แมงขี้สูด

ชื่อ   แมงสูด , แมงขี้สูด  ( นักพรตแห่งโพนปลวก )
ชื่อวิทยาศาสตร์   Tetragonisca ,Trigona apicalis และ Trigona Collina
วงศ์   Stingless bee

แมงสูด เป็นชื่อของแมลงชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในตระกูลผึ้ง มีขนาดลำตัวเล็กๆ  และไม่มีเหล็กในในตัวเอง
นิสัยเป็นมิตร ไม่ดุร้าย มีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกับผึ้ง  มีวรรณะ เช่น มีนางพญา(แม่รัง)  มีสูดงาน( ไม่มีเพศ )
และมีสูดสืบพันธุ์  ( มีทั้งตัวผู้ตัวเมีย )  สามารถผลิตน้ำหวาน และขยายเผ่าพันธุ์ได้
ทางภาคเหนือจะเรียกว่า “แมลงขี้ตึง” แปลว่าแมลงที่ผลิตหรือเก็บน้ำยางได้ ทางภาคอีสานเรียก” แมงขี้สูด”
นิยมนำมาอุดแคน หรือถ่วงเครื่องดนตรีเกือบทุกชนิด ทำให้เกิดเสียงไพเราะ ส่วนภาคใต้เรียกตัว “อุง”
สำหรับภาคกลาง รู้จักในชื่อตัว “ชำมะโรง “ หรือ “ชันโรง”

บางครั้งทำรังในระดับทางเดินของคน มีชื่อเรียกภาษาอีสานว่า” สูดเพียงดิน” หมายถึงแมลง
ชนิดนี้ ทำรังระดับเดียวกันกับพื้นดิน แล้วทำท่อขึ้นมาจากพื้นดินครับ ซึ่งปกติแล้วแมลงชนิดนี้มักจะทำรังในที่สูงครับ เช่นโพรงไม้หรือจอมปลวกครับ”สูดเพียงดิน” นี้ค่อนข้างจะหายาก
ครับ ถ้าใครเจอให้เก็บไว้เลยนะครับเป็นของดี
เอามาใส่เครื่องดนตรีชนิดใด ก็ไพเราะจนคนไหลหลง  อีกทั้งผู้ร่ำเรียนไสยศาสตร์ มักจะนำไป
ปลุกเสกเป็นมหานิยม แล

แมงขี้สูด

แมงขี้สูด

ขี้สูด อะไร ( ทำไมต้องสูด )

ขี้สูด เป็นแมลงสังคม (Social insect) กลุ่มเดียวกับผึ้ง ลักษณะที่สำคัญแตกต่างกันไปจากผึ้งคือ เป็นผึ้งขนาดเล็กที่ไม่มีเหล็กใน เป็นแมลงที่เชื่องไม่ดุร้ายกับศัตรู
บางชนิดขี้อายชอบหลบอยู่ในรูหรือโพรงไม้ อยู่ในวงศ์ผึ้ง กลุ่มนี้ว่า”Stingless bee”
สามารถสร้างน้ำหสานได้เช่นกัน คำว่า “ขี้สูด” เป็นชื่อเรียกพื้นเมือง (Verrnacular name) ทั่วไป
ของภาคอีสาน  ที่มาของคำนี้สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากลักษณะการสร้างรังเนื่องจากแมลงกลุ่มนี้ได้เก็บหา ยาง(gum) ชัน (resin) ของต้นไม้ แล้วนำมาอุดยาชันรอบๆ ปากรังและภายใน เพื่อป้องกันน้าไหลซึมเข้ารัง และยังเป็นการป้องกันศัตรูบริเวณปากรัง   ตัวอ่อนเมื่อกินน้ำหวานแล้ว จะขับถ่าย

เกสร หรือยางไม้ออก พวกวรรณะงาน ( ตัวสูดไม่มีเพศ ) จะขนถ่ายเศษเหล่านั้นไปสะสมไว้ใต้รัง
ส่วนนี้เองที่เรียกว่า”ขี้สูด”  เนื่องจากมีกลิ่นหอมแปลก ๆ จากยางไม้ดอกไม้นาๆ ชนิด
หากจับต้องแล้ว เป็นต้องดม สูดกลิ่นอันนี้ ประหลาดแท้ จึงเรียกว่า ขี้สูด
อีกอย่าง สมัยโบราณ ไม่มีส้วม จึงอาศัยตื่นแต่เช้า ไปขี้ อยู่ข้างโพน  บังเอิญเจอแมงอันนี้
จึง โก่งโก้ยไป สูดดมปล่องรัง  ได้ทั้งกลิ่นขี้ ได้ทั้งกลิ่นน้ำหวาน แมงอันนี้
จึงตั้งชื่อว่า ” แมงขี้สูด ” แล

ลักษณะสัณฐานวิทยาของ แมงขี้สูด

สำหรับขนาดตัวของแมงขี้สูดโดยเฉลี่ยมีขนาดเล็กกว่า ผึ้งพันธุ์ประมาณ 2-3 เท่า
เป็นแมลงที่รวมกันอยู่เป็นสังคมเช่นเดียวกับ ผึ้งรวง (ผึ้งมิ้ม ผึ้งหลวง และผึ้งเลี้ยง) ภายใน
สังคมแบ่งออกเป็น 3 วรรณะ คือ นางพญา(Queen) ตัวงาน (Worker) และตัวสืบพันธุ์(Male)
โดยที่ขนาดลำตัวระหว่างนางพญา กับตัวงานมีขนาดแตกต่างกันมาก ตัวสืบพันธุ์มีขนาดใกล้เคียง
หรือเล็กกว่านางพญาเล็กน้อย

ลักษณะทั่วไปของนางพญา

ส่วนหัวมีตารวม มีหนวด 1 คู่ ตาเดี่ยว 3 ตา ช่วงท้อง(Metasoma) ไม่เป็นรูปปิระมิดมีลิ้นเป็นงวงยาว ขา3 คู่ ขาคู่หน้าและ
คู่กลาง ค่อนข้างเล็กขาหลังเรียวไม่แผ่แบน ไม่มีเหล็กใน

ลักษณะทั่วไปของแมงสูดงาน

ตัวของ”สูดงาน”ตัวงานมีจำนวน 12 ปล้อง มีคล้ายนางพญาแต่ขนาดลำตัวเล็กกว่า กรามพัฒนาดีต่อการใช้งาน ขาคู่หลังแผ่กว้างเป็นใบพายมีขนจำนวนมาก รูปร่างคล้ายหวีสำหรับใช้เก็บละอองเรณูของดอกไม้มีปีกปกคลุมยาวเกินส่วนท้อง และไม่มีเหล็กใน

ลักษณะทั่วไปของแมงขี้สูดสืบพันธุ์

ลำตัวมีจำนวน 13 ปล้อง คล้ายนางพญา มีขนาดเล็กกว่า หรือใกล้เคียงกัน ตารวมเจริญพัฒนาดี กรามพัฒนาไม่ดีพอต่อการใช้งาน หนวดยากกว่าวรรณะทั้งสองโค้งเว้าเป็นรูปดัวยู ปลายส่วนท้องปล้องสุดท้ายมีครีบสำหรับผสมพันธุ์ (genitalia) ส่วนของขาคล้ายกับ
“ สูดงาน “  แต่ขาคู่หลังของชันโรงตัวผู้เล็กกว่า

รังและพฤติกรรมการสร้างรัง

ลักษณะรัง การสร้างรังในป่าธรรมชาติเกิดจากการที่สูดวรรณะงานบางตัวเสาะหาแหล่งที่
จะสร้างรังใหม่เนื่องจากประชากรในรังเก่ามาก แออัดมาก และมีนางพญารุ่นลูก (daughter queen) เกิดขึ้นมา ทำให้ต้องแยกรังออกไปสร้างใหม่ ซึ่งพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ฤดูผสมพันธุ์ของมัน
การสร้างรัง ขึ้นอยุ่กับแต่ละชนิด แต่ละชนิดเลือกสถานที่สร้างรังต่างกันสามารถแยกลักษณะของการสร้างออกได้ 4 กลุ่มมีดังนี้

1. กลุ่มที่สร้างอยู่รูอยู่ตามชอกหลืบต้นไม้ที่มีโพรงของต้นไม้ขนาดใหญ่ ทั้ง ที่ยืนต้นมีชีวิตที่
อยู่ และยืนต้นตาย (Trunk nesting) เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่พบในบ้านเรา เช่น “แมงขี้สูดโกน” (Trigona apicalis)
2. กลุ่มที่สร้างรังอยู่ในโพรงใต้ดิน (Ground nesting) โดยรังจะถูกสร้างอยู่ใต้ดิน บริเวณ จอมปลวก
ชนิดที่พบในบ้านเรา คือ” ขี้สูดโพน” (Trigona Collina)
3. กลุ่มที่สร้างรังอยู่ในโพรงตามพื้นดิน เรียกว่า “ สูดเพียงดิน “
4.กลุ่มที่ทำรังตามหลืบ รอยแตกของต้นไม้ กิ่งไม้  หรือรูเล็ก ๆ ตามต้นไม้ ตามธรรมชาติ
หรือทำรังในโพรง ต้นไม้ กลุ่มนี้มีตัวเล็กกว่า ชนิดที่ผ่านมา  เรียกว่า ” แมงน้อย ”

แมงขี้สูดนี้จะสร้างปากรังออกมาเป็นหลอดกลมหรือแบนที่สร้างด้วยยาง หรือชันไม้โดยที่ชแต่ละชนิดมีรูปร่างปากรูใกล้เคียงกันหรือแตกต่างกันไปตามชนิดของมัน
ภายในรังมีการสร้างเป็นเซลล์ หรือ หน่วยๆ เพื่อให้นางพญาวางไข่ และตัวงานเก็บ ละอองเรณู น้ำหวานเพื่อใช้เลี้ยงตัวอ่อน เซลล์เรียงตัวเป็นชั้นๆ ไปตามแนวนอน ตามพื้นที่ภายในรังจะอำนวย วกวนไปมาหลายๆชั้นโดยที่ผนังเซลล์แต่ละหน่วยถูกสร้างเป็นผนังบางๆ
จากชันยางไม้ผสมไขที่ชันโรงสร้างเคลือบเอาไว้
ภายในรังสามารถแยกเซลล์ออกเป็น หลอดนางพญา หลอดตัวงาน หลอดเก็บเกสร
และหลอดเก็บน้ำหวาน  และ ท้ายสุด หลอดที่เก็บขี้สูด

การเกี่ยวข้องกับวิถีอีสาน

สมัยเป็นเด็กน้อยเวลาไปทุ่งนากับพ่อ ชอบไปดูตามจอมปลวกหนือโพน ด้วยความอยากรู้
ไปเจอรังของแมลงเล็ก ๆ ถามพ่อ ๆ บอกว่าเป็นรังของแมงสูด หรือตัวขี้สูด
พ่อบอกว่า เมื่อออกพรรษาแล้ว ชาวบ้านจะมาหาขุดเอา น้ำหวานจากรังของมัน
รวมทั้ง “ขี้สูด” เพื่อเอาไปทำประโยชน์

พอโตขึ้นได้เที่ยวไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ไปเจอชาวบ้านใช้คุหาบน้ำ ที่สานจากไม้ไผ่เอาขี้สูดทาเครือบไว้
กันน้ำรั่ว เวลาเล่นว่าวจุฬา เอาขี้สูดติดตรงรอยต่อของ”สะนูว่าว” ปล่อยว่าวลอยลมขึ้นฟ้า
เสียง”สะนู”ดังก้องท้องทุ่งทั้งคืน แคนที่เป็นเครื่องดนตรีดึกดำบรรพ์ของโลก ก็เอาขี้สูดติดที่เต้าแคนกับลำแคนที่ทำมาจากต้นอ้อ โหวตเครื่องเป่าก็ใช้ขี้สูดติด รวมทั้งการทำหน้ากลองเอย
ชาวบ้านก็เอาขี้สูดติด

กลิ่นของขี้สูดมักมีกลิ่นหอมแปลก ๆ ของยางไม้หรือเกสร
อนึ่งบนหิ้งพระของปู่ มีก้อนขี้สูดเพียงดิน ปั้นเป็นรูปพระ แกเล่าว่า ผ่านการปลุกเสกมาแล้ว
เอาไว้ทำมาค้าขาย เมตตามหานิยม เป็นของดี
จะเห็นได้ว่า “ขี้สูด” ข้องเกี่ยวทางวิถีอีสานหลายอย่าง  ยกแคนขึ้นมาเป่า เอากลองมาตี
เอา “โตดโต่ง “ ( พิณ ) มาดีด ก็จะได้กลิ่น”ขี้สูด”  เอา “สะนู” มาเล่นยามลมห่าว
ก็มีขี้สูดติด นับว่าเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม หลายอย่าง
อีกทั้งแมลงชนิดนี้ช่วยในการผสมเกสร ดอกไม้ต่างๆ ทำให้ผลไม้ติดผลดี  นิสัยก็ไม่ดุร้าย
ไม่เคยทำลายใคร ดังนักพรตแห่งจอมปลวก  เครื่องดนตรีของภาคอีสาน ล้วนต้องมีขี้สูด
ข้องเกี่ยวทั้งนั้น เสมือน จะบอกว่า
“ ดนตรีมิเคยทำร้ายใคร มีแต่เอิบอิ่มเติมเต็ม “ ดังเช่นนิสัยแมงขี้สูด


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*