แมงง่วง (นักร้องอัสดง)

ชื่อพื้นเมือง  แมงง่วง  แมงน้ำฝน
ชื่อภาษาไทย      ตั๊กแตนใบโศก  ตั๊กแตนหมู  ตั๊กแตนใบไม้เทียมยักษ์
ชื่อสามัญ  giant leaf katydid
ชื่อวิทยาศาสตร์  Pseudophyllus titan
Class    Insecta
Oder   Orthoptera
family  Tettigonioidea

หากเราเป็นลูกอีสาน หรือชอบศึกษาศิลปวัฒนธรรม ต่างๆ ของชาวอีสาน  เราจะได้ยิน ได้ฟัง
กวีเก่า ๆ หรือ หมอลำกลอน หมอลำหมู่  เกี่ยวกับแมลงชนิดนี้อยู่มากโข   บางคนเคยได้ยิน
แต่ไม่เคยเห็นตัวตนของมัน เลย   มื้อนี้วันนี้ บ่าวปิ่นลม จึงขอเสนอ “แมงง่วง”  ให้ทุกท่านได้
อิ่มเอมกับ แมลงแห่งอีสานชนิดหาได้ชมยากอีกชนิดหนึ่ง

“แมงง่วง”  นักวิทยาศาสตร์ จัดเข้าในกลุ่ม แมลงในวงศ์ ตั๊กแตนหนวดยาว
เป็นตั๊กแตนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นหนึ่งในตั๊กแตนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วย
นั่นคือ มันมีขนาดลำตัว ยาวได้ถึง 15 ซม. วงปีกกว้าง 20 ซม.
เพศผู้สามารถทำเสียงได้ดังโหยหวนมากในเวลากลางคืน หรือ พลบค่ำ
โดยมีอวัยวะในการทำเสียง ที่โคนปีกคู่หน้าซึ่งใช้ในการเสียดสีกันจนเกิดเป็น เสียงดัง

รูปร่างของปีกคล้ายใบไม้เขียว เพื่อการพรางตาศัตรู  ขาหลังมีขนาดยาวและมีปลายหนาม
แมงอันนี้ นี้มีนิสัยการกินอาหารในเวลากลางคืน ส่วนในเวลากลางวันมักจะเกาะนิ่งๆ แทบไม่เคลื่อนที่
และไม่กินอาหารเลย   อาหารของมันคือ ใบอ่อน และเปลือกอ่อนของพืช ในตระกูล ต้นไทร
หรือ “หมากไฮ” ในภาษาอีสาน  พบว่าที่มันโปรดปรานมากที่สุด คือ ต้นมะเดื่อ
จึงไม่แปลกที่ ปัจจุบันหาเบิ่ง แมงอันนี้ได้ยากยิ่ง เพราะ ต้นบักเดื่อ หรือมะเดื่อตามธรรมชาติ
แทบจะกู้เงิน IMF  มาจ้างเบิ่ง

แมงง่วง

แมงง่วง

วงจรชีวิต

แมงง่วง ผสมพันธุ์ ช่วงเดือน มิ.ย.  คือ ฤดุฝน  ตัวผู้จะส่งเสียงร้องโหยหวนจากยอดไม้
ในเวลาพลบค่ำ หรือตอนหัวค่ำ ช่วงเวลาตั้งแต่ 1800 – 2100 น. ตัวเมียจะบินตามหาตัวผู้
และจะทำการผสมพันธุ์กัน  จากนั้นจะวางไข่ตามรากไม้  และในดินใกล้แหล่งอาหาร
ไข่ของมันสามารถ ทนทานอยู่ได้ ถึง 3 ปี  เพื่อรอสภาวะเหมาะสม เช่น ฝนฟ้าและ ภูมิอากาศ
อุณหภูมิ ที่เหมาะแก่การฟักออกมาเป็นตัว  ระยะเวลาจากตัวอ่อน ลอกคาบ 3 ครั้ง
เพื่อเป็นตัวโตเต็มวัย ใช้เวลา 3 เดือน

ตัวอ่อนระยะแรก ปีกยังไม่งอก มันมีหนวดยาว และลู่ไปด้านหน้าคู่กัน มองคล้ายๆว่า
มันมี “งวง”  ที่คือที่มาของชื่อมัน แมงงวง  และ เป็น “แมงง่วง “ในที่สุด
เมื่อลอกคราบจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก เมื่อโตเต็มวัย จะหากินบนยอดไม้
หรือตามต้นไม้สูง ไม่ลงมาเหยียบพื้นอีกเลย

ความเกี่ยวพันกับวิถีอีสาน

เมื่อฤดูทำนา ชาวนาเริ่ม “ดำนา”  ฝนเริ่มตก ตอนตะเว็นพลบค่ำ เขียดจะนา
ฮ้องอ๊อบแอ๊บ  ตามราวป่า และต้นไม้สูง แมงง่วง ฮ้องเสียงดัง ก้องกังวาน
คืนนี้ฝนตกแน่นอน พ่อใหญ่สี บอกหลานน้อย

พวกพุสาวซ่ำน้อย ย้านเสียงแมงง่วง บ่กล้าไปตักน้ำส่าง  ต้องหาหมู่ไปนำ
แม่บอกลูกน้อย ว่าแมงง่วงมันฮ้องหากินตับเด็กน้อยขี้ดื้อ
หากบ่กินข้าว  แมงง่วงสิมาเอาไป

แมงง่วง บ่งบอกถึงระบบนิเวศน์ที่เหมาะสม แก่การดำรงชีพของมนุษย์เกษตรกรรม
ชาวอีสานโบราณใช้ทำนายการตกของฝนในฤดูกาล  นั่นแสดงว่าชาวอีสาน
แต่กาลก่อน เป็นยอดนักธรรมชาติวิทยา สังเกตและสนใจธรรมชาติ
ช่วยกลมกล่อมจิตใจให้ ละมุนละไม ซื่อตรง และโอบอ้อม แบ่งปัน
“นั่นคือของขวัญล้ำค่า ที่บรรพบุรุษเฮาทิ้งไว้ให้ลูกหลานสืบต่อ”
จึงอยากให้หน่ออ่อน ต้นกล้า ของชาวอีสานรุ่นใหม่ ได้สนใจธรรมชาติท้องถิ่น
สนใจวัฒนธรรมตนเอง  สืบต่อสิ่งดีงาม นำพาสังคมสงบสุข

การขาดหายไปของพันธุ์ไม้ท้องถิ่น สัตว์ท้องถิ่น  ย่อมกระเทือนต่อบริบทของมนุษย์
ที่อาศัย ณ ถิ่นนั้น  เมื่อแมลง และพืชพันธุ์ถิ่นหายไป  ความเป็นมนุษย์ ในถิ่นนั้นย่อมลดลง
คือที่มาของ อาชญากรรม  คดโกง รังแก ข่มเหง ภัยธรรมชาติ และความถืออัตตาสูงลิบ
หากเราไม่บริหารการดำรงอยู่ของธรรมชาติ ให้สมดุลกับจำนวนประชากร
ยากยิ่งที่ประเทศจะก้าวข้ามไปเป็น เมือง ศิวิไล
เป็นได้แค่เพียง เหยื่อ ของระบบกลไกโลกิยะ ที่พร้อมหมุนไปสู่ความพินาศ ตามไตรลักษณ์


1 ความเห็นที่มีต่อแมงง่วง (นักร้องอัสดง)

  • พูดว่า:

    แมงง่วง น่าจะเป็นแมลงจักจั่นชนิดหนึ่งที่โตกว่าจักจั่นทั่วไปสามถึงห้าเท่า แต่ในภาพประกอบเป็นตั๊กแตนใบไม้นะครับ

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*