บ้านหัวนา
จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เล่าสืบทอดกันมา บ้านกอกสืบเชื้อสายมาจากหนองบัวลำภู นครเขื่อนขันธ์ ในช่วงเจ้าพระวอ พระตา ผู้ครองเมืองหนองบัวลำภู ได้ถูกพระเจ้าสิริบุญสาร เจ้าเมืองเวียงจันทร์ เข้าตีเมือง จึงถอยร่นมาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูลและตั้งชื่อบ้านว่า บ้านซ้งวังขามเฒ่า และได้สร้างวัดชื่อว่า วัดดังขามเฒ่า ต่อมาได้เกิดภัยพิบัติขึ้น มีการอพยพแยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานรอบ ๆ เช่น บ้านหนองแก้ว บ้านหัวนา จนถึงปัจจุบัน ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบ มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์และมีแม่น้ำมูลน้ำไหลผ่าน ชาวบ้านหัวนา ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ใช้ภาษาอิสานในการสื่อสาร ประเพณีที่สำคัญของหมู่บ้าน คือ สงกรานต์ เข้าพรรษา ออกพรรษา บุญเผวส บุญกฐิน ทอดผ้าป่า การแข่งเรือ ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม คือ ปลูกข้าว เลี้ยงปลาในกระชัง และหาปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นอาชีพเสริม … วัดจำปาบ้านหัวนา กันทรารมย์ ศรีสะเกษ อดีตวัดนี้เคยเป็นที่พักของชาวเรือกระแชงที่เดินทางไปค้าขายกับเมืองอุบลราชธานี วัดแห่งนี้ได้รับการประกาศให้เป็น วัดอุทยานทางการศึกษา และได้รับคัดเลือกเป็นวัดผ่านเกณฑ์มาตรฐานให้เป็นวัดต้นแบบของจังหวัดศรีสะเกษ ภายในวัดมีศาสนวัตถุสำคัญมากมาย พระประธานคือ หลวงพ่อใหญ่ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง เป็นพระพุทธรูปเนื้อหินทรายปางมารวิชัย อายุประมาณ 1,500 ปี บริเวณวัดแห่งนี้ยังมี พระธาตุกตัญญู สร้างเมื่อ พ.ศ. 2551 ลักษณะคล้ายพระธาตุพนม มีขนาดฐาน 6×6 เมตร สูง 31 เมตร ภายในประดิษฐาน หลวงพ่อทองคำ และพระบรมสารีริกธาตุ ที่ประทานมาจากวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ภายในพระธาตุมีจิตรกรรมภาพหินทรายแสดงภาพพระพุทธประวัติ ศาสนชาดก ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตชนบทตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาของชาวลุ่มแม่น้ำมูล มีหมู่บ้านตามรอยพ่ออย่างพอเพียง ซึ่งจัดให้เป็นศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เปิดโอกาสให้ผู้คนที่สนใจเข้าชม
ข้อมูลเพิ่มเติม
มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น การชมวิวริมฝั่งแม่น้ำมูล การเลี้ยงปลาในกระชัง ชมศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน ชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ล่องเรือชมวิวน้ำมูล
ม.2 ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ 34310