วันสุกดิบ วันโฮม และวันจุดบั้งไฟ

ประเพณีบุญบั้งไฟจะกำหนดไว้ 3 วัน คือ วันสุกดิบ วันโฮม(วันประชุมเล่นรื่นเริง) และวันจุดบั้งไฟ

ในวันสุกดิบ คณะเซิ้งบั้งไฟแต่ละคุ้ม แต่ละคณะจะนำบั้งไฟของตนพร้อมด้วยขบวนแห่มายังหมู่บ้านที่แจ้งฎีกา โดยจะแห่ไปรวมกันที่วัด และที่วัดจะมีการทำบุญและเลี้ยงแขก

ผู้ที่มีหน้าที่ต้อนรับจะปลูกกระท่อมเล็ก เรียกว่า “ผาม” ขึ้นตามลานวัด เพื่อเป็นที่รับแขกที่จะมาประชุมกัน ทุกๆคนที่มาร่วมงาน ล้วนแต่งกายอย่างสวยงามทั้งหญิงและชาย โดยเฉพาะสาวๆ ถ้าสาวบ้านไหนไม่ไป ก็เหมือนกับว่าผู้เฒ่าผู้แก่บ้านนั้น ไม่ยินดีร่วมทำบุญและไม่ร่วมมือ และเชื่อกันว่าถ้าพ่อแม่ขัดข้องโดยไม่มีเหตุจำเป็นจะเป็นบาป ตายแล้วต้องตกนรก แสนกัปแสนกัลป์ และเป็นเหตุให้บ้านเมืองเดือดร้อน ฟ้าฝนไม่อุดมสมบูรณ์ทำไร่ทำนาไม่ได้ผล (ปัจจุบัน จังหวัดยโสธรได้จัดให้บั้งไฟคณะต่างๆ ไปทำพิธีบวงสรวงคารวะเจ้าปู่เจ้าพ่อหลักเมือง แล้วแต่ละคุ้มจะฟ้อนเซิ้งเพื่อขอบริจาคไปตามสถานที่ต่างๆ)

เมื่อถึงวันที่สอง คือวันโฮม หรือวันประชุมเล่นรื่นเริง คณะต่างๆจะนำบั้งไฟของตนไปปัก ไว้ที่ศาลาการเปรียญ ฝ่ายที่มีหน้าที่ต้อนรับแขกก็รับแขกไป พวกแขกก็มีธรรมเนียมเหมือนกันคือ ต้องมาเป็นขบวน มีคนตีฆ้อง ตีกลองนำขบวน มีพระภิกษุสามเณร ต่อด้วยประชาชนทั่วไป ในขบวนนี้อาจจะมีแคน หรือเครื่อง ดนตรีอื่นๆ เป่าหรือบรรเลงเพื่อความครึกครื้นไปด้วย  เมื่อไปถึงลานวัดแล้ว เจ้าภาพจะนำแขกไปยังผามที่ทำไว้ ขณะเมื่อแขกไปถึงผามจะตีกลองเป็นอาณัติสัญญาณว่าแขกทั้งหลายได้มาถึงแล้ว และจัดที่นั่งสำหรับพระและสามเณรไว้บนพื้นสูงแถวหนึ่ง ชายแก่อีกชั้นหนึ่ง และรองลงมาก็จะเป็นหญิงแก่และสาวปนเปกันไป และต้องหันหน้าออกมาทางผาม สำหรับพวกหนุ่มๆ ที่ร่วมขบวนมาด้วยกันนั้น ส่วนมากจะมารื่นเริงฟ้อนรำทำเพลงผสมปนเปกับเจ้าของถิ่น และพวกที่มาจากถิ่นอื่น

วันนี้อาจมีการบวชนาคและสรงน้ำพระภิกษุ โดยนิมนต์ท่านสมภารวัด หรือพระคุณเจ้าวัดเจ้าคณะอำเภอนั้นๆขึ้นแคร่แห่ไปรอบวัด และนำนาคเข้าขบวนแห่ไปด้วย นาคพื้นเมืองจะแต่งตัวสวยงามมาก บางคนนั่งแคร่ หรือขี่ม้า และมีคนตีฆ้องเดินนำขบวน มีการยิงปืนและจุดไฟตะไล อานม้าผูกกระพรวนด้วย อนึ่งในพิธีแห่บั้งไฟนี้ ถ้าบุคคลใดมีความประสงค์จะสรงน้ำพระภิกษุ ก็ให้มีการแห่พระภิกษุรูปนั้นออกนำหน้านาคอีกทีหนึ่ง การสรงน้ำพระเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ฮดสรง การฮดสรงนี้เป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่พระ ภิกษุรูปใดจะได้เลื่อนยศชั้น จึงจะได้รับการสรงน้ำ และมีการถวายจตุปัจจัย หรือสังฆบริภัณฑ์ เช่น ถวาย เตียงนอน เสื่อสาด หมอนอิง ไม้เท้า กระโถน ขันน้ำพานรอง สำรับคาวหวาน ผ้าไตร ฯลฯ

ครั้นแห่ประทักษิณครบสามรอบแล้ว จะนิมนต์พระรูปนั้นนั่งบนแท่นซึ่งทำลวดลายด้วย หยวกกล้วย แล้วสรงน้ำด้วยน้ำอบน้ำหอม ครั้นเสร็จจากการสรงน้ำแล้วจึงอ่านประกาศชื่อของพระรูปนั้น ให้ทราบทั่วกัน ประกาศนั้นจะเขียนลงบนใบลานบ้าง แผ่นเงินบ้าง แผ่นทองบ้างตามกำลังยศ เมื่ออ่านประกาศแล้ว เจ้าศรัทธาจะมอบจตุปัจจัยต่างๆ ที่จัดมานั้นถวายแด่พระภิกษุ ต่อจากนั้นมีพิธีสวดมนต์เย็นที่ ศาลาการเปรียญ

วันแห่บั้งไฟ

วันแห่บั้งไฟ

ในปัจจุบัน บางแห่งมีคณะผ้าป่าจากกรุงเทพฯ มาร่วมทำบุญด้วย

วันแห่บั้งไฟตอนเช้ามีการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ที่ศาลาการเปรียญ หากมีคณะผ้าป่ามา ก็จะมีการถวายผ้าป่าด้วย จากนั้นนำขบวนแห่ไปคารวะมเหศักดิ์หลักเมือง เจ้าพ่อปู่ตาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน แล้วขบวน แห่บั้งไฟทุกคณะไปตั้งแถวตามถนน แล้วแห่ไปตามเส้นทางที่คณะกรรมการจัดงานกำหนดไว้ แต่ละขบวนจะประกอบด้วย ขบวนแห่ บั้งไฟที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ขบวนเซิ้ง ขบวนแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และ ตลกขบขัน


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*