เหลียก

ชื่อพื้นบ้าน       เหลียก
ชื่อสามัญ buffalo-flies
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tabanus sulcifrons
อันดับ       Diptera
อันดับย่อย   Brachycera
วงศ์ Tabanidae

” ควายแม่ค้ำเล็มหญ้า พลางแสวเหลียกไปด้วย ”  วลีที่ปรากฏใน นิยายชีวิตอีสาน
เรื่อง โสกฮัง – ตาดไฮบางคนไม่เข้าใจ อะไรเกาะฮึ  ?  “แสวเหลียก”

เหลียก เป็นแมลงดูดเลือด ลักษณะคล้ายแมลงวัน แต่ตัวใหญ่กว่ามาก
แมลงใน วงศ์ ( family ) นี้พบได้ทั่วโลก มีการพบแล้วประมาณ 4000 species ส่วนมากแล้ว
พบในทวีป แอฟริกา  ประเทศขี้บ่ก่น ทางการแพทย์ถือว่าเป็น สัตว์พาหะนำโรคชนิดหนึ่ง

สำหรับในภาคอีสาน คำว่า “เหลียก” เป็นคำนาม หมายถึง แมงอันนี้ ดูดกินเลือดวัวเลือดควาย
หากใช้เป็นคำกิริยา หมายถึงอาการ ชำเรืองมองแบบเจาะจงโจ่งแจ้ง  หรือ ตาถลึง เพราะกลัว
หากชำเรืองมองแบบไม่โจ่งแจ้ง เรียกว่า ” สิ่งตาน้อย”  พะนะ

ลักษณะทั่วไป

คล้ายกันกับ แมลงวัน แต่ตัวใหญ่กว่า บินเสียงดัง  ตัวมีมี งวงเจาะ ไว้แทรกรูขน
เพื่อดูดกินเลือด ตัวผู้ส่วนที่ไม่จำเป็นต้องใช้ของปากลดรูป  จึงไม่มี งวงเจาะ
ตัวเหลียก ที่หาดูดเลือดนั้นเป็นตัวเมีย ที่เข้าสู่ระยะขยายพันธุ์
มันต้องกินเลือดเพื่อที่จะวางไข่ได้
ตัวเมียส่วนมากกินเลือดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ
หรือสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง อื่นๆ

เหลียก

เหลียก

เรียกได้ว่า เหลียกเป็นแมลงรำคาญ  ส่วนคนอีสาน ชอบลำเดิน ลำล่อง ลำเพลิน ลำแพน
เป็นแมลงที่คอยดูดกินเลือดสัตว์เลี้ยง เช่น วัวควาย ซ้างม้า  ส่วนใหญ่ระบาดในหน้าฝน

ที่อยู่อาศัย

เมื่อครั้งวัยเยาว์ แมลงจำพวกนี้ อยู่ตามใต้ดินชื้น ๆ  ดินใต้พุ่มไม้ใบหญ้า
เมื่อฝนตกในฤดูฝนแรก  จะออกมาจากใต้ดินเมื่อเป็นตัวเต็มวัย
จะอาศัยหลบตาม ใต้ใบไม้หนาๆ เกาะใบไม้นอนหลับพักผ่อน
เช้ามาก็ออกหากินน้ำหวานจากดอกไม้ ดอกหญ้า และหาสืบพันธ์

การสืบพันธุ์

ผสมพันธุ์กันในห้วง เดือน พ.ค. – มิ.ย ของทุกปี
วางไข่บนก้อนหิน หรือ ใบพืช ที่ใกล้น้ำ ตามรากไม้ เป็นต้น
วางไข่คราละ  1000 – 500 ฟอง เมื่อฟัก ตัวอ่อนจะตกลงในน้ำหรือดินที่ชื้นๆ
กินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น หอยทาก ไส้เดือน และ แมลงอื่นเป็นอาหาร

วงจรชีวิต

• ไข่จะฟักภายในเวลา 5 – 7 วัน เพื่อเป็นตัวอ่อน จากนั้นจะพัฒนาเป็น ตัวอ่อนเต็มวัย
ภายใน  2 เดือน และอยู่ใต้ดิน ช่วง เดือน ก.ค. -ต.ค.
• เหลียกจะอาศัยอยู่ ในช่วงฤดูหนาวโดยจะเข้าดักแด้ ห้วง พ.ย. – มี.ค.
• ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และช่วงต้นของฤดูร้อน ( เม.ย.-พ.ค.) จะลอกคราบเป็นตัวเหลียก
• วงจรชีวิตของตัวโตเต็มวัย ( ตัวเหลียก ) อยู่ที่ 30 ถึง 60 วัน
จากนั้นมันก็ลาโลก โดยไม่เคยทำบุญใส่บาตร รักษาศีล  ฟังเทศน์ อนิจจา

บทบาทและหน้าที่ตามธรรมชาติ

ตัวเหลียก ตัวอ่อนเมื่ออยู่ใต้ดิน จะเป็นอาหารของสัตว์อื่น เช่น ไก่ป่า ไก่บ้าน
นกที่หากินตามพื้น  กบ เขียด และแมลงตัวห้ำชนิดอื่น ๆ
เมื่อโตมา มันจะทำหน้าที่ผสมเกสรให้พืช
หน้าที่อย่างหนึ่ง คือสร้างความรำคาญให้สัตว์ ให้ต้องคิดค้นวิวัฒนาการ
เพื่อป้องกันเช่น ต้องมีหางยาวขนเป็นพวง เพื่อเป็นเครื่องมือขับไล่
หรือ ควายก็ต้อง แช่ปลัก ทางอีสานเรียกว่า “ควายนอนบวก”

ความเกี่ยวพันกับวิถีอีสาน

ครั้งฝนตกใหม่ ๆ น้ำในนาเริ่มขัง ถึงเวลาที่ชาวอีสานต้อง “ลงนา”
ไล่ควายวัวไปนา ย่อมหลีกหนีแมลงเหล่านี้ไม่พ้น
บางครั้งก็สงสารงัวน้อย โดนเจาะจนพรุน
บางครา “สูน” หรือ โกรธ จับตัวมันมา เอาก้านดอกหญ้าเจ้าชู้
เจาะเสียบก้นมัน แล้วปล่อยให้บิน อิหลักอิเหลื่อ

กองไฟที่สุมฟืนตามคอก เพื่อขับไล่แมลงดูดเลือด ให้ห่างไกล
แสงวาบ แวมไหว ในทิวทุ่งเมื่อราตรี  เสียงสะบัด กะโหล่ง
ของควายบักตู้ ที่ “แสวเหลียก” (สะบัดหัวกระทบสีข้าง เพื่อไล่แมลง)
กล่อมเกลาเถียงนาน้อยให้คลายเหงา
มันคือสุขและทุกข์ ที่เจือปนกันในรสชาติชีวิต เพราะเราคือมนุษยชน


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*