“คะลำ” หรือ “ขะลำ” ว่าด้วยเรื่องคะลำๆของภาคอีสาน

คะลำ ขะลำ

คนอีสานคงจะเคยได้ยินคำว่า “คะลำ” หรือ “ขะลำ” เวลาที่เด็กๆจะทำอะไรที่แผลงๆ หรือ บางทีเราก็เคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่บอกกล่าวตักเตือนว่าอย่าทำอย่างงั้น อย่าทำอย่างงี้เดี๋ยวมันจะคะลำ “มันสิคะลำ” บางทีก็ได้ยินคำว่า “มันบ่แม่นแนว”
อีสานร้อยแปด เราได้แปลและให้ความหมายของคำว่า “คะลำ” ไว้ให้พจนานุกรมภาษาอีสานไว้ว่า

คะลำ [คะลำ] แปลว่า ผิด บาป กรรม สิ่งใดที่ทำลงไปผิดจารีตประเพณี ผิดกฎหมาย ผิดระเบียบ ผิดศีลธรรมในทางพระศาสนา จะมีโทษมาก โทษน้อย หรือไม่มีโทษ แต่สังคมรังเกียจ สิ่งนั้นเรียก คะลำ อย่างว่า ของมันผิดอย่าได้กระทำ ของคะลำอย่าได้ไปต้อง ของพี่น้องอย่าได้ไปซูน (บ.).

คะลำ ภาษาอังกฤษ : sin, transgression, taboo.

คะลำ [คะลำ] แปลว่า ผิดประเพณี,ผิดครรลองคลองธรรม

บทความนี้ก็เลยถือโอกาสมาอธิบายเพิ่มเติม และได้รวบรวมเรื่องคะลำต่างๆ ข้อคะลำ พร้อมเหตุผลว่าทำไมถึงคะลำ รวมไปถึง เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้มีนักวิชาการได้ทำการวิจัยข้อคะลำต่างๆเอาไว้

ความหมายของ คะลำ ขะลำ

คะลำ เป็นลักษณะความผิด บาป ผิดจารีต ไม่เหมาะ ไม่ควร อาจมีโทษมากหรือน้อยหรือไม่มีโทษ แต่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม คะลำ จึงเป็นหลักคำสอนที่ปฏิบัติกันมา จนเป็นขนมธรรมเนียมที่มีลักษณะเป็นข้อห้าม

คะลำ หรือ ขะลำ ความหมายตาม พจนานุกรมภาษาถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2537 หน้า 16 ว่าไว้ดังนี้

  • กะลำ ๑ เป็นคำนาม แปลว่า สิ่งต้องห้าม
  • กะลำ ๒ เป็นคำกิริยา แปลว่า เว้น (อย่างว่า อันไหนเห็นว่าบ่ดีก็ กะลำ ซะ)
  • กะลำซำซอย เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า นอกรีตนอกรอย ทำตามใจชอบ,ตามอำเภอใจ มะลำซำแซะ, มะลำมะลอย ก็ว่า

พจนานุกรมภาษาลาว โดย ดร.ทองคำ อ่อนมะนีสอน หน้า 24 ให้ความหมายไว้ดังนี้ “กะลำ น. สิ่งใดที่เฮ็ดลงไปแล้วบ่ดีบ่งาม เกิดโทษเกิดภัย เกิดเสนียดจัญไรแก่ตนและผู้อื่น โบราณเอิ้น กะลำ คะลำ ขะลำ ก็ว่า” อย่างว่า “หัวโล้นอยากลำ หัวดำอยากเทศน์ คะลำ (พาสิด)”

คะลำ นี้ในสมัยโบราณถ้าใครไม่ปฏิบัติอาจมีโทษมาก หรือน้อย หรือไม่มีโทษ แต่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม แต่ในปัจจุบัน เมื่อบ้านเมืองมีการพัฒนาทางด้านการศึกษา เทคโนโลยีต่างๆ มากขึ้น การคะลำของชาวอิสานจึงค่อยๆ หายไปกับกาลเวลา เพราะการคะลำบางอย่างก็เป็นสิ่งที่ล้าสมัย เช่น คนอยู่กรรม (อยู่ไฟหลังคลอดลูก) จะไม่ให้กิน เนื้อวัว เนื้อควาย ผัก ผลไม่บางอย่าง จะผิดกรรม ให้กินข้าวบ่ายเกลือ ปลาขาวนาปิ้งเท่านั้น ซึ่งแพทย์แผนปัจจุบันนั้นได้ทดลองและวิจัยแล้วพบว่า ถ้าร่างกายหลังหลังคลอดไม่กินของเหล่านี้ ก็จะขาดวิตามินบำรุงร่างกาย และไม่มีน้ำนมให้ลูกกินด้วย การคะลำจึงควรเลือกปฏิบัติเป็นอย่างๆ ตามกาละเวลา

เมื่อเราแบ่งประเภทของเรื่องคะลำ หลายๆแหล่งข้อมูลแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ได้ 3 หมวดหลักๆได้แก่

  • หมวดบุคคล
  • หมวดสถานที่
  • หมวดเวลา

1.ข้อคะลำหมวดบุคคล

สตรีมีครรภ์

ข้อคะลำที่สตรีมีครรภ์ไม่ควรประพฤติปฏิบัติในระหว่างช่วงดังกล่าวนั้นมีมากมาย ทั้งนี้เพื่อต้องการให้ทั้งแม่และเด็ก สามารถที่จะประสบกับสวัสดิภาพของชีวิตให้มากที่สุด ซึ่งในจำนวนข้อขะลำทั้งหมดนั้น ส่วนใหญ่มักจะเน้นหนักไปทางด้านอาหารการกิน (ของแสลง) แบบแผนที่ผู้เป็นว่าที่คุณแม่ควรนำมาประพฤติ ซึ่งหากละเลยแล้วต้อง คะลำ ถือว่าไม่ดี ไม่งามไม่เหมาะสม หนักเข้าจะเป็นบาปกรรม เสื่อมเสียและอาจถึงแก่ชีวิต เป็นต้น

ซึ่งหลายข้อคะลำบางข้อ หากมองด้วยความรู้มาตรฐาน โดยเฉพาะหลักสุขลักษณะตามหลักโภชนาการแม่และเด็กแล้ว ดูจะเป็นการขัดกันอยู่หลายข้อ แต่เมื่อพิจารณาตามสภาพแวดล้อม และเวลาในช่วงเวลานั้นของสังคมอีสาน ด้วยเงื่อนไข ขีดจำกัดทั้งการแพทย์ วิทยาการรักษาแล้ว ความจำเป็นในสวัสดิภาพของชีวิตและเผ่าพันธุ์ จึงจำเป็นต้องบัญญัติข้อคะลำตามที่บรรพบุรุษแนะนำไว้ จากประสบการณ์ที่เคยประสบอย่างเคร่งครัด เนื่องจากความเคารพนับถือแก่บุคคลที่กำเนิดเกิดก่อนผู้เฒ่าผู้แก่ในสังคมดั้งเดิม ซึ่งข้อคะลำที่นำมาเป็นตัวอย่างประกอบในการพิจารณามีดังนี้

ข้อคะลำในการปฏิบัติ เช่น

  • ห้ามอาบน้ำเวลากลางคืน เพราะน้ำคาวปลาจะมาก
    (ภูมิปัญญาแฝง : เพราะอาจจะหกล้มได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายต่อแม่และเด็กได้ เนื่องจากในอดีตต้องใช้ไต้ หรือกะบองในการให้แสงสว่างซึ่งอาจจะไม่เพียงพอ)
  • ห้ามข้ามเชือกที่กำลังล่ามวัวควาย ลูกออกมาจะเป็นคนตะกละตะกลาม
    (ภูมิปัญญาแฝง : เพราะอาจจะสะดุดเชือกหกล้มได้ หากวัวควายลุกเดินหรือวิ่งชน)
  • ห้ามนั่งขวางประตูบ้าน จะทำให้คลอดลูกยาก
    (ภูมิปัญญาแฝง : กีดขวางทางเข้าออกของผู้สัญจรไปมา)
  • ห้ามนั่งขวางบันไดบ้าน จะทำให้คลอดลูกยาก
    (ภูมิปัญญาแฝง : กีดขวางทางเข้าออกของผู้สัญจรไปมา)
  • คะลำเย็บที่นอน จะทำให้คลอดลูกยาก
    (ภูมิปัญญาแฝง อาจจะเป็นเหน็บเนื่องจากนั่งนอนหรือเพ่งมากเกินไป)
  • คะลำไปงานศพ เดี๋ยวผีคนตายจะมาเกิดด้วย
    (ภูมิปัญญาแฝง : ไม่ต้องการให้แม่เด็กต้องพบเจอภาพที่ไม่สวยงาม ซึ่งจะส่งผลต่อจิตใจและอารมณ์ได้)
  • คะลำไปเบิ่งคนคลอดลูก เดี๋ยวเด็กในท้องจะชักชวนกันไปในทางไม่ดี
    (ภูมิปัญญาแฝง : ไม่ต้องการให้แม่เด็กต้องพบเจอภาพที่ไม่สวยงาม ซึ่งจะส่งผลต่อจิตใจและอารมณ์ได้)
  • คะลำปิดหน้าต่างประตู (ไม่บอกเหตุผล)
    (ภูมิปัญญาแฝง : ต้องการให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก)
  • คะลำตอกตะปู (ไม่บอกเหตุผล)
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะกระเทือนต่อลูกในท้อง และรบกวนคนอื่น)
  • ห้ามตำหนิผู้อื่น ลูกออกมาจะบ่ดีเป็นเหมือนที่ตำหนิ
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจส่งผลทางด้านอารมณ์และจิตใจ)
  • ห้ามทำท่าทางเลียนแบบคนพิกลพิการไม่สมประกอบ ลูกออกจะเหมือนอย่างที่ทำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ไม่เหมาะสม ไม่ดีไม่งาม แสดงถึงความไม่มีมารยาท)
  • คะลำนั่งยองๆ (ไม่ทราบเหตุผล)
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจส่งผลกระทบกระเทือนถึงลูกในท้องได้)
  • คะลำนั่งชันเข่า (ไม่ทราบเหตุผล)
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจส่งผลกระทบกระเทือนถึงลูกในท้องได้)
  • คะลำนั่งคุกเข่า (ไม่ทราบเหตุผล)
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจส่งผลกระทบกระเทือนถึงลูกในท้องได้)
  • คะลำพลิกด้านใบตอง (ไม่ทราบเหตุผล)
  • คะลำเผาหอย เผาปู (ไม่ทราบเหตุผล)
  • ห้ามเดินเร็ว ให้เดินช้า
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะหกล้มได้รับอันตรายได้)
  • คะลำขึ้นที่สูง (ไม่ทราบเหตุผล)
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะตกลงมาได้รับอันตรายได้)
  • คะลำนั่งบนที่สูง (ไม่ทราบเหตุผล)
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะตกลงมาได้รับอันตรายได้)
  • คะลำนั่งลงแรงๆ (ไม่ทราบเหตุผล)
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อลูกในครรภ์ได้)
  • คะลำนอนหงาย นอนคว่ำ (ไม่ทราบเหตุผล)
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อลูกในครรภ์ได้ หรือหากนอนหงายอาจล่อแหลมที่จะเกิดอุบติเหตุ เช่น สิ่งของหล่นใส่ คนเดินไปมาหกล้มใส่เป็นต้น)
  • ห้ามอาบน้ำร้อน (ไม่ทราบเหตุผล)
  • ห้ามอาบน้ำสกปรก
  • ห้ามเอาครกกับสากแช่อยู่ด้วยกัน จะทำให้คลอดลูกลำบาก
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาทที่งดงามแก่ผู้ที่จะเป็นแม่)
  • ห้ามชะโงกดูน้ำในบ่อ (ไม่ทราบเหตุผล)
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะวิงเวียนและตกลงไปได้)
  • ห้ามเดินข้ามขัว(สะพาน) (ไม่ทราบเหตุผล)
    (ภูมิปัญญาแฝง : ในอดีตสะพานทั่วไปจะมีลักษณะเป็นท่อนไม้ขนาดเล็กพอที่คนเดียวจะเดินข้ามได้ ดังนั้นอาจจะเป็นอันตรายได้)

ข้อคะลำเรื่องอาหาร เช่น

  • คะลำกินกล้วยแฝด จะได้ลูกแฝด
  • คะลำกินเนื้อควายเผือก (ไม่ทราบเหตุผล)
  • คะลำกินอาหารที่ติดอยู่กับไม้ย่าง
    (ภูมิปัญญาแฝง : ดูแล้วไม่งาม ไม่เหมาะสม)
  • คะลำกินผักข่า (ผักชะอม) (ไม่ทราบเหตุผล)
  • คะลำกินปลาเพี้ย (ไม่ทราบเหตุผล)
  • คะลำกินปลาชะโด (ไม่ทราบเหตุผล)
  • คะลำกินไข่ (ไม่ทราบเหตุผล)
  • คะลำกินเผือกมัน (ไม่ทราบเหตุผล)
  • คะลำกินเห็ด (ไม่ทราบเหตุผล)
  • คะลำกินอาหารรสจัด
  • คะลำกินเนื้อเต่าเพ็ก (เต่าตัวเล็ก) (ไม่ทราบเหตุผล)
  • คะลำกินเนื้อตะพาบน้ำ (ไม่ทราบเหตุผล)
  • คะลำกินแมลง แตน ต่อ (ไม่ทราบเหตุผล)
  • คะลำกินปลาร้า (ไม่ทราบเหตุผล)
  • คะลำกินของดองมึนเมา
  • คะลำกินเนื้อกระต่าย (ไม่ทราบเหตุผล)
  • คะลำกินข้าวจี่
  • คะลำกินเมล็ดมะขามคั่ว
  • คะลำกินอาหารที่มีไขมัน

สตรีแม่ลูกอ่อน

แม่ลูกอ่อนหรือผู้หญิงที่เพิ่งคลอดลูกใหม่ ยังอยู่ในภาวะที่อาจเป็นอันตรายต่อทั้งชีวิตของผู้เป็นแม่ และทารกที่เพิ่งคลอดได้ ดังนั้นในช่วงเวลานี้จึงยังมีข้อประพฤติ ปฏิบัติ หรือข้อห้าม ข้อคะลำที่ผู้เป็นแม่ลูกอ่อนต้องคะลำอยู่หลายอย่าง

ข้อคะลำในการปฏิบัติ เช่น

  • ห้ามเดินไปไหนไกลๆ คะลำ
  • ห้ามเดินเร็ว ให้เดินช้าๆ
    (ภูมิปัญญาแฝง : หากประสบอุบัติเหตุอาจจะเป็นอันตราย เช่น ตกเลือด หรือกระทบกระเทือนบาดแผลที่ยังไม่หายสนิท)
  • ห้ามนั่งยองๆ หรือนั่งพับเพียบ
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะเป็นอันตรายหรือพระทบกระเทือนต่อบาดแผลได้)
  • ห้ามไกลเปล อู่ที่ว่างของเด็กทารก จะทำให้ผีมาเอาเด็กไป
    (ภูมิปัญญาแฝง : ผู้เชื่อโชคลางเห็นว่าเป็นลางไม่ดี เท่ากับแช่งให้เด็กตาย)
  • ห้ามให้ใครข้ามเปล อู่เด็กทารก จะทำให้เด็กร้องไห้งอแง ไม่ยอมหลับนอน
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะหกล้มหรือมีสิ่งของหล่นใส่เด็กเป็นอันตรายได้)
  • ห้ามกล่อมลูกเวลากลางคืน
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะก่อความรำคาญ รบกวนผู้คนที่ยังหลับนอนอยู่)
  • ห้ามหลับนอนกับสามี
  • ห้ามนอนใกล้กับสามี
  • ห้ามนอนหัวสูง (ไม่ทราบเหตุผล)
  • ห้ามนอนหงาย
  • ห้ามนอนนอกมุ้ง
  • ห้ามนอนกลางวัน
  • ขณะอยู่ไฟ (อยู่กรรม) ห้ามออกห่างหม้อไฟเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
  • ห้ามทำงานบ้าน (คะลำเวียก)
    (ภูมิปัญญาแฝง : ยังไม่แข็งแรง อาจกระทบกระเทือนต่อสุขภาพและบาดแผลได้)
  • ห้ามนำเด็กทารกออกจากชายคาบ้าน คะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : เด็กยังไม่แข็งแรง กะโหลกศรีษะยังไม่หุ้มดี อาจจะไม่สบายได้ง่าย)
  • ห้ามเอารกเด็กไปฝัง เพราะจะทำให้เด็กปัญญาทึบ
    (ภูมิปัญญาแฝง : เกรงว่าหากฝังไม่มิดชิด สัตว์ป่าหรือสุนัข สัตว์เลี้ยงอาจมาคุ้ยเขี่ยได้)
  • ให้ซักผ้าอ้อมก่อนเพล(ประมาณเที่ยง) และให้ถือขมิ้นและมีดน้อยๆไปด้วย มิเช่นนั้นจะทำให้ผีร้ายตามมาเอาตัวเด็กไปได้
    (ภูมิปัญญาแฝง : หากมัวชักช้าโอ้เอ้อาจจะทำให้เสียการงานอย่างอื่นไปด้วย บังคับทางอ้อม)

ข้อคะลำเรื่องอาหาร ทั้งนี้เชื่อว่าหากรับประทานเข้าไปแล้วจะก่ออันตรายต่อแม่ลูกอ่อน เป็นของแสลง ผิดสำแดง ซึ่งหากพิจารณาตามหลักโภชนาการแล้ว เข้าใจว่าสิ่งของที่คะลำนั้นยากต่อการย่อยเผาผลาญ และอาจมีผลต่อร่างกายที่ยังอ่อนแอของแม่และอาจมีผลต่อลูกได้ ตัวอย่างคะลำ เช่น

  • ห้ามกินเนื้อควายเผือก
  • ห้ามกินไข่มดแดง
  • ห้ามกินของหมักดอง
  • ห้ามกินผักชะอม
  • ห้ามกินฟัก
  • ห้ามกินดอกขี้เหล็ก
  • ห้ามกินใบสะระแหน่
  • ห้ามกินกล้วยหอม
  • ห้ามกินข้าวก่ำ (ข้าวเหนียวดำ)
  • ห้ามกินเนื้อหมู
  • ห้ามกินเนื้อกระต่าย
  • ห้ามกินเป็ดเทศ
  • ห้ามกินห่าน
  • ห้ามกินแมงดานา
  • ห้ามกินปลาร้า
  • ห้ามกินปลาชะโด
  • ห้ามกินปลาอีจน
  • ห้ามกินปลาสลิด
  • ห้ามกินเห็ดขาว เห็ดกะด้าง
  • ห้ามกินตะพาบน้ำ
  • ห้ามกินหน่อไม้
  • ห้ามกินปลาหมึก
  • ห้ามกินมะละกอสีม่วง
  • ห้ามกินน้ำเย็น
  • ห้ามกินไก่งวง
  • ห้ามกินใบโหระพา
  • ห้ามกินสะเดา
  • ห้ามกินปลาเพลี้ย
  • ห้ามกินปลานกเขา
  • ห้ามกินปลาอีวน
  • ห้ามกินเต่าเพ็ก

คนเจ็บป่วย

ข้อคะลำสำหรับคนเจ็บป่วยนั้น โดยภาพรวมเป็นข้อที่ห้ามปฏิบัติของผู้ป่วยในแต่ละโรค ซึ่งจะบอกกล่าวโดยรวมทั่วไปว่าสิ่งใดควรเว้น ควรไม่กระทำ หลีกเลี่ยงแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้ป่วย ทั้งนี้ขอให้พิจารณาภายใต้เงื่อนไขของสังคมอีสานในอดีต ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ต้องช่วยเหลือดูแลตัวเอง ทั้งนี้ความก้าวหน้าทางการแพทย์ สาธารณสุขที่ยังไม่สามารถย่างกรายเข้ามาในสังคมดังกล่าว และได้สืบทอดปฏิบัติสืบต่อกันมานับหลายร้อยปี จากการสังเกต ลองถูกลองผิด สั่งสมเป็นข้อคะลำที่ควรระลึกไว้ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างมาดังนี้

  • ห้ามกินหมากไม้ทุกชนิด เช่น กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง มะม่วง ทุเรียน ลำไย อ้อย มะละกอ สับปะรด
  • ห้ามกินถั่วฝักยาว
  • ห้ามกินของรสเปรี้ยว
  • ห้ามกินข้าวต้มห่อ
  • คนเป็นวัณโรคห้ามกินของหมักดอง เช่น ปลาส้ม สัมวัว หน่อไม้ดอง
  • คนเป็นไออย่ากินหมากเขือ กุ้ง ปลาซิว ส้มตำ มะเกลือ อาหารรสจัด หัวกลอย หัวมัน เพราะมันจะทำให้คันคอ ไอไม่หยุด
  • คนถูกหมาว้อ (หมาบ้า) กัด บ่ให้กินลาบเทา (สาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีสีเขียว) มันจะเป็นบ้าคือเก่า
  • บ่ให้ผู้หญิงเป็นระดูเก็บผักอีเลิศ ผักสะระแหน่ ผักมันจะตายหมด
  • คนป่วยนอนบนฟูก จะทำให้หายป่วยช้า
  • คนเป็นฝีหนอง เป็นหิด กลากเกลื้อน ห้ามกินไก่และของหมักดอง
  • คนเป็นคางทูม ห้ามกินไข่
  • คนเป็นโรคประสาทห้ามกินน้ำมันหมู

เด็กเล็ก

เด็กถือว่าเป็นวัยที่จะต้องเติบใหญ่ เป็นผู้สืบทอดความรู้ รักษาระเบียบแบบแผนของสังคมในอนาคตต่อไป จึงเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องมีการปลูกฝังแบบแผน ความประพฤติในสังคมอีสานโดยผ่านคะลำ ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ และควบคุมพฤติกรรมของเด็ก ให้อยู่ในระเบียบแบบแผนที่พึงปรารถนาของสังคม และเป็นการเพาะกล้าของความคิด ความรู้ ค่านิยม อุดมการณ์ บรรทัดฐานบางอย่างให้แก่คนจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งด้วย ซึ่งข้อคะลำที่ผู้ใหญ่นำมาใช้กับเด็กรุ่นหลัง มักจะเป็นลักษณะการปราบและปรามพฤติกรรมที่ไม่พึ่งปรารถนา และแสดงถึงผลที่ฝ่าฝืนข้อห้ามข้อคะลำดังกล่าวให้น่ากลัว หรือบางครั้งจะไม่แสดงเหตุผลแต่จะบอกว่าคะลำ ซึ่งนั้นมักจะทำให้เด็ก (ส่วนใหญ่) สยบยอมต่อข้อคะลำเหล่านั้น พร้อมกันนั้นยังเป็นการควบคุมหรือบอกข้อควรปฏิบัติระหว่างผู้ใหญ่ต่อเด็ก และบางข้อยังสามารถใช้กับบุคคลทั่วไปได้ด้วย ทั้งนี้ภายใต้บริบทแวดล้อมในขณะนั้นที่เป็นตัวหล่อหลอมความคิด การรับฟัง เชื่อถือผู้ใหญ่ที่เกิดมาก่อนด้วย ซึ่งตัวอย่างข้อคะลำที่ยกมามีดังนี้

  • ห้ามทักว่าเด็กที่เกิดใหม่ว่าน่ารัก เพราะถ้าผีรู้จะตามมาเอาตัวเด็ก หรืออายุเด็กจะสั้น
    (ภูมิปัญญาแฝง : เป็นการปรามทั้งตัวแม่เด็กและตัวเด็กที่เกิดขึ้นมาไม่ให้หลงระเริงต่อคำชมยกย้อป้อปั้น สร้างนิสัยไม่พึ่งปรารถนาตามมา)
  • อย่าป่อน(หย่อน)เด็กเล็กลงเรือน เป็นเชิงหยอกล้อ เพราะจะทำให้เด็กอายุสั้น
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะเกิดอุบัติเหตุเด็กพลัดตกลงไป และอาจจะอายุสั้นจริงๆได้)
  • ห้ามเอาจิ้งหรีดมากัดกันเล่น ฟ้าจะผ่าเอาได้
    (ภูมิปัญญาแฝง : ควบคุมพฤติกรรมที่ควรประพฤติ ให้มีจิตใจเมตตา)
  • อย่าให้เด็กนั่งบนหลังสุนัข จะทำให้เด็กนิสัยเหมือนสุนัข
    (ภูมิปัญญาแฝง : สุนัขอาจแว้งมากัดเป็นอันตรายได้ และไม่ให้รังแกสัตว์)
  • อย่านั่งหันหลังขณะที่นั่งบนหลังวัว ควาย จะเป็นอัปมงคล
    (ภูมิปัญญาแฝง : มองไม่เห็นทาง ควบคุมสัตว์ไม่ได้ อาจตกลงมาเป็นอันตรายได้)
  • อย่าเคาะหรือตีหัวเด็ก จะทำให้เด็กปัสสาวะรดที่นอน
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะกระทบกระเทือน เป็นอันตรายต่อสมองของเด็กได้)
  • อย่าตีหัวแมว เพราะเมื่ออายุมากจะทำให้ศรีษะสั่น
    (ภูมิปัญญาแฝง : ห้ามรังแกสัตว์ให้มีเมตตา)
  • ห้ามนอนกินอาหาร จะเป็นงู
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะมีผลต่อระบบย่อยอาหาร และฝึกมารยาทที่เหมาะสม)
  • ห้ามเล่นข้าวสาร จะทำให้มือด่าง
    (ภูมิปัญญาแฝง : ข้าวเป็นอาหารไม่ควรนำมาเล่น และเป็นการสอนให้รู้สำนึกในคุณข้าวด้วย)
  • เด็กขณะพูดกับผู้ใหญ่อย่าอมนิ้ว
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาท และบุคลิกภาพ)
  • ห้ามจับหางสุนัข จะทำให้สุนัขกินลูกไก่
    (ภูมิปัญญาแฝง : สุนัขอาจจะรำคาญและแว้งกัดทำอันตรายได้)
  • ด่าพ่อแม่บุพการีผู้มีพระคุณ ตายไปจะเป็นเปรตปากเท่ารูเข็ม
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังจริยธรรม และมารยาท ค่านิยมและควบคุมพฤติกรรมของเด็กและบุคคลทั่วไป)
  • อย่าเดินใกล้ผู้ใหญ่
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยามสังคม พฤติกรรมที่เหมาะสม)
  • อย่าลักขโมยของพ่อแม่ จะทำใหตีนบาทสั้นมือฮี
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังจริยธรรม คุณธรรมและศีลธรรม)
  • ห้ามโกหกหลอกลวง
  • อย่าเดินข้ามขาผู้ใหญ่ ขาจะด้วน
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังจริยธรรม มารยาทสังคม)
  • ห้ามเด็กกินไข่ร้างรัง
  • ห้ามเด็กทารกที่ฟันยังไม่ขึ้นส่องกระจก
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังจริยธรรม พฤติกรรมให้เหมาะสมกับวัย)
  • ห้ามเด็กกินไส้และพุงปลาช่อน
  • ห้ามตีก้นเด็ก จะทำให้เด็กเป็นซางตานขโมย
  • เวลาอุ้มเด็กทารกห้ามพูดหนักหรือเบาเกินไป
  • ห้ามเป่าลมปากใส่หน้าเด็ก
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะมีเชื้อโรคติดต่อไปยังเด็กได้)
  • เวลาอุ้มเด็กห้ามโยนเด็ก
    (ภูมิปัญญาแฝง : เด็กอาจจะหลุดมือ เป็นอันตรายได้)
  • ห้ามเด็กกินจาวมะพร้าว
  • ห้ามเด็กกินเครื่องในไก่ จะทำให้เป็นดื้อด้าน ดื้อรั้น
    (ภูมิปัญญาแฝง : ตามหลักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันอวัยวะดังกล่าวมีสารเคมีที่เป็นพิษเจือปนอยู่)

ผู้ที่ร่ำเรียนวิชาความรู้

ผู้ที่ร่ำเรียนวิชาความรู้ เช่น ผู้เรียนไสยศาสตร์ หมอยา (หมอยาสมุนไพร หมอยากระดูก หมอยาเป่า) หมอธรรม

ถือว่าเป็นปูชนียบุคคลสำคัญในสังคมอีสานเมื่อครั้งอดีต เนื่องจากเป็นทรัพยากรบุคคลที่จำเป็นต่อวิถีชีวิต ซึ่งจะเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ต่อคนอีสานทุกเพศทุกวัย เนื่องจากในช่วงเวลาวิกฤติของชีวิต เช่น การเกิด การเจ็บป่วย การตาย และงานพิธีกรรมต่างๆ บุคคลดังกล่าวต้องได้รับเชิญมาประกอบพิธีกรรม หรือไม่มักจะเป็นข้อขะลำส่วนตัว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณวิชาที่ตนเรียนมา

ดังนั้นในส่วนของฮีตปฏิบัติของบุคคลดังกล่าว จึงต้องเคร่งครัดเพื่อสร้างความมั่นใจในคุณความดี ความสามารถของตนเอง และสร้างความนาเชื่อถือศรัทธาแก่ผู้พบเห็น ซึ่งข้อคะลำบางกล่าวอาจจะหาเหตุผลมาชี้แจงได้ชัดเจน ทั้งนี้อาจจะเป็นเรื่องของศีลธรรม จริยธรรม คุณธรรมหรือจรรยาบรรณที่ผู้ร่ำเรียนทางด้านนี้ต้องมี เชื่อกันว่าสำหรับผู้ที่เรียนคาถาอาคมหากฝ่าฝืน จะมีอาการผิดครู อาจจะเกิดสิ่งไม่ดีต่อตนเอง เช่น คาถาอาคมเสื่อม เป็นบ้า เป็นผีปอบ เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างของข้อคะลำมีดังนี้ เช่น

  • ห้ามลอดใต้ราวตากผ้า จะทำให้วิชาคุณไสยจะเสื่อม
  • ห้ามลอดใต้ถุนบ้าน
  • ห้ามลอดเครือกล้วยที่ใช้ไม้ค้ำไว้
  • ห้ามลอดกี่ทอผ้า
  • ห้ามลอดจ่อ (เครื่องมือเลี้ยงตัวไหม)
  • ห้ามลอดใต้บันได
  • ห้ามกินฟักทอง
  • ห้ามกินแตง
  • ห้ามกินฟัก แฟง
  • ห้ามกินมะเฟือง
  • ห้ามกินผักกระถิน (ภาษาอีสานเรียกผักกะเสด) นอกจากว่าเวลาที่กินนั้นไม่มีใครเรียกว่าผักกะเสด จึงจะสามารถกินได้ เนื่องจากถือว่าเป็นของเศษเหลือเดน
  • ห้ามกินอึ่งอ่าง
  • ห้ามกินปลาไหล
  • ห้ามกินน้ำเต้า
  • ห้ามกินเนื้อควาย
  • ห้ามเล่นชู้
  • ห้ามกินอาหารใดในงาน..พ จะทำให้คาถาอาคมที่เรียนมาเสื่อม
  • เวลากินข้าว ห้ามไม่ให้เอามือไปชนกับมือคนอื่นที่ร่วมสำรับ มันคะลำ
  • ห้ามดื่มสุราที่เหลือจากคนอื่นดื่มไปแล้ว
  • ห้ามกินเนื้องู เนื้อสุนัข เนื้อแมว เนื้อม้า และเนื้อเต่า มันคะลำ

นอกจากนี้ยังมีข้อคะลำข้อห้ามปฏิบัติของผู้ที่มีวิชาอาคม ที่สอดคล้องกับอาชีพหลักของครอบครัว ซึ่งจะจำเพาะเจาะจงว่าเป็นคะลำอย่างยิ่ง เช่น ผู้มีอาชีพคล้องช้าง ทั้งนี้ข้อคะลำดังกล่าวยังได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นๆ ข้างเคียงด้วย เช่น ภรรยาคู่ชีวิต อีกนัยหนึ่ง อาจจะสอดคล้องกับข้อที่ควรปฏิบัติของผู้เกี่ยวข้อง อาจจะเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ไปคล้องช้าง และเป็นอุบายตักเตือนห้ามปรามผู้ที่อยู่บ้านปฏิบัติตนให้เหมาะสมทั้งกาย วาจา และใจ เพื่อรอคอยผู้ชายที่ออกไปคล้องช้าง และข้อเตือนใจเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้ที่อยู่บ้าน เป็นการป้องกันสวัสดิภาพไปด้วย

ซึ่งข้อคะลำของภรรยาหรือฝ่ายหญิงที่อยู่เรือน นับตั้งแต่ฝ่ายสามี ฝ่ายชายออกเดินทางออกไปทำกิจดังกล่าว คือ

  • ห้ามตัดผม
  • ห้ามหวีผม
  • ห้ามแต่งหน้า
  • ห้ามพูดคุยกับคนแปลกหน้า โดยเฉพาะผู้ชาย
  • ห้ามรับญาติมาพักอาศัยอยู่ภายในบ้าน
  • ห้ามกวาดบ้านไปทางด้านทิศเหนือ
  • ห้ามไปไกลจากบ้านของตน
  • ห้ามกล่าวคำหยาบโลน
  • ห้ามแสดงอาการโกรธขึ้ง
  • ห้ามนั่งบนบันได
  • ห้ามปีนต้นหม่อน
  • ห้ามทิ้งของลงจากเรือน เว้นแต่ว่ามีคนรอรับอยู่ข้างล่าง
  • ห้ามถอนฟืนออกจากเตาขณะที่กำลังหุงต้ม
  • ต้องกราบไหว้เทวดา ผีรักษาทุกคืนก่อนนอน

บุคคลทั่วไป

นอกเหนือจากข้อคะลำของประเภทบุคคลข้างต้นดังที่กล่าวไปแล้ว ยังมีข้อคะลำที่ห้ามประพฤติ ปฏิบัติของบุคคลทั่วไปอยู่มากมาย โดยข้อคะลำของบุคคลทั่วไปที่นำตัวอย่างมากล่าวนี้ จะเป็นการบอกโดยรวม อาจจะไม่ใคร่สัมพันธ์กับเวลาหรือสถานที่มากนัก ทั้งนี้จะไม่เจาะจงสถานที่ หรือกำหนดห้วงเวลาที่ชัดเจน บอกเพียงว่าอย่าปฏิบัติเท่านั้น เช่น

  • ห้ามแช่ครกและสากไว้ด้วยกัน มันคะลำ ถ้าเป็นหญิง(ทั้งแต่งงานและยังไม่แต่ง) จะคลอดลูกยาก
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาท ความสนใจเอาใจใสในครัวเรือน นิสัยที่ดีงามแก่สตรี)
  • อย่าเดินข้ามไม้คาน
  • อย่าวางขันแช่ไว้ในตุ่ม โอ่ง
  • ห้ามด่าลมฟ้าอากาศต่างๆ
  • ห้ามเดินข้าม หรือนั่งทับหนังสือ มันจะปึก (ปัญญาทึบ)
  • ห้ามเย็บเสื้อผ้าตัวที่กำลังใส่กับตัวอยู่
  • ห้ามเอามีด พร้ามาหยอกกันเล่น
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจพลาดเป็นอันตรายได้ โบราณว่า “ผีผลักใส่”)
  • ปล่อยให้น้ำดื่ม น้ำใช้ในโอ่งตุ่มแห้งขอดจนหมด คะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน)
  • ปักจอบ จอบ เสียบคาดินไว้มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะเป็นอันตรายแก่ผู้เดินไปมา และเครื่องมือเครื่องใช้อาจขึ้นสนิท หรือถูกขโมยไปได้)
  • ผู้หญิงกินขาไก่ ปีกไก่ มันคะลำ จะทำให้เป็นคนไม่ดี แย่งสามีคนอื่น
  • ข้าวสารหมดเกลี้ยง คะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังความรับผิดชอบต่อหน้าที่)
  • ข้าวเหลือกินในป่าต้องนำกลับทุกเม็ด
    (ภูมิปัญญาแฝง : สัตว์ป่าอาจตามมากินถึงในหมู่บ้านได้)
  • ใช้เท้าเขี่ยเสื้อผ้า คะลำ
  • ผู้หญิงผิวปาก คะลำ จะได้ผัวเฒ่า
  • ห้ามตีวัวตีควายในคอก มันคะลำ
  • ห้ามตีหลังสัตว์เลี้ยง เช่น หมู วัว ควาย คะลำ
  • ผู้หญิงเล่นการพนัน สูบบุหรี่ มันคะลำ
  • เด็กนั่งสูงกว่าผู้ใหญ่ มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาทสังคม)
  • นั่งกระดิกเท้า กระดิกมือ คะลำ ทำให้ยากจน หากินบ่คุ้ม
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาทสังคม และบุคลิกภาพ)
  • เอาหมอนตีกัน มันคะลำ
  • ข้ามร่างกายคนกำลังนอนหลับ คะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาทสังคม และบุคลิกภาพ)
  • อย่าเอาด้ามไม้กวาดตีหรือหยอกล้อกัน มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : เป็นสิ่งไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นของต่ำ และเศษฝุ่นสิ่งสกปรกด้านที่กวาดอาจจะถูกเปรอะเปื้อนคนจับได้)
  • อย่าเทน้ำกินที่เหลือลงแอ่ง มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : เป็นของเศษเหลือกินไม่เหมาะสม และผิดหลักสุขลักษณะด้วย)
  • อย่าเหยียบย่ำบนหมอน ของสูงเป็นบาป
    (ภูมิปัญญาแฝง : สำหรับหนุนหนอนไม่สมควรมาเหยียบเล่นให้สกปรก และรักษาสิ่งของให้ใช้ได้นาน เพราะไม่มีขายต้องทำเองด้วย)
  • ปูเสื่อสาดให้ถูกลายถูกด้าน
  • อย่าปูเสื่อสาดหันหัวไปทางทิศตะวันตก ทิศคนตาย
  • อย่าเอามือประสานกันขัดไว้หลังท้ายทอย มันคือผีบ้า คนไร้ความคิด
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังบุคลิกภาพให้เหมาะสม)
  • อย่าเอามือตบปากเสียงดัง มันจะหาไม่พออยู่พอกิน
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังบุคลิกภาพและมารยาทสังคม)
  • อย่านอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก
  • อย่าเอาด้านขวางของหมอนมาหนุน มันคะลำ
  • อย่าปีนคำเว้าผู้ใหญ่(ปีนเกลียว)
  • อย่าเอาหอกค้างหาว อย่าเอาต้าวค้างควน(ควัน)
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะตกลงมาถูกคนบาดเจ็บหรือเป็นอันตรายด้วย)
  • อย่านอนแงง(ส่อง)ดาบ
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะหล่นหรือพลาดมือถูกผู้ส่องได้)
  • อย่าคาบนมเมีย
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจเผลอกันได้)
  • อย่าเลียคมมีด
  • ไปบ่ลา มาบ่คอบ (ไปไม่ลา มาไม่ไหว้) คะลำ
  • อย่าป้อย(สาป)แซ่งเสียงดัง
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาทสังคม)
  • อย่าแน(เล็ง)มีดใส่หัว อย่าแนปืนใส่เขา
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะพลาดและเป็นอันตรายได้)
  • อย่าเวียนหวดข้าว
    (ภูมิปัญญาแฝง : ในอดีตเตาหุงหาอาหารจะเป็นก้อนเสาสามก้อน อาจจะเดินเตะท่อนฟืนหรือก้อนเส้าได้)
  • อย่าตั้งหม้อข้าวเอียง คะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : หากหม้อข้าวเดือนอาจหกเสียหาย หรือถูกคนเป็นอันตรายได้)
  • อย่าเอาฟืนเคาะก้อนเส้า มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ก้อนเส้าอาจจะแตกเสียหายได้)
  • อย่าเอามีดสับเขียงเปล่า มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ทำให้สิ่งของเสียหาย และทำให้เสียงดังก่อความรำคาญแก่คนอื่น)
  • อย่าตำครกเปล่า มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ทำให้สิ่งของเสียหาย และทำให้เสียงดังก่อความรำคาญแก่คนอื่น)
  • อย่าเอาสากเคาะปากครก มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ทำให้สิ่งของเสียหาย และทำให้เสียงดังก่อความรำคาญแก่คนอื่น)
  • อย่าเดินข้ามหม้อข้าวหม้อแกง มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจเดินเตะข้าวของเสียหายได้ รวมทั้งไม่เหมาะสม ไม่มีมารยาทและเป็นการลบหลู่ ไม่แสดงอาการเคารพสิ่งของเครื่องใช้ดำรงชีพด้วย)
  • อย่าเอาช้อนเคาะถ้วยชามเล่น มันบ่พออยู่พ่อกิน
    (ภูมิปัญญาแฝง : ข้าวของเสียหายได้ รวมทั้งไม่เหมาะสม ไม่มีมารยาทและเป็นการลบหลู่ ไม่แสดงอาการเคารพสิ่งของเครื่องใช้ดำรงชีพด้วย)
  • อย่ายืนตักข้าวสารเวลาม่าข้าว(แช่ข้าวเหนียว) มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะผู้จัดการดูแลในเรื่องครัวเรือน และจะนุ่งผ้าถุง การยืนตักข้าวสารอาจจะมีฝุ่นละอองข้าว ทำให้ผิวหนังคันได้ รวมทั้งยังเป็นการแสดงอาการลบหลู่คุณข้าว และดูไม่เหมาะสม ไม่งาม)
  • อย่าล้วงข้าวจากกระติ๊บที่ห้อยอยู่
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปกติคนอีสานจะแขวนกระติ๊บข้าวเหนียวบนตะขอเหล็กป้องกันมันและหนู แมลงมากิน ดังนั้นการล้วงข้าวในกระติ๊บที่ยังห้อยอยู่อาจจะทำให้กระติ๊บและข้าวอาจตกลงพื้นได้ รวมทั้งยังเป็นการแสดงการลบหลู่คุณข้าว และเป็นกริยาไม่งามด้วย)
  • ห้ามเอาซิ่นใช้แล้วไปห่อใบลาน
    (ภูมิปัญญาแฝง : เป็นการแสดงอาการไม่เคารพ)
  • อย่าเอาดินจี่(อิฐ)จากธาตุเข้าบ้าน
  • เพิ่นบ่เอิ้น(ไม่เรียก)โตขาน เพิ่นวานโตซ่อย(ช่วย) คะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : สอนมารยาทให้รู้จักกาลเทศะ สิ่งใดควรไม่ควรทำ ไม่ควรถือวิสาสะเข้าไปยุ่งเกี่ยวเรื่องของคนอื่น)
  • ชายหญิงนั่งใกล้กัน หญิงสาวไปเที่ยวกลางคืนลำพังหรือไปกับชายสองต่อสอง คะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : เป็นมาตรการป้องกันเรื่องชู้สาว ผิดทำนองคองธรรมและเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติของหนุ่มสาวให้อยู่ในกรอบศีลธรรมจรรยา)
  • ผู้หญิงบ่ให้ใกล้องค์พระธาตุ (?)
  • ไปเอาบุญก่ายบ้าน บ่ฮู้แลงฮู้งาย มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน)
  • บ่ให้นั่งเขียง หินฝนมีด มันซิหนักก้น ชาติหน้าก้นจะใหญ่
    (ภูมิปัญญาแฝง :ปลูกฝังมารยามสังคม และรักษาสิ่งของเครื่องใช้)
  • บ่ให้ล้างถ้วยล้างชามใส่กับข้าวที่เพื่อนบ้านนำมาส่ง ให้ส่งคืนทั้งที่ไม่ได้ล้าง มิเช่นนั้นจะทำให้โกรธเคืองกัน
    (ภูมิปัญญาแฝง : เป็นปรัชญาหมายถึงให้คนที่รับอาหารของเพื่อนบ้านมา เอาอาหารกับข้าวของตัวเองใส่ลงแล้วส่งไปแทนจะได้ไม่ต้องล้าง เป็นการแลกเปลี่ยนแก่กัน)
  • บ่ให้กินน้ำต่ง(รอง)กันมันจะทำให้เป็นข้าข่อยกัน
    (ภูมิปัญญาแฝง : เป็นหลักสุขลักษณะ)
  • บ่ให้เอาควายมานอนน้ำขี้สีก(น้ำคร่ำใต้ถุนบ้าน) มันคะลำ
  • ผู้สาวบ่ให้สีก(ฉีก)ปลาร้า มันจะเอ้(แต่ง)บ่ขึ้น
  • ผู้หญิงยืนเยี่ยว คะลำ
  • ผู้สาวบ่ให้กินไข่ร้างรัง มันซิเป็นแม่ฮ้าง (แม่หม่าย)
  • อย่าปีนต้นมะยม มะยมจะเปรี้ยวมาก มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : กิ่งมะยมเปราะอาจจะหัก เป็นอันตรายได้)
  • อย่าเอาไม้ขว้างปามะขามหวาน มันจะเปรี้ยว
    (ภูมิปัญญาแฝง : มะขามเป็นของหายาก ผู้คนจึงมักมาเก็บมะขาม ถ้ามีคนใดใจร้อนขว้างเอา อาจจะทำให้พลาดไปถูกคนอื่นได้)
  • เดินข้ามเบ็ดตกปลา ปลาบ่กินเบ็ด คะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจพลาดเหยียบเบ็ดหักเสียหาย หรือเบ็ดอาจเกี่ยวเท้าเอาได้)
  • เดินข้ามมีด ของมีคม ทำให้ไม่คม คะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : มีดหรือของมีคมอาจบาดเอาได้)

นอกจากนี้ยังมีข้อคะลำที่สัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องลาง เรื่องโชคชะตาต่างๆ เช่น

  • หนูร้องเสียงดังประหลาดเวลากลางคืน คะลำ คนในบ้านจะเจ็บป่วย ไม่ดี
  • ตัวบึ้งเดินผ่านหน้าในช่วงแดดจัด คะลำ เป็นลางไม่ดีต่อตัวเองและญาติมิตร
  • กาหลายตัวร้องและบินวนเวียนไปมา คะลำอาจเกิดเหตุร้าย
  • กิ้งก่า จิ้งจก ไต่ตามตัว คะลำ จะมีเคราะห์
  • งูขึ้นไปอยู่บนเรือน คะลำ จะมีเคราะห์ร้าย
  • งูเลื้อยผ่าน จะโชคดี หมาน
  • ข้าวเหนียวนึ่งจนสุกแล้วเป็นสีแดง คะลำ ไม่ดีจะมีเคราะห์ต้องนำไปถวายพระ
  • สุนัขตกลูกบนเรือน ไม่ดี คะลำ เป็นอัปมงคล
  • อีแร้ง นกแสกจับเฮือน บินผ่านเรือน จะมีเคราะห์

2.ข้อคะลำหมวดสถานที่

ในส่วนของคะลำที่สัมพันธ์กับสถานที่ ทั้งที่เป็นสถานที่ซึ่งคนสร้างขึ้นมา เช่น บ้านเรือน วัด หรือสถานที่ตามธรรมชาติ เช่น แหล่งน้ำ ป่าเขาต่างๆ คนอีสานจะมีข้อคะลำกำกับไว้ เพื่อควบคุมพฤติกรรม ความประพฤติให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานที่นั้นๆ เพื่อความสัมพันธ์ที่พึ่งปรารถนาในการอยู่ร่วมกัน และสวัสดิภาพของบุคคลนั้น ซึ่งข้อคะลำที่นำมาเป็นตัวอย่างประกอบในส่วนนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น

ข้อคะลำเกี่ยวกับบ้านเรือน

ข้อคะลำที่เกี่ยวข้องกับบ้านเรือนนั้นมีมากมาย ตั้งแต่การเริ่มสร้างบ้านขึ้นมา จนถึงข้อปฏิบัติในระหว่างอยู่ที่บ้าน เช่น การเลือกไม้ที่จะสร้างบ้าน ห้ามเลือกไม้ที่มีลักษณะดังนี้ มิเช่นนั้นจะคะลำ เช่น

  • ต้นไม้ที่มีรูกกลวงระหว่างลำต้น มันคะลำ
  • ต้นไม้ที่เสียงดังขณะเกิดการเสียดสี
  • ต้นไม้ที่แตกกลางลำต้น
  • ต้นไม้ที่ล้มพาดต้นอื่น โดยไม่ตกถึงพื้น
  • ต้นไม้ที่แตกเป็นร่อง เป็นทางยาวลงมา
  • ต้นไม้ที่มียางไหล หลังจากตัด สร้างบ้านแล้วจะทำให้คนอยู่โศกเศร้าเสียใจอยู่เสมอ
  • ต้นไม้ที่ตัดแล้ว ต้นหลุดจากตอก่อนที่ปลายจะตกถึงพื้น เรียกว่าไม้โตนตอ มันคะลำ
  • ต้นไม้ที่มีนามไม่เป็นมงคล เช่น ต้นกะบก ต้นกะบาก ต้นตะเคียน (สร้างบ้านอยู่แล้วคนอยู่จะไม่พออยู่พอกินขาดแคลน บกอยู่เสมอ หาอยู่หากินลำบาก และเชื่อว่าต้นตะเคียนมีผีสถิตย์อยู่)
  • ปลูกต้นไม้ไม่เป็นมงคลนามในเขตบ้าน เช่น ลั่นทม(จำปา) มะไฟ พุทรา หรือต้นโพธิ์ เชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตย์ของผีหรือรุกขเทวดา
  • ปลูกต้นมะรุม ลิ้นฟ้า(เพกา) และผักหวานในเขตบ้าน มันคะลำ
  • ปลูกต้นยานางในบริเวณลานบ้าน คะลำ

นอกจากนั้นยังมีข้อคะลำเกี่ยวกับบ้านทั้งการสร้างบ้าน และการอาศัยอยู่ในบ้าน เช่น

  • อย่าทำบันไดบ้านหันไปทางตะวันตก ทิศผีหลอก มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : เวลาพระอาทิตย์ใกล้ตก แสงจะส่องมาจ้ามองอะไรหรือใครกำลังขึ้นบันไดมา)
  • ยกเรือนให้ยกวันเสาร์จะดี ห้ามวันอังคาร วันพุธ และวันพฤหัสบดี มันคะลำ
  • อย่าปลูกบ้านขวางตะวัน มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : แสงแดดจะส่องบ้านตอนเช้า และสาย มองอะไรไม่ชัดเจน)
  • อย่าปลุกบ้านคร่อมตอ มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ตออาจจะเป็นปัญหาในอนาคตได้)
  • ปลูกบ้านคร่อมจอมปลวก มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลวกอาจจะแทะกินบ้านได้)
  • ปลูกบ้านคร่อมทางเดิน มันคะลำ
  • ปลูกบ้านกลางพรรษา คะลำ
  • นำไม้ที่เคยถูกฟ้าผ่ามาทำเรือน มันกะลำ
  • ทำบันไดต้องเป็นจำนวนคี่ ( 5 ,7 ,9)
  • เขยหรือสะใภ้อย่าเดินเข้าไปในห้องเปิง หรือห้องห้องนอนพ่อตาแม่ยาย ในคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ห้องเปิงถือว่าเป็นห้องพระ หรือห้องเก็บของรักษา ห้องศักดิ์สิทธิ์ และห้องนอนพ่อตาแม่ยายไม่ควรเข้าไป เป็นการแสดงอาการเคารพ มารยาทสังคม)
  • อย่านั่งขวางประตู
  • อย่านั่งขวางบันได มันคะลำ
  • อย่าเดินกระทืบเรือนเสียงดัง มันคะลำ
  • อย่าเล่นหมากเก็บ เสือกินหมูในบ้าน มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : เนื่องจากเป็นการละเล่นในงานศพ จึงไม่เหมาะสม เป็นลางไม่ดี และสร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น)
  • ผู้หญิงร้องเพลงในครัว มันคะลำ จะได้ผัวคนเฒ่าคนแก่
    (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาทอันเหมาะสม)
  • อย่านอนใต้ขื่อบ้าน จะคะลำ
  • อย่าเต้ากระโดดขาเดียวในบ้าน มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะหกล้ม เสียงดังก่อความรำคาญรบกวนคนอื่น และไม่มีมารยาท)
  • อย่านั่งห้อยขาลงข้างล่าง
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะมีการหยอกล้อดึงขากันเล่น ตกลงมาบาดเจ็บได้รับอันตรายได้)
  • อย่าเอามีดฟันต้นเสาบ้าน มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : เป็นการทำลายสิ่งของ และเสียงดังรบกวนคนอื่น)
  • อย่าข้ามบันไดทีละหลายขั้น มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจพลาดตกลงมาเป็นอันตรายได้)
  • อย่าแบกฟืนขึ้นเฮือน มันคะลำอย่าเล่นงัวตึงตังเทิงเฮือน มันคะลำ
  • ห้อยโหนประตูบ้าน คะลำ
  • เปิดหน้าต่างบ้านนอน คะลำ
  • ใช้เท้าเปิด ปิดประตู คะลำ
  • เอาผ้าถุงพาดตากหน้าต่างเรือน คะลำ
  • รวมทั้งข้อปฏิบัติเมื่อไปยังสถานที่ต่างๆ ห้ามไปล่วงกระทำหรือไม่นำพาแล้ว ถือว่าเป็นคะลำ

ข้อคะลำเกี่ยวกับสถานที่อื่นๆ

  • เข้าวัดเว้าเสียงดัง มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ให้สำรวม เป็นมารยาทสังคม)
  • ขี่ม้าเข้าในเขตวัด คะลำ
  • เลี้ยงวัว ควายในวัดคะลำ
  • ผู้หญิงอย่าไปม่อ(ใกล้)พระ มันคะลำ
  • อย่านั่งเบาะพระ มันคะลำ
  • อย่าอุ้มลูกใส่บาตร มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : เด็กอาจปัดข้าวของเสียหาย ตกหล่นได้ รวมทั้งไม่เหมาะสม)
  • บ่ให้ครุบเซิงเอาที่วัด มันคะลำ
  • บ่ให้นั่งขัดสมาธิเวลาฟังเทศน์
  • ใส่หมวก โพกผ้าเข้าวัด คะลำ มันสิหัวล้าน
  • ยิงนกในบริเวณวัด คะลำ
  • สวมรองเท้าเวลาตักบาตร และสรงน้ำพระ คะลำ
  • หนุ่มสาวพลอดรักกันในวัดและสถานที่สักการะบูชา คะลำ
  • ขณะพายเรือไปหลายๆคนห้ามพูดตลกขบขัน คะลำ
  • เข้าป่าอย่าพูดถึงสัตว์ร้าย คะลำ
  • เข้าป่าได้ยินเสียงร้องเรียกชื่อตนเองห้ามขานรับ
  • บ่ให้เยี่ยวลงน้ำ มันคะลำ
  • บ่ให้ตัดต้นไม้ดอนปู่ตา คะลำ
  • อย่าลากไม้ในป่า คะลำ
  • ปัสสาวะลงน้ำ มันคะลำ
  • ซักผ้าในแม่น้ำ คะลำ

3.ข้อคะลำหมวดเวลา

ข้อคะลำที่สัมพันธ์กันกับเวลานั้น มีหลายข้อที่สัมพันธ์กับบุคคลและสถานที่ด้วย ซึ่งแยกออกจากกันลำบาก แต่เพื่อให้เห็นภาพกว้างๆ โดยรวม และไม่ต้องแบ่งซอยลงไปมากจนเกินไป จึงขอยกตัวอย่างดังที่แบ่งข้างต้น ซึ่งข้อคะลำที่สัมพันธ์กับเวลานั้น น่าจะหมายถึงเวลาที่เป็นงานเทศกาล ประเพณีประจำปี หรือเวลาของการประกอบอาชีพประจำฤดูกาล โดยเฉพาะการทำนา รวมทั้งประเพณีเฉพาะกิจในระดับส่วนบุคคลที่เกี่ยวพันกับสังคม ตัวบุคคลและสถานที่ด้วย รวมทั้งกิจวัตรประจำที่อยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน แต่ในที่นี้จะเอาเวลาเป็นตัวตั้งเพื่อให้สอดคล้องกับที่แบ่งหัวข้อไว้ เช่น

ข้อคะลำในการทำนาและข้าว

เวลา หรือ ขั้นตอนในการทำนา ซึ่งจะต้องดำเนินการสอดคล้องตามระยะเวลา เนื่องจากต้องอาศัยธรรมชาติเป็นหลัก ในสังคมเกษตรกรรมดั้งเดิมที่ยังควบคุมธรรมชาติไม่ได้ ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติแล้วจะต้องคะลำ ผิดประเพณี “กินไม่บกจกไม่ลง” นอกจากนั้นยังมีข้อปฏิบัติที่สัมพันธ์กับข้าว เช่น

  • ก่อนหว่านกล้า ต้องเลือกฤกษ์วันดีในการแช่ข้าวเปลือกก่อน ข้าวที่ปลูกจะได้ให้ผลผลิตมาก
  • ช่วงเวลาหว่าน ถ้ามีตัวปูไต่ตามท้องนา ห้ามจับถือว่าเป็นการเลี้ยงผีตาแฮก
  • ก่อนที่จะถอนกล้าและปักดำต้องเลือกฤกษ์ยามวันดี
  • ช่วงเก็บเกี่ยว ก่อนตั้งลอมข้าวต้องไหว้ปลงแม่พระธรณีก่อน
  • ก่อนนวดข้าว ต้องเลือกวันดี
  • ช่วงนวดข้าวญาติพี่น้องต้องมาช่วยเหลือกัน และหาบข้าวขึ้นยุ้ง
  • หลังจากนั้นต้องมาช่วยกันตีข้าวสนุ (ข้าวที่ยังเหลือติดซังข้าวอยู่) ให้หมด
  • จากนั้นจึงทำพิธีเอาข้าวขึ้นยุ้งและปิดยุ้งเพื่อเลือกวันดีเปิดยุ้งข้าว
  • เลือกวันดีเพื่อตักข้าววันแรกให้ตรงกับเดือนขึ้นปีใหม่แล้วสู่ขวัญข้าว โดยใช้กระดองเต่าตักข้าวครั้งแรกเพื่อให้ผู้ผลิตอยู่เย็นเป็นสุข (กระดองเต่าเป็นสัญลักษณ์ของความอยู่เย็นอยู่ดี)
  • เวลาพักกินข้าวอยู่ทุ่งนาอย่าเรียกกันกินข้าว มันคะลำ เท่ากับเรียกปูมากัดกินต้นข้าวด้วย
  • อย่าเอาไม้แต้ กะบก มาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ มันคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ไม้ดังกล่าวเป็นไม้เนื้อแข็ง แตกหักง่าย ไม่เหมาะนำมาใช้งาน)
  • เป็ด ไก่มาเก็บกินข้าว รำข้าวหกอย่าดุด่า มันคะลำ
  • จี่ข้าวในช่วงข้าวออกรวง คะลำ
  • ไถนาวันพระ คะลำ
  • กินข้าวสารดิบ คะลำ เป็นคนจัญไร
  • กัดกินข้าวเหนียวครึ่งคำข้าว คะลำ
  • ยืนกินข้าว กะลำ
  • กินข้าวคาหม้อ คะลำ
  • ร้องเพลงเวลากินข้าว คะลำ
  • กินข้าวแล้วบ่อัดฝาก่อง บ่ฮู้เก็บฮู้เมี้ยน คะลำ ทำให้ผัวเมียจะป๋าหย่าร้าง
    (ภูมิปัญญาแฝง : ให้รู้จักเก็บรักษาและรับผิดชอบในสิ่งที่ตนกระทำลงไป เพื่อความเป็นระเบียบ)
  • เวลาเขยสะใภ้กินข้าวร่วมวงกับทั้งครอบครัวอย่างนั่งขัดสมาธิ มันคะลำ
  • เวลากินข้าวอย่าตบหัวแมว จะบาปเนื่องจากแมวมีเชื้อสายเทวดา
    (ภูมิปัญญาแฝง : เนื่องจากเศษขนแมวอาจติดมือได้)
  • เวลากินข้าวผู้หญิงอย่ายองๆ หรือขัดสมาธิ มันคะลำ
  • อย่าเว้ายามกิน
    (ภูมิปัญญาแฝง : ไม่งาม ไม่เหมาะสม ข้าวอาจติดคอ ลงหลอดลมได้)

นอกจากนี้ยังมีข้อคะลำที่สัมพันธ์กับเวลา เช่น บุญหรืองานประเพณี พิธีกรรมต่างๆ อาทิ

ข้อคะลำในงานศพ

  • คนตายโหง (ผูกคอตาย ฟ้าผ่าตาย จมน้ำตาย เสือกัดตาย ลงท้องตาย ตกต้นไม้ตาย) ห้ามกินทาน ห้ามมีพระนำหน้า ห้ามเผา
  • เด็กตาย (อายุไม่ถึง 10 ขวบ) ห้ามเผา
  • ห้ามนำศพไต่ขัว (สะพาน)
  • ห้ามหามศพข้ามขอนไม้
  • ห้ามเผาศพวันอังคาร
  • ห้ามเผาศพวันศุกร์ ผีจะร้าย
    (ภูมิปัญญาแฝง : ความเชื่อโชคลาง วันศุกร์เป็นชื่อดี คือวันแห่งความสุข ที่คนนิยมจัดงานมงคลกันจึงไม่นิยมเผาในวันดังกล่าว)
  • หากมีเพื่อนบ้านตายให้มาช่วยกัน บุคคลใดทำเฉยไม่สนใจ จะคะลำ
  • อย่าให้แมวข้ามศพ มันคะลำ
  • อาหารที่เลี้ยงแขกในงานศพต้องไม่เป็นเส้น เช่น ขนมจีน เพราะจำทำให้คนตายไม่ไปเกิด
  • คนป่วยตายธรรมดาเกิน 6 วันจึงจะสามารถเผาได้
  • เสื่อสาดต้องกลับทางให้เป็นตรงข้ามทั้งหมด
  • การแต่งตัวศพ ต้องสวมเสื้อผ้าศพให้กลับจากในมานอก
  • เอาศพออกจากบ้านให้คว่ำภาชนะทุกอย่าง และคว่ำกลับข้างบันได
  • เวลาเผาศพให้เอาท่อนไม้ใหญ่ 2 ท่อนทับศพไว้ ไม่ทำคะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : ป้องกันศพพลิกคว่ำ หรือเอ็นหดทำให้ศพอาจตกจากเชิงตะกอนได้)
  • เมื่อเผาศพเสร็จให้เดินมาล้างมือล้างเท้าสิ่งสกปรกที่วัดก่อนจึงจะกลับบ้านได้
    (ภูมิปัญญาแฝง : ชำระร่างกายให้สะอาดเพราะอาจจะติดเชื้อโรคจากศพได้ และเป็นอุบายการบำบัดทางจิตสำหรับผู้ที่กลัวผีจากภาพที่ประสบ)

ข้อคะลำในงานพิธีแต่งงาน

ถือว่าเป็นงานมงคลในช่วงชีวิตของคน ดังนั้นจึงมีข้อคะลำเพื่อให้เกิดความมั่นใจในชีวิตคู่ สร้างกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป รวมทั้งข้อคะลำที่ควรทราบในระหว่างมีชีวิตคู่ด้วย เช่น

  • ห้ามแต่งงานวันคี่ คะลำ จะหย่าร้างกัน
  • อย่าทำสิ่งของแตกร้าวในวันแต่ง คะลำ จะทำให้หย่าร้าง
  • ห้ามมีชื่ออาหารที่ไม่เป็นมงคล เช่น แกงฟัก (ฟัก ภาษาอีสานหมายถึง ฟัน สับ) แกงจืด ยำ
  • ห้ามคนเป็นหมัน ไม่มีลูกถือขันหมาก
  • ห้ามบุคคลที่เป็นกำพร้าเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว
  • ห้ามแต่งงานในเดือน 12 คะลำ เป็นเดือนที่สุนัขติดสัด ไม่เป็นมงคล
  • ห้ามแต่งช่วงเดือนเข้าพรรษา (เพราะเป็นช่วงที่กำลังเร่งดำนา)
  • เมียนอนหัวสูงกว่าผัว คะลำ
  • เมียกินข้าวก่อนผัว คะลำ
  • เมียต้องไม่เอาอาหารที่ตนเหลือกินให้ผัวกิน คะลำ
  • เมียย่าง(เดิน)เอาผ้าเอาซิ่นปัดป่ายผัว คะลำ
  • เมียบ่สมมา(ขอขมา)ผัวในวันพระวันศีลก่อนนอน คะลำ

ข้อคะลำในวันสงกรานต์

วันสงกรานต์ หรือ วันเนา เชื่อกันว่ามาจากคำว่า “เน่า” หมายความว่าถ้าใครกระทำผิดคะลำในวันนี้แล้ว เวลาตายไปจะเน่าเหม็น สำหรับในวันนี้ของสังคมอีสานในอดีตถือว่า เป็นวันหนึ่งในรอบปีที่ต้องผ่อนคลาย สนุกสนานให้เต็มที่ การเตรียมการเตรียมงานหรือเวียกงานต่างๆ ต้องกระทำก่อนหน้านั้นให้เสร็จสิ้น หากมีบุคคลใดฝ่าฝืนทำสิ่งใดในวันนี้ถือว่าคะลำ ไม่เจริญรุ่งเรือง ทำมาค้าขายไม่ขึ้น จะต้องตายเน่าตายเหม็นอย่างไม่มีศักดิ์ศรี ซึ่งคล้ายกับข้อห้ามของวันว่างในประเพณีของคนใต้

สำหรับข้อคะลำที่ห้ามประพฤติปฏิบัติในวันเนาตามความเชื่อของคนอีสานมีดังนี้

  • ห้ามผ่าฟืน ฟันฟืน
  • ห้ามตำข้าว ห้ามเปิดยุ้งข้าวตักข้าว
  • กองฟืนจะต้องหาพงหนามไปปิดไว้
  • ครกตำข้าวจะต้องเอาพงหนามไปปิดไว้
  • ห้ามทอผ้า
  • ห้ามสานแห

สรุปคือห้ามทำการงานทุกอย่างในวันดังกล่าว ให้สนุกสนานร่วมงานของเพื่อนบ้านอย่างเต็มที่ ถือว่าเป็นการผ่อนคลายความเคร่งเครียดตรากตรำทำงานตลอดปีอีกวันหนึ่ง

ข้อคะลำที่สัมพันธ์กับเวลาอื่นๆ

นอกจากนี้ยังมีข้อคะลำอื่นๆที่สอดคล้องกับเวลา เช่น

  • อย่าตอกตะปูตอนกลางคืน คะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจรบกวนคนอื่นที่ต้องการพักผ่อนได้)
  • อย่าตัดเล็บ ตัดผมเวลากลางคืน
  • อย่าล้างถ้วยชามเวลากลางคืน
  • เดินทางกลางคืนอย่าพูดเรื่องอัปมงคล
  • กินข้าวยามวิกาล ตอนดึก คะลำ
  • อย่ากวาดบ้านเวลากลางคืน ยกเว้นบริเวณที่จะกินข้าว
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะกวาดสิ่งของสำคัญตกลงไปข้างล่าง จะหาลำบาก เพราะในอดีตไม่มีไฟฟ้า มีเพียงกะบอง หรือไต้ที่ไม่ค่อยสว่างและสะดวกนัก)
  • อย่าเข็นฝ้าย(ปั่นฝ้าย)ตอนกลางคืน คะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : เสียงจะดังก่อความรำคาญรบกวนคนอื่นได้)
  • อย่าเคี้ยวหมากนอนตอนกลางคืน
    (ภูมิปัญญาแฝง : คำหมากอาจติดข้อเป็นอันตรายได้)
  • อย่าฝัดข้าวตอนกลางคืน
    (ภูมิปัญญาแฝง : เสียงดัง อาจก่อความรำคาญให้แก่คนอื่นได้)
  • อย่าต่อยมองแฮง(แรง)ยามเช้า อย่าตำข้าวสักกะวันยามดึก
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจก่อความรำคาญให้แก่ผู้ที่ยังไม่ตื่น และกำลังหลับอยู่ได้)
  • อย่าผิวปากเวลากลางคืน คะลำ
    (ภูมิปัญญาแฝง : อาจก่อความรำคาญให้คนอื่นได้)
  • อย่านอนเวลาบ่ายคล้อย คะลำ เพราะเป็นช่วงที่ผีตกป่า (เผาศพ)
    (ภูมิปัญญาแฝง : ช่วงดังกล่าวคนส่วนใหญ่ต้องทำงาน หากนอนแล้วจะเสียการงาน และแรงงานโดยไม่จำเป็น รวมทั้งช่วงดังกล่าวเมื่อตื่นขึ้นมามักจะไม่สดชื่น แข็งแรง อารมณ์เสียได้ง่าย)
  • ตีด่ากันในวันพระ คะลำ
  • เวลานอน คุยกัน คะลำ
  • สาวไหมวันพระ คะลำ
  • เวลาออกล่าสัตว์ อย่ากินข้าวกับเนื้อสัตว์ มันคะลำ

ยังมีเพิ่มเติมสำหรับการกระทำที่ถือว่า “คะลำ” ไม่ควรทำ เป็นการรวมอริยาบถของคนในลักษณะต่างๆ

คะลำเกี่ยวกับการยืน

  • ยืนคร่อมเตาฮ่าง คะลำ
  • หญิงยืนเยี่ยว คะลำ (ห้ามผู้หญิงยื่นเยี่ยว)
  • ผู้น้อยยืนใกล้ผู้ใหญ่ คะลำ (ห้ามผู้น้อยยืนใกล้ผู้ใหญ่)
  • เขยยืนใกล้เจ้าโคตร คะลำ (ห้ามลูกสะใภ้และลูกเขยยืนใกล้เจ้าโคตร)

คะลำเกี่ยวกับการย่าง (เดิน)

  • ย่างข้ามตัวคน คะลำ
  • ย่างข้ามพาข้าว คะลำ
  • ผู้น้อยย่างใกล้ผู้ใหญ่ ใภ้ เขยย่างใกล้เจ้าโคตร คะลำ
  • ขึ้นเฮือนบ่ล้างตีน ย่างทืบตีนขึ้นขั้นบันใด ย่างเทิงเฮือนตแฮง ย่างลากตีน คะลำ
  • เมียย่างเอาผ้าเอาสิ้นปัดป่ายผัว คะลำ
  • ย่างก่อนเจ้าหัว (พระ) เหยียบเงาเจ้าหัว คะลำ
  • นุ่งผ้าเตะเตียว ย่างผ่านหน้าเจ้าโคตร คะลำ

คะลำเกี่ยวกับการนั่ง

  • นั่งหย่อนขาไกวขาเทิงเฮือนสูง คะลำ
  • ผู้น้อยนั่งสูงกว่าผู้ใหญ่ ใภ้หรือเขยนั่งสูงหรือนั่งขาไขว่ห้างต่อหน้าเจ้าโคตร คะลำ
  • ผู้หญิงนั่งขัดสะมาธ คะลำ (นั่งขัดสมาธิ)
  • นั่งขัดสะมาธเวลาฟังเทศน์ นั่งฟังเจ้าโคตรบอกสอน คะลำ
  • นั่งตันประตุ นั่งตันขั้นได นั่งหมอน นั่งกลางผู้เฒ่า คะลำ
  • ผู้หนึ่งนั่ง ผู้หนึ่งยืนโอ้โลมกัน คะลำ
  • นั่งเทิงหัวบ่อนนอนของตน หรือของผู้อื่น คะลำ

คะลำเกี่ยวกับการนอน

  • นอนหันหัวไปทางตาเว็นตก คะลำ (ห้ามนอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก เพราะทิศตะวันตกเป็นทิศที่ให้ผีหรือคนตายนอนหันหัวไป)
  • เมียนอนก่อน ตื่นหลังผัว คะลำ
  • นอนหงายเล่นดาบ นอนคาบนมเมีย เลียคมมีด คะลำ
  • นอนพกมีด อาวุธ หรือของมีคม คะลำ
  • ใภ้ เขย นอนเปิง พ่อแม่นอนฮ่วมห้องลูกสาวลูกชาย คะลำ
  • นอนหันตีนไปทางพระ คะลำ
  • ยามกินไปนอนยามนอนไปกิน คะลำ
  • เอาเสื้อผ้าเก่ามาหนุนต่างหมอน คะลำ
  • นอนบ่ล้างตีน คะลำ

คะลำเกี่ยวกับการกิน

  • ไปป่าเอิ้นกันกินข้าวเสียงดัง คะลำ
  • ไทเฮือนเดียวกันกินบ่พร้อมกัน ผู้น้อยกินก่อนผู้ใหญ่ เมียกินก่อนผัว คะลำ
  • ผู้ใหญ่กินเงื่อนกินผู้น้อย ผัวกินเงื่อนเมีย คะลำ
  • กินข้าวบ่เปิดฝาก่อง บ่เก็บบ่เมี้ยน คะลำ
  • กินข้าวแล้วลงเฮือน เอามือเซ็ดหัวบันได คะลำ
  • เอาเงื่อนกินให้ทาน คะลำ
  • กินอ้าปากกว้าง แลบลิ้น เลียปาก เลียมือ กินคำใหญ่ กินเสียงดัง คะลำ
  • ถ่มน้ำลาย คายขี้มูก เวลากิน คะลำ
  • กินข้าวมือซ้ายเวลากินเว้ากัน เอามือเท้าขวาเท้าซ้ายเวลากิน กินเคี้ยวบ่แหลก คะลำ
  • กินเหมิดกินเสี้ยง กินเกี้ยงบ่หลอ คะลำ (ห้ามกินหมดกินเกลี้ยงจนไม่มีอะไรเหลือ)
  • ได้กินดี อักกินผู้เดียว ได้กินซิ้นบ่ส่งอา ได้กินปาบ่ส่งปู่ คะลำ
  • กินอิ่มแล้ว บ่ล้างถ้วยล้างชาม คะลำ
  • กินข้าวโต โสความเพิ่น คะลำ
  • กินข้าวกับซิ้นงัวซิ้นควาย คะลำ (เพราะงัว ควาย เป็นสัตว์มีคุณ)

คะลำเกี่ยวกับการไปการมา

  • ผัวไปล่าสัตว์ใหญ่ เมียอยู่บ้านนุ่งซิ่นแดง คะลำ
  • ไปจอบฟังเขาเว้าพื้นทานขวันกัน คะลำ (ห้ามไปแอบฟังเขานินทาว่าร้ายกัน)
  • ไปเอาบุนกายบ้าน บ่ฮู้แลงบ่ฮู้งาย คะลำ (ไปงานบุญหมู่บ้านอื่น แล้วไม่ยอมกลับบ้านเรือนของตนก่อนค่อยไปต่อ และไม่รู้เวลากินข้าวเช้าข้าวเย็น)
  • ผัวไปทางไกล เมียอยู่บ้านตัดผม ทัดดอกไม้ คะลำ
  • ไปโฮ่เนื้อเอิ้นชื่อมัน คะลำ (ห้ามออกชื่อสัตว์ขณะที่เที่ยวล่าสัตว์)
  • ไปบ่ลา มาบ่คอบ คะลำ

คะลำทั่วไป

  • นุ่งห่มผ้าทางกลับ – ใช้ตีนเขี่ยเสื้อผ้า คะลำ
  • ฟันฟืนมื้อเช้าฝัดข้าวมื้อแลงแบกของขึ้นเฮือนหาบฟืนขึ้นบ้าน คะลำ
  • ข้ามขั้นไดขึ้นเฮือน ตีนเช็ดหัวขั้นได คะลำ
  • ฝนตกฟ้าร้องขี่ควายเล่น ยกมีด ยกเสียม ฟันไม้ คะลำ
  • ผ่าฟืน ฟันไม้ ตอกไม้ กลางคืน คะลำ
  • แต่งคาดแต่งไถกลางคืน คะลำ
  • ตีก้อนเส้า เอาไม้เอามีดเคาะเสาเฮือน คะลำ
  • ขี่วัว ขี่ควาย หันหลังให้ทางเขา คะลำ
  • เอามือตีแมว ตีหมา เตะวัวเตะควาย คะลำ
  • ปลูกย่านางเดิ่นบ้าน ปลูกผักอีฮุม หมากลิ้นหมา ผักหวานในบ้าน คะลำ
  • บุญมหาชาติขี้เมาเข้าวัด คะลำ ตีฆ้องตีกลอง (เว้นแต่กลองรับ) คะลำ
  • ไทยเฮือนอื่นมาปิด – เปิดป่องเอี้ยม คะลำ
  • ปรึกษากันไปหาหมอ คนไข้ได้ยิน คะลำ
  • วันพระวันศีลก่อนนอน บ่สมมาก้อนส้า คีไฟ แม่ขั้นได ผักตูในวันศีล คะลำ
  • เล่นหมากฮุก หมากสะกา ในเฮือนคนบ่ทันตาย คะลำ
  • โยนกะบุง กะต่า ฟาดเสียม กะด้ง กะเบียนขึ้นเฮือน คะลำ
  • วัดโตคนไข้ เพื่อตัดโลงให้คนไข้เห็นหรือได้ยิน คะลำ
  • เอาเชิงผ้าซิ่นเช็ดหน้า คะลำ
  • ฝนมีดพร้า หอก ดาบสิ่ว ขวาน และปัดเฮือนยามกลางคืน คะลำ
  • ของต่ำไว้สูง ของสูงไว้ต่ำ คะลำ
  • ทุบตี เตะ ถีบ ม้างเฮือน เพซาน คะลำ (ห้ามทุบตี เตะ ถีบ รื้อ พังบ้านเรือน)
  • เว้าพ้นตัว หัวพ้นเพิ่น คะลำ (ห้ามพูดเสียงดังเกินตัว เวลาหัวเราะก็หัวเราะดังกว่าคนอื่น)
  • ปากก่อนกวาน ขานก่อนเจ้า คะลำ (ห้ามพูดก่อนกวานบ้าน(ผู้ใหญ่บ้าน)และรีบขานรับก่อนเจ้านาย)
  • ตัดกอนฮอนขื่อ คะลำ (ห้ามตัดกอนและรอนขื่อบ้านเรือน)
  • ตักน้ำมื้อเช้า ตำข้าวมื้อแลง คะลำ
  • เอาล้อเกวียน ตีนเกวียนที่หักแล้วไปฮองตีนบันได คะลำ
  • คลำน้ำ กินต่อน คะลำ (เข้าทำนองเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง)
  • เพิ่นบ่เอิ้นโตขาน เพิ่นบ่วานโตซ่อย คะลำ
  • บ่อนเข็ดบ่ยำคะลำบ่ย้าน คะลำ
  • ใส่บาดถามเจ้าหัว คะลำ (ห้ามถามพระเวลาใส่บาตร)
  • ขี้งอยขอน นอนสูบยา คะลำ
  • อยู่ท่งสานวีอยู่ดีถามหมอ คะลำ (อยู่ทุ่งนาห้ามสานพัด อยู่สุขสบายห้ามถามหาหมอ)
  • ฮากไม้สอนขวาน คะลำ (ห้ามรากไม้สอนด้ามขวาน)
  • ไง้ขอนหาขี้เข็บ คะลำ (ห้ามฟื้นฝอยหาตะเข็บ)
  • เฮ็ดต่างลี้ ขี้ต่างเซามีแฮง คะลำ (ห้ามทำงานหลบๆ เลี่ยงๆ และนั่งขี้เพื่อจะได้มีเวลาพักเหนื่อย)
  • ขี้คันคากจาแบกขอนยาง คะลำ (คางคกพูดสาวหาวว่าตนแบกขอนยางได้ไม่ดี)
  • ตีเหล็กต่อหน้าช่าง คะลำ
  • ดันผีให้ลุก ปลุกผีให้นั่ง คะลำ
  • หมาเข้าบ้านบ่ด่อมหาง คะลำ
  • ย้ายคันแทนา ย้ายผักตูเฮือน ถมน้ำออกบ่อ ขุดจอมปลวก ไปถมบวกหมู ปลูกเฮือนกวมทาง กวมตอ คะลำ (ห้ามย้ายคันนาหนึ่ง ย้ายประตูบ้าน ถมน้ำซับ ขดดินจากจอมปลวกเพื่อนำไปถมปลักหมูนอน ปลูกเรือนคร่อมถนนหนทางและตอไม้)
  • เอาของใช้ไว้ปนกับของประดับ คะลำ
  • เฮือนสองหลัง เฮ็ดเป็นหลังเดียว คะลำหลาย
  • ผัวเมียผิดกัน ข่มเหงกัน ด่าป้อยญาติกัน คะลำ
  • จ่ายเงินแดง แปงเงินขวาง คะลำ
  • ตีหมูซา ด่าหมาเสียด หัวซาเด็กน้อย หัวซาทุกคน คะลำ
  • เอาลูกสาวลูกชายเป็นเมียเป็นผัว เอาคนใช้เป็นเมียเป็นผัว คะลำ
  • เห็นเมียท่านท่า เห็นหน้าท่ายิง คะลำ (เห็นภริยาคนอื่นแล้วท้าทาย พอเห็นหน้าเจ้าตัวเขายิงทันที ไม่ดี)
  • หัวโล้นอยากลำ หัวดำอยากเทด คะลำ
  • เล่นเจ้าหัว เล่นผัวเพิ่น คะลำ (ห้ามเป็นชู้กับพระสงฆ์ และเป็นชู้กับสามีหญิงอื่น)
  • บวดเป็นชี หนีจากบ่อน คะลำ (บวชเป็นชีแล้วหนีจากวัดที่บวชไปอยู่วัดอื่น)
  • ความลับไปฮู้เถิงสอง คะลำ (ห้ามนำความลับไปเล่าให้รู้ถึงสองคน)
  • นาสองเหมือง เมืองสองท้าว ย้าวสองเขย คะลำ (ห้ามทำนาที่มีร่องน้ำสองร่อง ประเทศหนึ่งห้ามมีผู้ปกครองสองคน ห้ามลูกเขยสองคนอยู่ร่วมหลังคาเรือนเดียวกัน)
  • หญิงสองผัว เจ้าหัวสองวัด คะลำ

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.isangate.com

ยังมีเรื่องคะลำและข้อห้ามอื่นๆอีกมากมาย เนื่องจากประเพณีอีสานเป็นเรื่องที่ละเอียดมากๆ ทางทีมงานอีสานร้อยแปดเองกำลังรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ หากได้ข้อมูลก็จะมาอัพเดทให้เพื่อนๆได้อัพความรู้ไปพร้อมๆกันที่นี่ อีสานร้อยแปดดอทคอม ครับ


มี 2 บทความลิงก์มาที่“คะลำ” หรือ “ขะลำ” ว่าด้วยเรื่องคะลำๆของภาคอีสาน

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*