ป่นจักจั่น คั่วจักจั่น

มื้อนี่บ่าวปิ่นลม ว่าง จน “หนหวย”  ก็เลยขอเสนอ เมนูอาหารอีสาน เมนูวิเศษ  นั้นคือ
ชื่อท้องถิ่น          ป่นจักจั่น   และ คั่วจักจั่น
ชื่อภาษาไทย       คนธรรพ์ สุคนทิพย์

เมื่อแผ่นดินในป่าโคก มีความชื้น  จักจั่น  แมลงมหัศจรรย์แห่งป่าอีสาน ก็ออกมาจากดิน
ในคืนอีเกิ้งเต็มดวง พากันไต่ขึ้นตามต้นไม้ แล้วลอกคราบ เป็นแมงจักจั่นระยะสืบพันธ์
ร้องเพลงหมอลำ อลอึงทั่วป่านาดอน  นั่นคือที่มาของเมนูอาหารอีสานวันนี้
แต่ว่ากว่าจะได้จักจั่นมาประกอบอาหาร เป็นเมนูวิเศษ  ย่อมมีมิติ อันเป็น “ฟิวชั่น”
ซึ่งเกี่ยวพันกับพี่น้องชาวอีสาน จนเกิดเป็น “ฟิชชั่น”  จักจั่นบันเทิงศิลป์

1.อันดับแรกต้องเตรียมการ  ทำ “บั้งตั๋ง” หรือยางเหนียว สำหรับติดเอาจักจั่น
หาตัดเอา”ไม้ไผ่สางไพ”  คัดเอามาทำกระบอกสวยๆ ขนาดพอเหมาะ

2. หายางไม้ต่างๆ เพื่อบรรจุในกระบอก  อุปกรณ์คือ พร้า มีด และ กระบอกไม้ไผ่
เสาะหา ต้นบักเดื่อ(มะเดื่อ)   ต้นไฮ ( ต้นไทร ) ต้นโพธิ์  และต้นบักมี่  เอามีดกรีดเอายางไม้ เอาระบอกไปรองเอา
เก็บสะสมไปเรื่อย จนได้ปริมาณพอควร   ข้อสำคัญ อย่าไปบักเอายางไม้ ตามต้นโพธิ์ในวัด
ญาคูเพิ่นสิฮ้าย  และอย่าไปบักเอายางไม้ ตามต้นไม้ดอน ที่ ”เข็ดขวง”  เจ้าป่าเจ้าเขาเผิ่นสิมา soon
ยากให้หมอธรรม เอาน้ำมาเป่าให้อีก
กระบวนการนี้เรียกว่า “ การบักตั๋ง”
3. เลาะหา “ขี้โค่”  หรือ “ขี้ตก”   “ขี้ไต้ “   ตามต้นกุง (ต้นพลวง)  ต้นยางนา เพื่อเตรียมเป็นส่วนประกอบ
อย่าลืมพก หมากกันถุน หนังสติ๊ก  ไปด้วยๆ เผื่อพบ กะปอมก่า กะปอมแดง  หนูท้องขาว  ถือว่ากำไร

4. เสาะหา “ขี้ซี” (ชันไม้)  หรือ ยางไม้แข็ง จาก ต้นจิก  ต้นฮัง   ว่างๆ ก็ ซาวเอาบักเล็บแมว และ ส้มขี้มอด
บักมาย บักข้าวจี่ และผลไม้ตามท้องถิ่น มาหย่ำ แก้เมื่อย

5. เสาะหาน้ำมันยาง หรือทางบ้านผมเรียก “น้ำบะญาง”   ตามโกนต้นยางนา    เอาไฟเผาโกน (โพรง)
พอให้หมาด ๆ แล้ว หัก ”ฟดไม้”  ตีไฟให้ดับ  อ่วยคืนเมือบ้าน   ถ่ามื้ออื่นเซ้า จั่งมาตักเอาน้ำมันยาง

กรรมวิธีในการทำ “บั้งตัง” (บั้งตั๋ง )  เพื่อใช้ติดจักจั่น

1. กรณีที่หา น้ำยางไม้ ได้ไม่มาก  ให้ไปซื้อ “ตังเม” ( หมากฝรั่ง )   มาซ่อยกันหย่ำ (เคี้ยว)
เมื่อน้ำหวานของ ตังเม หมดแล้วจะเหลือแต่ยางเหนียว เอาตังเมเหล่านั้นผสมกับน้ำยางไม้

2. จากนั้นก็ “สะยอก” โดยเหลาไม้ไผ่ ให้เป็นลำพอเหมาะกับกระบอก   เรียกว่า “โคยตัง”
จับมา “สะยอก” ( คนแล้วดึงขึ้นลงในแนวดิ่ง ) ให้เนื้อตังเม เข้ากันกับยางเหนียวของไม้
3. ตำขี้ซี (ชันไม้) ให้ละเอียดแล้ว ค่อยผสมลงไปใน บั้งตั๋ง
4. ผสมน้ำมันยาง หรือ “น้ำบะญาง” ลงในกระบอก แล้วก็ สะยอก ไปเรื่อยๆ
5. ผสม ขี้ตก  หรือ ขี้ไต้  ขี้โค่  ลงไปพอประมาณ  “สะยอก” ไปจนได้ที่  หากยังเหนียวไม่พอ
ให้ผสมน้ำมันยาง(น้ำมันยางนา) ลงไปอีก
6. วิธีดูว่า ตัง เหนียวได้ที่แล้วหรือยัง  คือ ให้ดึง”โคยตัง” ออกมาจากกระบอก แล้วค่อยๆ ดันเข้ากระบอก
ยางเหนียวหรือ “ตั๋ง” ในกระบอกเมื่อถูกอากาศ จะทำปฏิกิริยา เก็บฟองอากาศ เมื่อดันเข้าไปในกระบอก
จะเกิดเสียง   “ โต๊บ  ! “      นั่นแสดงว่า  ตั๋ง หรือ ตัง เหนียวได้ที่แล้ว  หากดัง “ตุ๊บ ! “
ต้อง สะยอกและ”โคเล” อีกต่อไป   เอวัง

ป่นจักจั่นและคั่วจักจั่น

ป่นจักจั่นและคั่วจักจั่น

การหาเอาจักจั่น  ( ติดจักจั่น )

การจับจักจั่น ปีหนึ่งทำได้แค่ฤดูกาลเดียวคือ ห้วง มีนา – สิ้นเดือน เม.ย. เท่านั้น
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมไป คือ ไม้แส่ และ ติ๋ว (ไม้เหลาให้ให้เล็ก ๆ เป็นริ้วยาว)  เพื่อใช้จุ่มตั๋ง ติดจักจั่น
บั้งตั๋ง  ข่อง  และห่อกระติบข้าว + ปลาแดกบอง เผื่อเป็นมื้อกลางวัน  อย่าลืมกะตุงน้ำ( แกลลอนใส่น้ำดื่ม)

ต้องตื่นแต่เช้าก่อนญาคู บิณฑบาต   ไปโคกที่มั่นหมาย ที่ม้าเร็วส่งข่าวว่า มีจักจั่น แตกโคบ ๆ
หากเราไปสาย ภาษาอีสานว่า “สวย”  จักจั่นจะ “แคะ” หรือ “แห”  จับตัวได้ยาก
เมื่อไปฮอดโคกแล้ว ก็ เอา ติ๋วไม้ไผ่ จุ่มตั๋ง เสียบปลายไม้แส่  เดินลัดเลาะตามโคก สังเกตหาจักจั่น
เมื่อพบก็ ค่อยๆ บรรจง เด่ ไม้แส่ ให้ปลาย “ติ้ว” ที่จุ่มยางตั๋ง ไปติดตัวจักจั่น จับลงมาใส่ข่อง

เรียกว่า การติดจักจั่น   บางครั้งก็ได้ แมงอี  และ แมงบี้   ลงมาด้วย แล้วแต่สายตาใครจะดีกว่ากัน
การติดจักจั่นนั้น มันส์พะยะค่ะ เพราะต้องใช้ความสามารถ สมาธิ และสายตาอันไวว่อง
เป็นที่สนุกสนาน  ส่วนมากจะไปกันเป็นครอบครัว ห่อข้าวไปกินที่ป่าโคกด้วย กว่าจะเดินทางกลับ
ก็ตะเว็นบ่ายคล้อย  ทั้งเหนื่อย  ทั้งสนุก  อาหารกลางวันคือ จักจั่นที่ติดได้ หักคอจ้ำแจ่วบองโลด
ในสมัยที่ ป่าโคกยังไม่ถูกรุกราน เพราะพืชเศรษฐกิจ   แค่ต้นฮังต้นเดียว อาจติดจักจั่นได้เป็น ร้อยตัว
เกาะกันเป็นเขิบ เป็นกาบ  แค่เอา “ติ้ว” ไม้ไผ่ ฮะที่เดียว ได้เป็นซาว

แต่สมัยปัจจุบัน ป่าโคกถูกรุกรานแผ้วถาง โดยถูกเล็งเห็นเป็น มูลค่าราคา มองข้ามคำว่า “คุณค่า”
แม้แต่ ป่าโคกต้นน้ำ ลำน้ำชี  ใน จ.ชัยภูมิ ยังถูกแผ้วถางทำลาย ถึงขั้นวิกฤติ จำนวนป่าโคกในภาคอีสาน
ลดลงอย่างฮวบฮาบ ใน 15 ปีมานี้  จักจั่นตามธรรมชาติจึงลดลงตามเป็นเงา
อีกไม่นานวิถีที่ บ่าวปิ่นลม เขียนไว้บอกกล่าว จะกลายเป็นเพียงเรื่องเล่า  และรูปปั้นใน พิพิธภัณฑ์

ขั้นการทำ ป่นจักจั่น และ  คั่วจักจั่น

1. เด็ดปีก และล้างน้ำให้สะอาด
2. นำจักจั่นไปคั่วใส่เกลือให้สุก
3. ตำพริกและกระเทียม หัวหอม และจักจั่นให้ละเอียด
4. ใส่มักม่วงน้อย ซอย ตำใส่นำกัน
5. ใส่น้ำปลาแดกต้ม พอกล่อมกลิ้ง
6. ซอยผักหอมลงไป

การคั่วจักจั่น

1.ใส่น้ำมันพืช หรือน้ำมันหมู พอเจือ ๆ
2.นำจักจั่นลงคั่วพอให้สุก คะลน บ่อยๆ
3.เหยาะเกลือเล็กน้อย

จากนั้นก็ ยกลงมาจัดสำรับให้น่ารับประทาน    ควรกินกับปลาแดกบอง และผักกะโดน จะได้รสชาติของชีวิต
เมนูนี้หากินได้แค่ปีละครั้ง  รสชาติแห่งจักจั่น คนธรรพ์แห่งป่าโคก นั้น บรรยายเป็นอักษรยากยิ่ง
มันเป็นขุนเขาแห่งความโอชา ที่ตั้งตระหง่านในม่านดวงจิต  กาลเวลามิอาจโค่นล้มให้จางหาย
บอกถึงความเป็นไปในธรรมชาติ และวิถีอย่างตรงไปตรงมา ต่างแต่เพียงทัศนะของผู้เสพ เท่านั้นแล


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*