ครกมอง ครกตำข้าวสมัยโบราณ

ครกกระเดื่อง

ครกมอง หรือ ครกกระเดื่อง เป็นครกตำข้าวที่มีพัฒนาจากครกมือ ซึ่งสามารถตำข้าวได้ปริมาณมาก โดยมีส่วนประกอบ คือ ตัวครก แม่มองหรือตัวมอง หัวแม่มอง เสามอง คานมอง และสากมอง เป็นครกที่ใช้มานานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ครกมอง เป็นภูมิปัญญาไทยในอดีต เป็นเครื่องทุ่นแรงโดยภูมิปัญญา ครั้งยังไม่มีโรงสีข้าวในปัจจุบัน การตำข้าวเพื่อมาใช้ในการประกอบอาหาร ชาวบ้านจะตำครั้งละไม่มากเอาแค่พอนึ่ง หรือพอหุงได้สัก 2-3 วัน แล้วค่อยตำใหม่

ในการการตำข้าวเพื่อให้ได้เมล็ดข้าวสวย ขึ้นอยู่กับจังหวะการตำข้าว ถ้าตำช้าเนิบๆ ทิ้งช่วงช้าๆ จะทำให้ข้าวหักเมล็ด ข้าวจะไม่สวย เพราะการกระแทกสากลงที่ครกมีน้ำหนักมากทิ้งช่วงนาน แต่ถ้าจังหวะการตำข้าวเร็วเป็นจังหวะถี่ๆ หรือเร็วสม่ำเสมอจะทำให้ได้ข้าวเมล็ดที่ไม่แตก ได้ข้าวเมล็ดสวย เพื่อจะได้ข้าวที่นุ่มหอมกรุ่นและอร่อยนั่นเอง ผลที่ได้จากการตำข้าวคือ แกลบและรำ เอาไว้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ได้หลายชนิด เช่น หมู ไก่ เป็ด เป็นต้น นอกจากนั้น ยังเป็นสถานที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำอาหารจากรุ่นสู่รุ่นอีกด้วย

ทุกวันนี้ก็จะหาดูยากหน่อยเพราะว่าเลิกใช้กันไปบ้างแล้ว แต่แถวๆบ้านแอดยังมีเหลือให้ลูกหลานได้ดูอยู่ ตัวครกมองสมัยก่อนมักจะทำด้วยไม้ แต่ปัจุบันชาวบ้านจะทำตัวครกด้วยปูนที่ปั้นขึ้นมีรูปร่างคล้ายครก

ครกมองใช้ตำข้าว ทำข้าวโป่ง ในงานบุญเดือนสามประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาตามฮีต 12 ครอง 14 ที่ชาวอีสานเรียกว่า บุญข้าวจี่ บุญนี้จะมีการนำข้าวจี่ ข้าวโป่งไปถวายพระ

ครกมอง เป็นอุปรณ์สำคัญที่ใช้ในขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบสำหรับทำข้าวโป่ง หรืออาจเรียกได้ว่าข้าวเกรียบอีสาน ซึ่งขั้นตอนกว่าที่เราจะได้กินข้าวโป่งนั้นมันแสนยากเริ่มตั้งแต่แช่ข้าวเหนียว นึ่งข้าวเหนียว แล้วนำข้าวเหนียวนึ่งลงสู่ครกมอง จากนั้นตำให้ละเอียดเข้าด้วยกัน คลุกเคล้าเข้ากับส่วนผสมหลายอย่าง เช่น น้ำตาล กะทิ เม็ดงา รวมทั้ง เครือตดหมูตดหมา หรือที่ชาวอีสานเรียกว่า เครือตดหมา เพื่อช่วยให้ข้าวโป่งพองตัวขยายใหญ่สวยงามเวลาย่างไฟก็จะได้ข้าวโป่งที่พอง กรอบ หอมกรุ่น น่าอร่อยยิ่งขึ้น


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*