วัดกลาง (อำเภอเชียงกลาง)
วัดกลาง วัดเก่าแก่ประจำชุมชนอายุนับร้อยปีที่ร้อยเรียงเรื่องราวประวัติศาสตร์ ผ่านโบสถ์วิหารซึ่งยังคงยืนยงท้าทายกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน จากประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชุมชนในจังหวัดน่านสืบความได้ว่า ชุมชนแห่งนี้มีการตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว ณ หมู่บ้านป่ากล้วย ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของสุสานบ้านกลางในปัจจุบัน ต่อมาได้มีผู้คนอพยพหนีภัยสงครามจากเมืองน่านมาสมทบเพิ่มขึ้น ทำให้ชุมชนเริ่มเกิดความเข้มแข็ง จึงได้มีการตั้งวัดประจำหมู่บ้านขึ้น ในปี พ.ศ.2420 โดยมีพระครูบาคัมภีร์รส และออกแสนยาเป็นผู้เริ่ม และด้วยเหตุที่วัดตั้งอยู่ระหว่างกลางของหมู่บ้านอื่นๆ อีกหลายหมู่บ้าน จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านกลาง” และตั้งชื่อวัดว่า “วัดกลาง”
สิ่งที่น่าสนใจของวัดกลาง ได้แก่ พระอุโบสถ ที่สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธสามกษัตริย์มัชฌิมงคลเขมาราม (หลวงพ่อสามกษัตริย์) ซึ่งเป็นพระประธานที่หล่อขึ้นด้วยโลหะสามชนิดคือ ทอง นาค เงิน พระอุณาโลมประดับพลอย บุษราคัมหน้าตักกว้าง 19 นิ้ว สูงรวมฐาน 34 นิ้ว เป็นศิลปะสกุลช่างสุโขทัยที่งามล้ำยิ่งนัก นอกจากนี้ ยังมีวิหารล้านนา เป็นที่ประดิษฐานพระประธาน ศิลปะล้านนา พระพุทธรูปสิงห์ 1 โบราณเนื้อสำริดและพระพุทธรูปไม้จำหลักเนื้อหอมชนิดต่างๆ จำนวน 28 องค์ อีกทั้งยังเป็นประดิษฐานของ “หลวงพ่อขาว” พระประธานคู่วัดกลาง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนาสกุลช่างชาวบ้าน อายุกว่า 300 ปี และหากใครที่สนใจในเรื่องของพระพุทธรูปโบราณ ภายในวัดยังมีอาคารหอพิพิธภัณฑ์พระ ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณและโบราณวัตถุต่างๆ ที่เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชมได้ และอีกหนึ่งไฮไลท์ที่พลาดไม่ได้ก็คือ การสักการะพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมพระแก้วมรกต หน้าตักกว้าง 5 นิ้ว อายุกว่า 1,000 ปี อันศักดิ์สิทธิ์ ที่ปัจจุบันได้สร้างมณฑปศิลปะรัตนโกสินทร์เป็นที่ประดิษฐาน
ข้อมูลเพิ่มเติม
พระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธสามกษัตริย์มัชฌิมงคลเขมาราม (หลวงพ่อสามกษัตริย์), วิหารล้านนา, “หลวงพ่อขาว” พระพุทธรูปศิลปะล้านนาสกุลช่างชาวบ้าน อายุกว่า 300 ปี, อาคารหอพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูปโบราณและโบราณวัตถุ, พระบรมสารีริกธาตุ พร้อมพระแก้วมรกต อายุกว่า 1,000 ปี
วัดกลาง จังหวัดน่าน
เลขที่ 6 หมู่ที่ 4