การเลี้ยงปลานิล ปลาเศรษฐกิจเลี้ยงง่ายโตเร็ว

การเลี้ยงปลานิล

วันนี้อีสานร้อยแปดจะพาพี่น้องไปรู้จักการเลี้ยงปลานิล ปลาที่เป็นที่นิยมอีกชนิดหนึ่ง ราคาไม่แพง หาซื้อง่าย เลี้ยงไม่ยาก โตเร็ว นิยมนำมาทำอาหารได้หลากหลาย และยังมีรสชาติอร่อยไม่แพ้ปลาราคาแพงอีกด้วย

การเลี้ยงปลานิล

ปลานิลขนาดประมาณเท่าฝ่ามือ

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าปลานิลเป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบแอฟริกา และเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2508 โดยพระจักรพรรดิอากิฮิโต พระอิสริยยศมกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่นทรงจัดส่งปลานิล มาทูลเกล้า ฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ระยะแรกได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าหน้าที่ปล่อยเลี้ยง โดยเริ่มแรกเป็นการเลี้ยงปลานิลในบ่อดิน และต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ มอบหมายให้กรมประมงศึกษาวิธีเลี้ยงปลานิล จนเพาะเลี้ยงจนขยายพันธุ์ได้มากเพียงพอ จึงได้แจกจ่ายให้แก่ราษฎรนำไปเลี้ยงมาจนถึงทุกวันนี้

การเลี้ยงปลานิล

ปลานิลขนาดโตเต็มที่

ลักษณะและนิสัยปลานิล

ปลานิลเป็นปลาน้ำจืด (อยู่ในตระกูล Cichlidae) กินพืชเป็นอาหาร ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง พบได้ตามแม่น้ำ หนอง บึง อาศัยได้ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย เพราะเป็นปลาที่มีความอดทน ปรับตัวกับธรรมชาติได้อย่างดี เหมาะกับการนำไปเลี้ยงได้ทุกภูมิภาค

พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ปลานิล

ปลานิลตัวผู้และตัวเมียจะมีลักษณะภายนอกคล้ายกันมาก ตัวผู้อวัยวะเพศจะมีลักษณะเรียวยาว และจะมีสีเข้มตรงใต้คางและตามลำตัว ส่วนตัวเมียจะมีอวัยเพศเป็นรูและกลม และในฤดูผสมพันธุ์จะมีสีบริเวณลำตัวและใต้คางเข้มน้อยกว่าตัวผู้

ปลานิลที่มีอายุประมาณ 4 เดือนก็สามารถที่จะเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ได้ สังเกตได้จากพ่อพันธุ์จะแยกตัวออกจากฝูง เพื่อสร้างรังบริเวณขอบบ่อตื้น ๆ ประมาณครึ่งเมตร

โดยปลานิลตัวผู้จะใช้หัวและปากขุดหลุมบริเวณดังกล่าว จนรังมีลักษณะเป็นหลุม และแผ่ครีบหลังอ้าปากกว้างเชิญชวนให้ปลานิลตัวเมียว่ายเข้ามาผสมพันธุ์

วิธีเลี้ยงปลานิล

ปลานิลตัวผู้ทำรังสำหรับผสมพันธุ์

การผสมพันธุ์ปลานิล

ปลานิลจะผสมพันธุ์ภายนอก โดยปลานิลตัวเมียจะวางไข่ในรังทีละ 10-20 ฟอง พร้อมกับที่ปลานิลตัวผู้ปล่อยน้ำเชื้อผสมกับไข่ เมื่อไข่และน้ำเชื้อผสมกันแล้ว ปลานิลตัวเมียก็จะอมไข่ไว้ในปากและออกจากรังไปยังก้นบ่อ

ประมาณ 4-5 วัน ไข่จะฟักเป็นตัว แต่ก็จะยังอยู่ในปากแม่ปลา โดยมีถุงอาหารติดอยู่ที่ท้องของลูกปลา

ในระยะ 3-4 วันหลังฟักเป็นตัวลูกปลาจะออกจากปากแม่ปลาและกินไรน้ำและพืชน้ำ โดยจะยังมีแม่ปลาคอยระวังภัยอยู่ใกล้ ๆ ตลอดเวลา และลูกปลาจะหลบในปากแม่ปลาเมื่อมีภัยเข้ามา

เมื่อลูกปลามีอายุประมาณ 1 สัปดาห์จึงจะเลิกหลบซ่อนในปากแม่ปลา และจะหาอาหารกินเองได้และว่ายรวมกันเป็นฝูงเมื่อายุได้ประมาณ 3 สัปดาห์

แม่ปลานิลจะสามารถวางไข่ได้ครั้งละ 50-600 ฟอง ขึ้นอยู่กับขนาดของแม่ปลา และใน 1 ปี จะสามารถวางไข่ได้ 3-4 ครั้ง

ปลานิลตัวเมีย

แม่ปลานิลอมไข่ไว้ในปาก

การเตรียมบ่อเลี้ยงปลานิล

บ่อสำหรับเลี้ยงปลานิล สามารถใช้บ่อดินรูปสี่เหลี่ยมพื้นที่ 400 ตารางเมตรขึ้นไป ลึกประมาณ 1 เมตร และมีส่วนชานบ่อหรือบริเวณตื้น ๆ เพื่อให้ปลาทำรังในช่วงผสมพันธุ์

ในกรณีที่ขุดบ่อใหม่ดินมักเป็นกรด ควรใช้ปูนขาวโรยเพื่อปรับให้ดินมีความเป็นกลาง โดยใช้ปูนขาว 1 กิโลกรัม ต่อ 10 ตารางเมตร

หรือกรณีที่เป็นบ่อเก่าต้องกำจัดวัชพืชออก เพราะอาจจะเป็นที่อยู่ของศัตรู และเพื่อให้น้ำได้รับออกซิเจนเพียงพอ และถ้าบ่อเคยเลี้ยงปลาหรือสัตว์กินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาโด ปลาบู่ เต่า งู ควรจะกำจัดออกให้หมด โดยสูบน้ำจับสัตว์ที่เป็นศัตรูออกให้หมด และปล่อยให้บ่อแห้งจึงค่อยสูบน้ำกลับคืน

การเลี้ยงปลานิลใสบ่อดิน

บ่อปลานิล

การปล่อยปลานิลลงบ่อ

ปลานิลเป็นปลาที่สามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว สำหรับบ่อขนาด 400 ตารางเมตร ให้ใช้พ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ 50 คู่ หรือถ้าเป็นลูกปลาก็ควรปล่อย 1 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร

และควรจะปล่อยปลาลงบ่อในเวลาเช้าหรือเวลาเย็น เพราะน้ำในบ่อจะไม่ร้อนจนเกินไป  ก่อนปล่อยก็ให้เอาภาชนะจุ่มลงในบ่อเพื่อให้อุณภูมิน้ำทั้งสองเท่ากัน ป้องกันปลาช็อคจากอุณหภูมิน้ำต่างกันเกินไป เมื่ออุณภูมิน้ำเท่ากันแล้วก็ค่อย ๆ จุ่มภาชนะลงในบ่อ และให้ปลาว่ายออกจากภาชนะไปยังบ่อช้า ๆ

อาหารเลี้ยงปลานิล

อาหารเมล็ด

การให้อาหารปลานิล

โดยทั่วไปปลานิลจะกินอาหารตามธรรมชาติและอาหารที่คนให้ ซึ่งอาหารตามธรรมชาติสามารถทำได้โดยโรยปุ๋ยมูลสัตว์แห้งลงในเพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติ เช่น ตะไคร่ ไรน้ำ ตัวอ่อนแมลงในน้ำ

โดยสังเกตจากสีของน้ำ ถ้ามีสีเขียวแสดงว่ามีอาหารธรรมชาติจำพวกพืชน้ำ แต่ถ้ามีสีคล้ำแสดงว่ามีอาหารธรรมชาติจำพวกไรน้ำ ซึ่งทั้งสองเป็นอาหารตามธรรมชาติที่สำคัญในการเลี้ยงปลานิล

ส่วนอาหารเสริมเพื่อให้ปลาได้รับอาหารครบถ้วน เช่น รำ ปลายข้าว กากถั่วต่าง ๆ  ให้ประมาณ 5% ของน้ำหนักปลาที่เลี้ยง เพราะถ้าให้มากเกินไปจะทำให้น้ำเน่าเสียเร็ว

เป็นยังไงบ้างครับพี่น้อง สำหรับข้อมูลการเลี้ยงปลานิลเบื้องต้น สามารถนำไปปรับใช้กับการเลี้ยงปลานิลในครัวเรือน การเลี้ยงปลานิลในกระชัง การเลี้ยงปลานิลในบ่อซีเมนต์ หรือแม้กระทั่งการเลี้ยงปลานิลในบ่อพลาสติก

พี่น้องที่มีข้อสงสัยหรือคำถามก็สามารถคอมเมนต์มาถาม ติชมแนะนำกันได้ครับ และถ้าต้องการข้อมูลดีก็สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ การเลี้ยงปลานิล กรมพัฒนาที่ดิน และนอกจากนี้ยังมีหนังสือของกรมประมงด้วยนะครับ


36 ความเห็นที่มีต่อการเลี้ยงปลานิล ปลาเศรษฐกิจเลี้ยงง่ายโตเร็ว

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*