ไซดักปลา หรืออุปกรณ์จับปลาของชาวอีสาน
การทำ “ไซดักปลา” เป็นการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยใช้วัสดุธรรมชาติ นั่นก็คือไม้ไผ่ที่หาได้ในหมู่บ้าน โดยนำไม้ไผ่มาสานเป็นไซ นำมาใช้ในการดักหาปลาตามทุ่งนา ในอดีต วิถีชีวิตของชาวบ้าน เมื่อเสร็จจากฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว ชาวบ้านมักมีเวลาว่างจากการทำนา จึงใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์โดยการประกอบอาชีพต่างๆ เพื่อเสริมรายได้ของพวกเขา เช่น ทำไร่ทำสวนและการหาปลา โดยออกหาปลาตาม ห้วย หนอง คลอง บึง ด้วยความอุดมสมบูรณ์ที่เพียบพร้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อครั้งสมัยโบราณ กุ้ง หอย ปู ปลา สามารถที่จะหากินได้โดยง่าย เพียงแต่ใช้ไซ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ดักจับสัตว์น้ำ แบบง่ายๆ ก็จะได้ปู ปลาต่างๆ มาเป็นอาหารอย่างไม่ยาก
ความสำคัญของไซ
ไซ เป็นเครื่องมือดักสัตว์น้ำ โดยส่วนมากจะดักปลาในกลุ่มปลาเล็กปลาน้อย ใช้งานในแหล่งน้ำที่ไม่ลึก มักเป็นแหล่งน้ำไหลและเป็นการเปิดช่องระบายน้ำเข้าออกตามคันนา ไซมีหลายรูปทรง ตั้งชื่อตามรูปทรงนั้น เช่น ไซปากแตร สานเป็นรูปกรวยปากไซบานออกเป็นรูปปากแตร ไซท่อ สานคล้ายท่อดักปลา หรืออาจตั้งชื่อตามวัตถุประสงค์ก็ได้ เช่น ไซสองหน้า มีช่อง 2 ด้าน ไซลอย ใช้วางลอยในช่วงน้ำตื้น ๆ แหวกกอข้าวหรือกอหญ้าออกแล้ววางแช่น้ำไว้ ไซปลากระดี่ ใช้ดักปลากระดี่ ไซกบ สานเป็นลายขัดตาสี่เหลี่ยมรูปทรงกระบอก ใช้ดักกบ ไซโป้ง สานก้นโป่งเล็กน้อย แม้ว่าจะมีรูปลักษณ์ที่ต่างกัน แต่มีลักษณะร่วมกันคือ สานเป็นทรงกระบอกและทำปากทางเข้าเป็นงาแซง ไซต่าง ๆ มักไม่ต้องใช้เหยื่อ เพราะจะดักปลาที่ต้องไหลในกระแสน้ำ เว้นแต่ไซกบที่ต้องมีเหยื่ออย่างลูกปู ลูกปลา
ประโยชน์
-ใช้ในการดักปลาแทบทุกชนิดทุกขนาด
-เป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน เพื่อการยังชีพได้
-ใช้ดักจับปลาเพื่อมาประกอบอาหาร
-สร้างรายได้ให้แก่คนในครอบครัวและชุมชน
วิธีการทำไซดักปลา
1. จักไม้ไผ่เป็นเส้นเล็กตามความเหมาะสม
2. นำเส้นไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ มาสานเริ่มที่ก้นไซโดยสาน 5 เส้นแบบสลับกัน
3. เมื่อสานก้นไซเสร็จก็หักมุมเพื่อสานตัวไซ ลักษณะเป็นทรงกระบอก ความยาวตามความเหมาะสม
4. นำเส้นไม้ไผ่มาสานอีกส่วน เรียกว่าปากไซ เพื่อนำมาใส่ด้านหน้าของไซ เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาที่ดักได้หนีออกจากไซ
5. เมื่อสานครบทุกส่วนก็นำไปรมควันไฟ เพื่อป้องกันตัวมอดกินและเพื่อความแข็งแรง