เรือมอันเร
เรือม แปลว่า “รำ” อันเร แปลว่า “สาก” ดังนั้น เรือมอันเร จึงแปลว่า การรำสาก
การเรือมอันเรนั้น จะเล่นกันในช่วงของวันหยุดสงกรานต์ โดยชาวบ้านจะเล่นเรือมอันเรที่ลานบ้านหรือว่าลานวัด
เครื่องดนตรี
การเรือมอันเรมีการใช้เครื่องดนตรีประกอบคือ กลองโทน 1 คู่ ปี่ใน 1 เลา ซออู้เสียงกลาง 1 คัน ฉิ่ง กรับ ฉาบ อย่างละ 1 คู่ และมีอุปกรณ์ประกอบการเล่นเรือมอันเร คือ สาก 2 อัน ยาวประมาณ 2-3 เมตร ทำจากไม้เนื้อแข็ง มีหมอนวางรองหัว- ท้ายสาก มีความยาว 1.50 เมตร สูงประมาณ 3-4 นิ้ว
ทำนองและจังหวะในการรำ
ในการรำในสมัยก่อนมีเพียง 3 จังหวะ คือ จังหวะจืงมูย(ขาเดียว) จังหวะมลปโดง(ร่มมะพร้าว) จังหวะจืงปีร์(สองขา) ต่อมามีการพัฒนาท่ารำเพิ่มขึ้นรวมเป็น 5 จังหวะ ดังนี้
จังหวะไหว้ครู
จังหวะกัจปกา
จังหวะจืงมูย
จังหวะมลปโดง
จังหวะจืงปีร์
ท่าฟ้อนรำ
ในสมัยก่อนไม่มีท่ารำที่เป็นแบบแผนแน่นอน เพราะว่าเป็นการรำเพื่อความสนุกสนานในยามพักผ่อน ส่วนมากผู้ที่อยู่ในวงรำสากจะเป็นหญิงล้วน ส่วนหนุ่มๆจะมาเป็นกลุ่มยืนชมสาวที่กำลังรำอยู่ หากชอบคนไหนก็เข้าไปรำด้วย แต่ในปัจจุบันการเรือมอันเรได้มีการพัฒนาไปสู่แบบแผน และเนื่องจากมีการส่งเสริมและฟื้นฟูประเพณีคล้องช้างประจำปี(งานแสดงช้าง)จ.สุรินทร์ การเล่นเรือมอันเร จึงกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของงาน เพราะมีการนำเอาเรือมอันเรมาแสดงในงานช้างทุกปี แลยังใช้แสดงเพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนอีกด้วย
การแต่งกาย
แต่เดิมไม่พิถีพิถัน แต่งกายตามสบาย แต่หากแต่งให้สวยงามตามประเพณีแต่โบราณ คือ ชาย นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลมแขนสั้น ผ้าขาวม้าคาดเอวและพาดไหล่
หญิง นุ่งผ้าไหมพื้นเมือง เรียกว่า “ซัมป็วตโฮล” สวมเสื้อแขนกระบอกมีสไบพาดไหล่มามัดรวบไว้ที่ด้านข้าง สวมเครื่องประดับเงิน และมีดอกไม้ทัดผม
1 ความเห็นที่มีต่อเรือมอันเร
ขอขอบคุณคณะทำงานทุกท่านที่นำเสนอข้อมูล ที่เป็นแหล่งความรู้ให้ได้ศึกษาค้นคว้า ขอบุณอีกครั้งครับ