ความเป็นอีสานกับวัฒนธรรมบันเทิง

ความเป็นอีสานกับวัฒนธรรมบันเทิง

เมื่อคนอีสานประกาศตัวตนและพูดถึงศิลปะของตัวเองอย่างภาคภูมิใจ จนศิลปะบันเทิงจากอีสานกลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักไปแล้ว ไม่เพียงแค่ได้รับความนิยมทั่วประเทศแต่ยังเป็นที่นิยมในระดับนานาชาติอีกด้วย  ทั้งนี้นอกจากจะมีความดิ้นรนสู้ชีวิตเป็นส่วนประกอบหลักในวัฒนธรรมแล้ว ความไม่ติดขนบพร้อม feat. กับสิ่งใหม่ ๆ ก็ทำให้วัฒนธรรมบันเทิงอีสานฮิตติดลมบนด้วย  บทความนี้จะพาไปดูว่าวัฒนธรรมความบันเทิงอีสานจากยุคคนสู้ชีวิต เช่น “สุดท้ายที่กรุงเทพ ฯ” “ดอกหญ้าในป่าปูน” “คนบ้านเดียวกัน” และวัฒนธรรมความบันเทิงยุคใหม่ “จิ้นวายหมอลำ” “Rasmee Isan Soul” และ “ระเบียบวาทะศิลป์ feat. มิสแกรนด์” เกิดขึ้นได้อย่างไร

จิตวิญญาณขบถของคนอีสาน

ถึงแม้ว่าประเทศจะผ่านไปกี่สิบปี แต่ปัจจุบันก็ยังมีภาพจำเกี่ยวกับอีสานว่าบ้านนอก อดอยาก ยากจน  และถ้าย้อนไปในประวัติศาตร์ ภาคอีสานก็ถูกมองในแง่ลบมาโดยตลอด ในสมัยรัชกาลที่ 5 พยายามจะรวบเอาพื้นที่ของภาคอีสานในปัจจุบันเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยาม จนเกิดการต่อต้านของคนที่รู้จักกันในชื่อ กบฎผู้มีบุญ หรือ กบฎผีบุญ  โดยกบฎผู้มีบุญได้ใช้หมอลำเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อต้าน

ช่วงหลังพ.ศ. 2475 (เหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม) ก็ยังมีการนำหมอลำไปล้อเลียนรัฐบาลมาตลอด โดยจะเห็นได้จากเนื้อหาในกลอนลำ  และรัฐไทยก็ใช้ความพยายามอยากมากที่จะควบคุมอีสาน เช่น ใช้ศาสนาพุทธนิกายธรรมยุติเข้าไปควบคุมความคิดคนอีสาน เนื่องจากคนอีสานมีการลุกฮือ ต่อต้าน ขัดขืน ซึ่งเป็นลักษณะของคนอีสานที่มีความเป็นขบถอยู่ในตัว 

จนมาถึงปัจจุบัน ไม่ว่ารัฐไทยจะควบคุมวิธีคิดของคนอีสานอย่างไร หรือทุกวันนี้อาจจะยอมรับว่าเป็นคนไทยแล้ว แต่คนอีสานก็ยังคงจิตวิญญาณความเป็นขบถอยู่ไม่เปลี่ยน และยังมองว่าตัวเองมีบางอย่างแปลกแยกจากความเป็นไทย เพราะคนอีสานถูกมองเป็นอื่นมาโดยตลอด

สะท้อนความเป็นอีสานผ่านเนื้อเพลงลูกทุ่ง

เพลงลูกทุ่งเป็นภาพสะท้อนอย่างดีของภาพลักษณ์ของคนอีสาน  เพลงลูกทุ่งอีสานในยุคแรกมักจะเป็นภาพที่ทำให้เห็นว่าอีสานแร้นแค้นมาก จนต้องแบกกระเป๋าหอบเสื้อหอบผ้าเข้ามาแสวงหาความเจริญหรือมาทำงานหาเงินในกรุงเทพ ฯ เช่น

  • สุดท้ายที่กรุงเทพ สุนารี ราชสีมา (พ.ศ. 2529)
  • ดอกหญ้าในป่าปู ต่าย อรทัย (พ.ศ. 2545)
  • และอีกหลายเพลงของไมค์ ภิรมย์พร

เนื้อเพลงลูกทุ่งอีสานในยุคนี้จะเล่าถึงความทุกข์ที่มีเมื่อมาใช้ชีวิตในเมืองกรุง แล้วถ้าย้อนกลับไปดูเนื้อเพลงลูกทุ่งสุพรรณในสมัยก่อนก็มีลักษณะคล้ายกัน คือ มีการหอบเสื้อผ้าเข้ามาตามฝันในกรุงเทพ ฯ อยากเอาความบ้านนอกไปยืนโชว์บนเวทีโรงแรม เอาความบ้านนอกไปทำให้เป็นที่ยอมรับของคนกรุงเทพฯ

อัตลักษณ์อีสานในอดีต

ปัจจุบันเพลงอีสานเปลี่ยนไป อัตลักษณ์ของคนอีสานเปลี่ยนไปจากจากเดิมแบบหน้ามือเป็นหลังมือ คือ จากเดิมอีสานจะถูกจัดวางให้อยู่ในสถานะที่ต่ำต้อยกว่าในสายตาคนอื่น  แต่ในขณะเดียวกันก็มีมีการสร้างชุมชนขึ้นมาในหมู่ของคนอีสานที่เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ซึ่งสะท้อนผ่านเพลงลูกทุ่งอีสาน เช่น

  • ขายก้อยคอยอ้าย ดอกอ้อ ทุ่งทอง (พ.ศ. 2549)
  • คนบ้านเดียวกัน ไผ่ พงศธร (พ.ศ. 2551)

ถึงแม้จะมีเพลงเหล่านี้ออกมาในยุคนั้น แต่คนอีสานจะพยายามปกปิดในที่สาธารณะ และจะเปิดเผยความเป็นอัตลักษณ์หรือตัวตนก็ต่อเมื่ออยู่ในชุมชนทางวัฒนธรรมของตัวเองของคนอีสานด้วยกัน คนอีสานจะรู้สึกว่าการจะนำเสนออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตัวเองจะต้องอาศัยสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ปลอดภัย รู้สึกสะดวกใจที่จะเปิดเผยตัวตนความเป็นอีสานออกมา

ความเป็นอีสานในปัจจุบัน

แต่ในปัจจุบันนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปมาก ปัจจุบันดาราหรือคนมีชื่อเสียงสามารถพูดภาษาอีสานหรือแสดงตัวว่าเป็นคนอีสาน โดยที่ไม่รู้สึกว่าต้องปกปิดอีกต่อไปอย่างเช่นในอดีต

อัตลักษณ์อีสานในปัจจุบันกลายมาเป็นสิ่งที่ทุกคนพร้อมใจจะนำเสนออย่างเป็นสาธารณะ ซึ่งเป้นเรื่องตรงกันข้ามกับในอดีต ทำให้นึกถึงศิลปินที่มีจุดเด่นเรื่องการขายความเป็นอีสานอย่างมาก นั่นคือ Rasmee Isan Soul 

ความเป็นอีสานในวงการเพลงและดนตรี

Rasmee Isan Soul เป็นศิลปินแจ๊ซที่มีเนื้อเพลงภาษาอีสาน เล่าเรื่องราวชีวิตความเป็นอีสานผสมทำนองแบบโซลเข้าไปด้วย  โดย Rasmee Isan Soul เคยให้สัมภาษณ์ว่าต้องการขายความเป็นท้องถิ่นบนแพลตฟอร์มสากล และแนวทางทำเพลงนี้ก็สอดคล้องกับ สิงโต นำโชค

แต่เดิมสิงโต นำโชค ขายแนวเพลงและสไตล์การร้องที่เป็น R&B มาก ๆ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาขายความเป็นอีสาน ร้องด้วยสำเนียงอีสาน ผสมผสานกันระหว่างดนตรีตะวันตกกับดนตรีอีสาน  

จะเห็นว่าแนวทางการทำเพลงของสิงโต นำโชคและ Rasmee Isan Soul เหมือนกันคือเปิดเผยอัตลักษณ์อีสาน เอาอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาจัดวาง และนำเสนออย่างภาคภูมิในแพลตฟอร์มสากล

สิ่งที่เพลงท้องถิ่นอีสานมีแต่เพลงท้องถิ่นอื่น ๆ ไม่มี

ถ้ามองในแง่ของเพลง สิ่งที่เพลงอีสานมีและที่อื่นไม่มีหรืออาจจะมีแต่น้อย การลื่นไหลไปได้ทุกที่ ไม่มีจำกัดความว่าเพลงอีสานแบบนี้ถูกหรือผิด  กลอนลำอีสานไม่ได้จำกัดว่าแบบไหนถูกต้องแบบไหนไม่ถูกต้อง  ดนตรีอีสานไม่ได้จำกัดว่าการนำดนตรีจากวัฒนธรรมอื่นมาใส่กับกลอนลำคือสิ่งถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ดนตรีอีสานไม่ได้จำกัดว่ากลอนลำจะต้องร้องกับพิณหรือแคนเท่านั้น

ถ้าเปรียบเพลงอีสานหรือดนตรีอีสานก็เปรียบได้กับน้ำที่สามารถอยู่ได้ทุกภาชนะ ปรับให้เข้ากับเพลงหรือดนตรีอื่น ๆ ได้  สิ่งนี้จึงเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เพลงอีสานหรือดนตรีอีสานไปอยู่ในรูปแบบของเพลงหลากหลายแนว เช่น แจ๊ซ โซล R&B เป็นต้น

เทคโนโลยีพาอัตลักษณ์อีสานไปไกล

การทำเพลงในปัจจุบันไม่ต้องพึ่งนายทุนใหญ่ หรือค่ายเพลงอยู่ในกรุงเทพฯ ศิลปินหน้าใหม่สามารถที่จะมีค่ายเพลงเองได้ใน YouTube หรือในแพลตฟอร์มอื่น ๆ  แล้วศิลปินหน้าใหม่เหล่านี้ก็สามารถเล่าความเป็นตัวตนออกมาได้  สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยีใน อินเทอร์เน็ต แพลตฟอร์มต่าง ๆ และช่องทางออนไลน์ที่อีกมากมาย

การทำเพลงเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนที่ต้องเอากระเป๋าเข้าเมืองกรุง แต่ทุกวันนี้ไม่จำเป็นแล้ว ศิลปินมีความภูมิใจในความเป็นอีสาน ทุกคนก็ฟังและยอมรับความเป็นอีสาน ตัวอย่างเช่น เพลงวอนหลวงพ่อรวยของมนต์แคน แก่นคูน มียอดคนดูในประเทศไทยสูงกว่าวงดังระดับโลกอย่างแบล็กพิงก์  ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าทุกคนภูมิใจในเพลงอีสานและดนตรีอีสาน 

ทำให้คนอีสานรู้สึกว่าไม่ต้องอายความเป็นอีสานอีกต่อไปแล้ว ดาราหรือคนมีชื่อเสียงก็เลยกล้ากล้าที่จะพูดภาษาอีสานออกทีวีหรือในที่สาธารณะแล้วยังรู้สึกว่าภูมิใจด้วยซ้ำ

ปรากฏการณ์หมอลำฟีเวอร์

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นล่าสุด คือการที่วงหมอลำชื่อดังระเบียบวาทะศิลป์มาร่วมงานกับนางงามมิสแกรนด์บนเวทีใหญ่ที่ Show DC ย่าน RCA ในเมืองหลวง เหมือนกับตอนที่พุ่มพวงได้ขึ้นไปยืนร้องเพลงบนเวทีโรงแรมดุสิตธานี

ความลื่นไหลของวัฒนธรรมเพลงอีสานหรือวงหมอลำไม่มีกฎตายตัว ขอแค่ทำให้มีคนดูเขาหรือทำยังไงให้ของฉันเป็นที่รู้จัก จะเห็นเลยว่าอีสานใส่ชุดลิเก วงหมอลำอีสานแต่งตัวใส่สูท หมอลำอีสาน แต่งตัวหล่อแบบพระเอกเกาหลีหรือดาราเกาหลี  หรือแม้กระทั่งมีการเอาวัฒนธรรมวาย พระเอกหมอลำกับนายเอกหมอลำเป็นคู่จิ้นกัน เช่น คู่ของท็อป นรากร กับ บู๊ท จักรพันธ์ ลําเพลิน 

อัตลักษณ์อีสานในวงการภาพยนตร์

นอกจากเพลงและหมอลำ ยังมีภาพยนตร์ที่ออกมาเองได้และประสบความสำเร็จ เช่น ไทบ้านเดอะซีรี่ส์ (2560) เว่าภาษาอีสานกันแบบที่ไม่เน้นว่าใครจะฟังรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่องและอีกหลายผลงานภายใต้จักรวาลไทบ้าน  นี้ก็ยังมี ส่ม ภัค เสี่ยน (2560)  ส้ม ปลา น้อย (2564) เป็นต้น  มีความภูมิใจที่ได้เล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่บ้านที่ถึงแม้จะมีความแร้นแค้น แต่ก็ภูมิใจในความเป็นตัวตนอีสาน

ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่สำคัญมาก ๆ ที่ทำให้คนอีสานไม่อายความเป็นอีสานในตัวเองและกล้าที่จะประกาศตัวตนของตัวเองออกมา

วัฒนธรรมอีสานที่พร้อมเปลี่ยนแปลงตามสังคม

เมื่อดูวัฒนธรรมความบันเทิงของอีสาน จะทำให้เห็นวิธีคิดของผู้ผลิตในแง่ที่ว่า ผู้ผลิตผลงานไม่ได้มองว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สูงส่งหรือแตะต้องไม่ได้ วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สามารถต่อรองได้ ตีความใหม่ทั้งในเชิงของเนื้่อหาและในการเผยแพร่ รวมไปถึงในเชิงของกลยุทธ์ทางการตลาดด้วย และทั้งหมดจะนำไปสู่การต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น เพลง หมอลำ ดนตรี ภาพยนตร์ ฯลฯ และเกิดการรักษาให้วัฒนธรรมบันเทิงเหล่านี้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้

เมื่อผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมมีชีวิตอยู่ต่อไปได้แล้ว ชีวิตของคนอีสานที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมเหล่านั้นก็จะเล่าต่อไปเรื่อย ๆ  และครั้งนี้จะเป็นการเล่าด้วยปากและเสียงของคนอีสานเอง ซึ่งจะต่างจากภาพของการเรื่องเล่าเกี่ยวกับคนอีสานที่มันแสนจะน่าหดหู่แต่ไม่ได้มาจากปากของคนอีสานเอง  แต่ตอนนี้เราจะได้ยินเรื่องเล่าจากปากของคนอีสานที่เคยเป็นคนที่ไม่มีปากมีเสียงของสังคม สามารถเปล่งเสียงแสดงตัวตนแสดงความรู้สึกแสดงทัศนะของตัวเองเกี่ยวกับชีวิตของการเป็นคนอีสานได้อย่างเต็มที่

เปลี่ยนความแร้นแค้นให้เป็นพลัง

มีหนังสือเล่มหนึ่งที่มีความเหมือนกันระหว่างอีสานกับกับเกาหลี เกาหลีจะมีสิ่งที่เรียกว่า “ฮาน”มีความหมายคือ ความแค้นที่เกิดจากความแร้นแค้น เพราะว่าเกาหลีอยู่ในประเทศสงครามมาก่อน  เกาหลีก็จะพยายามที่จะใช้ซอฟต์เพาเวอร์หรือวัฒนธรรมของเกาหลีเหล่านี้ ในการประกาศตัวเพื่อสร้างชื่อเสียงและหารายได้เข้าประเทศ  เมื่อมองกลับมาที่อีสานก็มี “ฮาน”ในเชิงของความความเคียดแค้นที่ตัวเองถูกกดทับด้วยแรงเหยียด ความจน ความแร้นแค้นเหมือนกัน  ทำให้อีสานใช้วัฒนธรรมของตัวเองในการประกาศแล้วก็พ่วงมาด้วยในเชิงเศรษฐกิจ

ขอบคุณคลิปจากประชาไท และรายการหมายเหตุประเพทไทย และถ้ามีควาาคิดเห็นอยากจะร่วมแชร์หรือว่ามีคำถามใดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นนี้ ก็สามารถคอมเมนต์เอาไว้ได้นะครับทำไมคนอีสานถึงลุกขึ้นมาเปิดเผยตัวตน

ที่มา: ข้นใส ข้นอีสานเปิดโลกวัฒนธรรมบันเทิงอีสาน|หมายเหตุประเพทไทย EP.421

ภาพประกอบ

  • ระเบียบวาทะศิลป์ แฟนเพจ
  • Singto Numchok สิงโต นำโชค
  • Rasmee
  • Tai Orathai
  • Thibaan Channel

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*