ภาษาอีสานหมวด "ท" 111 - 120 จาก 449
-
ทอบ
แปลว่า : ย่น ย่อ ย่นระยะทางให้สั้นเรียก ทอบ อย่างว่า สามโยชน์ได้เทวะท้าวทอบคราว (กา) เสกคาถาทำกระดูกที่แตกหักให้ติดกัน เรียก ทอบดูก เสกแผ่นหนังให้เล็ก เรียก ทอบหนัง. -
ทอม
แปลว่า : ทะนุถนอม อย่างว่า เลี้ยงช้างเถ้าขายงาได้กินค่า เลี้ยงช้างน้อยทอมหญ้าได้ขี่ดน (ผญา) กูจักตวยตามถ้าถนอมบาทอมกอด (กา) ยูท่างทอมกุมารใหญ่สูงสอนหน้า (สังข์). -
ท่อม
แปลว่า : กระท่อม กระท่อมสำหรับเก็บข้าวเปลือก เรียก ท่อมเข้า ซ่อมเข้า ก็ว่า. -
ทอย
แปลว่า : ไม้ลิ่มสำหรับตอกต้นไม้ เพื่อเหยียบขึ้นไปตีผึ้งรวง ซึ่งรวงผึ้งนั้นจับอยู่ตามกิ่งไม้ต้นใหญ่ๆ สูงๆ เรียก ตอกทอย. -
ทอย
แปลว่า : ทุ่นเบ็ด เวลาตกเบ็ดเผียกจะต้องผูกทอยไว้เป็นระยะ ทุ่นเบ็ดที่ผูกไว้เป็นระยะนี้เรียกว่า ทอยเบ็ด ปิ่มเบ็ด ก็ว่า. -
ทอย
แปลว่า : แม่สื่อ แม่สื่อที่ติดต่อให้ชายหญิงรักกัน เรียก แม่ทอย แม่เชย ก็ว่า. -
ท่อไย
แปลว่า : เล็กเท่าเส้นไหมหรือใยบัวเรียก ท่อไย อย่างว่า กูบ่มีหย่อนย้านผีเสื้อท่อไย (กา). -
ท้อล้อ
แปลว่า : ไม้ท่อนกลมๆ สำหรับรองท่อนไม้ใหญ่เวลากลิ้งไปเพื่อจะยกขึ้นเลื่อย เรียก ไม้ท้อล้อ. -
ท่อว่า
แปลว่า : ทว่า เท่าว่า ทว่าเรียก ท่อว่า อย่างว่า ท่อว่ากุมารในอุทรโทษคามคนฮ้าย (สังข์). -
ทะ
แปลว่า : เป็นพยัญชนะอาคม ไม่มีความหมายของตนเอง ใช้นำหน้าคำอื่นในบทกลอนเพื่อให้เกิดความไพเราะ เช่น ไล เป็น ทะไล อย่างว่า เชิญพี่น้องทะไลลาลงเพื่อน ลอน เป็น ทะลอน อย่างว่า จวงจันทน์คู้ทะลอนหอมแต่มื้อใหม่ มื้อเก่ามาล่วงล้ำจันทน์คู้ก็เล่าเหย (ผญา).