ข้อปฏิบัติเมื่อเจอช้างป่า
ข้อปฏิบัติเมื่อเจอช้าง หน้าหนาวปีนี้ หลายคนคงขับรถเที่ยวเขาใหญ่ แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือ เรื่องการเจอช้างป่า บางส่วนอาจโทรเรียกเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาช่วยเหลือ แต่ถ้าเผื่อเวลานั้น หาเบอร์เจ้าหน้าที่ไม่เจอ ช้างก็กำลังเดินเข้ามา แล้วคุณจะทำอย่างไร esan108 มื้อนี้ จะมาบอกข้อปฏิบัติเมื่อเจอช้างป่า มาฝากกัน
ข้อปฎิบัติเมื่อเจอช้างป่า
- ตั้งสติก่อน แล้วหยุดรถให้ห่างจากช้างอย่างน้อย 30 เมตร หากช้างเดินเข้าหา ให้เคลื่อนรถหนีด้วยการถอยหลังอย่างมีสติ
- อย่าใช้แตรรถ หรือส่งเสียงดังรบกวนช้างหรือไล่ช้าง เพราะอาจทำให้ช้างโกรธ หงุดหงิดและตรงเข้ามาหาเราได้
- งดการใช้แฟลชถ่ายรูป เพราะจะทำให้ช้างตกใจ ตรงเข้ามาทำร้ายได้ และทำให้ช้างเกิดการสนใจ เดินเข้ามาหา ช้างตกใจแล้ว ตกใจเลย หายยาก
- ให้ติดเครื่องรถยนต์ไว้เสมอ เพื่อให้สามารถเคลื่อนรถหนีได้ทันท่วงที และเสียงเครื่องยนต์รถที่ติดเครื่องดังทุ้มๆ จะไม่ทำให้ช้างนั้นตกใจ ไม่เครียด และคุ้นเคย เพราะได้ยินเสียงและรู้ว่านี่คือรถยนต์
- หากพบช้างในเวลากลางคืน ให้เปิดไฟรถไว้เสมอ เพื่อให้สามารถสังเกตอาการของช้างและระยะห่างระหว่างรถกับช้างได้ ห้ามเปิดกระพริบ เพราะแสงจะเข้าตา และดึงดูดให้ช้างเกิดความสนใจ
- ประสาทสัมผัสของช้างที่ดีที่สุดคือ หู จมูก และตา ถ้าดับเครื่องยนต์ ช้างจะเข้าใกล้เพื่อใช้ประสาทสัมผัสอย่างอื่น นั่นคือการดม ดู และสัมผัส ซึ่งหมายถึง ช้างเข้ามาหาคุณเ ค้าแค่แตะๆ แต่ด้วยกำลังมหาศาล รถก็อาจเสียหายได้
- เมื่อตกอยู่ในวงล้อมของช้าง ตั้งสติให้มั่น หากเป็นเวลากลางคืน ให้ใช้ไฟต่ำ และอย่าเปิดกระพริบ แล้วเลือกเคลื่อนรถไปในทางที่มีช้างอยู่น้อย แม้บางครั้งจำเป็นต้องเข้าใกล้หรือเบียดโขลงช้างไปก็ตาม อย่าดับเครื่องยนต์ และปิดไฟรถเป็นอันขาด ค่อยๆเคลื่อนรถ ให้เสียงเครื่องยนต์นิ่งมากที่สุด
- ไฟสูงเปิดได้ ในกรณีที่เราอยู่ห่างจากช้างป่ามากกว่า 50 เมตร เพราะจะทำให้ช้างรู้ตัวว่ามีรถมา ไม่ตกใจ และเดินหลบเข้าข้างทาง ถ้าเปิดไฟสูงระยะใกล้กว่านี้แสงจะแยงตา ช้างจะตกใจได้
- ไม่ควรจอดรถดูช้าง เพราะอาจมีรถคันอื่นตามมา แล้วรถของคุณกีดขวางรถผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ถูกทำร้ายแทนรถของคุณได้
- สิ่งสำคัญคือ เมื่อรถจอดเรียงกันบนถนน ความสามัคคีจะต้องเกิดขึ้น ไม่ว่าคันที่อยู่ใกล้ช้างหรืออยู่ไกลช้างก็ล้วนเป็นผู้ประสบเหตุทั้งสิ้น ดังนั้น หากรถคันหน้าเปิดไปถอยรถ คันข้างหลังถัดไปก็กรุณาถอยรถอย่างมีสติ
- ไม่ควรจอดรถแล้วลงไปถ่ายรูปช้างในระยะใกล้ เพราะอาจทำให้คุณวิ่งหนีขึ้นรถไม่ทัน ควรระลึกอยู่เสมอว่า โดยทั่วไปช้างมักจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัวหรือฝูง ขณะที่คุณเจอช้างเพียงตัวเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีช้างตัวอื่นๆ อยู่ในบริเวณนั้น ฝูงช้างอาจจะกระจายกันหากินอยู่ในบริเวณป่าข้างๆทางนั้นก็เป็นได้ และวินาทีที่เค้าจะเข้ามาหานั้น มันจะวิ่งเร็วมาก
นอกจากข้อปฏิบัติเมื่อเจอช้างป่า ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ควรทราบคือ อารมณ์ของช้างว่า ช้างที่เราเจอ อยู่ในอารมณ์ จะได้เตรียมหาทางหนีทีไล่ได้ทัน โดยสามารถสังเกตได้คือ เมื่อช้างอารมณ์ดี หูจะสะบัดไปมา หางจะแกว่งและใช้งวงสะบัดไปมา หรือเกี่ยวดึงต้นไม้กิน ไม่ค่อยสนใจเรา แต่… เมื่ออารมณ์ไม่ดี เช่น ช้างแม่ลูกอ่อน หูจะตั้งกาง ไม่สะบัดหาง หางชี้ งวงจะนิ่งแข็ง แตะอยู่ที่พื้น หรือใช้งวงตีพื้น และอยู่นิ่งจ้องมองมาทางเรา ปกติช้างจะวิ่งไล่ผู้รบกวนเป็นระยะทางสั้น ๆ เพียง 2 – 3 ครั้ง หากวิ่งตามผู้รบกวนไม่ทันก็จะเลิกวิ่งไล่ไปเอง จึงควรสังเกตอารมณ์ และอาการของช้างไว้ประกอบการตัดสินใจด้วย
ที่มา
- http://it2.dnp.go.th/th/ข่าว/ข่าวประชาสัมพันธ์
- ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน