การฟ้อนรำ จังหวัดมหาสารคาม

ระบำจัมปาศรี

ระบำจัมปาศรี

อาณาจักรจัมปาศรี หรือ นครจัมปาศรี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณอำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคามนั้น มีความรุ่งเรืองมา 2 ยุคด้วยกันคือ ยุคทวาราวดี (พ.ศ. 1000 – 12000) และยุคลพบุรี (พ.ศ. 1600 – 1800)

นครจัมปาศรีนี้คงมีอายุใกล้เคียงกับเมืองฟ้าแดดสูงยาง ซึ่งพระอริยานุวัตรเขมจารีเถระ ได้เล่าถึงประวัตินครจัมปาศรีไว้ว่า
“เมืองนครจัมปาศรีอยู่ในสมัยที่พระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์กำลังเจริญรุ่งเรืองในดินแดนแถบนี้ บรรดาหัวเมืองน้อยใหญ่ในสมัยนั้นพร้อมกันมานอบน้อมเป็นบริวาร ทำให้อาณาเขตของนครจัมปาศรีได้ขยายกว้างขวางออกไป นครจัมปาศรีมีพระยศวรราชเป็นเจ้าผู้ครองนคร มีพระนางยศรัศมีเป็นพระราชเทวี มีวงศ์ตระกูลมาจากกษัตริย์เสนราชา บ้านเมืองในขณะนั้นมีความสงบสุข และพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในช่วงนั้น”

นครจัมปาศรี เป็นอาณาจักรหนึ่งในยุคเดียวกับอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ทวาราวดีอินทปัตถ์ และเมืองสาเกตุนคร ซึ่งอยู่ในยุคฟูนัน ในหนังสืออุรังคนิทานได้กล่าวถึงยุคอวสานของนครจัมปาศรีว่า ในสมัยเจ้าฟ้างุ้มแหล่งหล้าธรณี เมืองชวา (หลวงพระบาง) ได้ยกกองทัพข้ามแม่น้ำโขงเข้าโจมตีเมืองสาเกตุนครพร้อมทั้งเมืองบริวาร และเมืองนครจัมปาศรีได้ถึงกาลวิบัติ และกลายเป็นเมืองร้างไปตั้งแต่บัดนั้น

ในปี พ.ศ. 2522 ชาวอำเภอนาดูนได้ขุดค้นพบโบราณวัตถุรอบกู่สันตรัตน์ ได้พบพระทองสำริด พระพิมพ์แบบต่างๆ เป็นจำนวนมาก และมีการขุดพบซากเจดีย์โบราณและสถูปที่ใช้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ต่อมาทางจังหวัดมหาสารคามได้ร่วมกันสร้างพระธาตุนาดูน โดยจำลองแบบมาจากสถูปทองสำริดที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุนาดูนนับได้ว่าเป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา จนมีผู้กล่าวว่าพระธาตุนาดูนเปรียบเหมือนพุทธมณฑลของภาคอีสาน

ระบำจัมปาศรี จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงความเจริญรุ่งเรืองของโบราณสถานในจังหวัดมหาสารคาม และเป็นความภาคภูมิใจร่วมกันของชาวอีสาน พระธาตุนาดูนซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนับเป็นของคู่บ้านคู่เมือง ทางมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)โดยอาจารย์ชัชวาลย์  วงษ์ประเสริฐ จึงได้จัดทำระบำจัมปาศรีขึ้น โดยอาศัยจากเอกสารทางโบราณคดีและข้อเขียนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนครจัมปาศรี

ท่าฟ้อนชุดระบำจัมปาศรีประยุกต์ท่าฟ้อนพื้นเมืองอีสาน ซึ่งได้แก่ ฟ้อนภูไท ฟ้อนตังหวาย ฟ้อนสังข์ศิลป์ชัยฯลฯ ผสมกับท่าระบำโบราณคดี ชุดระบำทวาราวดี และภาพจำหลักที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยท่าเคลื่อนไหวจะเป็นท่าฟ้อนพื้นเมือง ส่วนท่าหยุดจะเป็นท่าโบราณคดี

ระบำจัมปาศรี

ระบำจัมปาศรี

เครื่องดนตรี

ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ซึ่งได้แก่ พิณ แคน โปงลาง กลอง โหวด ฉิ่ง ฉาบ และใช้เครื่องดนตรีโลหะประกอบ ได้แก่ระนาดเหล็ก เพลงที่ใช้ประกอบการฟ้อนชุดระบำจัมปาศรีใช้ลายเพลง มโหรีอีสาน

การแต่งกาย

ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน นุ่งเสื้อในนางรัดอก  มีสไบพาดไหล่ซ้าย นุ่งผ้าไหมพื้นเมืองอีสานโดยใช้ผ้าซิ่น 2 ผืน ผ้าซิ่นผืนในนุ่งพับหน้านาง ส่วนผ้าถุงผืนนอกพับทบทั้ง 2 ข้างตรงสะโพกหักคอไก่คล้ายรำมโนราห์บูชายันต์ สวมเครื่องประดับคอ (ทับทรวง) รัดต้นแขน ต่างหู กำไลและเข็มขัดทอง

………………………….

การแสดงชุดระบำจัมปาศรีจะมี 2 แบบนะครับ

แบบที่1 คือ แบบของวงแคน ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นแม่แบบ ซึ่งจะเป็นการแสดงที่ไม่มีตัวเอกหรือตัวนางพญา ถ้าค้นๆในภาพในเว๊บต่างๆ ก็จะมีหลายโรงเรียนที่นิยมเอาระบำจัมปาศรีแบบวงแคนไปใช้ เพียงแต่สีสันเสื้อผ้าอาจแตกต่างกันเล็กน้อยนะครับ

แบบที่2 เป็นแบบของวงแกนอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ซึ่งจะเป็นการแสดงที่มีตัวเอกหรือตัวนางพญา โรงเรียนที่นิยมเอาระบำจัมปาศรีแบบวงแกนอีสานไปใช้

 


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*