นึ่งข้าวเป่าไฟ

นึ่งข้าวเป่าไฟ

ประโยคที่เคยได้ยินตั้งแต่สมัยเด็กๆ เวลาที่แม่ปลุกตอนเช้าให้มาทำงานบ้านช่วย ลุกแต่เช้ามาหา “นึ่งข้าวเป่าไฟ” หลายๆคนอาจจะยังไม่รู้ว่าทำไมต้องนึ่งข้าวเป่าไฟ โดยเฉพาะเด็กสมัยใหม่ วันนี้เราก็เลยจะมาเล่าสู่กันฟัง

วิถีชีวิตของคนอีสานที่ทานข้าวเหนียวเป็นหลัก ตอนเช้าๆจะตื่นแต่เช้า นึ่งข้าวเหนียวที่แช่ทิ้งไว้ตั้งแต่เมื่อคืน ข้าวเหนียวก่อนจะนึ่งได้จะต้องหม่า(แช่)เอาไว้ให้มันไหน่ (ไหน่ หมายถึง การแช่น้ำไว้จนนิ่ม น้ำซึมเข้าไปในเนื้อของเมล็ดข้าว ถ้าแช่ไม่ไหน่จะนึ่งไม่สุกหรือมันสั้งไฟ บางที่ก็ว่าข้าวหม่าบัด)

เตานึ่งข้าวแบบเก่า

สมัยก่อนยังไม่มีเตาแก๊สแบบทุกวันนี้ เวลาจะนึ่งข้าวจะต้องทำการดังไฟ(ก่อไฟ) ด้วยฟืน หรือ ถ่าน แล้วแต่ว่าบ้านไหนมีวัสดุแบบไหน กว่าจะก่อไฟติด ทั้งพัดทั้งวีจนบางทีจะต้องใช้ปากเป่าช่วย เพื่อให้ไฟมันลุกไวๆเพื่อจะได้นึ่งข้าวให้สุกก่อนที่พระจะมาบิณฑบาตร (พระทางภาคอีสานส่วนมากจะเป็นสายธรรมยุติ หรือ พระวัดป่า ท่านจะมาบิณฑบาตรเช้ามาก ประมาณหกโมงครึ่ง หรือ บางบ้านก็เจ็ดโมง ก็เริ่มออกบิณฑบาตรแล้ว)

การใช้ปากเป่าไฟ เพื่อให้ติดไวๆ จะได้นึ่งข้าวให้ทัน จึงเป็นที่มาของคำว่า “นึ่งข้าวเป่าไฟ” สมัยนี้มีเทคโนโลยี มีเตาแก๊สกันเกือบทุกบ้านแล้ว เด็กรุ่นใหม่ๆก็อาจจะดังไฟหรือก่อไฟไม่เป็นด้วยซ้ำ ขนาดนี้เตาแก๊สบางทียังลุกมานึ่งข้าวไม่ทันพระบิณฑบาตรเลย ทั้งนี้ก็อาจจะเป็นไปตามยุคตามสมัยมีสิ่งใหม่ๆเข้ามา เรื่องราวเก่าๆ คำพูดเก่าๆ อาจจะไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร ทีมงานอีสานร้อยแปดเราจึงขอแปะเรื่องนี้เอาไว้ เผื่ออีกหลายปีในภายหน้า กลับมาค้นหาข้อมูล อาจจะช่วยให้ท่านผู้อ่านเข้าใจความหมายของมันได้ . . . เอย


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*