แมงขี้นาก

ชื่อพื้นเมือง    แมงขี้นาก
ชื่อสามัญ     Black dwarf honey bee
ชื่อวิทยาศาสตร์  Tetragonula laeviceps
ลำดับ            Hymenoptera
วงศ์                APIDAE
วงศ์ย่อย         Meliponinae

ตามคำเรียกร้องของท่านสมาชิก “ว้อนท์”  แมงขี้นาก เสียเหลือเกิน วันนี้
จัดให้ตามคำขอ  เนื่องจากแมงขี้นาก หาข้อมูลยากยิ่ง เพราะส่วนใหญ่
ค้นหาในอินเตอร์เน็ต  จะพบแต่สรรพคุณของแมงอันนี้  ว่ามันเจ้าชู้  ชอบเล่นหูเล่นตา
และสร้างอาการ “ ฟ้อนไปตามดิน” ( รำคลาน)  แก่ประชาชนทั่วไป
จึงนับได้ว่า เวบอีสานจุฬาเฮา เป็นแห่งเดียวที่รวบรวมข้อมูล “แมงขี้นาก” ไว้ครบถ้วนกระบวนยุทธ
หากท่านใด อ่านแล้ว “ ซ๊วด! ” หรือ ตาสวด ขึ้นมาทันใด ในข้อมูลแมงขี้นาก
ที่ลงในเวบอีสานจุฬา ฯหากจะก็อปปี้ ไปลงที่อื่น ก็ขอให้ อ้างอิงที่มาด้วยเด้อขะน้อย  หลูโตน บ่าวปิ่นลม ผู้เรียบเรียงแน

กล่าวทั่วไป

แมงขี้นาก เป็นแมลงเชื้อสายเดียวกับผึ้งประเภท Stingless bee หรือ ผึ้งไร้เหล็กใน   ในประเทศไทย
มีผึ้งสายพันธุ์นี้ จำนวน 29 ชนิด  ( จำพวกแมงน้อย  ,ขี้สูด  อ่มหมี เป็นต้น ) ภาคตะวันออก เรียกแมงนี้ว่า แมงอีโลม

แต่ในต่างประเทศ เรียกมันว่า “ ผึ้งแคระดำ” จัดมันเข้าในกลุ่มผึ้งดอกไม้
แมงขี้นาก ทำรังในโพรงไม้ หรือรอยแตกบนต้นไม้ รังที่ขนาดใหญ่ที่สุด มีขนาดเท่าผ่ามือ ยูไล เท่านั้น
แมงขี้นาก นั้นขึ้นชื่อว่า สร้างความรำคาญแก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  เพราะชอบตอมไต่ ตาม รูหู  และตา
และส่งเสียง วิ้ง..วิ้ง  ในรูหู จนเกิดความรำคราญ หากเรา “ปัดหรือตบฆ่ามัน  ตัวที่ตาย จะปล่อย ฟีโรโมน ชนิดพิเศษ
ชนิดกลิ่นเข้มข้น ทำให้ตัวอื่นๆ ที่อยู่ใน อาณาบริเวณ เข้าร่วม “ประท้วง” ทวงหาสิทธิ แมงขี้นาก ตอมไต่ ทวีคูณ
แถมกลิ่นฉุน หรือ ภาษาอีสาน เรียกว่า “ ขิว”  จะติดตามท่านไปทุกย่างก้าว

ในประเทศ แถบแอพฟริกา ก็มี แมงขี้นาก เช่นกัน แต่แถวนั้น นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “ ผึ้งดำพื้นเมือง”
ยังไม่รับการจำแนก วงศ์  มีการถ่ายรูปมันมาลงใน วงการวิทยาศาสตร์ แต่ ไม่มีรายละเอียดมากนัก

สาเหตุที่ แมงขี้นาก ชอบตอมหูคน

เพราะ ขี้หู คือ ปัจจัยสำคัญในการอยู่รอด ของรัง ซึ่ง แมงขี้นาก สามารถนำเอาขี้หู และ สารประกอบแคลเซี่ยม
ในเหงื่อไคลของคนเรา ไปผลิต รังของมัน
อธิบายว่า ขี้หูถูกสร้างออกมาจากต่อมสร้างขี้หู ซึ่งอยู่ในช่องหูชั้นนอก มีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อน ๆ ประโยชน์ของขี้หู คือ ช่วยปกป้องผิวหนังของช่องหูชั้นนอก ให้ความชุ่มชื้น ช่วยต่อต้านเชื้อโรค ป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย และช่วยป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในช่องหู
แมงขี้นาก ก็ใช้ประโยชน์จาก คุณสมบัตินี้ หาตอมหู ตอมตาคนเรา หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น
เพื่อนำไป ฉาบทาปากโพรงรัง และรังด้านใน เพื่อป้องกันเชื้อโรค และรักษาความชุ่มชื่นภายในรัง  และยังเป็น
ฟีโรโมนสังเคราะห์ ป้องกัน  แมลงจำพวกมดต่าง ๆ เข้าบุกรุกโพรงของมันนั่นเอง
ฮ้วย…ฮังแมงขี้นาก มันเอาขี้หูสัตว์ไปเฮ็ด ซั่นตี้…ลังคนคิดในใจ  จริงๆแล้ว มันเอาไปผสมกับ เกสรดอกไม้ และ
สารประกอบอื่น ๆ อีกหลายอย่างครับ บ่มีแต่ขี้หู อย่างเดียว ขะน้อย

แมงขี้นาก

แมงขี้นาก

ที่มาของชื่อ “แมงขี้นาก”

สืบเนื่องมาจาก วรรณกรรม พี่น้องชาว “ลาว”  เรื่อง “สังข์สินไซ”  ตอนสู้กับ งูซวง”
ลูกน้อง ยักษ์กุมภันฑ์   ที่ทรงฤทธิ์กินสัตว์น้อยใหญ่เป็นอาหาร เป็นพญาเมืองมาร คุมฮอดบ่อบาดาลพู้น
( ไม่เกี่ยวกับ กรมทรัพยากรธรณี เด้อ )
งูซวง นั้นเป็น “นาก”   หรือ นาค บ่สมประกอบ คือมีเชื้อสายยักษ์ สีโห เอาเท้าเหยียบหางไว้

สินไซ เอาพระขรรค์ ฟันฉับ   !
ส่วนสีโห กระทืบซ้ำ จน “นากา”  นาคา”  ขี้หยอด แตกเป็นฝอย   กลายเป็นแมงไม้ หลบหลีกสายตาหอยสังข์
กลายมาเป็น “แมงขี้นาก”  ที่คอยรบกวนมนุษย์ อยู่ร่ำไป   นี่ขนาด”ขี้” ของยักษ์ ยังมีพิษภัยขนาดนี้ เนาะพี่น้อง
นี่ก็ว่ากันไปตาม นิทานปรัมปรา  นี่หละครับที่มาของชื่อ “ แมงขี้นาก”

ลักษณะทางกายภาพของ แมงขี้นาก

เป็นแมลงในตระกูลผึ้ง แต่เล็กมาก มีลำตัวยาวเพียง 2 มม. มีสีดำ  เป็นแมลงที่ไม่มีเหล็กใน ต่อยใครไม่ได้
ใช้กลยุทธในการ”ตอม” ไต่ และปล่อยสารเคมี ที่มีกลิ่นฉุน ก่อให้เกิดการรำคาญ ทดแทนการที่ไม่มีเหล็กใน
ลักษณะของแมลงชนิดนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
1.ส่วนหัว มีตารวม และมีตาเดี่ยว  ตารวมมีลักษณะคล้ายรูปหกเลี่ยม เชื่อมต่อกันเป็นแผง ทำให้มองเห็นรอบทิศ
ตาเดี่ยวเป็น จุดเล็ก ๆ  2 จุด อยู่ระหว่าง ตารวม  แมงขี้นาก ใช้ตาเดี่ยวนี้ในการมองเห็นสี
หนวด ใช้ในการสัมผัส บรรยากาศ ความชื้น และไวต่อสารเคมีใน บรรยากาศ เป็นอย่างมาก
2.ส่วนอก มีปล้องจำนวน 4 ปล้อง
3.ส่วนท้องมีลำตัว 6 ปล้อง ด้านข้างมีรูสำหรับหายใจ แมงขี้นาก ใช้ประโยชน์จากรูด้านข้างท้องเหล่านี้
ในการสูดอากาศเข้าไปซึ่งแต่ละรูจะเชื่อมกับถุงลมภายในเพื่อพยุงตัว ช่วยในการบิน
นอกจากนั้น บริเวณท้องยังบรรจุ สารเคมีฟีโรโมน กลิ่นฉุน ซึ่งในผึ้งประเภทอื่นแทบจะไม่พบเลย

วงจรชีวิต

ปกติจะมีวงจรชีวิต 1-2 ปี ผสมพันธุ์ในช่วงเดือน เมษายน จากนั้นมันจะเป็นผึ้งเร่ร่อน
พาฝูงตระเวนบินหาทำเลเหมาะสม

การนอนในขณะที่ยังไม่พบทำเลที่เหมาะ อาจเกาะกลุ่มกันหลบใต้พุ่มไม้ใบหนา
เมื่อพบโพรงที่เหมาะสม จะเข้าไปสร้างรัง กลุ่มของ แมงขี้นากเป็นผึ้งกลุ่มเล็ก

มีขนาดฝูงไม่เกิน 1000 ตัว
แต่เมื่อพบโพรงที่สร้างรังแล้ว อาจเพิ่มจำนวนถึง 2000 ตัว

วางไข่ได้ประมาณวันละ 100 ฟอง สามารถวางไข่ทุกวัน จนถึงเดือน พ.ย.ของทุกปี
ระยะฟักตัว จากไข่เป็นตัวอ่อน 7 วัน เมื่อมีจำนวนมาก มันจะแยกรัง
อาหารของมัน คือ เกสรดอกไม้ น้ำหวาน  ขี้หู ขี้ตา เหงื่อไคล ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

อย่างไรก็ตาม ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับ แมงขี้นากน้อยมาก เพราะมีประโยชน์กับมนุษย์น้อย
รังขนาดเล็ก น้ำหวานน้อย จึงไม่น่าสนใจ ซึ่งต่างจาก ผึ้งสายพันธุ์เดียวกัน เช่น ผึ้งชันมะโรง ขี้สูด
ในประเทศไทย มีการศึกษาอย่างกว้าง ขวางเพื่อการเกษตร

ความเกี่ยวพันธ์กับวิถีชิวิตอีสาน

แมงขี้นาก เป็น “ไอดอล” หรือสัญลักษณ์แห่ง “ความหนหวย” โดยเฉพาะในฤดูแล้ง
เมื่อชาวอีสานดุ่มเดินตามท้องนา ป่าโคก เพื่อหาอาหารหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง  มักจะโดนทายาทอสูร
ชนิดนี้ตอมหูตอมตา  พอฆ่าไปตัวหนึ่ง กลับมาอีก 3 เท่าทวี   ยิ่งตอนที่ต้องใช้สมาธิ เช่นเล็งหนังสติ๊ก
หมายมั่นใส่ กะปอมก่า   มักจะได้ยินเสียง วิ๊ง…วิ้ง..ตามรูหู
หาก “หันใจ” แรง ก็จะสูดเอาแมงขี้นาก ”เข้าดัง” ไปด้วย.. จนต้องสบถก่นด่า

พอใช้ท่า ฝ่ามือ ยูไล จัดการ  ก็สะใจอยู่สักพัก ไม่เกิน 1 นาที มันก็ยกพวกมาประท้วงเกาะติดตามหน้าตา
จนต้องรีบหนีแจ้นไป “ โตนห้วย”  เพื่อล้างกลิ่นฉุนติดตามตัว
สำหรับพ่อใหญ่สี  เลามีเคล็ดลับ สูตรดั้งเดิม ออริจินอล  คือ เอาผักอีตู่ ”ฮะ”ตามกะแต้หู เพื่อไล่แมงขี้นาก
สำหรับ อ้ายต้องแล่ง ก็มีสูตรเด็ดในการ ต่อต้าน แมงขี้นาก  โดยการ “เอาตมโอบกกหูไว้”

ประการหนึ่ง แมงขี้นาก หมายถึง พวกก่อกวน พวก อึดเวียก  มือไม่พายเอาเท้าลาน้ำ
สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับคนอื่น   ภาษาอีสานเรียกว่า “ พวกบ่เป็นตาซิแตก”
บุคคลชนิดนี้ เรียกว่า “แมงขี้นาก” ได้เช่นกัน


1 ความเห็นที่มีต่อแมงขี้นาก

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*