แหล่งโบราณคดีดอนขุมเงิน
การขุดค้นแหล่งโบราณคดีดอนขุมเงิน ได้พบร่องรอยของบ่อน้ำที่ก่อด้วยศิลาทรายสีเหลือง โดยภายในบ่อมีการทำก้อนศิลาให้ยื่นออกมาเป็นขั้นบันไดลดหลั่นลงไปในแนวเฉียง 6 ขั้น รอบนอกบ่อมีการนำแผ่นหินทรายสีชมพูแดง ปูเป็นขอบรอบบ่อ และปูเป็นทางเดินไปยังห้องที่ก่อด้วยศิลาทรายซึ่งอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสทางด้านทิศตะวันตก ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ่อน้ำ พบการปักตั้งหินทรายสีชมพูทำเป็นกรอบเกือบสี่เหลี่ยมจัตุรัสคล้ายห้อง โดยภายในกรอบหินตั้งได้มีการก่อเรียงหินทำเป็นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งภายในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้ ได้พบชิ้นส่วนศิวลึงค์ และแท่นฐานโยนี ทำจากศิลาทรายสีเทา โดยแท่นฐานดังกล่าวปรากฏจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต อยู่บริเวณขอบฐานด้านหนึ่ง กำหนดอายุเบื้องต้นได้ราวพุทธศตวรรษที่ 12 (จากการแปลความในเบื้องต้นสรุปได้ว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับเจ้าชายจิตรเสน หรือพระเจ้ามเหนทรวรมัน โดยจารึกที่พบแห่งนี้มีความยาว 4 โศลก ต่างกับแห่งอื่นที่มักจารึกเพียง 3 โศลก รอบนอกบ่อน้ำและสิ่งก่อสร้างที่กล่าวถึง พบการนำหินทรายสีชมพู ปักตั้งเป็นแนวคล้ายกำแพง 3 ด้าน โดยด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกปักตั้งในแนวแกนทิศเหนือ-ใต้ ส่วนด้านทิศใต้ปักตั้งในแนวแกนทิศตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ จากหลักฐานที่ปรากฏทำให้สามารถสรุปในเบื้องต้นได้ว่า แหล่งโบราณคดีดอนขุมเงินสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าจิตรเสนราวพุทธศตวรษ ที่ 12 โดยเป็นแหล่งโบราณสถานที่เกี่ยวเนื่องในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายมาก่อน
ข้อมูลเพิ่มเติม
แหล่งโบราณคดี
แหล่งโบราณคดีดอนขุมเงิน