การเลี้ยงกบ สำหรับผู้เริ่มต้นทุนน้อย
สวัสดีกันอีกครั้งกับเกษตรอีสาน วันนี้อีสานร้อยแปดมาแบ่งปันข้อมูลดี ๆ ในเรื่องของการเลี้ยงกบ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีความนิยมและความต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการบริโภค วันนี้อีสานร้อยแปดจึงขอแบ่งปันข้อมูลการเลี้ยงกบ มาให้พี่น้องได้เป็นแนวทางในการนำไปเลี้ยงสำหรับบริโภคในครัวเรือน หรือทำเป็นอาชีพเสริม และสามารถทำจนสร้างรายได้เป็นอาชีพหลักเลยก็เป็นได้
แต่เดิมกบเป็นอาหารตามธรรมชาติของมนุษย์ มักจะเจอตามลำห้วย หนอง บึง ท้องนา แต่ด้วยทุกวันนี้มีการใช้สารเคมีในการเกษตร มีโรงงานเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ระบบนิเวศที่กบเคยอาศัยอยู่ได้เปลี่ยนไป อีกทั้งความต้องการบริโภคกบก็สูงขึ้น ทำให้การจับกบไม่ได้คำนึงถึงว่าจะต้องปล่อยให้ตัวเล็ก ๆ ได้มีโอกาสเติบโตขยายพันธุ์ต่อไป จับมาขายทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ ทำให้จำนวนกบตามธรรมชาติลดน้อยลงเรื่อย ๆ
เกษตรกรจึงมองเห็นโอกาสที่จะสร้างรายได้จากความต้องการกบเพื่อการบริโภค เพราะกบเป็นสัตว์เลี้ยงง่าย ใช้เวลาไม่มาก ลงทุนน้อย และคุ้มค่า มีการทำฟาร์มเลี้ยงกบหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเลี้ยงกบแบบธรรมชาติ การเลี้ยงกบในขวด การเลี้ยงกบคอนโด แบบบ่อซีเมนต์ ฯลฯ และก็มีบางส่วนที่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากยังขาดข้อมูลสำคัญอยู่ เช่น นิสัยใจคอของกบ พื้นที่ที่เหมาะกับการเลี้ยงกบ เป็นต้น
การเลือกสถานที่เลี้ยงกบ
การเลือกบ่อหรือคอกเลี้ยงกบควรจะอยู่ไม่ไกลจากที่อยู่อาศัย เพื่อสะดวกในการป้องกันศัตรู เช่น งู นก หนู หมา แมว และ คน ถ้าบ่อเลี้ยงกบหรือคอกเลี้ยงกบอยู่ห่างจากที่อยู่อาศัยมาก ก็จะถูกศัตรูและคนขโมยจับกบไปขายหมด นกก็มีทั้งกลางวันและกลางคืน ส่วนแมวอันตรายมากเพราะนอกจากจะจับกบกินแล้ว บางครั้งก็ชอบจับกบตัวอื่น ๆ มาหยอกเล่นจนทำให้กบตาย สรุปการเลือกสถานที่เลี้ยงกบควรมีดังนี้
1. ใกล้บ้าน ง่ายและสะดวกในการดูแลรักษาและป้องกันศัตรู
2. เป็นที่สูง ป้องกันน้ำท่วม
3. พื้นที่ราบเสมอ เพื่อสะดวกในการสร้างคอกและแอ่งน้ำ
4. ใกล้แหล่งน้ำ เพื่อสะดวกในการเปลี่ยนถ่ายน้ำ
5. ให้ห่างจากถนน เพื่อป้องกันเสียงรบกวน เนื่องจากกบต้องการพักผ่อนจะได้โตเร็ว
พันธุ์กบที่นำมาเลี้ยง
พันธุ์กบที่นิยมนำมาเลี้ยงมี 2 พันธุ์คือ กบอเมริกันบูลฟร็อก และกบนา สำหรับผู้เริ่มต้นแนะนำให้เลี้ยงพันธุ์กบนาจะเหมาะกว่า กบนาใช้เวลาเพียง 4-5 เดือน กบก็โตได้ถึงขนาด 4-5 กิโลกรัมต่อตัว เป็นกบที่โตเร็ว และเป็นที่นิยมบริโภคมากกว่าพันธุ์อื่น ๆ
ลักษณะกบนาตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย และกบตัวผู้จะมีกล่องเสียงอยู่ใต้คางแถว ๆ มุมปากล่างทั้งสองข้าง ใช้สำหรับส่งเสียงร้องโดยเฉพาะในฤดูผสมพันธุ์ ส่วนกบตัวเมียส่งเสียงร้องได้เหมือนกันแต่เบากว่า ในช่วงฤดูผสมพันธุ์กบตัวผู้จะส่งเสียงร้องและกล่องเสียงจะพองโตและใส ส่วนตัวเมียที่มีไข่แก่จะสังเกตเห็นท้องบวมและใหญ่กว่าปกติ
การเพาะพันธุ์กบ
การเตรียมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบสามารถทำได้ 2 วิธี คือ หาตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือซื้อจากแหล่งเพาะเลี้ยงกบ และเพาะเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบขึ้นมาเอง สำหรับผู้เริ่มต้นแนะนำให้หาตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือแหล่งเพาะเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบ เนื่องจากหาง่าย มีความทนทานโรค และลงทุนน้อยกว่า
การคัดพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบ
เมื่อเลือกแล้วว่าจะหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบจากแหล่งใด ก็ต้องมาคัดเลือกว่ากบที่จะมาเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ต้องมีลักษณ์อย่างไรบ้าง
1. แม่พันธุ์ตัวที่มีไข่ส่วนท้องจะขยายใหญ่ และจะมีปุ่มสากข้างลำตัวทั้ 2 ข้าง เมื่อใช้นิ้วสัมผัสจะรู้สึกได้ และแม่พันธุ์ตัวที่พร้อมมากจะมีปุ่มสากมากแต่เมื่อไข่หมอท้องปุ่มสากนี้ก็จะหายไป
2. การคัดเลือกพ่อพันธุ์ เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์กบตัวผู้จะส่งเสียงร้องเสียงดังและกล่องเสียงที่ใต้คางก็จะพองโปน ลำตัวจะมีสีเหลืองเข้มและมื่อเราใช้นิ้วสอดที่ใต้ท้อง มันจะใช้ขาหน้ากอดรัดนิ้วเราไว้แน่น
การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์กบ
เมื่อได้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบแล้วต้องมีการเตรียมสถานที่สำหรับผสมพันธุ์
1. ล้างทำความสะอาดบ่อเพาะพันธุ์ด้วยด่างทับทิมเข้มข้น 10 ppm แช่ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง จากนั้นล้างทำความสะอาดด่างทับทิมออกให้หมด
2. เติมน้ำสะอาดใส่บ่อให้ลึกประมาณ 5-7 ซม. และไม่ควรให้ระดับน้ำสูงเกินไปกว่านี้เพราะไม่สะดวกในการที่กบตัวผู้จะโอบรัดตัวเมีย เพราะว่าขณะที่กบตัวเมียเบ่งไข่ออกมาจากท้อง จะต้องใช้ขาหลังยันที่พื้น ถ้าน้ำลึกมากขาหลังจะยันพื้นไม่ถึงและจะลอยน้ำทำให้ไม่มีพลัง เป็นเหตุให้ไข่ออกมาไม่มาก
3. เตรียมฝนเทียม โดยทั่วไปกบจะจับคู่ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูฝน แต่เราจะเลียนแบบธรรมชาติ โดยนำท่อ PVC ขนาดครึ่งนิ้ว มาเจาะรูเล็กๆ ตามท่อต่อน้ำเข้าไปและให้น้ำไหลออกได้คล้ายฝนตก แล้วนำท่อท่อนนี้ไปพาดไว้บนปากบ่อหรือหลังคาคลุมบ่อ และเปิดใช้เวลาที่จะทำการผสมพันธุ์กบ
การผสมพันธุ์กบ
1. ปล่อยพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ลงไปในบ่อที่เตรียมไว้ โดยให้มีตัวผู้ต่อตัวเมียจำนวน 1:1 ต่อพื้นที่ 1 ตร.ม. และต้องปล่อยให้กบผสมกันในตอนเย็น
2. เมื่อปล่อยกบลงไปแล้วจึงเปิดฝนเทียมเพื่อเป็นการกระตุ้นให้กบจับคู่ผสมพันธุ์ ซึ่งจะอยู่ในช่วงเวลา ประมาณ 17.00 น. – 22.00 น. ซึ่งภายในบ่อเพาะต้องมีท่อให้น้ำล้นออกด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้ระดับน้ำสูงเกินไป
3. กบจะจับคู่ผสมพันธุ์และจะปล่อยไข่ตอนเช้ามืด
การลำเลียงไข่กบจากบ่อผสมไปบ่ออนุบาล
1. หลังจากกบปล่อยไข่แล้วในตอนเช้า ต้องจับกบขึ้นไปใส่ไว้ในบ่อดิน จากนั้นจะค่อย ๆ ลดน้ำในบ่อลงและใช้สวิงผ้านิ่ม ๆ รองรับไข่ที่ไหลตามน้ำออกมา ในขณะที่น้ำลดนั้นต้องคอยใช้สายยางฉีดน้ำเบา ๆ ไล่ไข่ ขั้นตอนนี้ต้องทำด้วยความระมัดระวังไม่ให้ไข่แตก และจะต้องทำในตอนเช้าในขณะที่ไข่กบยังมีวุ้นเหนียวหุ้มอยู่
2. นำไข่ที่รวบรวมได้ไปใส่บ่ออนุบาลโดยใช้ถ้วยตวงตักไข่ โรยให้ทั่วๆ บ่อแต่ต้องระวังไม่ให้ไข่กบซ้อนทับกันมาก เพราะจะทำให้ไข่เสียและไม่ฟักเป็นตัว เนื่องจากขาดออกซิเจน
3. ระดับน้ำที่ใช้ในการฟักไข่ประมาณ 7-10 ซม. ไข่จะฟักเป็นตัวภายใน 24 ชม.
การอนุบาลและการให้อาหารลูกบ
เมื่อไข่กบฟักออกเป็นตัวแล้วช่วงระยะ 2 วันยังไม่ต้องให้อาหาร เพราะลูกกบยังไใช้ไข่แดง (yolk sac) ที่ติดมาเลี้ยงตัวเองอยู่ หลังจากนั้นจึงเริ่มให้อาหาร เช่น ไรแดง ไข่ตุ๋น อาหารเม็ด ตามลำดับดังนี้
– อายุ 3 – 7 วัน ให้อาหาร 20 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว จำนวน 5 มื้อต่อวัน
– อายุ 7 – 21 วัน ให้อาหาร 10-15 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว จำนวน 5 มื้อต่อวัน
– อายุ 21 – 30 วัน ให้อาหาร 5-10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว จำนวน 4 มื้อต่อวัน
– อายุ 1 – 4 เดือน ให้อาหาร 4-5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว จำนวน 2 มื้อต่อวัน
การเปลี่ยนถ่ายน้ำ
1. เมื่อลูกอ๊อดฟักออกเป็นตัวจะต้องเพิ่มระดับน้ำในบ่อขึ้นเรื่อยๆ จนอยู่ที่ระดับความลึก 30 ซม.
2. ลูกอ๊อดอายุครบ 4 วัน จะต้องทำาการย้ายบ่อครั้งที่ 1 และระดับน้ำที่ใช้เลี้ยงควรอยู่ที่ระดับ 30 ซม.
3. เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวันๆ ละ ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์
4. ทุกๆ 3-4 วัน ทำการย้ายบ่อพร้อมกับคัดขนาดลูกอ๊อด
5. เมื่อลูกอ๊อดเริ่มเข้าที่ขาหน้าเริ่มงอกต้องลดระดับน้ำในบ่อลงมาอยู่ที่ระดับความลึกประมาณ 5-10 ซม. และจะต้องใส่วัสดุที่ใช้สำหรับเกาะอาศัยลงไปในบ่อ เช่น ทางมะพร้าว แผ่นโฟม เป็นต้น
การคัดขนาดลูกกบ (ลูกอ๊อด)
เมื่อเลี้ยงไปได้ประมาณ 1 สัปดาห์หลังฟักออกจากไข่ ลูกอ๊อดจะเริ่มมีขนาดไม่เท่ากัน เนื่องจากการที่กบกินอาหารไม่ทันกัน ดังนั้นจึงต้องทำการคัดขนาดเมื่อลูกอ๊อดอายุได้ประมาณ 7 – 10 วัน โดยการใช้ตะแกรงคัดขนาดที่ทำจากตาข่ายพลาสติกที่มีขนาดของช่องตาขนาดต่างๆกัน ซึ่งเราสามารถเลือกซื้อตามขนาดของตัวอ๊อดระยะต่างๆ ได้
โดยให้ทำการคัดขนาดทุก ๆ 3-4 วันทำและแยกไปไว้ในแต่ละบ่อ ในระยะที่ลูกอ๊อดบางตัวเริ่มมีขาหน้างอกออกมาจะใช้ตะแกรงคัดขนาดไม่ได้แล้ว เนื่องจากลูกอ๊อดจะเกาะอยู่ที่ตะแกรงและไม่ลอดช่องลงไปจนต้องเปลี่ยนมาใช้กะละมังเติมน้ำให้เต็มแล้วคัดลูกกบที่มีครบ 4 ขาออกไปใส่บ่อเดียวกันไว้
เมื่อลูกกบอายุประมาณ 1 เดือนลูกกบจะเป็นตัวเต็มวัยไม่พร้อมกัน ลูกกบตัวที่หางยังครบก็จะอยู่ในน้ำ ส่วนลูกกบตัวที่หางหดเป็นตัวเต็มวัยแล้วก็จะอยู่บนบก จึงต้องคัดแยกลูกกบที่โตเต็มวัยออกไปใส่บ่ออื่น ๆ โดยในบ่อแต่ต่อจะแบ่งตามอายุลูกกบดังนี้
– อายุ 7 วัน อนุบาลและการปล่อยเลี้ยง 2,000 ตัว/ตร.ม.
– อาย ุ 8 – 14 วัน อนุบาลและการปล่อยเลี้ยง 1,500 ตัว/ตร.ม.
– อายุ 15 – 25 วัน อนุบาลและการปล่อยเลี้ยง 800 ตัว/ตร.ม.
– อาย ุ 26 – 30 วัน อนุบาลและการปล่อยเลี้ยง 500 ตัว/ตร.ม.
– อายุ 1 – 4 เดือน อนุบาลและการปล่อยเลี้ยง 100 – 150 ตัว/ตร.ม.
การดูแลและเลี้ยงกบเต็มวัยจนกบโต
การให้อาหารกบควรจะให้วันละ 2 ครั้ง คือ เวลา 07.00 น. และ 17.00 น. โดยให้ปริมาณอาหารเท่ากับ 10 % ของน้ำหนักกบ เช่น กบในบ่อมีน้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม ควรให้อาหาร 10 กิโลกรัม เป็นต้น
อาหารของกบมีหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับว่าผู้เลี้ยงสามารถหาอาหารแบบใดได้
1. เนื้อปลาสับ
2. ปลายข้าว 1 ส่วน ผักบุ้ง 2 ส่วน ต้มรวมกับ เนื้อปลา เนื้อหอยโข่ง หรือปู
3. เปิดไฟล่อให้แมลงมาเล่นไฟแล้วตกลงในบ่อเลี้ยง แต่ผลเสียคือ แมลงอาจจะมีพิษหรือแมลงมียาฆ่าแมลงตกค้าง ทำให้กบตายได้
ในการให้อาหารช่วงเช้า 07.00 น. ต้องมีการเก็บภาชนะไปล้างประมาณเวลา 10.00 น. เพื่อป้องกันอาหารบูด ส่วนอาหารเย็น 17.00 น.ไม่ต้องเก็บภาชนะไปล้าง เพราะว่ากลางคืนอาหารจะไม่บูดเสีย และธรรมชาติของกบจะหากินตอนกลางคืน
การเลี้ยงกบต้องคอยคัดขนาดกบให้เท่า ๆ กันในแต่ละบ่อ เพื่อไม่ให้กบใหญกินกบเล็ก และกบเป็นสัตว์ที่ชอบอิสระเสรี ถ้าใช้อวนไนลอนกั้นคอก ทำให้กบสามารถมองเห็นภายนอกและพยายามหาทางออกไปข้างนอก โดยจะกระโดดชนอวนไนลอนจนปากกบบาดเจ็บและเป็นแผล กินอาหารได้น้อยลงจนถึงกินไม่ได้เลยก็มี
การเลี้ยงกบในบ่อดิน
ใช้พื้นที่ประมาณ 100-200 ตารางเมตร ภายในคอกเป็นบ่ำน้ำลึกประมาณ 1 เมตร ทำเกาะกลางบ่อเพื่อเป็นที่พักของกบและที่ให้อาหาร หรือใช้ไม้กระดานทำเป็นพื้นลาดลงจากชานบ่อก็ได้ รอบบ่อปล่อยให้หญ้าขึ้น หรือปลูกตะไคร้เพื่อให้กบใช้เป็นที่หลบอาศัย มีผักตบชวาหรือพืชน้ำอื่นๆ ให้กบเป็นที่หลบซ่อนและอาศัยความร่มเย็นเช่นกัน มุมใดมุมหนึ่งมุงด้วยทางมะพร้าวเพื่อเป็นร่มเงา
การเลี้ยงกบในคอก
เมื่อปรับพื้นที่ราบเรียบเสมอกันแล้ว ขุดอ่างน้ำไว้ตรงกลางคอก เช่น คอกขนาด 4 x 4 เมตร ขนาด 6 x 6 เมตร หรือขนาด 8 x 8 เมตร ต้องทำแอ่งน้ำขนาด 2 x 3 เมตร มีความลึกประมาณ 20 ซม. เป็นบ่อซีเมนต์และลาดพื้นแอ่งน้ำเป็นพื้นที่ชานบ่อทั้ง 4 ด้าน ขัดมันกันรั่ว ใส่ท่อระบายน้ำจากแอ่งขนาด 0.5 นิ้ว รอบๆ แอ่งน้ำเป็นพื้นที่ชานบ่อทั้ง 4 ด้าน เพื่อสะดวกต่อการให้อาหารและที่กบได้พักอาศัย รอบ ๆ คอกปักเสาทั้ง 4 ด้านให้ห่างกัน ช่วงละ 2 เมตร นำอวนสีเขียวมาขึงรอบนอก นำทางมะพร้าวแห้งมาพาดให้เต็มแต่อย่าแน่นเกินไป แล้วหากระบะไม้ กะละมังแตก หรือกระบอกไม้ไผ่อันใหญ่ๆ มาวางไว้ในคอกเพื่อให้กบหลบซ่อนตัวในเวลากลางวัน ส่วนกระบะหรือลังไม้ที่นำมาวาง ให้เจาะประตูเข้าออกทางด้านหัวและท้ายเพื่อสะดวกต่อการจับกบจำหน่ายการทำคอกเลี้ยงกบแบบนี้ มีอัตราปล่อยกบลงเลี้ยง คือ
คอกขนาด 4 x 4 เมตร ปล่อยกบลงเลี้ยงได้ไม่เกิน 1,000 ตัว
คอกขนาด 6 x 6 เมตร ปล่อยกบลงเลี้ยงได้ไม่เกิน 1,200 ตัว
คอกขนาด 8 x 8 เมตร ปล่อยกบลงเลี้ยงได้ไม่เกิน 2,500 ตัว
การเลี้ยงกบในบ่อปูนซีเมนต์
แบบนี้เป็นที่นิยมเพราะดูแลรักษาง่าย กบมีความเป็นอยู่ดีและเจริญเติบโตดี สะดวกสบายต่อผู้เลี้ยงในด้านการดูแลรักษา บ่อปูนซีเมนต์สร้างจากแผ่นซีเมนต์บล๊อก และฉาบด้วยปูนซีเมนต์ ปูนที่ฉาบจะหนาเป็นพิเศษ ตรงส่วนล่างที่เก็บขังน้ำ คือ มีความสูงจากพื้นเพียง 1 ฟุต พื้นล่างเทปูนหนาเพื่อรองรับน้ำ และมีท่อระบายน้ำอยู่ตรงส่วนที่ลาดสุด พื้นที่เป็นที่ขังน้ำนี้ นำวัสดุลอยน้ำ เช่น ไม้กระดาน ขอนไม้ ต้นมะพร้าว ให้ลอยน้ำ เพื่อให้กบขึ้นไปเป็นที่อยู่อาศัย สามารถเลี้ยงปลาดุกเพื่อให้เก็บกินเศษอาหารและมูลกบได้ด้วย ในอัตราส่วนกบ:ปลาดุก 100:20 ด้านบนของบ่อจะเปิดกว้างเพื่อให้แดดส่องลงไปทั่วถึง มุมใดมุมหนึ่งของบ่นำทางมะพร้าวมาปกคลุม เพื่อเป็นส่วนของร่มบ่อเลี้ยงกบแบบซีเมนต์ ถ้าทำขนาด 3 x 4 เมตร ปล่อยกบลงเลี้ยงได้ 1,000 ตัวและปลาดุกอีก 200 ตัวพื้นล่างของบ่อดังกล่าว
การจับกบจำหน่าย
เนื่องจากสถานที่และรูปแบบบ่อเลี้ยง ทำให้ความสะดวกในการดูแลรักษาย่อมแตกต่างกัน ยังรวมไปถึงการจับกบจำหน่ายก็แตกต่างกันอีกด้วย ดังนี้
1. การเลี้ยงกบในบ่อดิน จะต้องจับหมดทั้งบ่อในคราวเดียว เพราะบ่อเลี้ยงมีโคลนตมและต้องเก็บพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักตบชวา ขึ้นให้หมดก่อน ต้องใช้เวลาและแรงงานมาก และต้องไล่จับกบที่หลบซ่อนให้หมดในครั้งเดียว
2. การเลี้ยงกบในคอก สามารถจับทั้งหมดหรือจับเป็นบางส่วนก็ได้ โดยทำกระบะไม้ ซึ่งปกติกบก็จะเข้าไปอยู่ในกระบะ แล้วให้มีช่องเข้าออกอยู่ตรงข้ามกัน ด้านหนึ่งให้กบกระโดดออกจากบ่อเข้ากระสอบที่เตรียมไว้ และช่องสำหรับให้มือล้วงไปต้อนให้กบกระโดดเข้ากระสอบ
3. การเลี้ยงกบในบ่อปูนซีเมนต์ สามารถจับทั้งหมดหรือจับเป็นบางส่วนก็ได้ โดยใช้สวิงช้อน หรือใช้มือจับก็ได้
การเลี้ยงกบควรจะคำนึงถึงฤดูต่าง ๆ ด้วย เนื่องจากฤดูฝนจะมีกบธรรมชาติออกมาขายค่อนข้างมาก จึงทำให้ราคากบในช่วงฤดูฝนต่ำกว่าฤดูอื่น ผู้เลี้ยงจึงต้องเผื่อระยะเวลาเพื่อให้กบโตพร้อมจะจับในช่วงฤดูร้อนหรือฤดูหนาว จึงจะขายได้ราคาคุ้มค่าการลงทุน
และการขนส่งกบควรจะมีภาชนะใส่น้ำเล็กน้อย และมีวัสดุให้กบเข้าไปหลบอาศัย เช่น ฟาง ผักบุ้ง ผักตบชวา เพราะถ้าไม่มีวัสดุให้กบหลบซ่อน จะทำให้กบตกใจกระโดดจนจุกเสียและตายได้
การทำความสะอาดบ่อเลี้ยงกบ
1. งดให้อาหารกบก่อนลงไปทำความสะอาด เพราะถ้ากบกินอาหารแล้วกระโดดเต้นไปมาเพราะตกใจเนื่องจากคนลงไปรบกวน จะทำให้กบจุกเสียดแน่นและตาย
2. ควรหาวัสดุที่โปร่งเป็นโพรง เช่น ทางมะพร้าวสุมทุมเพื่อให้กบเข้าไปหลบซ่อนตัวเมื่อเข้าไปทำความสะอาด โดยเฉพาะในบ่อซีเมนต์เมื่อปล่อยน้ำเก่าทิ้งจนแห้ง กบจะเข้าไปหลบตัว
3. หลังจากทำความสะอาดแล้ว อาหารมื้อต่อไปควรผสมยาลงไปด้วยทุกครั้ง เพื่อบรรเทาอาการอักเสบลงได้
โรคและการป้องกันโรค
โรคที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดการเลี้ยงและการจัดการไม่ดี ทำให้มีการหมักหมมของเสียต่าง ๆ เกิดขึ้นในบ่อ โดยเฉพาะการใช้บ่อซีเมนต์ หรือมีจำนวนกบหนาแน่นเกินไป และอาจจะขาดความเอาใจใส่และไม่เข้าใจในเรื่องความสะอาดของบ่อรวมถึงน้ำที่เลี้ยง โอกาสที่กบจะเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียจึงมีมากขึ้น
สิ่งสำคัญเกี่ยวกับการป้องกันโรคคือ บ่อเลี้ยงต้องสะอาด มีแสงแดดส่งถึงพื้น น้ำต้องสามารถถ่ายเทได้สะดวกโดยทำท่อน้ำเข้าทางหนึ่ง และทำท่อน้ำระบายออกอีกทางหนึ่ง
และยังสามารถเลี้ยงปลาดุกเพื่อให้ช่วยเก็บกินเศษอาหารและมูลกบ ในอัตรส่วนกบ:ปลาดุก 100:20 นั่นคือปล่อยกบ 100 ตัว แล้วปล่อยปลาดุกไม่เกิน 20 ตัว การปล่อยกบเลี้ยงในบ่อต้องไม่มีจำนวนมากเกินไป และถ้าพบว่ากบตัวใดมีอาการผิดปกติให้แยกออกมาจากบ่อทันที
ต้นทุนการเลี้ยงกบนา
การเลี้ยงกบนามีการใช้น้ำไม่มาก และใช้พื้นที่น้อย เลี้ยงได้ทั้งบ่อดินและบ่อซีเมนต์ขนาดประมาณ 6-12 ตารางเมตร ใน 1 บ่อมีจำนวนกบประมาณ 400-800 ตัว ใช้เวลาเลี้ยง 3-4 เดือนก็สามารถจับขายได้ เมื่อคิดแล้วต้นทุนจะอยู่ที่ประมาณ 25-30 บาท/กิโลกรัม
แนวโน้มการเลี้ยงกบในอนาคต
กบเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งซึ่งตลาดนิยมบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น สเปน ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เยอรมัน สหรัฐอเมริกา ฯลฯ และจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยเลี้ยงตัวตามธรรมชาติของกบลดลง ดังนั้นแนวโน้มการเลี้ยงกบในอนาคต จึงถือว่าเป็นช่องทางที่น่าสนใจ ไม่มีปัญหาด้านการจำหน่าย และราคาก็ดีมีผลคุ้มค่าต่อการลงทุน ลงแรง สามารถส่งเป็นสินค้าส่งออกช่วยการขาดดุลให้แก่ประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย
อีสานร้อยแปดก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นแนวทางให้พี่น้องเราได้มีอาชีพเสริม เพิ่มเติมรายได้ หรืออาจจะหันมาทำอาชีพเลี้ยงกบเต็มตัว และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือรายละเอียดในแต่ละหัวข้อ ก็สามารถเข้าไปได้ที่การเพาะเลี้ยงกบครับ
21 ความเห็นที่มีต่อการเลี้ยงกบ สำหรับผู้เริ่มต้นทุนน้อย
เลี้ยงครั้งแรกต้องมีบ่อซีเมนกี่บ่อดีคับ..ถึงจะเริ่มเลี้ยงได้
ตอนนี้เลี้ยงกบขายยุค่ะ อีก 4-5 เดือน จะมีลูกอ๊อด ใครสนใจจะเลี้ยง ทักมาได้เลยนะค่ะ ยุแถวสมุทรปราการค่ะ 0937831971 แป้งค่ะ
สนใจจะเลี้ยงครับแต่กลัวหาตลาดไม่ได้
ความคุณสำหรับวิธีเลี้ยงกบค่ะ
ผมมีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบขายเด้อคับ
ดีมาครับ
แท้งกิ้วมากๆสำหรับคำแนะนำ?
สนใจอยากเลียงคับ
อยากเลี้ยงมากค่ะ ช่วงไหน เดือนไหนค่ะที่เหมาะการผสมพันธ์ เลี้ยงไวเตรียมพ่อพันธ์ได้สองเดือนแล้วค่ะ
กำลังจะเริ่มเลี้ยงครับ คงจะจำนวนไม่มากเท่าไหร่
ครั้งแรกลองดูก่อน มีอะไรแนะนำได้นะครับ
ขอบคุณครับ
อยากเลี้ยงกบนาครับ….ตั้งใจไว้นานแล้ว
ขอบคุณค่ะ เป็นประโยชน์มากค่ะ สำหรับมือใหม่อยากเลี้ยง
ได้ประโยชน์มากครับ..สำหรับข้อมูล
สนใจยากเลียงคับ
อยากเลี้ยงกบเป็นอาชีพหลักมากครับ แต่ไม่มีความรู้เลย ต้องใช้เงินมากมั้ยครับ จะคุ้มการลงทุนมั้ยครับ
ไม่มากครับกระชัง 4×6 ราคาก้อประมาณ 1000 ลูกกบตัวละ1บาท กระชังขนาดนี้เลี้ยงได้1000ตัว ไม่แออัดเกินไป ถ่ายน้ำทุกวัน 3 เดือนจับขายได้สบายครับ
ที่ไหนมีกระชังขายบ้างคะ อยู่สระบุรีขอที่ใกล้เคียงค่ะ
ยุ่โคราชซื้อลูกกบใด้ที่ไหนครับ
สนใจอยากเลี้ยงมากคะ
ข้อมูลดีมีประโยชน์มากครับ
ขอบคุณมากครับ เป็นกำลังใจให้คนทำเว็บได้หาข้อมูลดี ๆ มาแบ่งปันต่อไปครับ
มี 2 บทความลิงก์มาที่การเลี้ยงกบ สำหรับผู้เริ่มต้นทุนน้อย