ฟ้อนละคอน(ละคร)ภูไทบ้านหนองห้าง

ฟ้อนละคอน

สัมพาทย์และลงพื้นที่เก็บข้อมูลโดย นายอดิศักดิ์ สาศิริ เมื่อวันที่ 16-17 เมษายน พ.ศ.2552  “

ประวัติบ้านหนองห้าง

จากการสัมพาทย์ นายสัมฤทธิ์ ชมศิริ  ข้าราชการบำนาญ อดีตอาจารย์โรงเรียนหนองห้างฉวีวิทย์ ต.หนองห้าง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ความว่า

“หลังจากการกวาดต้อนชาวภูไทเข้าสู่สยามประเทศในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ชาวภูไทบางส่วนได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งบริเวณหลังเทือกเขาภูพาน เป็นพื้นที่ที่ชาวภูไทกล่าวขานว่า “เขตห้วยผักแพว แปวป่องฟ้า ฮอยทว้าเก่า เหล่าย่านาง ยางสามต้น อ้นสามขุย” ประกอบด้วยบ้านตาเป๊อะ บ้านนาน้ำท่วม และบ้านเหล่าเตโช

ต่อมาเกิดเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ในบริเวณที่ดังกล่าว สร้างความเดือดร้อนต่อชาวภูไทที่อาศัยในบริเวณนั้น นายพรานผู้หนึ่ง นามว่า “ตาแพก” ได้ไล่ติดตามล่าแรดตัวสุดท้ายจากเทือกเขาภูพานจนมาถึงหนองน้ำแห่งหนึ่ง ในบริเวณนั้นแรดที่ได้ไล่ติดตามมานั้นก็ตายลง จึงได้ชื่อหนองน้ำว่า “หนองซำแฮด” (ซำ-ชน,แฮด-แรด)

นายพราน “ตาแพก”ได้สังเกตว่าบริเวณหนองน้ำแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งมีไม้ยูง ไม้ยาง หมากแงว หมากไฟ อยู่รอบบริเวณเป็นจำนวนมาก เมื่อกลับไปยังหมู่บ้านแล้วจึงแจ้งสิ่งที่ตนได้เห็นมา ชาวบ้านจึงส่งตัวแทนมาดูพื้นที่ตามคำบอกเล่าของนายพราน ก็เห็นว่าเป็นจริงตามที่ได้ฟังมา

ชาวภูไทจากบ้านเหล่าเตโชจึงได้อพยพลงมาตั้งหมู่บ้านด้านฝั่งตะวันออกของหนองซำแฮด โดยเมื่อแรกตั้งหมู่บ้านนั้นนายพราน “ตาแพก”ได้สร้างห้างบนต้นไม้อยู่เหนือหนองน้ำด้วย ชาวบ้านจึงได้เรียกหนองน้ำแห่งนั้นว่า “หนองห้าง” เรื่อยมา และได้จดทะเบียนเป็นชื่อหมู่บ้านหนองห้าง อย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ. 2386  แต่ในปัจจุบันหนองน้ำแห่งนี้ได้ตื้นเขินจนกลายเป็นที่นาของชาวบ้านไปหมดแล้ว”

บ้านหนองห้างนี้ปัจจุบันอยู่ในเขต อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ มีศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างมาก ทั้งการทำเครื่องจักสาน การทอผ้า วัฒนธรรมประเพณี และโดยเฉพาะ ศิลปะการฟ้อนรำ
การฟ้อนรำของชาวภูไทบ้านหนองห้างมีการแสดง 3 ชุด ได้แก่ ฟ้อนภูไท  เซิ้งกระหยัง และฟ้อนละคอน

 

ฟ้อนละคร

ฟ้อนละคร

ฟ้อนภูไท

ของบ้านหนองห้างจะแตกต่างจากที่อื่น ด้วยที่ชุดที่สวมใส่ในการฟ้อนภูไทจะไม่สวมเสื้อแขนยาว(เสื้อภูไท) เหมือนที่อื่นๆแต่จะห่มสไบเฉียงแทน
ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของการฟ้อนภูไทของหมู่บ้านแห่งนี้ จากการสัมพาทย์ นายสัมฤทธิ์ ชมศิริ  จึงได้ความว่า ชาวภูไทบ้านหนองห้างเป็นชาวภูไทวัง หรือภูไทใหญ่ ซึ่งจะมีการแต่งกายแตกต่างจากถิ่นอื่น

เซิ้งกระหยัง

บ้านหนองห้างเป็นแห่งแรกที่มีการแสดงชุดนี้ เมื่อกรมศิลปากรได้มาลงพื้นที่เพื่อศึกษาศิลปวัฒนธรรมของชาวภูไท และได้นำเอาชุดการแสดงเซิ้งกระหยัง ไปสร้างสรรค์ขึ้นใหม่เพื่อใช้แสดงในวงโปงลาง ซึ่งถือว่าเป็นชุดการแสดงที่มีชื่อเสียงอีกชุดหนึ่งที่ถือกำเนิดจากบ้านหนองห้าง

ความหมายของคำว่าละคอนหรือละคร

จากการสัมพาทย์ นายนิล นิลปัต อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่7 อายุ 67 ปี บ้านหนองห้าง ต.หนองห้าง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2552 ความว่า

“ละคอน” ตามความหมายดั้งเดิมของชาวภูไท คือความรื่นเริงสนุกสนาน มีลูกเล่นขณะฟ้อน และวาดลีลาในแบบของตน ฟ้อนละคอนจึงหมายถึงการฟ้อนรำที่แสดงออกถึงความรื่นเริงสนุกสนาน
(ในอีกนัยหนึ่งก็กล่าวว่า คำว่าละคอนหรือละคร เป็นการฟ้อนที่แสดงอาการเลียนแบบท่าทางของสัตว์หรือสิ่งต่างๆ เหมือนกับเป็นการแสดงละคร  สวมบทบาทจากท่าฟ้อนต่างๆนั่นเอง รวมถึงการฟ้อนเกี้ยวกันของชายหญิงที่แสดงออกถึงความรักต่อกัน ในฟ้อนละครไทย(ฟ้อนภูไทเรณูนคร) ก็ถือว่าเป็นการแสดงละครจากการฟ้อนอีกแบบหนึ่งเช่นกัน)

ฟ้อนละคอน(ละคร)ภูไทบ้านหนองห้าง

จุดประสงค์ของการแสดงฟ้อนละคอนภูไทบ้านหนองห้างนี้เป็นการฟ้อนรำเพื่อใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองเป็นหลัก และบางครั้งก็จะฟ้อนในงานประเพณีบุญข้าวจี่
การฟ้อนละคอนภูไทบ้านหนองห้าง เป็นลักษณะการฟ้อนมือเปล่าจะมีท่วงท่าและลีลาที่เป็นแบบแผนเฉพาะตน ด้วยนาฏยลักษณ์ของฟ้อนละคอนภูไทบ้านหนองห้าง เป็นการฟ้อนที่แสดงออกถึงความสามัคคีพร้อมเพรียง ของชายชาวภูไทในชุมชน  แต่ในกระบวนท่าฟ้อนที่มีระเบียบแบบแผนนั้นก็จะมีลูกเล่นเป็นอิสระ เช่น การเล่นหูเล่นตา การหยอกล้อหรือลักษณะลูกเล่นและการวาดท่าของแต่ละคน

กระบวนท่าฟ้อนของฟ้อนละคอนภูไทบ้านหนองห้าง จากการสัมพาทย์ นายนิล นิลปัต ผู้สืบทอดการฟ้อนละคอนและเป็นผู้นำในการฟ้อนทุกครั้ง ได้อธิบายว่า
ท่าฟ้อนของฟ้อนละคอนบ้านหนองห้าง ประกอบด้วยท่าฟ้อนต่างๆ 6 ท่า ได้แก่
1.ท่าไหว้ครู
2.ท่าช่อม่วง
3. ท่าบัวตูมบัวบาน
4.ท่ากินรีหลิ้น(เล่น)น้ำ
5. ท่าช้างเทียมแม่
6. ท่าอำลา
ส่วนท่าเท้าหรือลักษณะการขยับขาเวลาที่ฟ้อนจะเรียกว่า “ท่าเช็ดขี้ไก่” เพราะขณะที่ก้าวขาจะลากส้นไปกับพื้น เหมือนกับการเช็ดขี้ไก่ออกจากเท้านั่นเอง

เครื่องดนตรี

เครื่องดนตรีของฟ้อนละคอนภูไทบ้านหนองห้าง ประกอบด้วยเครื่องดนตรี 3 ชิ้นได้แก่ กลองตุ้ม กลองทว้า(ผางฮาด) และฉาบใหญ่  มีการบรรเลงคล้ายกับการบรรเลงเพลงกลองตุ้ม แต่มีจังหวะที่เร็วกว่า

ฟ้อนละคร

ฟ้อนละคร

การแต่งกาย

ผู้ฟ้อนเป็นชายล้วน รูปแบบการแต่งกายแบบดั้งเดิมนั้น จะแต่งกายด้วยผ้าไหมสีขาวล้วนประกอบด้วย เสื้อแขนยาวสีขาว โจงกระเบนสีขาว ใช้ผ้าขิดหรือผ้าขาวม้าโพกศีรษะและมัดเอว สวมเครื่องประดับเงินเช่น สร้อยคอ ก้องแขน(กำไล) ก้องขา(กำไลขา)

การแต่งกายในปัจจุบันจะเป็นการสวมชุดแบบนิยมของชายภูไท คือ สวมเสื้อผ้าฝ้ายแขนสั้นหรือแขนยาวย้อมคราม ที่คอเสื้อ ปกเสื้อและแขนเสื้อเย็บด้วยผ้าลายขิดหรือจก นุ่งโสร่งไหม ใช้ผ้าขิด แพรวาหรือผ้าขาวม้าโพกศีรษะและมัดเอว สวมเครื่องประดับเงินเช่น สร้อยคอ ก้องแขน(กำไล)


1 ความเห็นที่มีต่อฟ้อนละคอน(ละคร)ภูไทบ้านหนองห้าง

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*