ฟ้อนลีลาวดี (จำปาขาว)
“ลีลาวดี” เป็นนามของดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ใช้เรียกแทนชื่อเดิม คือ “ดอกลั่นทม” หรือภาคอีสานจะเรียกชื่อของดอกไม้ชนิดนี้ว่า “ดอกจำปา” เมื่อ พ.ศ. 2547 ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง(วงแคน) มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้มีการประชุมหารือเพื่อสร้างสรรค์ชุดการแสดงใหม่ขึ้นเพิ่มเติม จากชุดการแสดงฟ้อนรำประจำจังหวัดมหาสารคามที่มีอยู่แต่เดิม เช่น ฟ้อนทอเสื่อบ้านแพง ฟ้อนกลองยาวชาววาปีปทุม ระบำจัมปาศรี ระบำสันตรัตน์ ฟ้อนแห่ประเพณีบุญเบิกฟ้า ฯลฯ
โดยได้มีแนวความคิดร่วมกันว่า ดอกไม้ประจำจังหวัดมหาสารคามคือ ดอกจำปา(ดอกลั่นทมขาว) จึงได้เอาแนวคิดนั้นมาประดิษฐ์เป็นชุดการแสดงในชื่อชุดว่า “ฟ้อนลีลาวดี” โดยแสดงถึงลักษณะความงดงามของดอกจำปาและความงามของหญิงสาวชาวอีสานที่ใช้ดอกจำปามาประดับผม
ท่วงทำนองของดนตรีเริ่มจากช้าและเร็วขึ้น ในท่วงทำนองลายเพลงจะสื่อความหมาย เกี่ยวกับความลึกลับ ความงดงามชวนหลงใหล เนื่องจากดอกจำปาเป็นดอกไม้ที่นิยมนำมาใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ จึงเปรียบเสมือนกุลสตรีชาวอีสานที่เพียบพร้อมในการปฏิบัติตนในหลักเฮือน 3 น้ำ 4 อย่างที่สตรีชาวอีสานสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน
ฟ้อนลีลาวดี (จำปาขาว)
ออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายโดย นายอดิศักดิ์ สาศิริ สร้างสรรค์ทำนองดนตรีโดย นายสุวิทย์ วิชัด ประดิษฐ์ท่าฟ้อนโดยสมาชิกกลุ่มนาฏศิลป์ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง (วงแคน) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
การแสดงชุด “ฟ้อนลีลาวดี (จำปาขาว)” ได้นำไปแสดงเผยแพร่ครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2547 ณ งานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษาครั้งที่ 7 “ออนซอนศิลป์ ศรี มอดินแดง” ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
การบรรเลงลายดนตรี
ใช้วงดนตรีพื้นเมืองอีสานบรรเลงลายจำปาขาว ลายเอ้หย่องดวงจำปาและบรรเลงลายโปงคองัว(วัว)
การแต่งกาย
ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน สวมเสื้อแขนกระบอกสีขาว ปกเสื้อเป็นแบบพับคล้ายเสื้อของชาวจีนมีขอบเป็นผ้าลายขิดสีทอง มีผ้าสไบขิดสีเหลืองพาดไหล่ซ้ายทิ้งชายลงมา ชายด้านหน้าคาดทับด้วยเข็มขัดเงิน นุ่งซิ่นมัดหมี่สีเขียวยาวกรอมเท้า มวยผมปักปิ่นเงินและช่อดอกจำปาสีขาว สวมเครื่องประดับเงิน