ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง
ปราสาทผึ้ง
ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งเป็นประเพณียิ่งใหญ่ประจำปีของชาวสกลนคร ที่เกิดจากความเชื่อ และศรัทธาผสานภูมิปัญญา ของชาวบ้านที่สรรค์สร้างงานปะติมากรรมออกมาได้อย่างงดงาม การทำปราสาทผึ้งมีคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ในครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในวันปวารณาออกพรรษา พระพุทธเจ้าตรัสอำลาพระอินทร์ เพื่อเสด็จลงสู่เมืองมนุษย์ พระอินทร์จึงเนรมิตบันไดเงิน บันไดทอง และบันไดแก้วมณี ให้พระองค์ได้เสด็จลง เทวดา มนุษย์ ครุฑ นาค สัตว์นคร ต่างชื่นชมในพระบารมีของพระพุทธเจ้า และเกิดความเลื่อมใสในบุญกุศลอย่างยิ่ง เกิดจินตนาการการมองเห็นปราสาทวิมานสวยงาม ใคร่อยากไปอยู่ แล้วจึงรู้ชัดว่าการที่จะไปอยู่ในปราสาทสวยงาม ได้นั้น จะต้องสร้างบุญสร้างกุศล ประพฤติปฏิบัติอยู่ในหลักธรรม จากนั้นจึงพากันคิด สร้างสรรค์ทำปราสาทให้มี ลักษณะคล้ายปราสาทราชมณเฑียรบนสวรรค์ชั้นวิมาน ลวดลายวิจิตรสวยงาม นอกจากนั้นการทำปราสาทผึ้งยัง มีความเชื่อว่าเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อร่วมกันทำบุญสร้างกุศลร่วมกันในช่วง เทศกาลออกพรรษา
ตกแต่งปราสาทผึ้ง
จัดขึ้นในช่วงออกพรรษา ระหว่างวันขึ้น 12 – 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ในตอนกลางคืนของวันขึ้น 13 ค่ำ ก่อนวันทำการแห่ขบวนปราสาทผึ้ง ชาวคุ้มต่างๆ จะนำปราสาทผึ้งของตนที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ประดับโคมไฟหลากสีมาตั้งประกวดแข่งขันกัน ณ สนามมิ่งเมือง เพื่อให้ประชาชนได้ชมความสวยงามอย่างใกล้ชิด สำหรับวันขึ้น 14 ค่ำ จะเป็นวันแห่ขบวนปราสาทผึ้งที่ตกแต่งอย่างวิจิตรสวยงามของคุ้มวัดต่าง ๆ แห่ไปตามถนนในเขตเทศบาลไปสู่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหารปราสาทผึ้งที่แต่ละขบวนนำมาจะมาตั้งไว้เป็นพุทธบูชา
ณ บริเวณวัดพระธาตุเชิงชุม |
|
|
|
|
|