แมงแคงขาโป้ง (ขาโป้)

ชื่อวิทยาศาสตร์  Anoplocnemis plasiana F.
ชื่อสามัญ Coreid bug, Squash bug
ชื่อพื้นบ้าน  แมงแคงขาโป้ง  แมงแคงขาโป้
ชื่อภาษาไทย  มวนนักกล้าม
อาณาจักร Animalia
ไฟลัม    arthropoda
คลาส  insecta
อันดับ Hemiptera
อันดับย่อย  Gymnocerata
วงศ์  Coreidae

กล่าวนำ

นักวิทยาศาสตร์ หรือ ผู้เชี่ยวชาญ  เรียกมันว่า มวนถั่ว (มาลีมง)   จัดเข้าในประเภทเดียวกันกับ
แมงแคงค้อ แมงแดง เช่นเดียวกับที่ชาวอีสานโบราณ เรียกชื่อมัน ว่า “แมงแคงขาโป้ หรือ ขาโป้ง “  เพิ่มลักษณะเด่น
ของมันเพื่อให้จดจำง่าย ว่ากันว่าพบกระจายในพื้นที่ประเทศไทย  จารย์ใหญ่แห่งมุกดาหาร ที่ปลูกถั่วลิสง
ช่วยตรวจสอบด้วย   มีแมงอันนี้ มากินใบถั่วหรือไม่   หากไม่มีมากิน ก็อย่าเชื่อ ว่ามันกินถั่ว
เท่าที่พบมา แมงแคงชนิดนี้ พบตามต้นไม้ท้องถิ่น เช่น “ต้นแมงแคงขาโป้” ต้นคูน
และไม้พันธุ์ท้องถิ่น  มักเกาะตามใบอ่อน  หรือยอดพืชที่กำลังผลิใบ
แมลงชนิดนี้ ดูดกินน้ำเลี้ยงจาก ก้านใบของพืช  อาจจะแพร่ระบาดในถิ่นอื่น
หากแต่เจอคนอีสานเข้าไป  “ไม่ดับแนว” ก็บุญโข  เพราะเป็นอาหารระดับ แฟทตินั่ม พะน

ลักษณะทางกายภาพ

ลักษณะลำตัว เป็นรูปทรงกระบอก  หนวดสีดำ ปีกชั้นใน สีชมพูอ่อน  ปีกชั้นนอกสีน้ำตาลดำ
มีปากแบบเจาะดูด  มีตาแบบ ตารวม  ขา 4 ขา สั้น ส่วนอีก 2 ขาหลัง  มีขนาดใหญ่
ลักษณะโค้งเข้าหาลำตัว ขาอันใหญ่ผิดปกตินี้เอง คือที่มาของชื่อ เพราะว่ามัน “โป” ซึ่งแปลว่า
ใหญ่กว่าปกติ ลำตัวมีขนาดยาว 3- 4 ซม.

แมงแคงขาโป้ง

แมงแคงขาโป้ง

วงจรชีวิต

วางไข่ ช่วงต้นฤดูฝน  ตัวหนึ่งวางไข่ประมาณ 30 ฟอง ใช้เวลาฟักเป็น ตัว 7 วัน
ตัวอ่อนระยะแรก  อายุ 10 วัน มีลักษณะ ตัวเล็ก ๆ แดงๆ อยู่กันเป็นกลุ่มใต้ใบไม้
ตัวอ่อนระยะที่ 2 มีขาดเกือบเท่าตัวเต็มวัย แต่ปีกยังไม่งอก มีขาขนาดใหญ่แล้ว
ใช้เวลา จากระยะนี้เป็นตัวเต็มวัย 5 วัน     กล่าวกันว่า มันมีอายุขัย ทั้งสิ้น 100 วัน

ความสัมพันธ์กับวิถีชาวอีสาน

แมลงชนิดนี้ เป็นอาหาร จานเด็ดของ กะปอมก่า กะปอมแดง  และนกต่างๆ  เพราะมีรสชาติ แซบ
หากจับได้คราละมาก ๆ สามารถนำมาทำน้ำพริกได้  แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอาหาร จานด่วน
ของเด็กน้อย เลี้ยงงัว  จับได้ปุ๊บ ก็ เด็ดปีก” โม่มขาโต้ย” มันก่อน เพราะมันใหญ่
จากนั้นก็ กินตัวมันเป็น ๆ
หากว่าเป็น “ขาร็อก” หน่อย ก็จะ เด็ดขาโปของมัน  เด็ดขาช่วงแรก เหลือแต่ ต้นขาใหญ่
จากนั้นก็นำ ดอกหญ้าเจ้าชู้ มาเสียบแทน ขาข้อหลัง  ปล่อยให้มันบิน เหมือน เครื่องบิน ชี-นุ๊ค ลากของหนัก
จากนั้นก็ วิ่งตามกันเป็นพรวน  เฮโลสาระพา  เป็นที่สนุกสนาน ในมุมมองของเด็ก

อย่างไรก็ตาม มันสามารถปล่อยฉี่ หรือสารกลิ่นฉุน ป้องกันตัวมัน ซึ่งมีสภาพเป็นกรด ต้องระวังไว้บ้าง
แมลงน้อยอันนี้ คือ ชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของธรรมชาติที่ใหญ่ยิ่ง  เรายังไม่ได้ศึกษาชิ้นส่วนนี้ให้ชัดแจ้ง
ว่ามันเกี่ยวเนื่องกับ ชิ้นส่วนอื่นที่ใหญ่กว่าอย่างไร  มันอาจจะซ่อนประโยชน์ ต่อมวลมนุษย์ไว้
ภายใต้ “ขาโป้ง” อันน่าพิสมัยของมัน

ชาวอีสานหลายพื้นที่รู้จักแมลงชนิดนี้ ดี เพราะมีให้เห็นตาม ท่งนา ป่าโคก แลเห็นมันเป็นอาหาร
และไม่ได้มี พิษภัย คุกคามพืชไร่ พืชนา  มันคือส่วนประกอบหนึ่งเล็ก ๆ ที่ทำให้ วิถีเรียบง่าย
แอบอิงธรรมชาตินั้น เปรมปริ่ม


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*