ฟ้อนฉลองผะเหวด

ฟ้อนฉลองผะเหวด

“บุญผะเหวด” เป็นสำเนียงชาวอีสานที่มาจากคำว่า “บุญพระเวส”หรือพระเวสสันดร เป็นประเพณีตามคติความเชื่อของชาวอีสานที่ว่า หากผู้ใดได้ฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรจบทั้ง 13 กัณฑ์ต่อเนื่องกันในวันเดียว จะได้บุญมาก จะได้เกิดร่วมชาติภพกับพระศรีอริยเมตไตย

งานบุญผะเหวดนี้จะทำติดต่อกันสามวัน

วันแรกจัดเตรียมสถานที่ ตกแต่งศาลาการเปรียญ

วันที่สองเป็นวันเฉลิมฉลองพระเวสสันดร    ชาวบ้านร่วมทั้งพระภิกษุสงฆ์จากหมู่บ้านใกล้เคียง จะมาร่วมพิธี มีทั้งการจัดขบวนแห่เครื่องไทยทาน ฟังเทศน์และแห่พระเวสสันดร โดยใช้ผ้าผะเหวด(ผ้าผืนยาวเขียนภาพเล่าเรื่องพระเวสสันดร) ซึ่งสมมติเป็นการแห่พระเวสสันดรเข้าสู่เมือง เมื่อถึงเวลาค่ำจะมีเทศน์เรื่องพระมาลัย

ฟ้อนฉลองบุญผะเหวด

ฟ้อนฉลองบุญผะเหวด

วันที่สามเป็นงานบุญพิธี   ชาวบ้านจะร่วมกันตักบาตรข้าวพันก้อน พิธีจะมีไปจนค่ำ ชาวบ้านจะแห่แหน ฟ้อนรำตั้งขบวนเรียงราย นำกัณฑ์เทศน์มาถวาย   พระสงฆ์จะเทศน์เรื่องเวสสันดรชาดกจนจบ และเทศน์อานิสงส์อีกกัณฑ์หนึ่ง จึงเสร็จพิธี (อ่านรายละเอียด ประเพณีบุญผะเหวด)

เมื่อปี พ.ศ. 2550 ในโอกาสที่ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสานจุฬาฯ ครบรอบ 30 ปี ทางชมรมฯ ได้คิดการแสดง “ฟ้อนฉลองผะเหวด” ขึ้น โดยคุณกิตติศักดิ์ แก้งทอง เป็นผู้ออกแบบท่ารำและเครื่องแต่งกาย มังกรเดียวดาย แต่งลายเพลงประกอบ และแสดงครั้งแรกในงาน “ไอดินถิ่นอีสาน อลังการวัฒนธรรม 30ปีอีสานจุฬาฯ” เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2550

ที่มาของการแสดงนี้คือ หลังจากพระเวสสันดร ได้เสด็จคืนสู่เมืองแล้ว ได้มีงานฉลองต้อนรับพระเวสสันดร ทางชมรมฯ จึงได้จับประเด็นตรงนี้มาเป็นชุดการแสดง ฟ้อนฉลองผะเหวด

ฟ้อนฉลองผะเหวด จำลองการฟ้อนต่อหน้ากษัตริย์ทั้ง6 มีพระเวสสันดรเป็นต้น ใช้ผู้หญิงล้วน โดยจำนวนช่างฟ้อนเป็นคู่ ซึ่งในงาน30ปีอีสานจุฬาฯ ใช้ช่างฟ้อน 12 คน

การแสดงเริ่มจาก ขบวนชาวเมือง แห่พระเวสสันดรเข้าเมือง ซึ่งในขบวนแห่ จะมีชาวบ้านชาวเมือง มีผีตาโขน มีการฟ้อนรำประกอบขบวนแห่ ลายเพลงที่ใช้ในขบวนแห่ คือลายมโหรีอีสาน ขบวนแห่ เดินไปเรื่อยๆ จนส่งกษัตริย์ทั้ง6 ขึ้นเวที จากนั้น จึงบรรเลงลายจามจุรีศรีอีสาน และเริ่ม ฟ้อนฉลองผะเหวด

ฟ้อนบุญผะเหวด

ฟ้อนบุญผะเหวด

เครื่องแต่งกาย

ช่างฟ้อนฉลองผะเหวด  นุ่งผ้าซิ่น เสื้อแขนกระบอกสีฟ้า พาดสไบจกหรือแพรวา ประดับอกด้วยดอกไม้สีขาว เกล้าผม ทัดดอกไม้สีเหลือง  ใส่เครื่องประดับ สร้อยคอ ต่างหู กำไลเงิน

ลายเพลง ที่ใช้ประกอบ คือลายจามจุรีศรีอีสาน


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*