เซิ้งบั้งไฟ

เซิ้งบั้งไฟ

เซิ้งบั้งไฟ เป็นประเพณีและพิธีกรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล จากคตินิยมและความเชื่อเรื่องตำนานพญาคันคาก (คางคก) ซึ่งเป็นทั้งวรรณกรรมมุขปาฐะและวรรณกรรมจารึก อีกเรื่องหนึ่งคือ ตำนาน “ท้าวผาแดง – นางไอ่คำ” ซึ่งปราชญ์ชาวอีสาน ได้แต่งวรรณกรรมจากสังคมและความเป็นอยู่ของชุมชนชาวขอม

การเซิ้งบั้งไฟ ถือว่าเป็นประเพณีที่ชุมชน ชาวอีสานสืบทอดกันมาพร้อมกับประเพณีการจุดบั้งไฟ คือก่อนที่จะทำบั้งไฟเพื่อจุดถวายพญาแถนบนสวรรค์ ชาวบ้านจะรวมตัวกันออกเซิ้ง(คือ การร้องหรือจ่ายกาพย์ประกอบการฟ้อน) ไปรอบๆหมู่บ้านหรือชุมชนใกล้เคียง เพื่อบอกบุญขอรับไทยทาน เพื่อซื้อ ขี้เกีย (ดินประสิว) มาทำเป็น หมื่อ (ดินปืน) เพื่อบรรจุทำเป็นบั้งไฟ และจุดในพิธีขอฝนต่อไป

การเซิ้งบั้งไฟ นั้นอาจจะเป็นผู้หญิงล้วน ชายล้วน หรือมีการสลับชายหญิงก็ได้ ท่าฟ้อนในการแห่บั้งไฟนั้นมีหลายท่า ยกตัวอย่างเช่น

ท่าฟ้อนของคุ้มบ้านใต้สามัคคี อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร มีอยู่ด้วยกัน 6 ท่า คือ ท่าไหว้ครู ท่านาคพ่นน้ำ ท่าม้วนเชือก ท่าแงงคีง(ท่าชมโฉมตนเอง) ท่าส่อนฮวก(ช้อนลูกอ๊อด) และท่ายูงรำแพน
ท่าฟ้อนของคุ้มบ้านท่าศรีธรรม อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร มี 13 ท่า คือ ท่าไหว้ครู ท่าเกี่ยวข้าว ท่าทวยเทพ ท่าแหวกม่านเข้าหอ ท่าเอิ้นบ่าว-อีแหลวเสิ่น ท่าประแป้ง ท่าเสือขึ้นภู ท่าปอบผีฟ้า-กาตบปีก ท่าบัวหุบ-บัวบาน ท่าสามก้าว ท่างามเดือน และท่าแผลงศร

เซิ้งบั้งไฟ

เซิ้งบั้งไฟ

การแสดงเซิ้งบั้งไฟ นั้นมีหลายแห่งที่คิดประดิษฐ์ในรูปแบบต่างๆกัน แต่ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเพียง 1 สถาบันดังนี้
ในปี พ.ศ.2525 นายจีรพล เพชรสม ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ดในขณะนั้น รวมทั้งเหล่าคณาจารย์ คือ อ.ฉวีวรรณ พันธุ (ดำเนิน), อ.ทองคำ ไทยกล้า และ อ.ทรงศักดิ์ ประทุมศิลป์ อาจารย์สอนศิลปะพื้นเมือง แห่งวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด ได้ออกพื้นที่ไปศึกษาค้นคว้า เรื่องราวในงานประเพณีแห่บั้งไฟ จากบ้านสังข์สงยางและบ้านสีแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด และการเซิ้งบั้งไฟของชาวอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ มาสร้างสรรค์ผลงานทางนาฏศิลป์ เป็นชุดการแสดงที่มีชื่อว่า “เซิ้งบั้งไฟ”  โดยการจำลองเหตุการณ์การแข่งขันบั้งไฟที่เมืองเอกธชีตา ในสมัยพระยาขอมเรืองอำนาจ โดยมีวัตถุประสงค์จะใช้กิจกรรมทางด้านนาฏศิลป์ สื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมรับรู้ถึงอดีตและความเป็นมา ของวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ และตลอดจนการมีส่วนร่วมในการสืบสานและเผยแพร่สู่อนุชนรุ่นหลังต่อไป

ตัวอย่างกาพย์เซิ้งบั้งไฟ

โอ เฮาโอศรัทธา เฮาโอ               ขอเหล้าเด็ดนำเจ้าจักโอ
ขอเหล้าโทนำเจ้าจักถ้วย                  หวานจ้วยๆต้วยปากหลานชาย
เอามายายหลานชายให้คู่                 ขั่นบ่คู่ตูข่อยบ่หนี
ตายเป็นผีกะสินำมาหลอก                 ออกจากบ้านกะสิหว่านดินนำ
หว่านดินนำกะให้แม่สาวย้าน……………………………………….

การแต่งกาย

การแต่งแบบชุดศรัทธา คือสวมเสื้อแขนกระบอกย้อมคราม มีการตกแต่งตัวเสื้อด้วยด้ายสีและกระดุมสีต่างๆ  นุ่งโสร่งหรือผ้าซิ่นมัดหมี่คั่นต่อตีนซิ่น ที่เอวจะแขวนกระดิ่งหรือกระพรวนคอวัว สวมหมวกกาบเซิ้ง พาดสไบขิดสีแดงเฉียงไหล่ สวมส่วยมือ หรือถือร่มพื้นเมือง


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*