การปลูกกล้วยไข่
การปลูกกล้วยไข่ กล้วยเป็นผลไม้ที่นิยมปลูกกันทั่วไป เช่น กล้วยน้ำว้า โดยเฉพาะกล้วยไข่ เนื่องจากมีรสชาติดี นำไปแปรรูปได้หลายแบบ และเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะจีนและฮ่องกง การปลูกกล้วยสามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย จึงพบเห็นสวนกล้วยไข่ได้หลากหลายในแต่ละพื้นที่
สภาพพื้นที่
การปลูกกล้วยไข่ เหมาะสำหรับการปลูกในพื้นที่ดอนหรือพื้นที่ราบ ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,200 เมตร มีแหล่งน้ำธรรมชาติหรืออยู่ในเขตชลประทาน
ลักษณะดิน
สามารถใช้ดินร่วน ดินเหนียว หรือดินร่วนปนทราย ระดับน้ำใต้ดินลึกหว่า 75 เซนติเมตร และมีค่าความเป็นกรดด่างอยู่ระหว่าง 5.0 – 7.0
สภาพภูมิอากาศ
อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตอยู่ระหว่าง 25 – 35 องศาเซลเซียล มีปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า 1,200 มิลลิเมตรต่อปี มีแสงแดดจัด และต้องไม่มีลมแรงพัดผ่านเป็นประจำ
แหล่งน้ำ
- มีน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูกาล
- เป็นแหล่งน้ำสะอาด ค่าความเป็นกรดด่างของน้ำระหว่าง 5.0 – 9.0
พันธุ์กล้วยไข่
มี 2 สายพันธุ์ ได้แก่
- กล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชร ลักษณะกาบใบเป็นสีน้ำตาล ร่องก้านเปิดและขอบก้านใบขยายออก ใบมีสีเหลืองอ่อน ก้านเครือมีขนเล็กน้อย ผิวเปลือกผลบาง ผลเล็ก เนื้อมีสีเหลือง รสชาติหวาน
- กล้วยไข่สายพันธุ์พระตระบอง ลักษณะกาบใบเป็นสีน้ำตาลปนดำ รสชาติจะหวานอมเปรี้ยว และมีผลขนาดใหญ่กว่ากล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชร
การเตรียมดิน
สำหรับการปลูกในแปลงขนาดใหญ่จำเป็นต้องไถเตรียมดิน และกำจัดวัชพืชก่อน ด้วยการไถ และตากดินทิ้งไว้ประมาณ 20-30 วัน หลังจากนั้น ขุดหลุมปลูกให้มีขนาด 50 เซนติเมตร ทั้งในด้านกว้าง ยาว และลึก โดยให้แถวและต้นห่างกันที่ 2×2-2.5×2.5 เมตร พร้อมรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 3-5 กิโลกรัมต่อหลุม
ฤดูที่เหมาะกับการปลูกกล้วยไข่
ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ประมาณเดือนกันยายน – เดือนพฤศจิกายน
วิธีการปลูกกล้วยไข่
การปลูกจะใช้เหง้าพันธุ์หรือหน่อที่ขุดจากกอพ่อแม่พันธุ์ ความสูงของหน่ออยูที่ประมาณ 50-120 เซนติเมตร วางหน่อลงก้นหลุมบริเวณกลางหลุม โดยหันด้านของเหง้าที่มีรอยตัดจากเหง้าแม่ หันไปในทิศตะวันตก เพราะปลีจะแทงออก และห้องลงในทิศตรงข้ามกับรอยตัด
เมื่อวางเหง้าจะได้ความลึกของเหง้า 15-30 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับความสูงของต้นพันธุ์ เพราะต้นพันธุ์บางต้นอาจสูงไม่เกิน 60 เซนติเมตร หลังจากนั้น เกลี่ยดินกลบโคนต้นให้แน่น แล้ววางฟางข้าวคลุมโคนต้น และรดน้ำให้ชุ่ม
การพรวนดิน
เมื่อปลูกกล้วยไข่ได้ 1 เดือน ควรรีบทำการพลิกดินให้ทั่วทั้งแปลงปลูก เพื่อให้ดินเก็บความชื้นจากน้ำฝนไว้ให้มากที่สุด และเป็นการกำจัดวัชพืชไปในตัวด้วย ขณะที่รากกล้วยยังขยายไปไม่มากนัก
การกำจัดวัชพืช
ควรกำจัดวัชพืชปีละ 3 ครั้ง ครั้งแรกพร้อมๆกับการพลิกดิน ส่วนครั้งที่ 2 – 3 ให้พิจารณาจากปริมาณวัชพืช แต่ต้องทำก่อนที่ต้นกล้วยตกเครือ
การให้ปุ๋ย
- ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักให้ใส่ 4 ครั้งต่อปี อัตรา 3-5 กิโลกรัมต่อหลุม
- ปุ๋ยเคมี ใส่ครั้งที่ 1 หลังการปลูก 1 เดือน และครั้งที่ 2 หลังการปลูก 3 เดือน โดยใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 200 กรัมต่อต้น หลังจากนั้น เดือนที่ 5 และ 7 ให้ใส่อีก อัตรา 200 กรัมต่อต้น สูตร 12-12-24 โดยการใส่แต่ละครั้งให้โรยห่างต้นประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วพรวนดินกลบ
การให้น้ำ
- ฤดูฝน เมื่อฝนทิ้งช่วง เมื่อสังเกตหน้าดินแห้งและเริ่มแตก ควรรีบให้น้ำ
- ฤดูแล้ง เริ่มให้น้ำตั้งแต่หมดฝน ประมาณปลายเดือนมกราคม – เดือนพฤษภาคม
เทคนิคการปลูกกล้วยไข่
- หลังการปลูกผ่านไป 5 เดือน ให้ทำการตัดแต่งหน่อ ด้วยการใช้มีดขอตัดหน่ออื่นทิ้ง และให้คงเหลือต้นแม่ไว้ 4 ต้นต่อปี โดยแต่ละหน่อหรือต้นให้มีอายุห่างกันประมาณ 3 เดือน นอกจากการตัดหน่อทิ้งแล้ว อาจทำการขุดหน่อออกสำหรับจำหน่ายหรือย้ายไปปลูกแปลงอื่น
- การตัดแต่งใบ ให้ตัดใบทิ้งในระยะที่ต้นเติบโตเต็มที่ คงเหลือใบไว้ประมาณ 10 ใบ ส่วนในระยะกล้วยตกเครือให้ตัดใบเหลือ 8 ใบ โดยตัดให้ชิดลำต้น พร้อมกำจัดกาบใบแห้งออก แต่ต้องทำในฤดูฝน เพราะหากทำในฤดูแล้งกล้วยจะเสียความชื้นง่าย
- การค้ำเครือ หากต้นกล้วยมีน้ำหนักเครือมากหรือลำต้นไม่แข็งแรง ให้ใช้ไม้ง่ามปักค้ำบริเวณปลายยอดก่อนถึงเครือ
การเก็บเกี่ยว
หลังจาดตัดปลีแล้วประมาณ 45 วัน เป็นเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยว เพราะถ้าปล่อยไว้นานกว่านี้ ผลกล้วยอาจจะแตกได้ ส่วนกล้วยไข่ที่ปลูกในฤดูหนาว ผลจะแก่ช้า มีผลทำให้อายุการเก็บเกี่ยวยาวนาออกไป 50 – 55 วัน หลังตัดปลี
ตลาด
กล้วยไข่ปลูกกระจายอยู่ทั่วประเทศ ช่องทางการจำหน่ายมีทั้งผลสดและแปรรูป มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ เช่น กล้วยตาก กล้วยเบรกแตก กล้วยฉาบ อีกทั้งยังสามารถส่งไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ
ผลตอบแทน
ผลผลิตกล้วยไข่เฉลี่ยอยู่ที่ 804.28 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ค่าใช้จ่ายจากการทำสวนกล้วยไข่เฉลี่ยอยู่ที่ 2,216.67 บาทต่อไร่ต่อปี รายได้จากการทำสวนกล้วยไข่เฉลี่ยอยู่ที่ 5,190.72 บาทต่อไร่ต่อปี
ข้อมูลและภาพประกอบ
- หนังสือ 123 อาชีพทางเลือก
- honestdocs.co
- เบญจมาศ ศิลาย้อย ฉลองชัย แบบประเสริฐ และกัลยาณี สุวิทวัส, 2551. กล้วยไข่เกษตรศษสตร์ 2 คู่มือการปลูกและการดูแล