ต่อนอนเว็น
ชื่อพื้นเมือง ต่อนอนเว็น
ชื่อสามัญ wasp hornet , Paper wasp
ชื่อวิทยาศาสตร์ Vespa cincta
ชั้น Insecta
อันดับ Hymenoptora
วงศ์ Vespidae
พูดเรื่องต่อ ในภาคอีสาน มีต่อยู่ 5 ชนิด ได้แก่
1. ต่อนอนเว็น (ภาคกลางเรียกต่อหัวเสือ )
2. ต่อนั่ง ( ไม่แน่ใจว่าภาคกลางเรียกว่าอะไร )
3. ต่อขวด
4. ต่อขุม ( ภาคกลางเรียก ต่อหลุม )
5. ต่อกระดิง ( ภาคกลางเรียก ต่อแตน )
ทุกชนิดที่กล่าวมา ล้วนกระหน่ำ “ ง่อนต่อ” ของบ่าวปิ่นลม จนไข้ขึ้นนอนซมแทบทั้งสิ้น
ไม่ใช่สักแต่ว่าเขียนข้อความให้พี่น้องได้อ่านแล้ว ไม่ได้ศึกษาให้เกิด “ปัญญา” เหนืออารมณ์
แมลงจำพวกต่อ จัดเป็นแมลงตัวห้ำ (Predator) กินแมลง กินตัวอ่อนของแมลงชนิดอื่นเป็นอาหาร
เช่น หนอน เพลี้ย ผึ้ง ตั๊กแตน และตัวเบียนพืชชนิดต่างๆ ในธรรมชาติ นอกจากนั้นยังชอบ
กินเนื้อสัตว์ จากซากสัตว์ต่างๆ เป็นอาหาร อาหารสุดโปรดคือ “ ซี้นแห้งตากในกระด้ง”
มิหนำซ้ำยังดูดกินน้ำหวานจากดอกไม้ได้ด้วย สุดยอดแห่งสายพันธุ์นี้ ก็คือ ตัวต่อ เด้อพี่น้อง
ตัวต่อเป็นสัตว์มีพิษ มีเหล็กใน หรือภาคอีสานเรียก “ ไล” ต่อไม่มีมือ มีแต่ขา เวลามันทำร้าย
คนหรือสัตว์อื่นที่รบกวนรัง ภาคอีสานเรียกว่า “ การตอด” ส่วนภาคกลางเรียกว่า “การต่อย”
การ”ตอด”ของ ตัวต่อ ถึงตายได้ เพราะมันไม่ได้มาตัวเดียว แต่มาเป็น กลุ่ม มาทั้งรังก็มี
เรียกว่า “สหไล” ภาษาคนว่า “สหบาทา” ภาษาอีสานว่า “ตีนจุ้ม”
การทำร้ายมนุษย์ของตัวต่อ จะทำก็ต่อเมื่อ เราไปรบกวนรังของมันเท่านั้น ไม่มีเหตุผลอื่น
หากไม่ไปยุ่งกับมัน มันก็ไม่ทำร้ายใคร ชาวอีสาน เมื่อพบรักต่อ จะทำเครื่องหมายไว้
เช่นเอาผ้าผูก ให้รู้ว่า มีรังต่อ เด็ก ๆ หรือ ใครผ่านไปมาจะได้สังเกตและหลีกเลี่ย
วงจรชีวิต
ตัวต่อจะผสมพันธุ์ในช่วงเดือน ตุลาคม นางพญาที่ผสมพันธุ์กับต่อเพศผู้แล้ว จะทิ้งรังไปเผชิญชะตากรรมลำพัง
รังกลายเป็น“ฮังฮ้าง” ตัวต่องานจะตายลงหมดรัง นางพญาจะโบยบินหาที่หลบภัย
อาศัยในโพรงไม้ หลืบไม้ หรือ โพรงใต้ดิน ตามจอมปลวก รอให้ผ่านพ้นฤดูหนาวไป
เมื่อฝนแรกโปรยปราย มันจะออกจากที่ซ่อนแล้วหาทำเลสร้างรัง ตามลักษณะของสายพันธุ์ดังนี้
1.ต่อนอนเว็น (ต่อหัวสือ) จะสร้างรังตามกิ่งไม้ ต้นไม้สูงเหนือพื้น
2.ต่อนั่ง จะสร้างรังตามพุ่มไม้ ดงไม้ ที่ลับตา ติดกับพื้นดิน ( ทำรังในพื้นที่ต่ำติดดิน )
3.ต่อขวด ทำรังเล็กลักษณะเหมือน ไหน้อย หรือ ขวด
4.ต่อขุม หรือต่อหลุม จะขุดโพรงทำรังในใต้ดิน
5.ต่อกระดิง จะทำรังตามกิ่งไม้ ใต้ร่มไม้ หรือ ต้นไม้ต่างๆ เหมือนรังแตน
เมื่อสร้างรังเล็ก ๆ ได้แล้ว นางพญา จะเริ่มวางไข่ ตัวต่อเป็นแมลงที่มีการเจริญเติบโตแบบ
การถอดรูปสมบูรณ์แบบ (holometabolous or complete metamorphosis)
มักพบได้ในกลุ่มแมลงที่มีวิวัฒนาการสูง วงจรชีวิตที่สำคัญรวม 4 ระยะ คือ ระยะไข่ ระยะตัวอ่อน หรือ หนอน
ระยะดักแด้ และ ระยะตัวเต็มวัย
“ออกแม่แพร่พันธุ์ “ สร้างรังที่มีขนาดใหญ่ ตามความสมบูรณ์ของอาหารในพื้นที่ จนถึงครา ออกพรรษา
นางพญาหมดอายุขัย รังร้าง เข้าสู่วัฎจักรเดิม
ลักษณะทั่วไปของวิถีชีวิตในรัง
แมลงต่อ ส่วนใหญ่เป็นสัตว์สังคม (Social wasp) ส่วนชาวเราก็เป็นสัตว์สังคม (Social Network)
ภายในฮังต่อ จะมีตัวต่อยู่ 3 วรรณะ 1.นางพญา 2. ต่องาน 3.ต่อสืบพันธุ์ ( ธิดาราณี และ ต่อเพศผู้ )
แต่ละวรรณะมีหน้าที่แตกต่างกัน นางพญาออกไข่ ต่องานอาหาร เลี้ยงตัวอ่อน สร้างรัง
ต่อสืบพันธุ์ มีหน้าที่ขยายเผ่าพงษ์ต่อ
ตัวต่อ จะหวงแหนรังยิ่งกว่าชีวิต เราจะได้ยินข่าวต่อทำร้ายมนุษย์เสมอ กิตติศัพท์ ว่าต่อหัวเสือ ดุ เหลือเกิน
ในบรรดาตัวต่อ “ต่อขุม” หรือ ต่อหลุม มีนิสัยดุที่สุด ไล่ทำร้ายผู้รุกรานไกลกว่า 500 เมตร
รสชาติความเจ็บปวดของต่อขุมที่ “ตอด” รวดร้าวเพียงใด ให้ไปถาม จารย์ใหญ่ เซียนดง
ที่ถูกต่อตอด ข้อหาขโมยหน่อไม้ เลยโดนเต็มๆ วิ่งป่าราบ จื่อบ่
เกร็ดเล็กน้อย
ผิวหนังของตัวต่อ หรือ รงควัตถุ มันคือ โซล่าเซลล์ ประจำตัวของมัน มันสามารถใช้แสงแดด เปลี่ยนเป็น
พลังงานไฟฟ้า ขับเคลื่อนให้มีกระฉับกระเฉงได้ ลายดำของต่อดักจับแสง ลายเหลืองผลิตกระแสไฟฟ้า
เออแฮะ นึกว่ามนุษย์นี่สุดยอดปัญญาแล้ว ผลิตโซล่าเซลล์ได้ ตัวต่อผลิตมาก่อนเราซะอีก
ประโยชน์ของต่อ
ต่อเป็นตัวห้ำ คอยกำจัดแมลงศัตรูพืช ต่างๆ ช่วยผสมพันธุ์พืช กำจัดซากเน่าต่างๆ ในธรรมชาติ
มันคือพระเอกในระบบนิเวศน์ ที่คอยควบคุมจำนวน แมลงอื่นๆ นาใครมีรังต่อ รับรอง แมลงไม่ระบาด
มันคือแมลงที่คอยสร้างความสมดุลให้กับ โลกที่เราดำรงอยู่ ไม่แน่ในอนาคต หนอนหรือ เพลี้ยกระโดดระบาด
เราอาจต้องใช้รังต่อในการ ต่อสู้กับมัน บัจจุบัน ในภาคอีสาน มีการเลี้ยงต่อไว้เพื่อการค้า
มีการจองไว้ตั้งแต่รังมันยังเล็ก ๆ ในอัตราเหมาจ่าย รังละ 800 บาท
ตัวอ่อนของต่อ หรือทางอีสานเรียกว่า “นางต่อ” มีรสชาติอร่อย และเป็นแหล่งโปรตีน โอเมก้า 3 ชั้นยอด
นำมาทำอาหารได้หลายเมนู เช่น หมกต่อ แกงต่อ นึ่งต่อ ก้อยต่อ เป็นต้น ล้วนเป็นของแซบอีสาน
ใครได้ชิมถือว่าเป็น “ลาภปากอันประเสริฐ” แถม “ฮังฮ้าง” ของต่อ ยังเอาไปขายเป็นของประดับบ้านช่องได้
การเอารังต่อ ต้องเอาในเวลากลางคืนเท่านั้น อย่าเสี่ยงเอารังต่อในเวลากลางวัน ประมาทถึงตายได้
ต้องทำโดยผู้ชำนาญการเท่านั้น เมื่อพบรังต่อ อย่าให้ลูกหลานเข้าใกล้ คอยระวังบอกกล่าว
อย่าเอาไม้ เอาอะไรไปขว้างรังต่อ พบเห็นให้หลีกห่าง เท่านี้ก็จะปลอดภัย
ความเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตอีสาน
ชาวอีสานมีทัศนคติที่ดี กับแมลงชนิดนี้ หาในนาใครมี ฮังต่อ ถือว่า ได้โชค ช่วงลงนาใหม่
เด็กน้อยหรือผู้ใหญ่ที่เลี้ยง งัวควาย มักจะ หาตีตั๊กแตน แล้วเอาด้ายผูกใส่ “เจี้ย “ ( กระดาษ )
แล้วหาทำเลที่โล่งเหมาะ ๆ นังจอบเบิ่ง ตัวต่อมาคาบเหยื่อ(ตั๊กแตน) เมื่อตัวต่อมาคาบเอาเหยื่อ
มันจะไม่ยอมปล่อย บินหอบเอาตั๊กแตนผูกกระดาษไปด้วย จากนั้นก็วิ่งตามมันไป ก็จะพบรังของมัน
เมื่อพบแล้วก็จะ ทำเครื่องหมายไว้ ให้รู้ว่า รังต่ออันนี้มีคนจองเป็นเจ้าของแล้ว
หรือหาผ้ามาผูกต้นไว้เป็นเครื่องหมาย
เมื่อถึงคราออกพรรษา ก็ไป “จูดต่อ” หรือเอารังต่อ การจูดต่อ ต้องทำในเวลากลางคืน ส่วนมากนิยมหลัง
ตะเว็นตกดินเป็นต้นไป และต้องทำโดยผู้ชำนาญการ ก็จะได้ “ นางต่อ” หรือ ตัวอ่อนของตัวต่อ
นำมาทำอาหารเลิศรสได้หลายอย่าง ไปถวายพระ และกินกันในครอบครัว ถือว่าเป็นอาหารเฉลิมฉลอง
ก่อนลงมือเกี่ยว “ข้าวดอ”
ที่ชาวอีสานเรียกต่อหัวเสือ ว่า “ต่อนอนเว็น” เพราะว่า หากถูกมันตอด หรือต่อยเอา โดยเฉพาะ
โดนบริเวณ “ง่อนต่อ” หรือ ท้ายทอย เป็นต้องไข้ขึ้น นอนซมไปหลายวัน ไม่เป็นอันทำงาน
ต้องนอนเว็น หรือ นอนกลางวันอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า ต่อชนิดนี้นอนกลางวัน
บางท่านที่หาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตอาจได้รับข้อมูล ผิด ๆ เกี่ยวกับวิถีอีสาน ( เดี๋ยวนี้มีเยอะ )
พฤติกรรมของต่อ ชาวอีสานรู้เรื่องดี ต่อไม่ได้นอนกลางวันเด้อพี่น้อง มันหากินกลางวัน
ตะวันตกดินมันก็จะนอนในรัง เมื่อตะวันโพล้เพล้ มันจะจัดหน่วยลาดตระเวนออก
ตรวจตรารัง เดินเป็นแถว รอบรัง ก่อน แล้วเข้านอน
อนึ่งหากถูกต่อตอดที่หัว ผมจะหงอกเร็ว กว่าปกติ
ศัตรูทีสำคัญของตัวต่อ คือมนุษย์ และ มดแดง
สุดท้ายคือ “แหลวห่าว” ( เหยี่ยวใหญ่ )
มดแดงสามารถรุกรานรังของมัน บุกเข้ากินตัวอ่อนมันได้ การสร้างรังของตัวต่อ
จึงเลือกต้นไม้ต้นที่ไม่มีมดแดง ส่วน “แหลว” (เหยี่ยว) มันจะบินโฉบเอาปีก ตีรังต่อ
ให้รังต่อ “ ขุ” ( ร่วงลง ) แล้วบินลงไปจิกกิน ตัวอ่อน ที่ร่วงมาจากรัง
พฤติกรรมเหล่านี้ หลายคนนักไม่มีโอกาสรู้ ส่วนบ่าวปิ่นลมเห็นมากับตา เพราะว่า “เลี้ยงงัว”
ไม่ได้เลี้ยงแกะ จึงเล่าแต่ความจริง ให้รับรู้ เป็นวิทยาทาน เอวัง ขะน้อย