ขั้นตอนการออกแบบ โคก หนอง นา

ขั้นตอนการออกแบบ โคก หนอง นา พร้อมตัวอย่าง

ในบทความนี้จะอธิบายขั้นตอนการออกแบบ โคก หนอง นา และยกตัวอย่างไปพร้อมกันเพื่อให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น ถ้ายังไม่รู้จักว่า โคก หนอง นา โมเดล คืออะไร? สามารถอ่านได้ที่บทความ โคก หนอง นา โมเดล และการออกแบบ โคก หนอง นา เพื่อปูความรู้ความเข้าใจพื้นฐาน ก่อนที่จะเริ่มลงมืออกแบบจริง

  1. สิ่งที่ต้องเตรียม
  2. สำรวจพื้นที่
  3. วิเคราะห์พื้นที่
  4. จัดกลุ่มกิจกรรม
  5. ออกแบบขั้นต้น

สิ่งที่ต้องเตรียม

  • กระดาษ A3 สามารถหาซื้อได้ตามร้านเครื่องเขียนหรือร้านถ่ายเอกสาร ถ้าไม่มีก็สามารถใช้กระดาษ A4 2 แผ่น ต่อกันก็จะได้ขนาดเท่ากับกระดาษ A3 พอดี (ใช้ด้านยาวของกระดาษ A4 ต่อกัน) หรือสามารถใช้กระดาษอะไรก็ได้ที่มีขนาด 297 x 420 มม. เราสามารถใช้กระดาษที่มีขนาดใหญ่หรือเล็กกว่านี้ก็ได้ แต่สาเหตุที่แนะนำให้ใช้กระดาษ A3 เพราะว่าไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป สามารถนำออกไปดูแบบที่หน้างานได้สะดวกที่สุด
  • ดินสอหรือปากกา ถ้าใช้ดินสอจะลบและเขียนใหม่สะดวกกว่า
  • ยางลบ
  • ไม้บรรทัด
  • เครื่องคิดเลข ใช้สำหรับคำนวณตัวเลขระยะต่าง ๆ เพราะการเขียนแบบลงกระดาษจะต้องมีการย่อส่วนลงมาเพื่อให้เขียนลงกระดาษได้ตามสัดส่วนจริง
เตรียมกระดาษขนาด A3 (297 x 420 มม.)
เตรียมกระดาษขนาด A3 (297 x 420 มม.)

สามารถดาวน์โหลดรูปภาพนี้ไปใช้เพื่อเป็นต้นแบบการออกแบบได้โดยคลิกที่รูปภาพ

เมื่อเตรียมอุปกรณ์การออกแบบเสร็จแล้ว ต่อไปก็มาทำความเข้าใจกันก่อน ว่าขั้นตอนการออกแบบจะประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอนหลัก (แต่ละคนอาจจะแตกต่างมากหรือน้อยกว่านี้ได้)

  1. สำรวจพื้นที่
  2. วิเคราะห์
  3. การสังเคราะห์ (การจัดกลุ่มกิจกรรม)
  4. การออกแบบขั้นต้น
  5. การออกแบบขั้นสุดท้ายและการเขียนแบบ

สำรวจพื้นที่

การสำรวจพื้นที่จะมีข้อมูลต่าง ๆ ที่ต้องดูและบันทึกไว้ สามารถดูได้ในบทความ หลักการออกแบบ โคก หนอง นา และในบทความนี้ก็จะสรุปรายการที่ต้องสำรวจพื้นที่เป็นข้อ ๆ ดังนี้

  • สภาพภูมิประเทศ เป็นที่ราบ เนินเขา หรือเป็นดอนสลับที่ลุ่ม เพราะมีผลกับการไหลของน้ำ
  • ความลาดชัน พื้นที่มีระดับลาดชันมากน้อย ลาดจากด้านไหนไปด้านไหน จะเกี่ยวกับเรื่องน้ำไหลและความเหมาะสมในการสร้างอาคาร และสำหรับวางแผนแก้ปัญหาการชะล้างหน้าดิน
  • สภาพดิน ดินเป็นชนิดไหน กักเก็บน้ำได้ดีแค่ไหน ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และพืชที่เหมาะกับดินในพื้นที่ เพราะในบางพื้นที่อาจจะต้องมีการปรับปรุงดินให้มีสภาพเหมาะสมต่อการเพาะปลูก
  • พืชที่มีอยู่เดิม เพื่อเป็นข้อมูลว่าพืชชนิดไหนเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ ดูว่าพืชที่มีอยู่จะเก็บไว้ให้เจริญเติบโตหรือจะตัดทิ้ง ตัวอย่างเช่น บางพื้นที่เคยปลูกยูคาลิปตัสมาก่อน และอยากจะรื้อถอนออก ซึ่งก็ต้องมาพิจารณาว่าค่าใช้จ่ายในการขุดต้นยูคาลิปตัสออกมากน้อยแค่ไหน หรือสามารถปล่อยไว้ตามเดิมได้โดยที่ไม่มีผลกับพืชที่จะปลูกใหม่
  • การใช้ที่ดินในปัจจุบัน ลักษณะการทำเกษตรเดิมปลูกพืชชนิดไหน ถ้าจะปรับพื้นที่จะต้องออกแบบอย่างไรไม่ให้กระทบกับการเกษตรที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
  • อาคารและสิ่งปลูกสร้างในปัจจุบัน ใช้งานเป็นที่อยู่อาศัย โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ เพื่อที่จะออกแบบกิจกรรมอื่น ๆ ไม่ให้มีผลกระทบกับการใช้งานอาคารที่มีอยู่เดิม
  • สาธารณูปโภค ได้แก่ ถนน ประปา ไฟ ท่อระบายน้ำ แหล่งน้ำ ฯลฯ เพื่อที่จะได้วางแผนและจัดเตรียมสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในพื้นที่
  • ทัศนียภาพโดยรอบ มีความสำคัญโดยเฉพาะพื้นที่ที่จะนำไปสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร หรือทำเป็นโฮมสเตย์ โดยดูว่าคนจากภายนอกจะมองเข้ามาจากจุดไหนได้บ้าง เพื่อที่จะออกแบบให้พื้นที่โดดเด่น เห็นได้ง่าย และก็ต้องดูว่าเมื่อมองออกไปจากพื้นที่ของเรา มีมุมไหนหรือทิศไหนที่เหมาะที่จะต่อยอดเป็นมุมถ่ายรูปหรือใช้บรรยากาศบริเวณนั้นได้ เช่น ด้านหลังเป็นภูเขาสูง ก็อาจจะปลูกต้นไม้พุ่มหรือไม้ขนาดเล็ก ไม่ให้บังวิวภูเขา ในทางกลับกัน พื้นที่ของเราอาจจะติดกับกำแพงโรงงาน มองไปเห็นเป็นกำแพงปูนซีเมนต์ เราก็ออกแบบปลูกต้นไม้ที่เป็นแนวบังสายตา ลดความแข็งกระด้างของกำแพงให้พื้นที่ดูร่มรื่นขึ้น เป็นต้น
  • สังคมและชุมชน วัฒนาธรรมและความเชื่อของคนในชุมชนก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา เพราะพื้นที่ของเราจะอยู่ตรงนั้นตลอดไป จึงเป็นการดีถ้าเราเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชน บางครั้งอาจจะได้นำมาปรับใช้กับพื้นที่ของเราได้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่จะปรับปรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ก็สามารถนำจุดเด่นของชุมชนมาเป็นจุดขายให้พื้นที่ดูน่าสนใจเพิ่มขึ้นได้
  • กฎหมายและข้อบังคับ เช่น การก่อสร้างอาคาร การขออนุญาต การขุดและถมที่ดิน

วัดพื้นที่

นอกจากรายการข้างต้นแล้ว ขอบเขตของพื้นที่ก็ต้องวัดมาให้ชัดเจน โดยดูจากโฉนดที่ดิน หรือดูได้ในเว็บไซต์ระบบค้นหารูปแปลงที่ดิน ของกรมที่ดินก็ได้เช่นกัน

สมมุติพื้นที่สำรวจและวัดมาแล้ว เป็นพื้นที่ขนาด 5 ไร่ กว้าง 80 เมตร ยาว 100 เมตร มีถนนสาธารณะติดด้านทิศใต้

เราก็วาดพื้นที่สี่เหลี่ยม หรือพื้นที่รูปร่างอื่น ๆ ตามจริงลงบนกระดาษ โดยย่อส่วนในอัตราส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้ได้รูปร่างที่มีสัดส่วนตามจริง

กำหนดอัตราส่วน

ในตัวอย่างพื้นที่จริงกว้าง 80 เมตร ยาว 100 เมตร เราก็ให้อัตราส่วนเป็น 1:400 หมายความว่า ระยะที่วาดลงในกระดาษ 1 เซนติเมตร จะเท่ากับระยะในพื้นที่จริง 400 เซนติเมตร

พื้นที่ตัวอย่างกว้าง 80 เมตร จะต้องวาดลงในกระดาษ A3 เท่ากับ 20 เซนติเมตร ส่วนด้านยาวของพื้นที่ตัวอย่าง 100 เมตร ก็ต้องวาดลงในกระดาษ A3 เท่ากับ 25 เซนติเมตร

ตารางอ้างอิง

ก่อนที่จะวาดลงกระดาษนั้น ควรจะขีดเส้นให้เป็นตาราง ช่องละเท่า ๆ กันทั้งหน้ากระดาษ เพื่อให้งานในการวาดและคำนวณพื้นที่

ในตัวอย่างนี้จะตีเส้นห่างกัน 1.25 เซนติเมตร (เท่ากับ 5 เมตรในพื้นที่จริง) ทั่วกระดาษทั้งแนวตั้งและแนวนอน

ตารางอ้างอิง
ตารางอ้างอิง

วาดขอบเขตของพื้นที่

เมื่อวาดตารางอ้างอิงเสร็จแล้ว ก็วาดรูปร่างของพื้นที่ลงในกระดาษ โดยวาดตามอัตราส่วนที่กำหนด

สูตรในการคำนวณระยะที่จะวาดลงในกระดาษคือ ระยะในกระดาษ = ระยะจริง/(ส่วนกลับขออัตราส่วน)

เช่น ระยะในกระดาษ = 8,000/400 ดังนั้นระยะที่วาดลงในกระดาษจะเท่ากับ 20 เซนติเมตร เป็นต้น

และที่สำคัญคือต้องเขียนสัญลักษณ์ทิศเหนือกำกับไว้เสมอ เพราะการออกแบบจะมีเรื่องของทิศมาเกี่ยวข้องด้วย สามารถดูเพิ่มเติมได้ในบทความ หลักการออกแบบ โคก หนอง นา

วาดขอบเขตพื้นที่

มาถึงตรงนี้ก็เสร็จในขั้นตอนการสำรวจพื้นที่ ต่อไปจะเป็นการเอาข้อมูลที่สำรวจมาวิเคราะห์และสรุปเพื่อออกแบบต่อไป

วิเคราะห์พื้นที่

เมื่อได้สำรวจพื้นที่แล้ว และความต้องการของเจ้าของพื้นที่แล้ว ต่อไปก็จะแปลความหมายสำหรับการออกแบบ ดูว่าอะไรเป็นข้อดีที่ที่ควรเสริมให้ดีขึ้นไป หรือว่ามีส่วนไหนที่เป็นข้อด้อย ก็ต้องหาวิธิแก้ไขปัญหา

ตัวอย่าง เช่น ถ้าพบว่าพื้นที่ตรงกลางเป็นที่ลุ่ม มีน้ำขังมาก ถ้าจะใช้พื้นที่บริเวณนี้ก่อสร้างบ้านหรือเป็นที่เลี้ยงสัตว์ ก็แก้ไขด้วยการถมดินขึ้นมาให้เท่ากับบริเวณอื่น ๆ แต่ถ้าดูแล้วว่าเหมาะที่จะเป็นแหล่งน้ำ ก็ขุดบริเวณนั้นซึ่งเป็นที่ลุ่มมีน้ำไหลมาขังอยู่แล้ว ก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก เป็นต้น

กิจกรรมและองค์ประกอบในพื้นที่

เมื่อวิเคราะห์และสรุปข้อมูลจากการสำรวจกับความต้องการออกมาแล้ว ต่อมาก็คือการเขียนกิจกรรมและองค์ประกอบภายในพื้นที่ กิจกรรมในที่นี้หมายถึงสิ่งที่จะทำหรือเกิดขึ้น เช่น การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ส่วนองค์ประกอบก็คือสิ่งที่จะมีหรือตั้งอยู่ เช่น ศาลานั่งเล่น ร้านค้า เป็นต้น

และจะต้องมีการแบ่งพื้นที่ให้แต่ละกิจกรรม เพื่อที่จะแบ่งพื้นที่ของเราออกเป็นส่วน ๆ โดยอ้างอิงตามขนาดพื้นที่ที่ได้แบ่ง เพราะแต่ละกิจกรรมจะใช้พื้นที่แตกต่างกัน เช่น นาข้าวใช้พื้นที่มาก อาจจะ 2 ไร่เป็นอย่างน้อย แต่ผักสวนครัวสำหรับบริโภคในครัวเรือนก็อาจจะใช้พื้นที่แค่ 1 งานหรือน้อยกว่านั้น

จัดกลุ่มกิจกรรม

หลังที่ได้เขียนรายการกิจกรรมและเขียนขนาดพื้นที่ของแต่ละกิจกรรมแล้ว ต่อมาก็จะมาจัดกิจกรรมเหล่านั้น ลงบนพื้นที่ โดยจะต้องระบุขนาดที่เราได้ทำไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

กิจกรรมในพื้นที่ตัวอย่างจะมีขนาดแตกต่างกันไป ตารางอ้างอิง 1 ช่องจะมีเท่ากับพื้นที่ 25 ตารางเมตร สามารถสรุปได้ดังนี้

  • 0.25 งาน = 1 ช่อง
  • 0.5 งาน = 2 ช่อง
  • 1 งาน = 4 ช่อง
  • 1 ไร่ = 16 ช่อง

ยกตัวอย่างไม้ผล 2 งาน ก็ให้เราทำเครื่องหมายในช่องตารางอ้างอิงทั้งหมด 8 ช่อง หรือโรงเรือนปุ๋ย ก็ให้ทำเครื่องหมายในช่องตารางอ้างอิงทั้งหมด 2 ช่อง เป็นต้น

วาดพื้นที่ตามสัดส่วน
วาดพื้นที่ตามสัดส่วน

เพิ่มรายละเอียดแนวถนน สระน้ำ คลอง

เมื่อจัดวางกิจกรรมต่าง ๆ ลงในพื้นที่ได้ลงตัวแล้ว จะเห็นว่าพื้นที่แต่ละกิจกรรมเป็นรูปสี่เหลี่ยม จึงต้องใส่รายละเอียดลงไปให้ใกล้เคียงของจริง เช่น สระน้ำ ก็ควรจะเป็นรูปร่างอิสระ โค้งเว้า เลียนแบบธรรมชาติ เป็นต้น

เพิ่มรายละเอียดแนวถนน สระน้ำ คลอง ฯลฯ

ออกแบบขั้นต้น

เป็นการใส่รายละเอียดลงไปเพิ่มเติม โดยเน้นให้สัดส่วนและขนาดถูกต้องตามจริง เช่น บ้าน อาคาร กว้าง ยาว กี่เมตร ต้นไม้เมื่อโตเต็มที่จะมีพุ่มขนาดประมาณกี่เมตร เพื่อที่จะให้เห็นภาพเมื่อต้นไม้โตเต็มที่แล้วจะไม่ไปเบียดบังหรือมีผลกระทบกับองค์ประกอบบอื่น ๆ

ในพื้นที่ตัวอย่าง จะมีพื้นที่ร้านค้าอยู่ติดถนน ตัวอาคารกว้าง ยาว กี่เมตร จะร่นระยะร้านค้าเข้ามาห่างจากถนนกี่เมตร จึงจะเหลือพื้นที่หน้าร้านให้รถเข้ามาจอดได้ เป็นต้น

ออกแบบขั้นต้น ใส่รายละเอียดของกิจกรรมและองค์ประกอบตามสัดส่วนจริง


3 ความเห็นที่มีต่อขั้นตอนการออกแบบ โคก หนอง นา

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*