ช่วงเวลา และการเตรียมงานบุญผะเหวด

โดยส่วนใหญ่ นิยมทำในช่วงเดือนสี่ (เดือนทางจันทรคติ) ซึ่งจะอยู่ประมาณเดือนมีนาคม แต่บางวัด บางหมู่บ้าน ก็จัดงานบุญผะเหวดในช่วงออกพรรษา ก็มี

บุญผะเหวด

บุญผะเหวด

การเตรียมงาน

1. แบ่งหนังสือ
นำหนังสือลำผะเหวดหรือลำมหาชาติ (หนังสือเรื่องพระเวสสันดรชาดก) ซึ่งมีจำนวน 13 กัณฑ์ (หรือ 13 ผูกใหญ่) แบ่งเป็นผูกเล็ก ๆ เท่ากับจำนวนพระเณรที่จะนิมนต์มาเทศน์ในคราวนั้น ๆ

2. การใส่หนังสือ
นำหนังสือผูกเล็กที่แบ่งออก จากกัณฑ์ต่าง ๆ 13 กัณฑ์ ไปนิมนต์พระเณรทั้งวัดในหมู่บ้านตนเอง และจากวัดในหมู่บ้านอื่นที่อยู่ใกล้เคียงให้มาเทศน์ โดยจะมีใบฎีกาบอกรายละเอียดวันเวลาเทศน์ ตลอดจนบอกเจ้าศรัทธา ผู้ที่จะเป็นเจ้าของกัณฑ์นั้น ๆ ไว้ด้วย

3. การจัดแบ่งเจ้าศรัทธา
ชาวบ้านจะจัดแบ่งออกเป็นหมู่ ๆ เพื่อรับเป็นเจ้าศรัทธากัณฑ์เทศน์ร่วมกัน เมื่อพระเณรท่านเทศน์จบในแต่ละกัณฑ์ ผู้เป็นเจ้าศรัทธาก็จะนำเครื่องปัจจัยไทยทานไปถวายตามกัณฑ์ที่ตนเองรับผิดชอบ

4. การเตรียมสถานที่พัก
พวกชาวบ้านจะพากันทำความสะอาดบริเวณวัดแล้วช่วยกัน “ปลูกผาม” หรือ ปะรำไว้รอบ ๆ บริเวณวัด เพื่อใช้เป็นที่ต้อนรับพระเณรและญาติโยมผู้ติดตามพระเณรจากหมู่บ้านอื่น ให้เป็นที่พักแรมและที่เลี้ยงข้าวปลาอาหาร

5. การจัดเครื่องกิริยาบูชา
ในการทำบุญผะเหวดนั้น ชาวบ้านต้องเตรียม “เครื่องฮ้อยเครื่องพัน” หรือ “เครื่องบูชาคาถาพัน” ประกอบด้วยธูปหนึ่งพันดอก เทียนหนึ่งพันเล่ม ดอกบัวโป้ง (บัวหลวง) ดอกบัวแบ้ (บัวผัน) ดอกบัวทอง (บัวสาย) ดอกผักตบ และดอกก้านของ (ดอกปีบ) อย่างละหนึ่งพันดอก เมี่ยง หมากอย่างละหนึ่งพันคำ มวนยาสูบหนึ่งพันมวน ข้าวตอกใส่กระทงหนึ่งพันกระทง ธงกระดาษ หนึ่งพันธง

เครื่องฮ้อยเครื่องพัน

เครื่องฮ้อยเครื่องพัน

6. การจัดเตรียมสถานที่ที่จะเอาบุญผะเหวด

6.1 บนศาลาโรงธรรม ตั้งธรรมมาสน์ไว้กลางศาลาโดยรอบนั้นจัดตั้ง “ธุงไซ” (ธงชัย) ไว้ทั้งแปดทิศ และจุดที่ตั้ง “ธุงไซ” แต่ละต้นจะต้องมี “เสดถะสัต” (เศวตฉัตร) “ผ่านตาเว็น” (บังสูรย์) และตะกร้าหนึ่งใบสำหรับใส่ข้าวพันก้อนพร้อมทั้ง “บั้งดอกไม้” สำหรับใส่ดอกไม้แห้ง ซึ่งส่วนมากทำจากต้นโสนและใส่ “ธุงหัวคีบ” นอกจากนี้ที่บั้งดอกไม้ยังปักนกปักปลาซึ่งสานจากใบมะพร้าวหรือใบตาลไว้อีกจำนวนหนึ่ง และตั้งโอ่งน้ำไว้ 5 โอ่ง รอบธรรมาสน์ ซึ่งสมมติเป็นสระ 5 สระ ในหม้อน้ำใส่จอกแหน กุ้ง เหนี่ยว ปลา ปู หอย ปลูกต้นบัวในบ่อให้ใบบัวและดอกบัวลอยยิ่งดี รวมทั้งจะต้องจัดให้มีเครื่องสักการะบูชาคาถาพันและขันหมากเบ็ง วางไว้ตามมุมธรรมาสน์ ณ จุดที่วางหม้อน้ำ

ที่สำคัญบนศาลาโรงธรรมต้องตกแต่งให้มีสภาพคล้ายป่า โดยนำเอาต้นอ้อย ต้นกล้วย มามัดตามเสาทุกต้น และขึงด้ายสายสิญจน์รอบศาลา ทำราวไม้ไผ่สูงเหนือศีรษะประมาณหนึ่งศอกเพื่อเอาไว้เสียบดอกไม้แห้งต่าง ๆ นอกจากนี้ยังใช้เป็นที่ห้อยนก ปลาตะเพียน และใช้เมล็ดแห้งของฝักลิ้นฟ้า (เพกา) ร้อยด้วยเส้นด้ายยาวเป็นสายนำไปแขวนเป็นระยะ ๆ และถ้าหาดอกไม้แห้งอื่นไม่ได้ ก็จะใช้เส้นด้ายชุบแป้งเปียกแล้วนำไปคลุกกับเมล็ดข้าวสาร ทำให้เมล็ดข้าวสารติดเส้นด้ายแล้วนำเส้นด้ายเหล่านั้นไปแขวนไว้แทน

6.2 ด้านทิศตะวันออกของศาลาโรงธรรม ต้องปลูก “หออุปคุต” โดยใช้ไม้ไผ่ทำเป็นเสาสี่ต้นสูงเพียงตา หออุปคุตนี้เป็นที่สมมติว่าจะเชิญพระอุปคุตมาประทับ เพื่อปราบมารที่จะมาขัดขวางการทำบุญ ต้องจัดเครื่องใช้ของพระอุปคุตไว้ที่นี้ด้วย

6.3 บริเวณรอบศาลาโรงธรรมก็ปัก “ธุงไซ” ขนาดใหญ่ 8 ธุง ปักไว้ตามทิศทั้งแปด ซึ่งแต่ละหลักธุง จะปัก “กรวยไม้ไผ่สำหรับใส่ข้าวพันก้อน” “เสดถะสัด” (เศวตฉัตร) “ผ่านตาเว็น” (บังสูรย์) และ “ขันดอกไม้” เช่นเดียวกับบนศาลาโรงธรรม นอกจากนี้ก็ปักธุงช่อไว้ ณ จุดเเดียวกับที่ปัก    “ธุงไซ” อีกด้วย


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*