แมงมัน (แมงมันข้าว)
ชื่อพื้นบ้าน แมงมันข้าว , แมงมัน
ชื่อสามัญ Conehead Grasshopper – Bucrates
ชื่อวิทยาศาสตร์ Neoconocephalus melanorhinus
Class Insecta
Subclass Pterygota
Order Orthoptera
Family Tettigoniidae
แมลงเป็นส่วนหนึ่งในตำแหน่งห่วงโซ่อาหาร เป็นสัตว์ที่ประสบผลสำเร็จที่สุดในการดำรงชีวิตในโลกใบนี้
เป็นสัตว์ที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก การที่เราละเลย ที่จะศึกษาแมลง ว่ามันไร้สาระ คือการมองข้าม
ความสำคัญของโลก และละเลยที่จะประสบผลสู่ความเป็น “ศิวิไล “ มันจะนำพาให้เรา ร่วงลงต่ำ
นำสู่ความสูญสิ้นแห่งชาติ ไม่ช้าก็เร็ว ไม่ในแง่มิติใดก็มิติหนึ่ง
ลักษณะทางกายภาพ
แมงมันข้าว ภาษาอีสานเรียก “ แมงมัน” เป็นแมลงจำพวกตั๊กแตนหนวดยาว พบได้ตามเขตร้อน
ส่วนใหญ่มีสองสี สีเขียว และสีน้ำตาล ( สีฟางแห้ง ) ลำตัวยาว 3 ซม. ปีกยาว 5 ซม. ปากสีชมพู
และปีกชั้นในมีสีชมพู สวยงาม ส่วนพันธุ์สีฟางแห้ง จะมีสีเดียวตลอดลำตัว พรางตากับหญ้าแห้งได้สุดยอด
หนวดของ “แมงมัน” ยาวเท่ากับความยาวของลำตัว มีขาคู่หลังที่เรียวงาม
แมงมัน อีกแบบหนึ่ง มีสีคล้ายๆ ฟางแห้งหญ้าแห้ง
แมลงชนิดนี้ บางคนเห็นอาจสับสนกัน ระหว่าง “แมงมัน” กับ” แมงจิงโจ้ “ เพราะสายพันธุ์ใกล้เคียง
ให้ดูที่ก้นเป็นหลัก “แมงมัน” มีก้นสั้น ไม่มี รยางค์ ต่อท้าย ส่วน แมงจิงโจ้ ( กัดเสื้อผ้า ) จะมีรยางค์
ที่ก้นต่อท้าย เป็นลักษณะแหลม ๆ
วงจรชีวิต
แมงมัน หรือ แมงมันข้าว จะวางไข่ในในดินชุ่มชื้น ช่วงเดือน มิถุนายน ในที่ขณะตั๊กแตนสายพันธุ์อื่นส่วนใหญ่
วางไข่ห้วงเดือน พ.ค. แมงมันเป็นแมลงที่มีการเจริญเติบโตแบบ
เมทามอร์โฟซิสแบบค่อยเป็นค่อยไป (gradual metamorphosis )
ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่มีลักษณะคล้ายตัวเต็มวัย แต่ยังมีอวัยวะบางอย่างไม่ครบ เช่น ไม่มีปีก
แล้วจะค่อยๆ เมื่อมีการลอกคราบ จึงจะมีปีกและจะเจริญเติบโตต่อไปเรื่อยๆ จนมีลักษณะเหมือนตัวเต็มวัย
มันลอกคราบ 4 ครั้ง เพื่อเข้าสู่ตัวโตเต็มวัย จากนั้นจะกินอาหารจากท่อน้ำเลี้ยงของพืช สะสมไขมันในท้อง
เพื่อต่อสู้กับฤดูแล้ง ฤดูหนาว ของภาคอีสาน เมื่อถึงเดือน ต.ค- พ.ย. ของทุกปี ท้องของแมลงชนิดนี้
จะเต็มไปด้วยโปรตีน และไขมัน รสชาติอร่อย นำมาเป็นอาหารได้ ชาวอีสานจึงเรียกมันว่า “ แมงมัน”
เฉลี่ยอายุตั้งแต่ออกจากไข่ จนถึงวันลาโลก มีอายุ 1 ปี
ความสำคัญต่อระบบนิเวศน์
ในแต่ละชีวิตบนโลกใบนี้ ล้วนมีความเกี่ยวพันกัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ช่องว่างที่ทำให้แต่ละชีวิต ห่างกัน
เป็นรอยแยก และลดจำนวนลงอย่างฮวบฮาบ คือ พลังคาร์บอน โลกต้องใช้เวลานานล้านปี ในการเยียวยาตัวเอง
ในการเก็บซ่อนคาร์บอน มิให้โผล่ขึ้นมาทำลายสิ่งมีชีวิต และสร้างทุกสิ่งสรรพให้เอื้ออำนวยต่อพืชและสัตว์
พืชและสัตว์ทุกชนิดล้วนเกี่ยวพันกัน เป็นโซ่แห่ง “เป็นพลังชีพ” ให้โลกนี้ยังแตกต่าง
จากดาวเคราะห์ดวงอื่น
แมงมัน อยู่ในตำแหน่ง เอื้ออำนวยต่อต่อ สัตว์ปีก เช่นนกกินแมลง สายพันธุ์ท้องถิ่นต่างๆ และเป็นอาหารของ
สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก รวมถึงมนุษย์ แมงมัน ไม่ใช่ตั๊กแตนที่เป็นศัตรูพืช แต่มันคือ ส่วนเติมเต็มให้พืชสมบูรณ์
แมงมัน เป็นแมลงที่ไวต่อสารเคมี และความสมบูรณ์ ของแร่ธาตุในดิน เนื่องจากตัวอ่อนของมัน กินแร่ธาตุบางอย่าง
ในดินเพื่อเติบโตมากิน หญ้าปล้อง และ หญ้าวัชพืช ก่อนจะโตเต็มวัย มาดูดน้ำเลี้ยงในต้นพืชแก่ เมล็ดสุกแล้ว
อนึ่ง แมงมัน เป็นอาหารสุดโปรด ของ นกคุ่ม เช่น นกคุ่มอืด และ นกคุ่มหลี่
ความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตอีสาน
ในช่วงเก็บเกี่ยวข้าว ในนาข้าวที่สุกปลั่ง ท่งรวงทองพี่น้องเอย เมื่อชาวนาอีสานเกี่ยวข้าวไป ก็จะพบ
แมงมัน ตามกอข้าว รีบจับเอามา ยัดด้ามเกี่ยว(เคียว) เอาไว้ เพื่อ จี่ให้ลูกเต้ากินเป็นอาหารเสริม
บางคนจับได้ก็โหม่มใส่ปาก กินดิบโลด แซบมีโอเมก้า 3 น้ำมันตับปลาชิดซ้าย แก้โรค ไขข้อ
เจ็บแข้งเจ็บขาเจ็บแอว ปีไหนมีแมงมันในนาหลาย ถือว่าข้าวปีนั้นได้ผลผลิตดี เต็มเม็ดเต็มหน่วย
เมื่อลงมือเกี่ยวข้าว ชาวนาแต่ก่อนมักจะ “ปักซิง” หรือตาข่ายดักนกไว้ ตาม “แจไฮ่นา”
( มุมของตะบิ้งนา) แล้วลงมือเกี่ยวข้าว นกคุ่มอืด และ นกคุ่มหลี่ ( นกคุ่มบ่อืด ) จะลงมาหากินแมงมัน
ตามไฮ่นา เมื่อกอข้าวถูกเกี่ยวออก มันจะถอยร่นหนี ไป “ถูกซิง” ดิ้นแด่ว ๆ นั้นคืออาหารแลงอันโอชะ
ปัจจุบัน ทั้งนกคุ่ม และ แมงมัน หดหายไปจาก ระบบนิเวศน์ เนื่องจากสาเหตุหลายประการ
เสียดาย เฮาบ่อาจรักษามันไว้เป็นของขวัญระบบนิเวศน์ เกษตรแบบองค์รวม ให้ลุกหลาน
มุ่งหวังการเกษตรแบบอุตสาหกรรม นำคาร์บอน ฟ้อนใส่ปุ๋ยเคมี
จึงไม่แปลกที่ปัจจุบัน ลูกหลานเฮา ไม่ค่อยซึมซับวิถี หันหน้าหนีท่งนา แนมหาแต่ เซเว่น
น้อยคนที่จะ “ปรีชา” มองเห็นอักษรที่ แมงมัน จารึกไว้ในมิติอัสดง
2 ความเห็นที่มีต่อแมงมัน (แมงมันข้าว)
ถ้าต้องการหาแบบตัวเป็นๆเค้าจะออกมาในช่วงไหนหรอคะ แบบออกช่วงที่ข้าวสุกใกล้จะเก็บเกี่ยวหรือตอนที่ข้าวเขียวกำลังโตมากกว่าพอดีหนูเป็นนักเรียนอยากได้มาศึกษาค่ะ
เขาจะออกมาเยอะช่วงที่ฤดูเก็บเกี่ยวครับ จริง ๆ ก็จะเริ่มมีตั้งแต่ช่วงข้าวเขียว แต่ว่าเราจะหาตัวยาก ช่วงที่แมงมันโตเต็มที่คือช่วงเก็บเกี่ยว เขาจะออกมากินน้ำนมข้าว ตัวก็จะโตเต็มที่ พร้อมขยายพันธุ์ต่อไป