แหจับปลา วิถีชีวิตคนอีสาน
แหจับปลา คือ เครื่องมือจับปลาหรือสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง ถักเป็นตาข่ายใช้ทอดแผ่ลงในน้ำแล้วต้องดึงขึ้นมา ใช้จับปลาเพื่อบริโภคในชีวิตประจำวันและใช้ในประกอบอาชีพ หรือใช้จับปลาเพื่อการจำหน่าย แหถือเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่แท้จริง เพราะมันคือส่วนหนึ่งของชีวิต ทำให้ชีวิตมีอาหาร และมีรายได้ในชีวิตประจำวัน แหจึงได้รับการพัฒนาและเอาใจใส่ เริ่มจากการได้รับการถ่ายทอดเบื้องต้นจากบรรพบุรุษ
แห ใช้ทอด เหวี่ยง หรือภาษาบ้านเราเรียกว่าตึก(ภาษาอีสาน เรียก ตึก เช่นตึกปลา)เพื่อหาปลาในนาเท่านั้น แห เป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งสำหรับใช้จับปลา ซึ่งนิยมกันมากของคนทั่วไป เพราะโดยทั่วไปทุกๆคนจะมีแหล่งน้ำขนาดเล็กมากมาย มีหนองน้ำ บึง และลำคลอง วิธีจับปลาที่ได้ผลเร็วและสะดวกที่สุดของคนทุกภาค ก็คือการใช้แหแทนเท่านั้น เพราะแหสามารถจับปลาได้ทีละหลายๆตัวเลยทีเดียว ดังนั้นแหของคนทุกภาคจึงมีหลายขนาดหลายชนิดเช่นกัน ด้วยความจำเป็นเพื่อการยังชีพในอดีตแทบทุกครัวเรือน ดังนั้นชาวบ้านจึงมีแหไว้จับปลา และถ่ายทอดภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับแหไว้อย่างต่อเนื่อง คงความเชื่อโบราณหรือเป็นวิถีชีวิตปกติ
การสานแหมีมาตั้งแต่ช้านานซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใช้ในการทำมาหากินของชาวบ้าน และเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการดำรงชีวิตในอดีต ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ เช่น สถานที่ ที่อาศัยอยู่ใกล้ที่ราบลุ่มแม่น้ำ เนื่องจากสภาพแวดล้อมต่างๆที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งทางธรรมชาติป่าไม้และสระ หนอง คลอง บึง ที่เต็มไปด้วยกุ้ง หอย ปู ปลา บริเวณรอบๆหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง
อุปกรณ์ในการสานแห
1. กีม หรือไม้กีม
2. ปาน
3. ด้ายรัง4
4. ลูกแห
วิธีการในการสานแห
1.ขั้นตอนแรกคือเราจะต้องจัดหาไม้กีม และไม้ปานที่จะใช้ในการสานแหให้เรียบร้อย
2.นำด้ายรัง4มาพันใส่กีมที่เราเตรียมไว้ให้เรียบร้อย
3.เราจะต้องสานจอมแหหรือที่ห้อยแหก่อนจะเริ่มสานจริง
4.เริ่มสานแหโดยการนำด้ายรัง4ที่เราพันใส่กีมมาสานตัวแหให้เป็นตาข่ายตามลายแห
5.เมื่อสานตัวแหเสร็จเราจะต้องนำแหที่เราสานเสร็จแล้วมาห้อยกับลูกแห
6.ขั้นตอนสุดท้ายของการสานแหคือผูกเพาแหที่ด้านล่างให้เรียบร้อย จากนั้นก็สามารถนำไปใช้งานได้ตามต้องการ
วิธีบำรุงรักษา
เมื่อนำแหไปใช้เป็นอุปกรณ์ในการหาปลาแล้ว เวลาใช้เสร็จจะต้องทำความสะอาดก่อนนำไปเก็บ เนื่องจากอาจมีเศษใบไม้ ใบหญ้า ฟาง หรือดินเหนียว ติดมากับแหของเรา ให้เราล้างและทำความสะอาด จากนั้นสะบัดน้ำให้หมาด ๆ แขวนผึ่งลม ผึ่งแดด เพื่อเป็นการรักษา และยังยืดอายุการใช้งานได้ยาวนานยิ่งขึ้น
สำหรับชาวบ้านชาวชนบทแล้ว แหคือห่วงโซ่ในเรื่องของอาหารและรายได้ เพื่อการยังชีพของเขา ตราบใดที่แหล่งน้ำธรรมชาติยังมีอยู่ นั่นหมายถึงที่นั่นย่อมมีปลาและอาหารธรรมชาติที่สมบูรณ์ ดังนั้นวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับแห ยังคงโยงใยกับชีวิตชาวบ้านของทุกภาคตลอดไป เพราะวิถีชีวิตได้ถูกกำหนดและถ่ายทอดจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน แม้วัฒนธรรมหลายอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป แต่แหยังคงผูกพันกับชาวบ้านเหมือนเดิม
1 ความเห็นที่มีต่อแหจับปลา วิถีชีวิตคนอีสาน
ปักดำ