วัดถ้ำสุวรรณคูหา
วัดถ้ำสุวรรณคูหา สร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ 2657 จากเดิมที่เป็นวัดร้างโบราณตามหลักศิลาจารึก ที่สร้างเมื่อพุทธศักราช 932 โดยพระไชยเชษฐธิราช กษัตริย์ประเทศลาวเป็นผู้สร้าง แต่ภายหลังกลายสภาพเป็นวัดร้าง ต่อมาประชาชนได้มาบูรณะแล้วสร้างใหม่จนเสร็จ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ 2467 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ 2521 ในสมัยโบราณ เป็นฝ่ายอรัญวาสี(ธรรมยุต) ปัจจุบันสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย พระประธาน เป็นรูปทรงนาคปรก 7 เศียร หน้าตักกว้าง 4 ศอก สูง 1 เมตร ปางมุจลินทร์ เป็นศิลปสมัยล้านช้าง สร้างด้วยสูตรปูนสะทานเพชร (เป็นชื่อสูตรปูนในการสร้าง) มีส่วนผสมดังนี้ ทราย5ส่วน ปูนขาว2ส่วน น้ำมะขาม 2ส่วน น้ำมันยาง โดยใช้อิฐเป็นโครงสร้างภายใน สร้างในสมัยสมเด็จพระไชยเชาฐาธิราช พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เป็นโอรสของพระเจ้าโพธิสารราชแห่งล้านช้าง มีพระราชมารดาเป็นธิดาพระมหากษัตริย์แห่งเมืองล้านนา (เชียงใหม่) สมัยทรงพระเยาว์มีพระนามว่า เชษฐวงศ์ มีพระอนุชาทรงนามว่า เจ้าท่าเรือ ครั้งเจริญวัย ฝ่ายเมืองเชียงใหม่ขาดราชทายาท กลุ่มเสนาอำมาตย์เมืองเชียงใหม่ จึงพร้อมใจกันเชิญเจ้าเชษฐวงศ์ ผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์มังราย(ฝ่ายมารดา) ไปครองเมืองเชียงใหม่ พ.ศ 2086 เมื่อเสวยราชสมบัติเมืองเชียงใหม่ทรงพระนามว่า เจ้าไชยเชษฐาธิราช ครองเมืองเชียงใหม่ได้ไม่นาน พระเจ้าโพธิสารแห่งล้านช้างผู้เป้นพระราชบิดาก็สวรรคต พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เสด็จมาร่วมจัดการถวายเพลิงพระศพพระราชบิดาที่เมืองหลวงพระบาง เมื่อ พ.ศ 2091 ในครั้งนี้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้นำพระแก้วมรกต พระจันทร์แก้วขาว พระแทรกดำ และนักปราชญ์ราชบัณฑิต มายังอาณาจักรล้านช้าง ประจวบกับพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ กษัตริย์พม่า เริ่มแผ่พระราชอำนาจมายังอาณาจักรล้านนาเชียงใหม่ นัยว่าหลวงพระบางต่อต้านอำนาจพม่าที่เริ่มรุกรานเมืองเชียงใหม่ ดังศิลาจารึกพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงใหม่ เป็นศิลาจารึกที่พระจ้าไชยเชษฐาธิราชสร้างไว้ที่เมืองเชียงราย (อำเภอเชียงแสน) กล่าวว่า “สมเด็จพระบรมบพิตร สถิตเสวยราชภิภพ ทั่งสองแผ่นดินล้านนาล้านช้าง” แสดงให้เห็นว่าพระจ้าไชยเชษฐาธิราช ทรงเข้าพระทัยเสมอว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์สองอาณาจักร ฉะนั้นเมื่อเสร็จงานเพลิงพระศพพระราชบิดา พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชหาได้เสด็จกลับเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าท่าเรือผู้เป็นพระอนุชาไม่พอพระทัย จึงเกิดสงครามแย่งราชสมบัติอาณาจักรล้านช้างอยู่ระยะหนึ่ง พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชชนะ ได้ครองเมืองหลวงพระบางอีกเมืองหนึ่ง แต่หลังจากนั้นพระองค์ไม่ได้กลับไปเมืองเชียงใหม่อีก เนื่องจากกองทัพพม่าเริ่มบุกรุกหัวเมืองของอาณาจักรล้านนาเชียงใหม่ พระองค์ทรงมีพระราชดำริเห็นว่า เมืองหลวงพระบางตั้งอยู่ในทำเลไม่ปลอดภัย จึงย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่เมือง เวียงจันทร์ พระจ้าไชยเชษฐาธิราช เอาใจใส่อาณาประชาราษฎร์ ในบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัด เลย หนองคาย อุดรธานี นครพนม สกลนคร อันเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อตระเตรียมกำลังทัพและเสบียงอาหารต่อสู้กองทัพอันเกรียงไกรของพม่า นอกจากนี้ยังพบหลักฐานอันมากมายที่พระองค์ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา บูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ดังศิลาจารึกวัดจอมมณีจังหวัดหนองคาย (พ.ศ 2106) เป็นต้น พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้ทรงทำนุบำรุงวัดถ้ำสุวรรณคูหา ถึงแม้ไม่ได้สร้างถาวรวัตถุ (พระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีไม่พึงประสงค์) แต่ก็ได้พระราชทานวิสุงคามสีมา แก่วัดถ้ำสุวรรณคูหา ถึงด้านละ 1,000 วา (2,500ไร่) และได้พระราชทานนาจังหันอีกมากมาย (นาจังหันคือพื้นทีที่เป็นสิทธิ์ของวัด ผลิตผล เช่น มะพร้าว ตาล หมาก ฯลฯ ต้องเป็นสิทธิของวัดร้อยละ 10 นั่นคือชาวบ้านทำไร่ทำนาได้ต้องนำมาถวายวัด 1 ถัง ทุกๆจำนวน 10 ถัง คือบ้านนาปู บ้านนาสิกส้าง บ้านนาต้น บ้านนาแพงเมือง ชาวบ้านที่ทำนาในพื้นที่เหล่านี้ ไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหารและไม่ต้องเสียภาษี (ตามภาษาถิ่นเรียกว่าส่วยไร่) แก่เจ้าเมือง แต่มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงวัดถ้ำสุวรรณคูหา คือนำผลผลิตจากเรือกสวนไร่นามาถวายวัดร้อยละ 10) นอกจากนี้ในศิลาจารึกของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ยังได้กล่าวถึงเมืองสำคัญในระแวกวัดถ้ำสุวรรณคูหา นี้ด้วย คือ เมืองนาสี(บ้านนาเสีย) เมืองนาขาม(บ้านนาขาม) เมืองหินซน(บ้านวังหินซา) เมืองชนู(บ้านกุดฮู) เป็นต้น ยังมีใจความกล่าวถึงพระเถระชั้นผู้ใหญ่วัดถ้ำสุวรรณคูหา ชื่อว่า พระมหาอินทรวัชสังวรเจ้า รวมถึงตอนท้ายศิลาจารึกประกาศว่า “ท้าวมาลุน ขุนมาใหม่ได้อย่าได้มา มล้างพระราชอาญา ผู้ใดหากโลภตัณหามากแล มล้างพระราชอาญา ให้ผู้นั้นไปสู่อุบายทุกข์ทั้งสี่ ท้าวพระยาที่มีอำนาจภายหลัง อย่าได้ลบล้างคำสั่งของพระราชอาญานี้ หากใครมีใจโลภมาลบล้างคำสั่งนี้และยึดเอาสิ่งของไร่นานี้เป็นของตน ขอให้ตกนรกหรืออุบายภูมิทั้งสี่” ความสำคัญทางด้านสังคมวัฒนธรรม จากการศึกษาศิลาจารึกวัดถ้ำสุวรรณคูหานี้ พบว่ามีชุมชนที่เป็นหมู่บ้านและเป็นเมืองอยู่จำนวนไม่น้อย เพราะดินแดนภาคอิสานในสมัยอยุธยาตอนต้น ไม่พบว่ามีเอกสารทางด้านประวัติศาสตร์ใดๆ กล่าวถึง จะเป็นพระราชพงศาวดารอยุธยา หรือพระราชพงศาวดารลาวก็หาได้กล่าวถึง ชื่อบ้านนามเมืองในแถบนี้ไม่ แต่จากหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกวัดถ้ำสุวรรณคูหานี้ ทำให้เราทราบถึงชุมชนอิสานบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนเหนือได้ ถึงแม้จะไม่ได้รายละเอียดมากนักก็ตาม แต่ก็ได้กล่าวถึงชื่อบ้านนามเมือง จำนวนไม่น้อย เช่น เมืองนาเรือ เมืองนาขาม เมืองหินซน เมืองชนู และชุมชนแบบหมู่บ้าน อีก เช่นนาปู นาท่าเป็ด นาหัน นาไก่เขี่ย นาแพงเมือง และนาสีกส้าง เป็นต้น ปัจจุบัน อาณาบริเวณวัด ที่เป็นเขา ก็ยังมีสภาพเป็นป่าอยู่บ้าง บริเวณวัดก็ไม่ค่อยมีเสนาสนะ สิ่งก่อสร้างมากมาย ยังเป็นเพียงวัดเล็กๆ ที่ซ่อนประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ไว้ให้คนได้ค้นหา
วัดถ้ำสุวรรณคูหา บ้านคูหาพัฒนา หมู่ 7