวงกลมครอบอยู่
มีขนาดยาว 15 มิลลิเมตร ระยะดักแด้ 21-24 วัน  จึงทะลุปลอกออกมาเป็นตัวเต็มวัย
ตัวเต็มวัยมีปีกกว้าง 30-32 มิลลิเมตร ตลอดวงจรชีวิตใช้เวลา 65-70 วัน

บทบาทตามหน้าที่ในธรรมชาติ

ช่วยผสมพันธุ์เกสร ให้กับพืชที่ออกดอกกลางคืน
เป็นอาหารของ ค้างคาว , บ่าง  นก กิ้งก่า
และเป็นอาหารของแตนเบียนหลายชนิด ในระบบนิเวศน์

กับเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตอีสาน

เมื่อเราเข้าป่าหาเห็ด หรือเลี้ยงวัวควายตามป่าโปร่ง บางครั้งไม่ระวัง
เดินไปโดนตัวของมันเข้า เป็นอันน้ำตาแตก ร้องฟูมฟาย วิ่งหนีตาเหลือก
เมื่อวิ่งไปหาผู้เฒ่าผู้แก่ ก็จะถ่มน้ำลายเป่าพร้อมเล่าคาถา
” อมสะหม สะหี นกขี้ถี่ ถืดถึ่ง เพี้ยง !  เซา ๆ ”
พร้อมบอกกล่าวสั่งสอนว่า
“ไปไสมาไส ให้ระวังดังนี้  1.คน 2. อุบัติเหตุ 3. สัตว์ฮ้าย ”
คนไร้ศีลธรรม จริยธรรมนั้น ร้ายยิ่งกว่าสัตว์ใด ๆ ในโลกา
หล่าเอ้ย..


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*