คำชะโนด ตอนที่ 1 ประวัติความเป็นมาของคำชะโนด

ประวัติคำชะโนด

มีโอกาสได้เดินทางไปสักการะกราบไหว้สิ่งศิกดิ์สิทธิ์ที่คำชะโนดเมื่อปีก่อน เวลาผ่านไปพอนึกถึงทีไรก็ขนลุกทุกที เมื่อก้าวข้ามเขตสะพานเข้าไปในคำชะโนด เหมือนอยู่กันคนละเมืองกับข้างนอก อากาศนั้นก็แตกต่างกัน ข้างในนั้นเย็นยะเยือกชวนขนลุกจริงๆ

วันนั้นก่อนกลับจากคำชะโนดผมมีโอกาสได้บูชาหนังสือประวัติความมหัศจรรย์ของ “เมืองชะโนด” มาด้วยหนึ่งเล่ม อยากจะนำเรื่องราวและข้อมูลในหนังสือเล่มนั้นมาเผยแพร่ต่อเพื่อเป็นความรู้ ผลประโยชน์และกุศลผลบุญทั้งหมดที่พึงเกิดจากผู้นำข้อมูลมาเผยแพร่และตีพิมพ์ทางเว็บไซต์อีสานร้อยแปดแห่งนี้ ขออุทิศแด่วัดสิริสุทโธกับขออุทิศแด่ดวงวิญญาณของเจ้าปู่ศรีสุทโธและดวงวิญญาณทั้งหมดในเมืองชะโนดผู้มีบทบาทสำคัญต่อภูมิประเทศแห่งนี้ในอดีตกาลหากท่านยังวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารขอกุศลแห่งกรรมดีจากการรวบรวมและเผยแพร่การพิมพ์ทางเว็บไซต์สนองความสุขแด่ท่านด้วยเถิด

หนังสือประวัติความเป็นมาของคำชะโนด

หนังสือประวัติความเป็นมาของคำชะโนด

ต่อไปเราจะขอเล่าถึงประวัติความเชื่อความมหัศจรรย์ของเมืองชะโนดเมืองฉนวนตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอบ้านดุงจังหวัดอุดรธานีอยู่ในพื้นที่บ้านโนนเมือง ตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านดุง ระยะทางห่างจากอำเภอบ้านดุงประมาณ 20 กิโลเมตรและห่างจากหมู่บ้านวังทองไปทางทิศตะวันออกเป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร พื้นที่มีสภาพเป็นน้ำคลำมีต้นไม้ชนิดหนึ่งเกิดขึ้นเต็มบริเวณเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ ต้นไม้ชนิดนี้เรียกว่าต้นชะโนดมีลักษณะคล้ายต้นตาลคือขนาดเล็กกว่าต้นตาลคือขนาดเท่ากับต้นมะพร้าว ลำต้นมีกาบห่อหุ้มและกาบรอบรอบ ต้นจะมีหนามยาวและแหลมคมน่ากลัวมากความสูงของลำต้นมีความสูงกว่าต้นมะพร้าว ส่วนก้านและใบจะมีลักษณะเหมือนกาบตาล ใบตาล แต่มีหนามยาวและแหลมคมกว่าใบตาลเมื่อเวลาต้องลมจะเกิดเสียงหวือๆ มีผลเป็นพวงเหมือนผลมะพร้าว แต่ลูกเล็กกว่าองุ่นนิดหน่อย คนจะบริโภคไม่ได้เพราะจะมีอาการคันปาก เนื่องจากต้นชะโนดที่เกิดขึ้นในบริเวณที่ล้อมรอบไปด้วยเนินสูงแล้วลาดไปสู่ทุ่งหญ้าซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินับเป็นเวลาหลายพันปี คนเก่ารุ่นปู่รุ่นย่าจึงเรียกว่าเมืองชะโนด คงจะเรียกชื่อตามต้นไม้ชื่อนี้นี่เอง

ป่าคำชะโนด

ภาพป่าคำชะโนด เครดิตคุณ Tใบชา สมาชิกพันทิป

พืชและสัตว์ที่มีอยู่ในบริเวณที่แห่งนี้จะมีพืชนานาชนิดมีทั้งพืชยืนต้นและเถาวัลย์เช่น ต้นไผ่ หวานน้ำ ผักกูด ผักชีช้าง หญ้าปล้อง หญ้าไทร บัวบก(ผักหนอก) ต้นมะเดื่อใหญ่ ต้นไทร ต้นหว้า พืชเหล่านี้ในอดีตจะมีจำนวนมากมาย แต่ปัจจุบันมีอยู่ไม่มากนัก ส่วนสัตว์นั้นจะมีทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำรวมทั้งสัตว์ประเภทครึ่งบกครึ่งน้ำ คนโบราณเรียกที่แห่งนี้ว่าป่าช้างดงเสือเพราะในอดีตนั้นจะมีทั้งสัตว์เกือบทุกประเภทอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นช้าง เสือ ควายป่า วัวป่า กวาง อีเก้ง หมูป่า ละมั่ง ลิง ค่าง บ่าง ชะนี เต่า จระเข้ ตะพาบน้ำ(ปลาฝา) และปลาอื่นๆ กุ้ง ปลิง ทาก อึ่ง กบ คางคก นกยูง นกกระยาง ไก่ป่า ฯลฯ ปัจจุบันนี้ทั้งพืชและสัตว์ที่กล่าวมาได้สูญพันธุ์ไปแล้วส่วนมาก มีเหลืออยู่บางชนิดและมีจำนวนน้อยมาก


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*