ฟ้อนไทภูเขา
ฟ้อนไทภูเขาเป็นการแสดงที่สื่อถึงภาพวิถีชีวิตในการทำมาหากินของชาวภูไทที่อาศัยตามแนวเทือกเขาภูพาน อันเป็นแนวทิวเขาที่ทอดยาวพาดผ่านหลายจังหวัดในอีสานตอนบน แสดงถึงการหาของป่าหรือการหาพืชพันธุ์เพื่อนำมาใช้ประกอบอาหาร
การแสดงชุดนี้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นโดยวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ โดยการเข้าไปลงพื้นที่เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลการทำมาหากิน ที่หมู่บ้านของชาวภูไทบ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการเป็นหมู่บ้านต้นแบบการทอผ้าสไบไหมแพรวาของชาวภูไท ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านในจังหวัดกาฬสินธุ์ แหล่งอื่นๆก็นิยมทอกันอย่างแพร่หลาย
การแสดงชุด “ฟ้อนไทภูเขา” แสดงถึง การเดินขึ้นภูเขา การขุดหาหน่อไม้ เก็บเห็ด เก็บผักหวาน เก็บใบย่านาง และการตัดหวาย จึงเป็นการแสดงที่มีความโดดเด่น ในการสื่อถึงการทำมาหากินและความสวยงามของผ้าไหมแพรวา ของชาวภูไทที่นำมาใช้เป็นเครื่องแต่งกายของนักแสดง
ดนตรี ที่ใช้ เริ่มต้นจากลายภูไท ที่มีทำนองช้าแล้วขึ้นลายใหม่ที่มีจังหวะและทำนองที่สนุกสนาน
การแต่งกาย
– หญิง สวมเสื้อแขนกระบอกสีแดง ใช้ผ้าสไบไหมแพรวาสีแดงพับครึ่งเป็นตัว V ที่ด้านหน้าให้ปลายผ้าทั้งสองข้างพาดไหล่ นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่สีดำมีตีนซิ่นยาวคลุมเข่า พันศีรษะด้วยผ้าแพรวาสีแดงปล่อยให้ชายครุยของปลายผ้าปรกใบหน้า สวมเครื่องประดับเงิน และสะพายหลังด้วยเครื่องจักสานลักษณะตะกร้าสะพายหลัง ชาวภูไทเรียกเครื่องจักสานชนิดนี้ว่า “กระม้อง”
– ชาย สวมเสื้อสีครามมีการตกแต่งเสื้อด้วยแถบผ้าลายแพรวา นุ่งกางเกงขาก๊วย ใช้ผ้าแพรวาแดงพันศีรษะและมัดเอว สะพายย่ามลายขิดสีแดง