หลักการออกแบบ โคก หนอง นา

หลักการออกแบบ โคก หนอง นา

หลักการออกแบบโคก หนอง นา เป็นการนำความรู้เกี่ยวกับการออกแบบภูมิทัศน์มาใช้ร่วมกับการทำเกษตร เพื่อให้คนทั่วไปสามารถออกแบบเองได้ ในหัวข้อที่แล้วได้พูดเกี่ยวกับการออกแบบ โคก หนองนา ไปเบื้องต้นแล้ว ซึ่งประกอบไปด้วย หลักการออกแบบ โคก หนอง นา และขั้นตอนการออกแบบ โคก หนอง นา

บทความนี้จะมาพูดถึงหลักการออกแบบ โคก หนอง นา โดยจะรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นและ สรุปให้เป็นหัวข้อเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

ปัจจัยในการออกแบบ

หลักการจัดวางตำแหน่ง

ในบทความการออกแบบ โคก หนอง นา โมเดล ได้พูดถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้อในการออกแบบคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และคน บทความนี้ก็จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมและสรุปเป็นข้อ ๆ

หนอง
หนอง

ดิน

สภาพดิน เป็นอย่างไร เป็นดินชนิดไหน แต่ละพื้นที่จะมีสภาพดินแตกต่างกัน เช่น ดินเหนียว ดินร่วน ดินทราย ดินเหนียวปนทราย ฯลฯ เพื่อที่จะได้รู้ว่าจะต้องมีการปรับปรุงสภาพดินอย่างไรให้เหมาะสม และจะได้รู้ว่าพืชที่เราต้องการจะปลูกนั้นเหมาะกับดินในพื้นที่ของเราหรือไม่

สภาพดินยังมีผลในเรื่องการแหล่งน้ำ จะต้องดูว่าดินที่พื้นที่ของเราสามารถกักเก็บได้ได้ดีแค่ไหน เพราะว่าดินแต่ละชนิดจะมีความสามารถในการกักเก็บน้ำแตกต่างกันไป เมื่อเรารู้แล้วว่าสภาพดินกักเก็บนำได้ไม่ดี เช่น ดินทราย ก็จะได้หาแนวทางหรือวิธีแก้ปัญหาล่วงหน้าไว้ได้

การขุดหนองหรือสระน้ำ เราจะได้ดินที่ขุดขึ้นมา ซึ่งดินที่ขุดหนองนี้จะนำไปทำโคกและพื้นที่เพาะปลูก พูดง่าย ๆ ก็คือนำมาถมที่บริเวณที่จะสร้างบ้าน

ดินแต่ละชั้นจะมีความอุดมสมบูรณ์แตกต่างกัน นั่นคือ ดินชั้นบนจะมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าดินชั้นล่าง ดินยิ่งลึกลงไปจะมีความอุดมสมบูรณ์น้อยกว่า เราจึงต้องควรจะนำดินที่อยู่ชั้นล่าง ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์น้อย ไปถมเป็นพื้นที่สร้างที่อยู่อาศัย และขุดเอาดินชั้นบนไปไปถมบริเวณที่เป็นพื้นที่เพาะปลูก

ดินที่ขุดได้จะนำไปถมบริเวณที่เป็นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ เพื่อป้องกันน้ำท่วม หรือเรียกง่าย ๆ ตามโคก หนอง นา โมเดลว่าไปทำเป็นโคก โดยทั่วไปจะให้โคกอยู่ทางทิศตะวันตกและปลูกไม้ใหญ่ไว้บนโคก เพื่อให้เป็นร่มเงาในช่วงบ่าย พร้อมปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เมื่อต้นไม้สูงใหญ่จะช่วยบังแดดและให้ร่มเงา

น้ำ

น้ำในที่นี้หมายถึงแหล่งน้ำ ที่จะมีผลกับพื้นที่ เช่น ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ต่อปี แหล่งน้ำสาธารณะภายนอกที่อยู่ใกล้เคียง คุณภาพและปริมาณของน้ำบาดาล คุณภาพของน้ำที่ไหลจากพื้นที่รอบ ๆ เข้ามาในพื้นที่ของเรา เป็นต้น

น้ำฝนเป็นแหล่งน้ำที่จะต้องกักเก็บไว้ให้ได้มากที่สุด และการกักเก็บน้ำฝนให้ได้มากก็คือเก็บไว้ในสระน้ำ ขนาดของสระน้ำและความลึกของสระก็ขึ้นอยู่กับว่ามีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีมากน้อยแค่ไหน (สามารถดูปริมาณน้ำฝนต่อปีได้ที่เว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา) เพราะถ้าฝนตกน้อย แต่เราขุดหนองหรือสระใหญ่เกินไป น้ำก็จะไม่เต็ม ทำให้เสียพื้นที่ไปโดยที่ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ หรือในทางตรงกันข้าม ถ้าขุดหนองหรือสระน้ำเล็กเกินไป ก็จะเก็บน้ำได้แค่บางส่วน ส่วนที่เกินจากความจุของหนองก็ไหลออกไปที่อื่น อาจจะทำให้มีปัญหาน้ำไม่พอต่อความต้องการในช่วงหน้าหนาวและหน้าร้อนด้วย

สามารถดูวิธิคำนวณพื้นที่หนองหรือสระน้ำได้ที่บทความ การคำนวณพื้นที่และปริมาตรสระน้ำในการออกแบบ โคก หนอง นา

แหล่งน้ำสาธารณะภายนอก หรือแหล่งน้ำของเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงก็เป็นปัจจัยที่มีผลเช่นกัน คือ บางพื้นที่ที่อยู่ติดแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น คลอง แม่น้ำ ที่มีน้ำตลอดทั้งปีและสามารถนำน้ำนั้นมาใช้ในพื้นที่ได้ ก็อาจจะไม่ต้องขุดหนองหรือสระน้ำให้ใหญ่มาก เพื่อที่จะได้ลดค่าใช้จ่ายในการขุด และได้พื้นที่เพิ่มที่สามารถนำไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้

นอกจากแหล่งน้ำสาธารณะที่อยู่ภายนอกพื้นที่ ก็ยังมีน้ำบาดาลที่สามารถสูบขึ้นมาใช้ได้เช่นกัน เราสามารถดูจากบ่อบาดาลที่อยู่ใกล้เคียงว่ามีคุณภาพและปริมาณมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะประเมินร่วมกับหนองหรือสระน้ำที่เราจะขุด ให้มีน้ำไว้ใช้เพียงพอในช่วงนอกฤดูฝน

แต่ถ้าเป็นพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำอื่น ๆ เลย ก็จะต้องพิจารณาว่าจะขุดใหญ่และลึกแค่ไหน เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการในพื้นที่ตัวเอง

นอกจากน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ของเราแล้ว ก็ยังมีน้ำที่ไหลมาจากพื้นที่รอบ ๆ ด้วยเช่นกัน (กรณีที่พื้นที่ของเราเป็นพื้นที่ต่ำหรือลุ่ม) ซึ่งก็สามารถนำมากักเก็บไว้ในพื้นที่ ทำให้มีน้ำเพิ่มขึ้นไปอีก

แต่ก็ต้องดูคุณภาพของน้ำที่ไหลมาด้วย ว่ามีการปนเปื้อน หรือสะอาดมากน้อยแค่ไหน เช่น กรณีที่เราต้องการทำการเกษตรแบบอินทรีย์และพื้นที่รอบ ๆ มีการใช้สารเคมี ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ฯลฯ เมื่อฝนตกและชะล้างสารเคมีที่ตกค้างหรือปนเปื้อนสารพิษต่าง ๆ แล้วไหลเข้ามาในพื้นที่ของเรา อาจจะทำให้แหล่งน้ำ พืชที่เพาะปลูกในพื้นที่ของเราปนเปื้อนสารเคมีพวกนี้ไปด้วย

น้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีที่ไหลเข้ามาในพื้นที่ อาจจะทำให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน้ำไม่สามารถอยู่ได้ เช่น สัตว์น้ำ แมลงน้ำ บางชนิดที่อาศัยอยู่เฉพาะแหล่งน้ำที่สะอาด หรือพืชน้ำบางชนิด เช่น ไข่ผำ เทา ไม่สามารเจริญเติบโตได้

และเรื่องทางไหลเข้าไหลออกของน้ำ โดยดูทางไหลของน้ำว่า น้ำจากภายนอกพื้นที่ไหลเข้ามาบริเวณไหน และน้ำในพื้นที่ไหลออกไปข้างนอกบริเวณไหน เพื่อออกแบบตำแหน่งขุด เพื่อรับน้ำเข้าออกเก็บไว้ในสระน้ำ หรือทำคันดินหรือคลองไส้ไก่เปลี่ยนทางน้ำไม่ให้ออกไปนอกพื้นที่ของเราได้

ทิศทางลมและดวงอาทิตย์กับการออกแบบ โคก หนอง นา
ตัวอย่างการเลือกตำแหน่งหนองหรือสระน้ำ

ลม

ลมจะพัดผ่านพื้นที่ในทิศทางแตกต่างกันออกไปตามฤดูกาล การออกแบบพื้นที่ให้สอดคล้องกับลมที่พัดมาในแต่ละฤดูกาล จะช่วยลดการใช้พลังงานและลดปัญหาต่าง ๆ ได้

โดยปกติ ทิศทางของลมในฤดูกาลต่าง ๆ จะมีทิศทางดังนี้

  • หน้าฝน ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดพาฝนและความชื้นมา ลมจะพัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
  • หน้าหนาว กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ลมจะพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ลงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
  • หน้าร้อน กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ลมพัดจากมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เหมือนกันกับลมฝน และยังพัดจากทิศใต้ขึ้นไปทิศเหนือ พัดจากทิศตะวันตกออกเฉียงใต้ขึ้นไปทิศตะวันตกเฉียงเหนือด้วยในบางช่วง

ทิศตะวันตกเฉียงใต้จะเป็นทิศที่มีฝนสาดเข้ามามากที่สุด หน้าฝนจะเริ่มกลางเดือนพฤษภาคมแล้วทิ้งช่วงไป และกลับมาตกหนักในเดือนกรกฎาคมจนไปถึงเดือนตุลาคม แต่ภาคใต้ จะมีฝนตกไปตลอดจนถึงปลายปี โดยมีทิศทางลมประจำถิ่นดังนี้

ตัวอย่างการพิจารณาทิศทางของลมกับกิจกรรมในพื้นที่

  • บริเวณที่มีการหุงต้มหรือทำกับข้าว ควรจะอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เพื่อให้ลมพัดความร้อนและควันไฟออกไปจากบริเวณนั้น
  • กิจกรรมที่ส่งกลิ่นหรือควัน เช่น พื้นที่เลี้ยงสัตว์ พื้นที่ทำปุ๋ย เตาเผาถ่าน ไม่ควรจะอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะลมหนาวจะพัดเอากลิ่นและควันเข้ามาในพื้นที่ รวมไปถึงลานตากข้าวหรือนาข้าว ก็ไม่ควรอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะละอองหรือเกสรของข้าวและฟางข้าง จะพัดเข้ามา อาจจะทำให้แพ้หรือระคายเคืองในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ได้
  • ไม้ยืนต้น ไม้ขนาดใหญ่ ปลูกในทิศตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อใช้เป็นแนวกันลมในช่วงพายุฤดูฝน แต่ก็ต้องเลือกต้นไม้ที่สามารถทนต่อแรงลมได้ ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดผลเสียต้นไม้โค่นล้มลงมาเกิดความเสียหายและอันตรายได้เช่นกัน
  • ปลูกไม้ยืนต้นหรือไผ่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเป็นแนวกันลมหนาวที่พัดเข้ามา ช่วยบรรเทาความหนาวลงมาได้บาง
  • หนองหรือสระน้ำควรอยู่ในทิศตะวันตกเฉียงใต้ หรือทิศใต้ เพื่อให้ลมในหน้าร้อนพัดเอาความชื้นจากน้ำในสระ เข้ามาในพื้นที่ ช่วยให้ร้อนน้อยลง
  • ไม่ควรขุดสระในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะลมหนาวจะพัดเอาความชื้นเข้ามา ยิ่งทำให้อากาศเย็นลงไปอีก
ทิศทางลมและดวงอาทิตย์กับการออกแบบ โคก หนอง นา
ตัวอย่างทิศทางของลมในฤดูต่าง ๆ

ไฟ

ไฟ ในที่นี้หมายถึงดวงอาทิตย์ เพื่อให้จำง่าย ๆ จึงใช้คำว่า ไฟ แทนคำว่าดวงอาทิตย์

ดวงอาทิตย์มีผลกับการออกแบบ โคก หนอง นา ดังนี้

  • ถ้ามีบ้านหรือพื้นที่อยู่อาศัยติดกันหนองหรือสระน้ำ สระน้ำไม่ควรจะอยู่ทิศตะวันออกและทิศตะวันกกของบ้าน เพราะแสงแดดในตอนสายและบ่ายจะสะท้อนผิวน้ำกระทบมาบริเวณที่อยู่อาศัย ทำให้ร้อนขึ้นไปอีก
  • ปลูกพืชที่ชอบแดดจัดไว้ทิศตะวันตก และทิศตะวันออก ปลูกพืชที่ไม่ชอบแดดจัด ถัดจากพืชขนาดใหญ่ เพื่อให้อยู่ใต้ร่มของไม้ขนาดใหญ่
  • ถ้าต้องการให้ต้นไม้ได้รับแสงเท่ากันตลอดทั้งวัน ควรจะปลูกเรียงในแนวเหนือใต้

เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตก แต่ยังมีรายละเอียดย่อยลงไปอีกว่า การเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ไม่ได้ไม่ได้ขึ้นทิศตะวันออกตรง ๆ และก็ไม่ได้ตกในทิศตะวันตกตรง ๆ แต่จะมีการเยื้องไปทิศเหนือหรือใต้ด้วย ตามแต่ละฤดูกาล

ทิศทางลมและดวงอาทิตย์กับการออกแบบ โคก หนอง นา
ตัวอย่างตำแหน่งดวงอาทิตย์ในฤดูต่าง ๆ

อีสานร้อยแปดได้รวบรวมเว็บไซต์ที่ให้เข้าไปดูตำแหน่งของดวงอาทิตย์ได้ ดังนี้

  • https://www.sunearthtools.com/dp/tools/pos_sun.php?lang=en
  • https://www.suncalc.org/
  • http://suncalc.net/

คน

ออกแบบให้เหมาะสมกับความต้องการ เช่น ต้องการทำเกษตรแบบผสมผสาน ทำแบบวนเกษตร ต้องการเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นหลัก ต้องการปลูกไม้ผลเป็นหลัก เป็นต้น รวมไปถึงจำนวนคนที่จะไปอยู่อาศัยในพื้นที่ว่ามากน้อยแค่ไหน ต้องแบ่งพื้นที่อยู่อาศัยยังไงถึงจะเหมาะสมกับจำนวนคน เป็นต้น

ในการออกแบบจะต้องอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องขึ้นอยู่กับเจ้าของพื้นที่หรือผู้อยู่อาศัย เช่น บางคนอาจจะอยากจะขุดสระทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะบ้านที่สร้างไว้อยู่แล้วหันหน้าไปทิศนั้น จึงอยากจะให้บ้านมีวิวมองเห็นสระน้ำ เป็นต้น

ทิศทางลมและดวงอาทิตย์กับการออกแบบ โคก หนอง นา
ตัวอย่างการวางตำแหน่งกิจกรรมตามทิศของลมและดวงอาทิตย์

โคก

นำดินที่ขุดหนองมาทำโคก โดยให้โคกอยู่ทางทิศตะวันตก ปลูกไม้ใหญ่ไว้บนโคก ปลูกป่า 3 อย่าง ไม้พอกิน พออยู่ พอทำเครื่องใช้ ไม้สอย

โคกอยู่ทางทิศตะวันตก เมื่อปลูกต้นไม้สูง ๆ ไว้บนโคกหรือเนินก็จะสามารถบดบังแสงอาทิตย์ยามบ่ายซึ่งร้อนจัดไม่ให้เข้ามาแผ่ความร้อนในบ้านได้

สร้างโคกบนพื้นที่ของตนเอง จากการนำดินที่ได้จากการขุดหนอง นำมาถมเป็นโคกเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์

สร้างระบบนิเวศสมดุล โคกเก็บน้ำไว้จากป่าบนโคก น้ำเก็บในใต้ดินได้ประมาณ 50% ของปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา

ปลูกป่าต่างระดับ 5 ชั้น ไม้สูง ไม้กลาง ไม้เตี้ย ไม้เรี่ยดิน และพืชหัว เพื่อให้รากสานกันหลายระดับ กักเก็บน้ำและป้องกันการพังทลายของดิน

ปลูกพืชพันธุ์หลากหลายชนิด ใบไม้ที่ร่วงหล่นจะช่วยปกคลุมหน้าดิน ในขณะที่รากจำนวนมากช่วยดูดซับน้ำฝน เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใต้โคกเป็นน้ำใต้ดินเพิ่มความชุ่มชื้น

ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ไม้กลาง เตี้ย เรี่ยดิน และพืชหัว เมื่อต้นไม้สูงพอควรจะสามารถบดบังแสงอาทิตย์ยามบ่ายไม่ให้เข้ามาแผ่ความร้อนในบ้านได้ บ้านจึงร่มเย็นทั้งกลางวันและกลางคืน

ป่าไผ่ ใช้เป็นไม้ใช้สอย อยู่ในทิศทางบังลม ช่วยลดการระเหยของน้ำในหนอง และเลี้ยงไก่อินทรีย์แบบเปิดในป่าไผ่

หนอง

ขุดสระรูปร่างอิสระ ไม่เป็นสี่เหลี่ยม คดโค้งเลียนแบบธรรมชาติ มีขอบคดเคี้ยวเพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกพืชขอบริมสระ

สระมีความลึกเพียงพอ เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งหรือจำเป็น และสามารถใช้เป็นที่รองรับน้ำยามน้ำท่วมหลาก มีความลึกหลายระดับ เพื่อให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตและสัตว์น้ำ

ขุดสระโดยทำตะพักหรือความลดหลั่นของระดับความลึกให้ไม่เท่ากัน โดยชั้นแรกควรมีความสูงเท่ากับระดับของแสงแดดที่ส่องลงไปถึง เพื่อให้เป็นชั้นที่สัตว์น้ำสามารถวางไข่ และอนุบาลสัตว์น้ำได้

ทำแซนวิชปลา (หญ้าและฟางกองสลับกับปุ๋ยหมักไว้ที่ต้นน้ำสร้างแพลงก์ตอนและไรแดง) เพื่อเพิ่มอาหารให้กับสัตว์น้ำ

ปลูกไม้น้ำ หรือพืชน้ำเพื่อให้เป็นแหล่งวางไข่ และที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์น้ำ

วางตำแหน่งหนองน้ำในทิศที่ให้ลมร้อนพัดผ่านก็จะทำให้บ้านมีความเย็นยิ่งขึ้น

ขุดบ่อพักน้ำไว้เป็นระยะ เพื่อดักน้ำให้กระจายทั่ว ลดภาระการรดน้ำ เพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในบริเวณ

น้ำระเหยปีละ 300 วัน วันละ 1 ซม. น้ำระเหยปีละ 3 เมตร ดังนั้นต้องขุดลึกกว่า 3 เมตร จึงจะเหลือน้ำพอในหน้าแล้ง หนอง ควรอยู่ทางทิศที่ลมร้อนพัดผ่าน เพื่อให้พัดความเย็นเข้าบ้านได้

นา

ยกหัวคันนาสูงอย่างน้อย 1 เมตร เก็บน้ำไว้เท่าความสูงและขนาดกว้าง ยาว ของนา นา 1 ไร่ ขนาด 1600 ตร.ม. ยกคันนาสูง 1 เมตร เก็บน้ำได้ 1600 ลบ.ม. น้ำซึมลงดินอย่างน้อย 50% เหลือน้ำครึ่งหนึ่งของปริมาณฝนที่ตก

นา ยกหัวคันนาให้กว้างและสูงอย่างน้อย 1 เมตร ธรรมชาติของข้าวจะทะลึ่งน้ำไม่จมน้ำตาย เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำไว้ในนา ขุดร่องใกล้หัวคันนา เป็นที่อยู่ของปลา ปู

ปั้นหัวคันนาให้มีความกว้างมากพอที่จะปลูกต้นไม้ พืชผัก ให้มีรากยึดเหนี่ยวคันนา และเพิ่มพื้นที่ทำกิน

ทั้งหมดนี้อีสานร้อยแปดได้สรุปหลักการออกแบบ โคก หนอง นา มาแบ่งปันให้ได้ลองเอาไปใช้กับพื้นที่ของตัวเอง หากมีคำถามหรือข้อสงสัยก็สามารถคอมเมนต์คำถามหรือแนะนำติชมไว้ได้เลยเด้อครับ เดี๋ยวทีมงานจะมาช่วยตอบคำถามให้ครับ

คลอง

คลองไส้ไก่ ช่วยระบายน้ำรอบพื้นที่ โดยขุดให้มีลักษณะคดเคี้ยว เพื่อให้น้ำไหลได้ทั่วถึงตลอดทั้งพื้นที่เพื่อใช้ทำการเกษตรและช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผืนดินและต้นไม้โดยรอบ

ขุดให้คดเคี้ยวในพื้นที่ เป็นทางน้ำบนดินเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับพื้นที่ ไม่ต้องวางท่อ ไม่ต้องติดระบบรดน้ำ

ขุดบ่อพักน้ำไว้เป็นระยะ เพื่อดักน้ำให้กระจายทั่ว ลดภาระการรดน้ำ เพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในบริเวณ

สร้างฝายชะลอน้ำ ฝายกักตะกอน ตามคลองไส้ไก่ หรือทางน้ำ ฝายช่วยชะลอความเร็วของน้ำ และทำหน้าที่ดักตะกอนไม่ให้ไหลลงไปในหนอง นำตะกอนที่ได้กลับมาทำปุ๋ยหมัก

ฝายชะลอน้ำ ช่วยชะลอและกักเก็บน้ำจากต้นน้ำไว้ในพื้นที่ เพื่อไม่ให้น้ำหลากลงมาสร้างความเสียหายกับพื้นที่ลุ่มด้านล่าง

ช่วยกักตะกอนดินไม่ให้ลงมาสะสมในหนอง คลอง บึง หรือเขื่อน นอกจากนั้น สำหรับพื้นที่กลางน้ำฝายชะลอน้ำยังช่วยยกระดับน้ำเพื่อเก็บไว้ในพื้นที่อีกด้วย


7 ความเห็นที่มีต่อหลักการออกแบบ โคก หนอง นา

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*