แมงคาม แมลงในภาคอีสาน

ชื่อ  แมงคาม   ( อัศวินนักสู้แห่งวสันต์ฤดู )
ชื่อภาษาไทย  ด้วงกว่าง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Xylotrupes Gideon Linneaus
อันดับ      Coleoptera
ชื่อวงศ์     Scarabaeidia
ชื่อสามัญ  Scarab beetle

ลักษณะทางกายภาพ

แมงคาม หรือด้วงกว่างเป็น แมลงปีกแข็ง ตัวค่อนข้างใหญ่ ลักษณะคล้ายด้วงแรดมะพร้าว ลำตัวแข็ง
และนูน สีดำเป็นมัน  รูปร่างรูปไข่  ขามีปล้องเล็กๆ  5  ปล้อง  หนวดเป็นแบบแผ่นใบไม้ มี 3-4  ปล้อง  ปล้องสุดท้ายมีลักษณะคล้ายใบไม้  3-4  แผ่น รวม กันกลายเป็นลูกกลม  จำนวนปล้องหนวดมีทั้งหมด 8 – 11 ปล้อง  และตามผิวมีส่วนที่เป็นหนามใหญ่   ตัวผู้มีเขาใหญ่ยื่นตรงออกมาจากหัว ใช้สำหรับต่อสู้ศัตรู เมื่อพบศัต
ซึ่งมักเป็นแมงคามตัวผู้ด้วยกัน ก็จะเดินเข้าหากันใช้เขาดันกันไปมา ตัวไหนสู้ไม่ได้ก็ถอยไป ถือว่าเป็นฝ่ายแพ้ตัวอ่อน หรือตัวหนอน สีขาวตัวอ้วน ตัวงอเป็นรูปเหมือนตาขอ

แมงคาม

แมงคาม

แหล่งที่พบ

อาศัยอยู่ในดิน  กินมูลของซากพืชหรือซากสัตว์  ตัวหนอนด้วงอาศัยอยู่ในดิน  ระยะแรกก็อยู่ตามเศษซากพืชทับถมในบริเวณที่ร่มที่มีความชื้นสูง  ระยะถัดมาขุดดินฝังตัวอยู่ลึกประมาณ  7.5 – 15.0 เซนติเมตร  ระยะหนอนด้วงใช้เวลาประมาณ  58 – 95 วัน  มี 3 ระยะ  คือ  ระยะก่อนเข้าดักแด้  3 – 6  วัน  แล้วจึงลอกคราบเปลี่ยนเป็นดักแด้ ซึ่งในระยะนี้ใช้เวลา 11 – 14  วัน  ต่อมาก็ออกเป็นตัวเต็มวัย  ออกหากินในเวลาตั้งพลบค่ำเป็นต้นไป
และพบมากในเวลากลางคืน  ส่วนในเวลากลางวันก็หลบซ่อนตัวอยู่ในดินมากกว่าที่อื่น  ระยะตัวเต็มวัยเพศผู้และเพศเมียประมาณ 18 และ 28 วัน  ตามลำดับ
มักอยู่ตามต้นคาม ( ต้นคราม )  ต้นถ่อน และต้นไม้หลายชนิด ในป่าเบญจพรรณ

ที่มาของชื่อ แมงคาม
เนื่องจากพบมาก ตาม “ต้นคาม” หรือ ต้นคราม ที่ คนอีสานสมัยเก่า
ปลูกเป็นสวน หรือ พื้นที่ว่างเปล่าปลูกไว้เพื่อ นำมาหมัก “คาม” ( ออกเสียงสำเนียงอีสาน )
หมักในหม้อดิน เมื่อได้ที่ก็ นำมาย้อมผ้า
ซึ่งสมัยนั้น คือ ผ้าฝ้าย ที่ทอด้วยมือนั่นเอง เพื่อให้ผ้ามีสีสัน  และคงทน
แมลงชนิดนี้ จึงได้ชื่อตาม ต้นคาม   ต้นไม้ที่มันโปรดปราน นั่นเอง

ประโยชน์และความสำคัญ

ส่วน มากชาวบ้านนิยมนำด้วงกว่างมารับประทานโดยการจี่  ให้ด้วงกว่างมีความกรอบ
แล้วนำมารับประทานกับข้าวเหนียว  จ้ำแจ่วปลาแดก  และสามารถนำมา
“ ซนกัน “ เป็นกีฬาพื้นบ้านชนิดหนึ่ง

การเสาะแมงคาม

เมื่อฤดูการชนแมงคามของชาวชนบททางภาคอีสานมาถึง ซึ่งเป็นเวลาที่ทุกคนเริ่มว่างจาก
การทำไร่ทำนา เพียงรอให้ผลผลิตของตนสุกงอมและเก็บเกี่ยว ประจวบกับเป็นช่วงที่แมงคาม
เติบโตเข้าสู่ตัวเต็มวัยและขึ้นจากดิน เที่ยวบินหากินและผสมพันธุ์ อาหารของว่างมียอดพืชผัก
ยอดหน่อไม้ และกล้วยต่าง ๆ  ในอดีตเด็กน้อยในหมู่บ้าน ที่ชื่นชอบการชนกว่างทั้งหลาย
มักจะจับกลุ่มออก “หาแมงคาม” ตัวเก่งด้วยตนเอง  ตามสุมทุมพุ่ม ไม้หรือป่าของหมู่บ้าน
หรือตามที่ต่างๆ เช่น วัดร้างที่มีต้นไม้เครือเถาขึ้นปกคลุมตามต้นถ่อน ที่มีมากที่สุด เห็นจะเป็น
“ ป่าสวนคาม “  ที่ปู่ย่า ปลูกไว้ เพื่อนำมาหมักเป็น สีย้อมผ้าฝ้าย
ต้องไปหาในเวลาเช้า เมื่อพบจะใช้ไม้แหย่ไปที่ตัวกว่างหรือเขย่ากิ่งไม้ กว่างจะทิ้งตัวลงดิน
หรือพื้นหญ้าและจะอำพรางตัว ตามสัญชาติญาณของมัน ทำให้สามารถจับกว่างได้ไม่ยากนัก

บางครั้งจะใช้การดักจับ ที่เรียกว่า “การล่อ” โดยใช้ “
แมงคามตัวเมีย”  ที่มีขนาดเล็ก เขาสั้นผูกด้วยเชือกฝ้ายเส้นเล็กโยงกับไม้ขอที่เสียบไว้กับ
ส่วนบนท่อนอ้อยที่ปอกเปลือกแล้ว หรืออาจดักด้วย “กล้วยทะนีออง”
หรือ อ้อย ในกะลาหรือ” กะโป๋ะ” ผูกแมงคามตัวเมียไว้ข้างใน

พอพลบค่ำ จึงนำไปแขวนไว้กับกิ่งไม้ในที่ที่คาดว่าจะมีแมงคามอยู่
เช่น “ต้นคาม”  ช่วงกลางคืน แมงคามตัวเมียจะบินทำให้มีเสียงดัง
ประกอบกับมีอ้อยหรือกล้วยที่เป็นอาหารที่โปรดล่ออยู่  จึงดึงดูดให้ตัวอื่นๆที่บินอยู่
ในบริเวณนั้นเข้ามาหา  แมงคามก็เป็นเช่นเดียวกับแมลงที่หากิน
กลางคืนหลายชนิด ที่โดยธรรมชาติของมันมามาถึงแหล่งอาหารก็มักจะอยู่บริเวณนั้นจนฟ้า
สาง
ดังนั้น ผู้ที่วางกับดัก จึงสามารถจับมันได้ง่าย  อย่างไรก็ตาม ผู้ที่หลงใหลในแมงคาม  มักจะเฝ้ากันทั้งคืน เพื่อหวังจะได้แมงคามตัวสวย ๆ ก่อนที่มันจะบินไปที่อื่น
ปัจจุบันการ “ ปลูกสวนคาม “ หรือ ย้อมคราม อาจสูญหายไปแล้ว เนื่องจากโลกเจริญขึ้น เด็กน้อยอีสานบางคน
ไม่รู้จักต้นคามเสียด้วยซ้ำ  กลิ่นอายแห่งภาพในบรรยากาศเก่าๆ ที่เป็นเสน่ห์แห่งชนบทบ้านนอก ค่อยๆจางหายไป

เลี้ยงดูฟูมฟัก

เมื่อได้แมงคามตัวเก่งมาแล้ว ผู้เลี้ยงก็มักจะหาอาหารการกิน มาบำรุง เช่น น้ำอ้อยคั้นสดมาให้กว่างกินเสริมจากอ้อยท่อนที่ผูกกว่างไว้
ส่วนผู้ที่รักการ “ เอาแมงคามซนกัน “ จะทำการฝึกซ้อมให้ อัศวินของตัวเองมีความอดทน เช่น ซ้อมบิน
ว่ายน้ำ เพื่อฝึกกำลัง หรือเดินบนพื้นทรายร่อนละเอียดเพื่อให้เล็บกว่างคมแข็งแรงเวลาชนจะเกาะ “คอน” ได้แน่นขึ้น  เป็นต้น
และที่จะขาดไม่ได้คือการฝึกฝนทักษะการต่อสู้ ตามวิธีการต่างๆที่ได้รับการบอกกล่าวมา หรือตามที่ตัวเองเชื่อว่าจะทำให้
แมงคามของตนเก่งเป็นผู้ชนะตลอดกาล  เช่น ใช้”ไม้ผั่น” สอดระหว่างเขาทั้งคู่แล้วปั่น ซ้ายบ้าง ขวาบ้าง เพื่อฝึกปฏิกิริยาในการต่อสู้บางครั้งก็ใช้ กว่างตัวอื่นๆ ที่มีกำลังด้อยกว่าเป็นคู่ซ้อม ให้เกิดความฮึกเหิม

สู้เพื่อนาง

ผู้เลี้ยงแมงคาม  เมื่อได้ฟูมฟักเลี้ยงจนเป็นอัศวินที่  สมบูรณ์  มีความแข็งแรง ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดีแล้ว
จะชักชวนเพื่อนเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย หามุมสบายของตัวเองตามหมู่บ้าน ใต้ถุนบ้าน ไม่จำกัดสถานที่ เพื่อนำมาประกวด
หรืออวดกัน  และมักจะสิ้นสุดการ “ ขี้โม้ “ และด้วยการ “ ท้าซน กัน”
เจ้าของแมงคาม ที่อย่างจะประลองความสามารถจะประกบหาคู่แข่งขันกันตามความสมัครใจ
โดยนิสัยผู้ชายทั่วๆไปที่มักจะรับไม่ได้กับความพ่ายแพ้  จึงพยายามสรรหาวิธีให้แมงคาม
ของตัวเองอยู่ได้เปรียบเสมอ เช่น ใช้ยาหม่องทาที่”ไม้ผั่น” และไปปั่น แมงคามฝ่ายตรงข้ามตอนเปรียบกว่าง  บางครั้งพบว่าใช้น้ำจากพริกขี้หนู ยาหม่อง ขี้ยาจากอีพ่อใหญ่
หรือพิษของยางคางคก มาป้ายไว้ที่เขาของแมงคามตัวเอง เพื่อให้กว่างฝ่ายตรงข้ามได้กลิ่น หรือถูกตำ จะทำให้แมงคามหมดแรง
หันหนี และแพ้ไปในที่สุด ดังนั้นเมื่อตกลงจะให้กว่างของตนชนกันจริง ๆ แล้ว  เจ้าของกว่างมักจะขอกว่างของฝ่ายตรงกันข้ามมาตรวจดูเสียก่อนว่าไม่มีกลโกง หรืออาจจะต้องเช็ดปลายเขากว่างคู่ต่อสู้หรือเอาน้ำอ้อยบีบรดเขาแมงคาม

ซึ่งถ้าหากมีการเอายาฆ่าแมลงทาไว้ น้ำอ้อยจะล้างไหลเข้าปากกว่างตัวที่ถูกทาไว้ ทำให้
อาจจะถึงตายหรือหมดแรงไปได้  การซนแมงคาม ต้องทำคอนให้มันไต่
เอาตัวเมียไว้ตรงกลางล่อให้มัน หวงตัวเมีย และคอยเอาไม้ฟั่น ปั่นท้องแมงคามเพื่อให้มันฉุน
เร่งเข้าฟาดฟันกัน
บางรายเขาหัก  ตกคอน  ส่วนมากเมื่อแพ้ มันมักจะถอยหนี ไม่มีการสู้กันถึงตาย

กีฬาประเพณีพื้นบ้านกับวิถีชีวิต

จากวิถีชีวิตพื้นบ้านเพื่อการพักผ่อน ของนักนิยม ซนแมงคาม เริ่มจากชักชวนเพื่อนบ้านหามุมสบาย
ของตัวเองอย่างไม่จำกัดสถานที่ ร่วมกับการซนเพื่อประลองกำลัง  ซึ่งมักหนีไม่พ้นกับ
การพนันขันต่อเล็กๆน้อยๆ ตามวิถีชีวิตของหมู่ชายชาวชนบท
สร้างความสนุกสนานลืมความทุกข์ยาก จากการงานได้เป็นครั้งคราว

วิถีชีวิตชุมชน ธรรมชาติ และ การคงอยู่ของแมงคาม

ในมุมมองของคนท้องถิ่นแล้ว “การซนแมงคาม” เป็นการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิตชุมชน
เข้ากับความเป็นธรรมชาติ การต่อสู้แย่งชิงตัวเมียของสัตว์เป็นหนึ่งในวิธีการที่ธรรมชาติ
เลือกใช้  “ตัวผู้ที่เก่งและ แข็งแรงที่สุด” จะเป็นผู้ที่มีโอกาสสืบต่อพันธุ์มากกว่าตัวผู้ที่
อ่อนแอ ทั้งนี้เพื่อการดำรงคงอยู่ของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นๆ  กรณีการชนกันของแมงคามตัวผู้ก็เช่นกัน
แทบไม่เคยพบว่ามันชนกันถึงบาดเจ็บและตาย ไม่เหมือนการชนไก่ หรือชนวัว  เนื่องจาก
การแพ้ชนะของแมงคาม คือตัวที่สู้ไม่ได้จะถอยหนีไปเอง “มันรู้จักแพ้”

จากนั้นเจ้าของแมงคาม มักจะปล่อยแมงคาม โดยเฉพาะตัวที่มีลักษณะดี แข็งแรง ซึ่งมักจะ
เป็นกว่างตัวตัวโปรดกลับคืนสู่ธรรมชาติในที่ที่เหมาะสม ให้มันมีโอกาสผสมพันธุ์และ
แพร่ขยายดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ที่ดีต่อไป

ปัจจุบันการปลูกสวนคาม เพื่อย้อมผ้า เหลือน้อยเต็มที มีเพียงบางพื้นที่ ที่อนุรักษ์ภูมิปัญญา
แบบเก่าไว้
แมงคามจึงเหลือน้อย แต่แมงคาม ก็ปรับตัว กินพืชได้หลายชนิดเพื่อความอยู่รอด  แม้ว่าทางภาคอีสาน
การซนแมงคามจะมีให้เห็นน้อยนักแต่ทางภาคเหนือกลับ ยังมีให้เห็นได้ชม ถึงขนาดเป็น
“ บ่อน “ โดยถูกกฎหมาย  แมงคามตัวเก่งๆ ราคา เป็นหมื่น


1 ความเห็นที่มีต่อแมงคาม แมลงในภาคอีสาน

  • ธีรพงษ์ พูดว่า:

    ด้วงกว่าง หรือแมงคาม มีฟันมั้ยคับ
    ผมถกเถียงกับแฟนว่าด้วงไม่มีฟันหรือเขี้ยว มันไม่สามารถกัดกินกระดาษทิชชู่ได้ ปากของแมงคามนั้นมีลักษณะเหมือนแปรงทาสี น่าจะมีไว้ดูดของเหลวจากกล้วยสุก หรือเนื้อเยื้อผลไม้

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*