จักจั่น

ชื่อภาษาไทย : จักจั่น
ชื่อภาษาอีสาน : จั๊กกะจั่น
ชื่อภาษาอังกฤษ : Cicada
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pompania sp.
Order : Homoptera
Family : Cicadidae
species :  Platylomia

การศึกษาแมลง หรือ “แมงไม้” ในภาษาอีสาน ถือว่าเป็นเรื่องดี มีคุณประโยชน์
เพราะทุกสิ่งล้วนมีความสำคัญ ตามหน้าที่บทบาทในตัว

หลายๆ คนที่เติบโตมาจาก วัฒนธรรมแบบไทย ๆ คุ้นเคยกับจักจั่นดี  พ่อแม่มักจะซื้อให้เล่น
เมื่อมี “งานวัด ” หากมี “ขนมสายไหม”  ก็ต้องมี “จักจั่น”  ของเล่นที่เลียนแบบเสียงแมลง
นั่นคือความนัย สอนให้ลูกหลาน ” สนใจแมลง ”

ตอนเมื่อเรายังเด็กนั้น เด็กทุกคนจะสนในธรรมชาติและสิ่งรอบตัว สนใจสัตว์เล็ก ๆ
มีความใคร่รู้ และสนุกกับเพื่อนสัตว์โลกรอบตัวเรา  เด็กบางคนสนใจผีเสื้อ
บางคนสนใจปลา บางคนสนใจแมลงต่างๆ  บางคนชอบดอกไม้  เป็นต้น

เด็ก ๆ นั้น วิญาณของพวกเขายังบริสุทธิ์  ยังคุยกับโลกใบนี้ได้
ทุกชีวิตในโลก ล้วนเชื่อมโยงกัน ทำให้เด็ก ๆ เหล่านั้น “สนใจชีวิต”
ในฐานะสิ่งมีชีวิตด้วยกัน นั่นคือ “ฟังก์ชั่นของชีวิตมนุษย์ ”

เมื่อเวลาผ่านไปเราเติบใหญ่ หลาย ๆ คน สุญเสีย “ฟังก์ชั่น” นี้ไป
จึงเปลี่ยนบทบาทมาเป็น”ไวรัส ล้างโลก”  ทำร้ายทุกอย่างที่ห่างกายา วาเดียว
ป่าไม้เอย. สัตว์อื่นเอย วัฒนธรรมเอย คนที่ไม่เชื่อเหมือนตนเอย
คนที่เขารักเราเอย ครอบครัวเอย สถาบันเอย ประเทศชาติเอย  โลกเอย
อันนี้ก็เล่าสู่กันฟังซือ ๆ เด้อขะรับ

กล่าวทั่วไป

ว่ากันว่า จักจั่นถือกำเนิดขึ้นบนโลกใบนี้เมื่อราว 230 ล้านปีก่อน
จักจั่นเป็นแมลงที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชเป็นอาหาร  ชีวิตส่วนใหญ่อาศัยอยู่ใต้ดิน
เวลากลางคืน ดูดน้ำเลี้ยงจากใบพืช  รวมกระทั่งเห็ดบางชนิดในป่า
โดยทั่วไปจะอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงจาก รากพืช หัวพืชตระกูลว่าน เป็นต้น
ห้วงสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น จึงแปลงกายเป็น จักจั่น โผบินให้เราเห็น ชินตา

จักจั่นนั้นทำรังใต้ดิน มักเจาะรูเพื่อใช้เข้าออก  ในฤดูฝนมันจะขนดินขึ้นมาก่อ
เป็นรูปแท่ง เพื่อป้องกันน้ำท่วมรู  คล้ายกับ “ขวยขี้ไก่เดียน” ( รังไส้เดือน)
จักจั่นที่ มีหลายสายพันธุ์  แต่ละสายพันธุ์ มีอายุต่างกัน
จักจั่นดง ตัวใหญ่สีดำ  อายุ 15 ปี
จักจั่นช้าง ตัวใหญ่สีเขียว อายุ 10 ปี
จักจั่นโคก สีเหลืองเปลือกไม้ ตัวเล็กมีอายุ 6-7 ปี
จักจั่นเรไร  ตัวขนาดเล็กสุด สีน้ำตาลอมเขียว   2 ปี

ลักษณะทางกายภาพ

ลักษณะที่เด่นชัด ปีกคู่หน้าหนาตลอดทั้งแผ่นปีก เหมือนกัน, เท่ากัน  ปีกบางใสเหมือนกันทั้งแผ่นปีก
ลำตัวของเพศเมีย มีก้นแหลม มีระยางค์สำหรับวางไข่ ยื่นออกมาเล็กน้อย
ทั้งลำตัวยาวเฉลี่ย 3 ซม.  ส่วนตัวผู้ก้นเสมอกันกับลำตัว รูปทรงกระบอก ยาวเฉลี่ย 4 ซม.
ตัวผู้มีครีบบาง ๆ ปิดช่วงท้อง  ป้องกันอวัยวะกำเนิดเสียง
จักจั่นนั้นมีปากแบบดูด มีตาเดี่ยว 3 ตาเรียงกันเป็นรูป 3 เหลี่ยม

จักจั่น คือเพศผู้สามารถทำเสียงได้ แหล่งกำเนิดเสียงมาจากบริเวณด้านในลำตัว
ในส่วนของท้องปล้องแรกต่อกับส่วนอก  เมื่อแหวะออกดู จะเห็นกลีบของกล้ามเนื้อ
ลักษณะคล้ายกับ ” ฮีตท์ซิ่งค์” (ตัวระบายความร้อนของ CPU )  ขุมพลังของเสียง 200 เดซิเบล
จักจั่นแต่ละชนิดมีเสียงจำเฉพาะ  เพื่อให้เสียงร้องของมัน มี”เมโลดี้” แทรก แตกต่างจาก
เสียงร้องของสัตว์อื่น ให้พวกเดียวกันฟังออก และหาตำแหน่งเจอ
ช่วงท้ายของลำตัว(ตัวผู้) จะมีลักษณะกลวง “โบ๋เบ๋” เพื่อกำเนิดเสียงสะท้อน

จักจั่น

จักจั่น

วงจรชีวิตของจักจั่น

ช่วงชีวิตของจักจั่น มี 3 ระยะ คือ

ระยะไข่ -อยู่ตามใต้เปลือกไม้ ขอนไม้ รากไม้ต่างๆ  รอฝนมาเยือน

ตัวอ่อน  – ใช้ชีวิตอยู่ใต้ดิน ดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากไม้ บางทีอาจขึ้นมาดูดน้ำเลี้ยงจากต้นไม้
หรือเห็ดรา ที่ขึ้นตามฤดู ทำรังอยู่ในใต้ดิน ส่วนใหญ่ตามพงไม้ ที่ยังชุ่มชื้น
บางทีก็ย้ายรังตามหาอาหาร  ช่วงนี้คือช่วงที่ยาวนานที่สุดของมัน
มีอายุ 4- 6 ปี  และเป็นช่วงที่เราพบเห็นมันได้ยากที่สุด พะนะ

ตัวเต็มวัย –  เมื่อใบไม้เริ่มผลิ มันจะคลานออกมาจากรังใต้ดิน ปีนขึ้นไปบนที่สูง
แล้วลอกคราบ เป็นตัว จักจั่น ก่อนรุ่งสางอรุโณทัย
เมื่อลอกคราบใหม่ๆ มีสีขาว หรือเหลือง เมื่อปรับตัวได้ ก็จะเป็นตัวจักจั่น
เกาะอยู่ตามต้นไม้ช่วงนี้ มันแทบจะไม่กินอาหารเลย
มีชีวิตเพื่อจับคู่ สืบพันธุ์และวางไข่ ในเปลือกไม้
ช่วงชีวิตนี้เองที่เราได้ยินเสียงร้องของมัน  ห้วงนี้มีอายุได้ 2 เดือนเท่านั้น

แหล่งที่อยู่อาศัย

พบได้ตามป่าโคก ป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ  ที่มีต้นกุง (ตองตึง) พลวง และสะแบง
มันอาศัยพื้นดินที่มีอินทรีย์สารสูง ในการอยู่รอด ส่วนใหญ่อยู่ใต้ดินเป็นหลัก
ชอบพื้นที่ชุ่มชื้น  ดินร่วน และดินที่มีความสามารถแลกเปลี่ยนธาตุอาหารได้ดี
ตัวเต็มวัย ระยะสุดท้ายนั้น ชอบเกาะตามต้นไม้กิ่งไม้ต่างๆ เพื่อร้องหาคู่
เสียงร้อง ” จั่น..จั่น  จั่น ๆๆๆๆ ” คือที่มาของชื่อมัน

บทบาทและหน้าที่ตามธรรมชาติ

ช่วยให้ดินสมบูรณ์แลกเปลี่ยนแร่ธาตุ  เป็นอาหรของสัตว์อื่น ระบบนิเวศน์
ร่างไร้วิญญาณของมัน เป็นปุ๋ยชั้นเยี่ยมคืนสู่แผ่นดิน ช่วยให้ป่าร่าเริงมีชีวิต
กล่อมเกลาจิตใจมนุษย์ให้ อ่อนโยน สันติ
โลกของมันยังลึกลับพอสมควร แต่บทบาทหน้าที่ของมันคาดเดาง่าย

ว่านจั๊กจั่น คืออะไร

คือกลไกของธรรมชาติอย่างหนึ่ง ในการควบคุมแมลง เพราะธรรมชาตินั้น
ชิงชังความเหมือน และความสมบูรณ์แบบ ธรรมชาติจะไม่ยอมให้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
มีจำนวนมากพ้นทวี เอาเปรียบและ ช่วงชิงทำลายสมดุล
จึงเกิดมี เชื้อราทำลายแมลง เชื้อราสายพันธุ์ Cordyceps sobolifer
เป็นเชื้อราที่กินแมลงเป็นอาหาร และยึดร่างของแมลงเป็นที่อาศัยเติบโต
พูดง่ายๆ ให้เข้าใจก็คือ “เชื้อรากินจั๊กจั่น”
หรือ ตัวอ่อนของแมลง จั๊กจั่นถูกเชื้อรายึดร่าง นั้นเอง
ไม่ใช้พืช ที่มีหัวเป็นตัวจั๊กจั่น นะครับ

ดังนิยายวิทยาศาสตร์อันน่าขนลุก สัตว์ประหลาดต่างดาวต่างดาวางไข่ในตัวคน
แล้วยึดร่างเติบใหญ่ กัดกินไส้พุง จนละทุท้องออกมา กลายเป็น “เอเลี่ยน”

หลักการทำงานของเชื้อรา ชนิดที่กินแมลงคือ  เมื่อสัมผัสเชื้อราชนิดนี้แล้ว
มันจะค่อยๆ เข้าเติบโตบนส่วนหัวของแมลง เข้าคุมระบบประสาท
แม้แมลงจะมีชีวิตต่อไปสักพัก มันก็ควบคุมตัวเองไม่ได้  จนในที่สุดก็หยุดเคลื่อนไหว
ปล่อยให้เชื้อรา งอกเจริญเติบโต  ยึดร่างไปสิ้น เมื่อยึดร่างได้แล้ว
มันจะดูดกินสารอาหารในตัวแมลง เติบโตลงอกลำต้น เพื่อแผ่ “สปอร์” มรณะต่อไป
จนมีสภาพเป็น “ว่านจั๊กจั่น”

ความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตชาวอีสาน

ทางอีสาน เมื่อปลายเดือน มีนาคม – เมษายน ตามป่าโคกทั่วไป จะมีจักจั่นร้อง
สนั่นป่าโคก  เป็นแหล่งอาหารในยามยากของผู้คน จักจั่นเลี้ยงดู สัตว์ทั้งหลาย
เพื่อให้อิ่มท้องและอยู่รอด รอพระพิรุณโปรดปราน
จนกลายเป็นวิถีชาวบ้าน อันเรียบง่าย
หากชาวอีสานได้ยินเสียงจักจั่นฮ้อง จิตใจก็สงบ ฮักถิ่นขึ้นมาทันที
น่าเสียดาย หากเราทำลายถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของมัน จนมันลดจำนวนลง
อยากให้มีเสียง”จักจั่น” ไว้กล่อมเกลาจิตใจคน ชั่วลูกชั่วหลาน
“แม้มีเฮือนมีซานลานแปน ๆ  ก็บ่พ้นญาดกันแห่น ธรรมชาติ”

 


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*